แบงก์ไทยยังห่างไกลมาตรฐานโลก


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ 

เรากำลังพูดถึงการรวมเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC  ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ แต่เราละเลยที่จะพูดถึง ระบบธุรกิจธนาคารไทย ที่ยังเอาทำธุรกรรมเอารัดเอาเปรียบคนไทยด้วยกันเองมายาวนานจนถึงปัจจุบัน โดยที่ระบบดังกล่าว ไม่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เหมือนที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปเขาทำกัน

  ผมอยากชี้ให้เห็นข้อแห่งการเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน(ลูกค้า)ของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารไทยดังต่อไปนี้ (แบงก์ชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทย) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ควรเข้าไปปรับปรุงกฎกติกาในเรื่องดังกล่าวนี้ เพื่อให้แบงก์พาณิชย์ของไทยมีมาตรฐานเหมือนดังมาตรฐานสากล โดยเรื่องดังกล่าวเป็นเหตุให้ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ค่อยกันไปทำการตลาดเชิงวาณิชธนกิจ  หากแต่มุ่งทำธุรกรรมประเภทกล้วยๆ  ไม่ต้องออกแรงลงทุนอะไรมาก คือ แสวงหากำไรจากค่าธรรมเนียม เป็นต้น)

1.การยังมุ่งหวังกำไรจากธุรกรรมค่าธรรมเนียม เป็นสิ่งสะท้อนถึงการเอารัดเอาเปรียบของธนาคารไทยอย่างเห็นได้ชัดที่สุด เช่น ค่าธรรมเนียมการถอนหรือโอนเงิน ระหว่างเขตที่แม้การทำธุรกรรมประเภทนี้จะเป็นการดำเนินในธนาคารเดียวกัน ซึ่งประเทศที่พัฒนาทางด้านระบบการเงินแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ว่านี้ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมการถอน ฝากหรือโอนเงิน เป็นในส่วนของการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารเท่านั้น

2.การสร้างความลำบากให้กับลูกค้าของธนาคาร (ส่วนหนึ่งเพื่อหวังค่าธรรมเนียม) ด้วยการไม่อนุญาตให้ลูกค้า ทำธุรกรรม อย่างเช่น การปิดบัญชี การเปลี่ยนชื่อ หรือที่อยู่ ฯลฯ ที่สาขาใดก็ตาม แต่ธนาคารบังคับให้ลูกค้าต้องกลับไปหาสาขาเดิมที่เปิดบัญชีไว้

3.การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการทำบัตรเอทีเอ็ม  หรือบัตรเครดิตด้วยจำนวนค่าธรรมเนียมที่แพง มาก แม้แต่การเปลี่ยนบัตร(การ์ด) กรณีบัตรหายหรือชำรุด ธนาคารไทยก็ยังคิดค่าบริการอีก , ในต่างประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมลูกค้าจากสาเหตุดังกล่าวนี้ และบัตรเอทีเอ็มหนึ่งใบ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน(I.D.)สามารถใช้บริการฝากถอน หรือทำธุรกรรมอื่นๆ  ได้แทบทุกประเภท โดยไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม(กรณีแบงก์เดียวกัน) และสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มนั้น ทำธุรกรรมผ่านแบงก์ที่เป็นลูกค้าอยู่ สาขาใดก็ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เพียงแต่ต้องเป็นแบงก์เดียวกัน , การที่แบงก์พาณิชย์ของไทยทำตัวเป็นเสือนอนกินแบบผูกขาดอยู่นี้ ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสแห่งการพัฒนาและเติบโตของเศรษฐกิจรวมทั้งพัฒนาการเชิงการแข่งขันเท่าที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันการคิดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทำนองนี้ ทำให้การเกิดต้นทุนที่เกินความจำเป็นโดยใช่เหตุ ทำให้ไทยไม่เป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน หรือนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เข้าไปเยือนประเทศไทย

  4.ทำให้โอกาสในการเกิดนวัตกรรมทางการเงินมีน้อย เนื่องจากแบงก์ไทยถือตนเสมือนเสือนอนกิน ไม่ยอมคิดทำสิ่งใหม่ทางด้านการเงิน ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับแบงก์ต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน หรือจะเข้าลงทุนกิจการในไทยได้ นอกเหนือไปจากโอกาสในแข่งขันเพื่อลงทุนในต่างประเทศ ยิ่งยากมากขึ้น  โดยเฉพาะประเทศที่อิงมาตรฐานสากล ซึ่งรายได้ของแบงก์ส่วนใหญ่มาจากส่วนต่างของดอกเบี้ย และวาณิชธนกิจมากกว่ารายได้จากค่าธรรมเนียม

  5.การมีนโยบายปล่อยกู้ โดยพิจารณาจากฐานความเชื่อ “ความเสี่ยงเรื่องอายุ” ประเด็นนี้เข้าข่ายผิดหลักในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล ,การพิจารณาเรื่องเงินปล่อยกู้ให้กับลูกค้า ขึ้นกับธนาคารโดยคำนึงถึงความเสี่ยงเรื่องอายุก็จริงอยู่ แต่ไม่ควรใช้เกณฑ์นี้อย่างเป็นทางการทั่วไป หากควรใช้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างอื่นพิจารณาร่วมด้วย เช่น รายได้หรือความสามารถในการผ่อนชำระ ร่วมกับระบบหลักประกันในเรื่องการออมของลูกค้าผู้สูงวัยเหล่านั้น

  6.การที่แบงก์ไทยหันมาแข่งขัน(โปรโมท)ในเรื่องสินเชื่อบุคคล โดยเป้าประสงค์ คือ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่เป็นรายได้ของธนาคารก็จริง แต่แผนการปล่อยสินเชื่อบุคคลดังกล่าว เป็นสาเหตุหรือเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ NPL –Non Performing Loan ได้มาก ขณะเดียวกันการที่แบงก์ชาติหรือรัฐบาลปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจแข่งขันกับสถาบันสินเชื่อขนาดเล็ก(ขนาดย่อม)ในระดับล่าง อย่างเช่น โรงรับจำนำ  และการปล่อยกู้แบบเงินด่วนรูปแบบต่างๆโดยถูกกฎหมาย (เช่น Home for cash , Car for cash เป็นต้น) เป็นตัวการทำลายการแข่งขันในระบบการเงินระดับล่าง ที่เป็นทางเลือกของชาวบ้านโดยทั่วไป  เนื่องจากความที่แบงก์พาณิชย์มีขนาดกิจการที่ใหญ่กว่ากันมาก ทำให้ธุรกิจการเงินขนาดเล็กๆเหล่านี้ ไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งการเกิดโอกาสด้านกฎหมายดังกล่าว เป็นเหตุให้หลายธนาคารถือโอกาสในการออก “โปรโมชั่นทางการเงิน” เพื่อหวังโกยกำไรจากดอกเบี้ยทุกๆทาง จนท้ายที่สุด ผู้เสียเปรียบคือ ประชาชนที่เข้าไปเป็นลูกค้าของสถาบันการเงินเหล่านี้

  การแก้ปัญหาระบบการเงินของไทย นอกเหนือไปจากแบงก์ชาติ ,คณะกรรมกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)และรัฐบาลแล้ว บทบาทของสมาคมธนาคารไทยเองก็นับว่าสำคัญมาก เนื่องจากเป็นองค์สำคัญที่ถือเป็นตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ของไทย

ที่ผ่านมาบทบาทของสมาคมธนาคารไทยค่อนข้างแปลกแยกจากไปความสัมพันธ์กับองค์กรด้านอื่นในประเทศ โดยเฉพาะองค์กรชาวบ้านและองค์กรการเมืองที่เป็นตัวแทนของชาวบ้าน ทำให้ไม่เกิดการเชื่อมต่อในเชิงบวกเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเอาเปรียบลูกค้าของธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ ,แบงก์ชาติที่ถือเป็นสดมภ์หลักในการกำกับนโยบายการเงิน ยินยอมให้ชาวบ้าน หรือไม่เว้นแต่ข้าราชการ(ผู้มีบัญชีเงินเดือนผูกติดกับแบงก์ และถูกหักค่าธรรมเนียมทุกเดือนเมื่อเงินเดือนเข้าบัญชี)ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านการต้องเสียค่าธรรมเนียมแบบที่เลือกไม่ได้มาอย่างยาวนาน

  แบงก์ชาติ  รัฐบาลและรัฐสภา ที่เป็นตัวแทนของชาวบ้าน น่าจะต้องลงไปดูได้แล้วว่า ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง

  หากการเอาเปรียบชาวบ้านของแบงก์ทั้งหลายอย่างที่เป็นอยู่นี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายไม่ควรคิดว่ามันเป็นมาตรฐาน จนกลายเป็นความเคยชินเหมือนที่กำลังเป็นอยู่นี้


คำสำคัญ (Tags): #แบงก์ชาติ
หมายเลขบันทึก: 521528เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2013 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2013 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท