การเมืองกับศาสนา


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์  [email protected]

มีคำพูด ที่หลายคนเคยได้ยินกันมามาก คือ เวลาคุยกับญาติ เพื่อนหรือใครก็ตาม ห้ามคุย 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการเมือง กับเรื่องศาสนา เพราะอาจต้องทะเลาะหรือผิดใจกันได้ ในบรรดาผู้ที่มีอาชีพทางด้านบริการ (ลูกค้า) ในอเมริกาเองก็มักได้รับการบอกเตือน (อย่างไม่เป็นทางการ) จากคนที่ทำงานมาก่อน นายจ้าง หัวหน้า หรือแม้แต่องค์กรว่า ไม่จำเป็นจริงๆแล้ว อย่าไปสนทนากับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการในประเด็นเกี่ยวกับศาสนา หากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ แล้วก็ให้พยายามหยวนๆตามความเชื่อของลูกค้าไป อย่าแสดงทัศนะความเชื่อของผู้ให้บริการเป็นดีที่สุด

อย่างไรก็ตามครั้งนี้ขอคุย 2 เรื่องนี้ ด้วยเหตุที่ทั้งการเมืองและศาสนาต่างพัวพันกันอย่างแยกไม่ออก แม้แต่การเมืองในอเมริกาเอง ซึ่งเป็นการต่อสู้ชิงชัยกันระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือเดโมแครตกับรีพับลิกัน ผู้สมัครทั้ง 2 พรรคต่างก็อ้างถึงการอยู่ในกรอบของการเป็นศาสนิกที่ดี โดยเฉพาะข้างรีพับลิกัน ซึ่งเป็นพรรคแนวอนุรักษ์นิยมถึงกับสร้างภาพของพรรคให้ปรากฎออกมาในแนวจารีต ตั้งอยู่มีกรอบศีลธรรมอันดี ในหลายนโยบายที่ประกาศ เช่น การไม่สนับสนุนหรือต่อต้านการทำแท้ง  การที่นักการเมืองต้องไปโบสถ์กับครอบครัวบ้าง การไม่สนับสนุนการตีทะเบียนโสเภณี หรือแม้แต่การไม่สนับสนุน หรือยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขต่างๆในเชิงส่วนบุคคล (กรณีอบายมุข เช่น การพนันหรือสุรา ระบบวัฒนธรรมการเมืองอเมริกัน แยกเรื่องส่วนบุคคล กับเรื่องนโยบายสาธารณะที่กำหนดโดยรัฐออกจากกัน)

ว่าไปแล้วดูๆไปเผินๆก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ผมใคร่ตั้งเป็นข้อสังเกตเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นดังนี้

1. การเมืองอเมริกันมีการนำเรื่องศาสนามาเพื่อหาเสียง , ทุกครั้งในช่วงการหาเสียง

ผู้สมัครแทบทุกพรรคจะหาเสียงด้วยการอ้างถึงความเป็นอยู่ในกรอบหรือคำสอน ของ ศาสนา ซึ่งศาสนาที่นักการเมืองอเมริกันต้องพยายามทำให้ประชาชนเห็นว่า เป็นศาสนิกที่ดี ก็คือ ศาสนาคริสต์  เพราะเป็นศาสนาที่คนอเมริกันส่วนใหญ่นับถือ และเป็น“ศาสนวัฒนธรรมนำ”ของอเมริกัน เช่น แม้ในกรณีของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีของอเมริกันชน สังกัดพรรคโมแครต (ที่ถือว่าอยู่ฝ่ายเสรีเสียด้วยซ้ำ) เขาเองเคยได้รับการกล่าวถึงจากฝ่ายการเมืองขั้วตรงกันข้าม ซึ่งก็คือ  พรรครีพับลิกันว่า เป็นศาสนิกในศาสนาอิสลาม จนนายโอบามาต้องออกมาชี้แจง และแสดงตัวโชว์ยืนยันให้พลเมืองอเมริกันได้เห็น ด้วยการเดินทางไปทำพิธีแบบคริสต์ในโบสถ์คริสต์ ทั้งในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2008 และในช่วงหลังการรับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของอเมริกันแล้วก็ตาม

หมายความว่าทางพรรครีพับลิกัน ได้พยายามที่จะดิสเครดิต (Discredit) นายโอบามา โดยใช้ประเด็นทางศาสนา ถึงแม้ว่าในระบบการเมืองอเมริกัน (กฎหมาย) กำหนดให้ศาสนาไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับรัฐ คือ กำหนดให้การนับถือศาสนา เป็นเรื่องของบุคคล ไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารหรือนโยบายรัฐ

2. จากเหตุผลในข้อแรก ทำให้การเมืองอเมริกันดำเนินไปด้วยระบบกฎหมายเป็นหลัก

และระบบกฎหมายก็กำหนดจากเสียงหรือความต้องการของประชาชนโดยใช้กติกาสัญญา ประชาคมในระบอบประชาธิปไตย ศาสนากลายเป็นเรื่องของปัจเจก ใครจะศรัทธาหรือเชื่อในหลักการของศาสนาใดก็เป็นเรื่องของคนคนนั้น รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือแม้กระทั่งผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ ระบบการเมืองอเมริกันหรือวิถีอเมริกันมีการพูดถึง “คนดี” ในความหมายทั่วไปเชิงศีลธรรมสากล แต่ไม่ได้หมายถึง คนดี ในความหมายของแต่ละศาสนิก ซึ่งให้นิยามแตกต่างกันไป เพราะหากนำมาอ้างกันแล้วก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมได้ หรือแม้แต่ศาสนิกเดียวกันที่ตีความ “คนดี”และ “ความดี” ไปคนละแบบด้วยซ้ำ

3. ศาสนวัฒนธรรมนำ ของคนอเมริกัน คือ ศาสนาคริสต์ก็จริง แต่นักการเมืองอเมริกันเข้าใจเกือบทุกคนว่า ควรจะวางบทบาทในประเด็นทางศาสนาอย่างไรจึงถูกต้องและเป็นประโยชน์กับตัวเอง และพรรค นั่นคือ ต้องวางตัวอย่างไรจึงจะได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามา คำตอบก็คือ การแสดง (แม้ต้องเสแสร้ง) ถึงการยอมรับในความหลากหลายของความเชื่อและความศรัทธาทางด้านศาสนา ให้เป็นเรื่องส่วนตัวของประชาชนไป คือ วางตัวด้วยการไม่เข้าไปแตะ ในขณะเดียวกันนักการเมืองอเมริกันส่วนใหญ่ก็แสดงว่ามีท่าทีนับถือศาสนาของตน เอง การแสดงออกก็อย่างเช่น การไปโบสถ์ หรือไปร่วมในศาสนพิธีต่างๆที่จัดขึ้น เป็นต้น (เป็นไปได้ว่า การแสดงออกดังกล่าว เป็นการสร้างภาพและเป็นของจริงหรือเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง)

4. หลักสิทธิมนุษยชน เป็นหลักเดียวกับหลักศีลธรรมสากล ส่วนหนึ่งเป็นไปตามหลักสังคมนิยมน์ (หลักที่สังคมยอมรับร่วมกัน) หมายถึงเป็นไปตาม “หลักสัญญาศีลธรรมสากล” ของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นกติกาเชิงวัฒนธรรมที่คนส่วนใหญ่รับรู้กันดี ทำให้หลักศาสนาแท้ๆของแต่ละศาสนากลายเป็นเรื่องรอง ศาสนาเป็นในลักษณะจริต (ในพุทธศาสนามีพูดถึง จริต 6) ความเชื่อของแต่ละคนที่แตกต่างกัน โดยมีระบบสัญญาศีลธรรมสากลคลุมเอาไว้ทั้งหมด

5. ความหมายที่แท้จริงของเสรีภาพอยู่เหนือการเป็นศาสนิกของแต่ละศาสนา หมายถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการไม่นับถือศาสนา น่าสนว่าบางทีข้อนี้ก็มองเลยเถิดกันไปว่า เสรีภาพตมความหายของอเมริกัน กลายเป็นศาสนาหรือหนึ่งด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะจากบรรดานักการศาสนาหรือศาสนิกแนวจารีต?

6. ศาสนา เป็นคนละเรื่องกับความยุติธรรมในกระบวนการตัดสินของศาล(ขณะที่ศาลอเมริกันมา จากการเมืองและยึดโยงประชาชน – ได้เขียนไปแล้วก่อนหน้านี้ใน “เจตจำนงของประชาชน”) หมายถึงหลักธรรมใดๆในศาสนาไม่สามารถนำมาใช้อ้างในการตัดสินคดีความใดๆได้ ยกเว้นหลักศีลธรรมสากล หรือหลักอันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งพิจารณาจากคนและกระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในลักษณะของ “สามัญสำนึก” หรือ Common Sense” หรือที่เรียกว่าระบบ Common Law

7. ที่หรือแหล่งอ้างอิงในเชิงการกดทับ เหยียดหยาม กลั่นแกล้ง ฝ่ายที่มีความเชื่อความศรัทธาตรงกันแทบไม่มี , อย่างเช่น การใช้สถาบันศาสนาอ้างอิง หรือเป็นข้ออ้างในการทำกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อคนหรือกลุ่มที่มีความเห็น ต่างทางด้านความเชื่อไม่สามารถทำได้ เพราะศาสนา ได้ถูกทำเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเฉพาะกลุ่มนั้นๆ ไปเสียแล้ว

สรุป ก็คือ ความสำคัญของเรื่องการเมืองกับศาสนาน่าจะอยู่ที่ การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ เชิงการสร้างภาพหรือสัญลักษณ์ว่า เป็นคนดี เป็นการใช้ศาสนาเพื่อให้ผู้ใช้(ที่เป็นทั้งนักการเมืองและไม่ใช่นักการ เมือง)เกิดความความมั่นคงปลอดภัยในสถานะด้านต่างๆ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ขณะเดียวกันหลักทางศาสนาก็ยังถูกนำไปใช้ข่มทับฝ่ายตรงกันข้าม อาจเป็นศาสนิกเดียวกัน  ศาสนิกในศาสนาอื่น หรืออาจเป็นฝ่ายที่ไร้ศาสนาทั้งโดยวิธีการทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง

นอกจากนี้ มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างน้อย สองประการ ต่อท่าทีการนับถือพระพุทธศาสนาของผู้ที่อ้างกันว่าเป็นศาสนิกหรือแม้ผู้ที่ อ้างว่าเคร่งครัดอยู่ในหลักพุทธ ในปัจจุบัน ประการแรกคือ การประคัมภีร์ หมายถึง การเอาคัมภีร์ มาประทะกันเสมือนถือดาบหวัดแกว่งอยู่ในมือ เป็นประเภทสุดโต่งพยัญชนะคัมภีร์และ ในเชิงประวัติศาตร์วิภาษ กับ ประการที่สอง คือ การยึดกุมหลักธรรมของศาสนา เป็นของตนหรือของกลุ่มตน , เป็นประเภท หากมิใช่ “คนที่บูชาหลักการศาสนา” เดียวกับตน รวมถึงการตีความหลักธรรมที่แตกต่างออกไปจากความเห็นของตนหรือของพวกตนด้วย แล้ว ย่อมจักกลายเป็นคนเลวร้ายไปในบัดดล

ขณะที่นัยเชิงลึกบางประการของความเป็นศาสนิก อย่างเช่นพุทธศาสนิก คือ การเพิกถอนเสียจากความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใดๆทั้งปวง แม้แต่จะเป็น”ความเป็นพุทธ” ก็ตาม เพื่อให้ถึงเป้าหมาย คือ เสรีภาพภายในอย่างแท้จริง

หลักศาสนาโดยรวมทั่วไปแล้ว เป็นเรื่องที่ดีแทบทั้งนั้น (โดยที่ต้องไม่ลืมกระบวนการทางด้านความเป็นมาของประวัติศาตร์และในแง่ จิตวิทยาผลประโยชน์ เช่น ผลประโยชน์ทางจิต ผลประโยชน์ทางวัตถุ ของศาสนาอีกด้วย) เพียงแต่ศาสนิกจะเอามาใช้เพื่อผลสำหรับตัวเอง0อย่างไรเท่านั้น


หมายเลขบันทึก: 521599เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2013 05:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2013 05:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท