คุณลักษณะของครูที่ดีตามพระราโชวาท


คุณลักษณะของครูที่ดีตามพระราโชวาท

คุณลักษณะของครูที่ดีตามพระราโชวาทในที่นี้ หมายถึง พระราโชวาทของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งได้พระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิตใหม่ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครู (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสถาบันราชภัฏและมหาวิทยาลัยราชภัฏตามลำดับ) ณ อาคารใหม่สวนอัมพร เมื่อวันจันทร์ที่ 4 อังคารที่ 5 พุธที่ 6 พฤหัสบดีที่ 7 และวันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.. 2527 ดังมีข้อความที่ผู้เขียนขอตัดตอนอัญเชิญมากล่าวไว้ในที่นี้ ดังนี้

“...คุณสมบัติที่สำคัญสำหรับครู ผู้ปรารถนาจะทำงานให้ได้ดี มีความเจริญก้าวหน้า มีเกียรติยศชื่อเสียง และมีฐานะตำแหน่งอันมั่นคงถาวร

คุณสมบัติสำคัญประการแรก คือ ความสามารถในการแสดงความรู้ความคิดของตน ให้ผู้อื่นทราบได้อย่างแจ่มแจ้งด้วยความฉลาด ความสามารถเช่นนี้จะให้เกิดมีขึ้นได้ต้องอาศัยการฝึกฝน เริ่มต้นด้วยการฝึกคิดให้เป็นระเบียบและเป็นขั้นตอน เมื่อพิจารณาเรื่องใดก็พยายามจับประเด็นของเรื่องให้ได้อย่างถูกต้อง พยายามหาเหตุผลที่เกี่ยวโยงถึงกันให้ได้แน่ชัดและครบถ้วน ประการสำคัญที่สุด เมื่อจะแสดงความคิดเห็น จะต้องรู้จักใช้ถ้อยคำที่จะสื่อความหมายได้โดยถูกต้อง และรวบรัดชัดเจนตรงตามเป้าหมาย การฝึกดังกล่าวนี้จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอให้จนติดเป็นนิสัย จึงจะช่วยให้สำเร็จผลในการทำความเข้าใจกับผู้อื่นเพื่อประโยชน์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสมบัติข้อที่สอง คือ ความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี คุณสมบัติข้อนี้หมายถึงการทำตัวดี สามารถเข้ากับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกภูมิชั้น ได้อย่างแนบเนียน คุณสมบัติเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการฝึกอบรมอย่างจริงใจ ทั้งทางกายและทางใจ ประการสำคัญคือ ต้องหัดทำใจให้กว้าง เป็นกลางและเที่ยงตรง ประกอบด้วยความซื่อสัตย์ ความไม่เพ่งโทษ ไม่ประมาทหมิ่นผู้อื่น อ่อนน้อมนบนอบต่อวุฒิบุคคล สุภาพเป็นมิตรต่อคนเสมอ และเมตตาเอ็นดูต่อผู้น้อย ไม่สร้างปมเขื่องหรือปมด้อยให้แก่ตัวเอง รักษากายวาจาให้สงบ หนักแน่น ไม่ลุแก่โทสะและอคติ ไม่เห็นความสำคัญของตนเองยิ่งกว่าของผู้อื่น สรุปแล้วก็นับว่าเป็นการฝึกฝนที่ลำบากยากอยู่ไม่น้อย แต่ทว่าถ้าแต่ละคนพยายามฝึก พยายามทำให้เกิดขึ้นได้แล้ว จะอำนวยประโยชน์ให้อย่างคาดไม่ถึง เพราะจะทำให้ได้รับความนิยมเชื่อถือไว้วางใจ และได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่ายอย่างดีโดยพร้อมพรัก ทั้งในหน้าที่การงานและในกิจส่วนตัวทุกๆ อย่าง

คุณสมบัติข้อที่สาม คือ ความมีค่านิยมสูง ความมีค่านิยมสูง ได้แก่ ความเฉลียวฉลาด สามารถเลือกสรรสิ่งที่ดี ที่งาม ที่เป็นคุณประโยชน์มาเป็นที่นิยม ยึดเหนี่ยวและเป็นแบบอย่างในการประพฤติตน คุณสมบัติข้อนี้จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติฝึกฝนขึ้นให้พร้อมอีกข้อหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ตกไปสู่ความเสื่อมเสียทั้งปวงแล้ว ยังสามารถประคับประคองและส่งเสริมให้บุคคลเจริญรุ่งเรืองอยู่ในความดีได้อย่างมั่นคงด้วย

คุณสมบัติที่สี่ คือ ความมีวิจารณญาณ ความมีวิจารณญาณนี้หมายถึง ความมีวิจารณญาณอันถ่องแท้แน่ชัดในสรรพกิจการงาน และในการกระทำคำพูดทุกอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นของตนเอง คุณสมบัติข้อนี้จะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการฝึกอบรมทางความคิดจิตใจเป็นสำคัญ คือ แต่ละคนจะต้องพยายามควบคุมใจให้เป็นปกติและหนักแน่นอยู่เสมอ ไม่ให้หวั่นไหว ไม่ให้สะดุ้งสะเทือน เพราะอารมณ์ที่ชอบที่ชังและอคติต่างๆ จนเกิดเหตุ จะทำ จะพูด จะคิดสิ่งใด เรื่องใด ก็มุ่งหมายแต่ในสาระอันเป็นจุดประสงค์และประโยชน์อันควรมุ่งหมายของสิ่งนั้น เรื่องนั้นเป็นสำคัญ ไม่คิดฟุ้งซ่านสับสนไปถึงสิ่งอื่นๆ ที่มิใช่สาระด้วย เมื่อสามารถฝึกใจให้เข้าระเบียบมั่นคงได้ดังนี้แล้ว ความคิดอ่านอันกระจ่างแจ่มใจหรือวิจารณญาณก็จะเกิดขึ้น ช่วยให้สามารถพิจารณาวินิจฉัยเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ได้โดยถูกต้องเที่ยงตรง ไม่ว่าจะทำ จะพูด จะคิดสิ่งใด เรื่องใด ก็จะสำเร็จผลสมบูรณ์ตามความประสงค์ ช่วยให้ประสบความสุขความสำเร็จในชีวิตได้เป็นแน่นอน

สิ่งสำคัญสำหรับครูอีกสิ่งหนึ่ง คือ วินัย วินัยหรือระเบียบบังคับ เป็นของสำคัญสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในฐานะหน้าที่ที่จะต้องปกครองบังคับบัญชาคนอื่นๆ และจะต้องทำตัวให้เป็นแบบฉบับที่ดีแก่ผู้อยู่ในปกครอง... วินัย คือระเบียบปฏิบัติที่ดีที่จะนำบุคคลให้ก้าวหน้าไปถึงความดีงามความเจริญ ดังนั้น เราจะต้องถือวินัยเพื่อเสริมสร้างคุณภาพในตัวเราเองให้บริบูรณ์ขึ้น และเสริมสร้างความพร้อมเพรียงสมัครสมาน ความเป็นปึกแผ่นมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าของหมู่คณะของเราให้บริบูรณ์ขึ้นเช่นกัน ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เราจะต้องระวังตั้งใจมิให้ถือวินัยอย่างผิดๆ เช่น ถือไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องหลอกตัวเองว่าตัวเองเป็นผู้เลอเลิศ แล้วคอยเพ่งโทษผู้อื่น เบียดเบียนข่มเหงผู้อื่นโดยใช้ระเบียบข้อบังคับเป็นเครื่องมือ เพราะการถือวินัยไม่ทำให้เกิดประโยชน์อันใดเลยมีแต่จะก่อให้เกิดความเกลียดชังและแตกแยก...”

ลักษณะของครูที่ดี ตามพระราโชวาทของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทั้ง 5 ประการดังกล่าวหากนำมาพิจารณาในแต่ละข้อให้ละเอียด จะทำให้ได้คุณลักษณะที่ดีของครูเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ดังเช่น

คุณสมบัติข้อแรก คือ ความสามารถในการแสดงความรู้ความคิดของตนให้ผู้อื่นทราบได้อย่างแจ่มแจ้งด้วยความฉลาด คุณสมบัติข้อนี้จะเกิดขึ้นต้องอาศัยคุณธรรมอื่นๆ อีกหลายประการ ที่สำคัญ เช่น

1) การฝึกฝนอบรม

2) การคิดอย่างมีระเบียบแบบแผน

3) การรู้จักจับประเด็นของเรื่องที่จะพูดให้ได้

4) การสื่อความหมายให้ถูกต้อง

5) การพูดได้รวบรัดชัดเจน

6) การฝึกพูดให้เป็นนิสัย

คุณสมบัติข้อที่สอง คือ ความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี คุณสมบัติข้อนี้จะบังเกิดมีในตัวบุคคลที่เป็นครูอาจารย์ได้จะต้องฝึกอบรมในสิ่งต่อไปนี้ คือ

1) การมีกิริยาท่าทางที่เหมาะสม

2) ความสุภาพอ่อนโยนและจริงใจ

3) การฝึกทำใจให้กว้าง เป็นกลาง และเที่ยงตรง

4) ความซื่อสัตย์

5) การไม่เพ่งโทษผู้อื่น

6) การไม่ประมาทหมิ่นผู้อื่น

7) ความอ่อนน้อมต่อวุฒิบุคคล (บุคคลที่มีความเจริญรุ่งเรือง)

8) ความสุภาพเป็นมิตรต่อบุคคลเสมอกัน

9) ความเมตตาเอ็นดูต่อผู้น้อย

10) การไม่สร้างปมเขื่องหรือปมด้อยให้กับตนเอง

11) การรักษากาย วาจา ให้สงบหนักแน่น

12) การไม่โกรธง่าย

13) ความไม่มีอคติหรือลำเอียง

14) การไม่เห็นว่าตัวเองสำคัญกว่าผู้อื่น

คุณสมบัติข้อที่สาม คือ ความมีค่านิยมสูง คุณสมบัติข้อนี้จะเกิดมีขึ้นได้ครูอาจารย์จะต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้ที่ฉลาดในการเลือกสรรสิ่งที่ดีงามที่มีคุณประโยชน์มาเป็นที่นิยมยึดเหนี่ยวปฏิบัติ เช่น (ตัวอย่างต่อไปนี้ มิใช่ พระราโชวาท แต่ผู้เขียนยกขึ้นมาประกอบเพื่อให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจ)

1) การยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

2) การประหยัดอดออม

3) การมีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย

4) การรักษาศีลห้าอย่างเคร่งครัด

5) การเคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์

6) การปฏิบัติตามจรรยาวิชาชีพครูอย่างเคร่งครัด

7) การแต่งกายสุภาพเรียบร้อยเมื่อไปในสถานที่สาธารณะ

8) การรักษาความสะอาดทั้งของส่วนตัวและของส่วนรวม

9) ความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณและสิ่งแวดล้อม

10)ความซื่อสัตย์สุจริต

ฯลฯ

คุณสมบัติข้อที่สี่ คือ ความมีวิจารณญาณ คุณธรรมข้อนี้จะบังเกิดขึ้นได้ครูอาจารย์จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนในด้านต่างๆ ต่อไปนี้

1) การควบคุมจิตใจให้เป็นปกติและหนักแน่น

2) การไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์และอคติต่างๆ

3) การไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดสับสนถึงเรื่องต่างๆ

คุณสมบัติข้อที่ห้า คือ มีวินัย ครูอาจารย์จะต้องยึดถือปฏิบัติตามระเบียบวินัยให้ถูกต้องเหมาะสม โดยตระหนักอยู่เสมอว่า

1) ถือวินัยเพื่อเสริมสร้างคุณภาพให้ตัวเราเอง

2) ถือวินัยเพื่อสร้างความพร้อมเพรียงสมัครสมาน

3) ถือวินัยเพื่อความเป็นปึกแผ่นมั่นคงและความก้าวหน้าของหมู่คณะ

4) ไม่ถือวินัยอย่างผิดๆ เพื่อหลอกตัวเอง

5) ไม่นำเอาวินัยเป็นเครื่องมือเบียดเบียนบังคับผู้อื่น

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า คุณลักษณะของครูดีตามพระราโชวาทของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทั้ง 5 ประการดังกล่าว สามารถจำแนกเป็นคุณลักษณะย่อยๆ ได้อีกมากมายหลายประการ

หมายเลขบันทึก: 521303เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2013 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2013 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท