คุณลักษณะของครูที่ดีจากผลงานวิจัย


คุณลักษณะของครูที่ดีจากผลงานวิจัย

การศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของครูที่ดีนั้น มีการวิจัยหลายแง่มุมและหลากหลายกลุ่มตัวอย่างเช่น เฉลียว บุรีภักดีและคณะ วิจัยเรื่องลักษณะของครูที่ดีเมื่อ พ.. 2520 แผนกประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเรื่อง ขอบเขต หน้าที่ และเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับการสอนในระดับประถมศึกษา เมื่อ พ.. 2520 ศูนย์พัฒนาศึกษาแห่งชาติของประเทศไทย ทบวงมหาวิทยาลัย สรุปผลการวิจัยและการสัมมนาของโครงการ การปฏิรูปการฝึกหัดครู พ.. 2529 กองวิจัยการศึกษา กรมวิชาการ วิจัยเรื่องการศึกษาพฤติกรรมของครูในอุดมคตินักเรียนระดับประถมศึกษาเมื่อ พ.. 2535 และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู วิจัยเรื่องการเปรียบเทียบคุณลักษณะความเป็นครูของข้าราชการครูที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งจากการสอบแข่งขันกับการคัดเลือกตามโครงการคุรุทายาท เมื่อ พ.. 2535 เป็นต้น พอจะสรุปลักษณะของครูที่ดีจากผลการวิจัยต่างๆ ได้ดังนี้

1. คุณลักษณะทางด้านส่วนตน ครูที่ดีควรมีลักษณะต่อไปนี้

1.1 ความประพฤติดี ครูต้องเป็นแบบอย่างแก่ศิษย์ โดยธรรมชาติศิษย์มีความโน้มเอียงที่จะประพฤติและปฏิบัติตามแบบอย่างตัวครู ทั้งด้านจริยธรรมและการแสดงออกอยู่แล้ว ดังนั้นครูจึงต้องเป็นผู้มีความประพฤติดีทั้งในห้องเรียนและในการดำเนินชีวิตตามปกติ

1.2 มีความใฝ่รู้ดี ครูที่มีความรู้ดีมักจะสามารถสอนได้ดีด้วยในการประกอบอาชีพครูนั้น การสอนเป็นงานที่สำคัญที่สุด ฉะนั้นครูจึงควรมีความรู้ในเรื่องที่จะสอนอย่างดี นอกจากนี้ครูจำเป็นต้องมีความรู้รอบตัวกว้างขวาง ทันสมัย ทันวิทยาการที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

1.3 สุขภาพกายดี งานของครูเป็นงานที่หนักและเหนื่อย ต้องทำงานตั้งแต่การเตรียมการสอน จัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตรวจงาน ควบคุมความประพฤติของศิษย์ ให้คำแนะนำปรึกษาแก่ศิษย์ ตลอดจนการวัดและประเมินผลการเรียน ครูจึงต้องมีสุขภาพกายที่แข็งแรง เพื่อจะสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้โดยเรียบร้อยสมบูรณ์

1.4 มีสุขภาพจิตดี งานครูเป็นงานที่ต้องอดทนต่อการรบกวนอารมณ์จากศิษย์ ครูต้องมีความอดกลั้นต่อความโกรธหรือความไม่พอใจกับความประพฤติของศิษย์ ตลอดจนอดทนต่อความรู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้ดังใจ ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่พร้อมของศิษย์ ครูจึงต้องมีสุขภาพจิตที่ดีพอ จึงจะทำให้ครูสามารถควบคุมตนเองได้ดี

1.5 บุคลิกภาพดี บุคลิกภาพเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในตัวครูให้แก่ศิษย์ บุคลิกภาพหลายอย่างเป็นคุณลักษณะที่ฝึกฝนปรุงแต่งได้ เช่น การแต่งกายที่เหมาะสม ความสามารถทางการสอน วิธีการพูด มารยาททางสังคมต่างๆ เป็นต้น ศิษย์จะเกิดความเชื่อถือต่อครูได้ง่าย หากว่าครูมีบุคลิกภาพที่ดี ยิ่งครูวางตัวดีก็จะช่วยเพิ่มความเชื่อถือให้กับศิษย์ได้มากยิ่งขึ้น

1.6 ความตรงต่อเวลา การตรงต่อเวลาเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและน่าเคารพให้แก่ครู โรงเรียนกำหนดเวลาเรียนไว้เป็นตารางเวลาที่แน่นอนในแต่ละภาคเรียน ครูจึงต้องเป็นคนตรงต่อเวลาในการเข้าสอน ตลอดจนการตรวจงานของศิษย์ให้เสร็จตามกำหนด การทำบันทึกต่างๆ เช่นการทำบัญชีเรียกชื่อ การทำผลการเรียน การทำสมุดรายงาน จะต้องเสร็จตามกำหนดเวลาด้วย

1.7 เจตคติที่ดีต่อศิษย์ ครูต้องเป็นผู้เข้าใจถึงความต้องการและความสามารถของศิษย์ ตลอดจนความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านต่างๆ ของศิษย์ รู้จักยอมรับความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้ศิษย์ได้แสดงความคิดเห็นโดยเปิดเผย พร้อมที่จะช่วยเหลือให้ศิษย์ได้พัฒนาอย่างเต็มที่ทุกด้านตามศักยภาพของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ครูจะต้องช่วยกระตุ้นให้ศิษย์มีความปรารถนาที่จะเรียนรู้ มีจิตใจใฝ่รู้ มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยไม่หยุดยั้ง

1.8 ความสามารถในการพูด ครูจะต้องพูดและใช้ภาษาอยู่เสมอเพื่ออธิบายหรือ สั่งสอนศิษย์ ครูจึงต้องสามารถใช้การพูดเป็นสื่อที่จะทำให้ศิษย์เข้าใจบทเรียนได้ง่าย นอกจากนี้จะต้องออกเสียงให้ถูกต้องและชัดเจน เพื่อเป็นตัวอย่างด้วย ความสามารถในด้านนี้ ยังรวมถึงน้ำเสียงที่ไพเราะน่าฟังและการพูดแบบเข้มแข็งเด็ดขาดตามสภาวะและเหตุการณ์ด้วย

 

2. คุณลักษณะทางด้านวิชาการและงานครู มีลักษณะดังนี้

2.1 รอบรู้วิทยาการกว้างขวาง ครูจะต้องเป็นผู้ชี้นำในการศึกษาเล่าเรียนให้แก่นักเรียน ช่วยเหลือด้านการเรียนและด้านความประพฤติของนักเรียน ตลอดจนการแนะแนวให้นักเรียนเข้าใจและสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ของตนเองได้ ครูจึงต้องเป็นผู้รอบรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ อย่างกว้างขวาง

2.2 มีความรู้ในวิชาที่สอนดี ครูต้องมีความรู้ดีในเรื่องที่ต้องสอน วิชาที่ต้องรับผิดชอบในการให้ความรู้หรือประสบการณ์แก่นักเรียน ความรู้ในวิชาที่สอนนั้นจะดีมากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับการเตรียมการสอน ความขยันหมั่นเพียรและความใฝ่รู้ของครูด้วย

2.3 มีความรู้ในวิธีสอนดี ครูที่มีความรู้ดีจะต้องสามารถสอนได้ดีด้วย ในการประกอบอาชีพครูนั้นการสอนเป็นงานที่สำคัญที่สุด ฉะนั้นครูจึงควรวางแผนการสอนอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดจุดประสงค์ รูปแบบการสอน วิธีสอนอุปกรณ์การสอน การจัดกิจกรรมการสอน และการประเมินผลการเรียน

2.4 มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ครูที่ดีจะต้องมีความพยายามริเริ่มและหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการศึกษาแก่ศิษย์ให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น การพยายามปรับปรุงงานสอนให้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอนั้นเป็นการพัฒนาการสอนที่ได้ผลดีที่สุด เป็นความคิดริเริ่ม นอกจากนี้ความพยายามหาความรู้เพิ่มเติมทั้งในด้านวิชาการ วิธีสอนตลอดจนความรู้เกี่ยวกับเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในวงการศึกษาเหล่านี้จำเป็นอย่างมากสำหรับอาชีพครูในปัจจุบัน

2.5 เจตคติดีต่ออาชีพ ครูต้องมีศรัทธาต่องานครู สนใจที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาจากศิษย์ เพื่อนครูด้วยกัน ผู้ปกครองหรือผู้บริหารก็ตาม ให้สำเร็จล่วงไปด้วยความกระตือรือร้นที่จะทำงานให้ได้รับความสำเร็จอย่างดี นอกจากนี้ครูต้องตั้งใจพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอด้วย

2.6 มีความสามารถในการปรับบทเรียนให้กับนักเรียน ครูที่สอนดีต้องรู้จักปรับปรุงวิธีสอนตลอดเวลา เนื้อหาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการและสังคมอยู่เสมอ ความสามารถปรับบทเรียนให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของนักเรียนด้วย

2.7 มีความเข้าใจศิษย์ ครูที่ดีจะต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลของศิษย์แต่ละคน ทั้งการสอนและการปกครองจะเป็นไปด้วยดี หากว่าครูเข้าใจ ปัญหาพื้นฐานของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ยิ่งครูสามารถเข้าใจศิษย์ได้ดีเท่าไร ก็ย่อมจะสามารถช่วยเหลือศิษย์ ในด้านการเรียนและความประพฤติได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น

2.8 มีความสามารถในการใช้กลวิธีการสอนต่างๆ ครูต้องสามารถใช้วิธีการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาสาระและวัยของศิษย์ในแต่ละชั้นเรียน เพื่อให้ศิษย์เกิดความสนใจและตั้งใจที่จะเรียน นอกจากนี้ครูจะต้องรู้จักใช้อุปกรณ์การสอนหรือสื่อการสอนให้เหมาะสมกับบทเรียน ครูจะต้องรู้จักเร้าให้ศิษย์เกิดความสนใจและอยากรู้อยากเห็น ตั้งใจที่จะศึกษาสิ่งที่ครูจัดเตรียมไว้ให้ด้วย ครูจะต้องส่งเสริมให้ศิษย์รู้จักคิดแก้ปัญหาต่างๆ ได้ตลอดจนช่วยให้รู้วิธีการที่จะแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง

 

3. คุณลักษณะทางด้านสังคม ผลการวิจัยเกี่ยวกับคุณลักษณะทางด้านสังคมของครูอาจจำแนกได้ดังนี้

3.1 สัมพันธภาพที่ดีกับศิษย์ หน้าที่ของครูไม่ใช่เพียงแต่สอนเท่านั้น ยังจะต้องอบรมกล่อมเกลานิสัยใจคอ ความประพฤติของศิษย์ และจะต้องสามารถเป็นผู้นำและช่วยเหลือในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเหตุนี้ ครูจึงต้องรู้จักสร้างสัมพันธ์ฉันครูกับศิษย์

3.2 สัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนครู ในโรงเรียนย่อมประกอบด้วยครูหลายคนแบ่งงานกันทำตามความถนัดและความสามารถ ครูจึงต้องรู้จักทำงานเป็นทีม รับผิดชอบในส่วนของตนให้ดีที่สุด และรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการร่วมกัน

3.3 สัมพันธภาพที่ดีกับผู้ปกครอง ครูและผู้ปกครองต่างก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเจริญให้แก่ตัวเด็ก ทั้งครูและผู้ปกครองต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ปัญหาต่างๆ ของเด็ก ครูจึงต้องมีความสามารถในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครองด้วย

3.4 สัมพันธภาพที่ดีต่อบุคคลทั่วไปในชุมชนและท้องถิ่น นอกจากผู้ปกครองนักเรียนแล้วบุคคลอื่นๆ ที่ครูต้องเกี่ยวข้องด้วยในการปฏิบัติหน้าที่ครู ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานต่างๆ ผู้นำหรือผู้ที่ประชาชนให้ความนับถือ เป็นต้น บุคคลเหล่านี้มีส่วนช่วยกิจกรรมของโรงเรียนหากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ครูจึงจำเป็นที่จะต้องช่วยทำให้บุคคลเหล่านี้มีทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียนเพื่อประโยชน์แก่นักเรียนและโรงเรียน

สำหรับการวิจัยเกี่ยวกับลักษณะของครูที่ดีในต่างประเทศก็มีการวิจัยกันอยู่เสมอ เช่น ปีเตอร์ แบมเบอเกอร์ กับ อลอน แฮสเกลล์ (Peter Bamburger and Alon Hasgall) วิจัยเรื่อง Instructor Role Conflict in Educational Organization Saving the Characteristics of Total Institutions เมื่อปี ค.. 1995 เป็นต้น นักการศึกษาตะวันตกจะวิจัยในเชิงผลกระทบของคุณลักษณะของครูต่อนักเรียนหรือองค์กรทั้งในด้านเจตคติและคุณภาพ 

หมายเลขบันทึก: 521307เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2013 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2013 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท