คุณลักษณะครูที่ดีตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา


คุณลักษณะของครูที่ดีตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา

คุณลักษณะของครูที่ดีตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาก็คือ คุณลักษณะของครูที่ดีตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความจริงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ทุกหมวดหมู่ ครู อาจารย์ หรือบุคคลทั่วไปสามารถนำมายึดถือปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่นได้ตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามสำหรับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับครูมากที่สุด และถือว่าเป็นคุณธรรมพื้นฐานของความเป็นครูหรือคุณลักษณะของครูที่ดีหลักธรรมหมวดนี้คือกัลยาณมิตตธรรมซึ่งมีอยู่ 7 ประการ ดังนี้

1.1 ปิโยน่ารัก หมายความว่า บุคคลที่เป็นครูนั้นจะต้องเป็นผู้ที่น่ารัก ศิษย์ได้พบเห็นแล้วรู้สึกทำให้อยากเข้าไปพบหาปรึกษาไต่ถาม สบายใจเมื่อได้พบปะพูดคุยกับครูอาจารย์ผู้นั้น การกระทำตนให้เป็นที่น่ารักของศิษย์นั้นมิใช่การที่ครูไม่ยอมว่ากล่าวตักเตือนเมื่อศิษย์ทำสิ่งใดผิดพลาด ตรงกันข้าม จะต้องกระทำหน้าที่ของครูให้สมบูรณ์ตลอดเวลานั้น คือหากศิษย์คนใดกระทำไม่ถูกต้อง ครูจะต้องคอยชี้นำ ตักเตือน ห้ามปรามมิให้ศิษย์กระทำสิ่งนั้นๆ

 

1.1.1 มีเมตตาหวังดีต่อเด็กเสมอ

1.1.2 ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่บึ้งตึงทั้งเวลาทำการสอนและนอกเวลาสอน

1.1.3 ให้ความสนิทสนมกับศิษย์ตามสมควรแก่กาลเทศะ

1.1.4 พูดจาอ่อนหวานสมานใจ

1.1.5 เอาใจใส่อบรมสั่งสอนศิษย์ให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง

1.1.6 เป็นเพื่อนในสนามกีฬา เป็นครูที่งามสง่าในห้องเรียน

1.1.7 เมื่อเด็กมีความทุกข์ ครูให้ความเอาใจใส่คอยปลอบประโลมให้กำลังใจ ฯลฯ

1.2 ครุน่าเคารพ หมายความว่า บุคคลที่เป็นครูนั้นต้องเป็นผู้ที่ประพฤติตนเหมาะสมแก่ฐานะของความเป็นครู กระทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งพฤติกรรมทางกายและทางวาจา จิตใจสงบ เยือกเย็น มีเหตุมีผล ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ เป็นคนเสมอต้นเสมอปลายทุกๆ กรณี บุคลิกลักษณะประดุจดังผู้ทรงศีล ทำให้เป็นที่น่าเคารพศรัทธาเลื่อมใสของศิษย์

1.3 ภาวนีโยน่าเจริญใจหรือน่ายกย่อง หมายความว่า บุคคลที่เป็นครูนั้น จะต้องกระทำตนให้เป็นที่น่าเจริญใจหรือน่ายกย่องของศิษย์และบุคคลทั่วไปมีความรู้และภูมิปัญญาอย่างแท้จริง มีคุณธรรมความดีควรแก่การกราบไหว้บูชาของศิษย์เสมอสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะบังเกิดมีในตัวครูได้ ผู้ที่เป็นครูจะต้องหมั่นฝึกอบรมตนให้เจริญงอกงาม ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ เปิดใจรับความรู้ใหม่ๆ ไม่กระทำตนย่ำอยู่กับที่ เป็นครูเวลาทำการสอน เป็นนักเรียนเมื่อมีเวลาว่าง เป็นนักสากลนิยม ถือศาสนาเป็นหลักใจ ไม่เป็นคนมีมิจฉาทิฎฐิ เชื่อกฎแห่งกรรม เป็นผู้รักษากายด้วยศีล ควบคุมจิตด้วยสมาธิ และควบคุมความเห็นด้วยปัญญา หากครูคนใดมีคุณลักษณะดังกล่าว ย่อมเป็นที่น่าเจริญใจเมื่อศิษย์ได้พบเห็น หรือเป็นที่น่ายกย่องของศิษย์และบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ผู้เป็นครูจะต้องพยายามพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในด้านอื่นๆ ให้เจริญก้าวหน้า ไม่ปล่อยชีวิตให้ซอมซ่อ น่าหดหู่แก่ผู้พบเห็นทั่วไป

1.4 วัตตามีระเบียบแบบแผน หมายความว่า บุคคลที่เป็นครูนั้นจะต้องกระทำตนให้เป็นบุคคลที่เคารพระเบียบแบบแผน ขณะเดียวกันก็คอยอบรมตักเตือนให้ศิษย์เป็นผู้มีระเบียบแบบแผน ว่ากล่าวตักเตือนในสิ่งที่ควรกระทำ เป็นที่ปรึกษาที่ดีของศิษย์ด้วย กล่าวโดยรวม คุณลักษณะของครูในข้อนี้ คือ ความเป็นผู้มีระเบียบแบบแผนของครูและคอยอบรมตักเตือนศิษย์ให้อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ด้วย

1.5 วจนักขโมอดทนต่อถ้อยคำ หมายความว่า บุคคลที่เป็นครูนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนต่อคำพูดของศิษย์ที่มากระทบต่อความรู้สึก เพราะบางครั้งคำพูดของศิษย์ที่กล่าวออกมานั้นอาจจะทำให้ครูรู้สึกไม่พอใจหรือไม่สบายใจ ครูก็ต้องอดทนและพร้อมที่จะรับฟังข้อซักถามและให้ปรึกษาหารือ แนะนำ ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว

1.6 คัมภีรัญจะ กถัง กัตตาแถลงเรื่องได้อย่างลึกล้ำ หมายความว่า บุคคลที่เป็นครูนั้นจะต้องมีความสามารถในการสอน มีความสามารถในการใช้คำพูดอธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้ศิษย์ฟังได้อย่างแจ่มแจ้ง การที่ครูคนใดจะกระทำได้ดังกล่าว ก็ต้องพยายามหาวิธีการที่สามารถทำให้ศิษย์เข้าใจได้ง่ายที่สุด ครูที่มีคุณลักษณะในด้านนี้จะสามารถอธิบายเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า สามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำเรื่องซับซ้อนให้เป็นเรื่องธรรมดา

 1.7 โน จัฏฐาเน นิโยชเยไม่ชกนำศิษย์ไปในทางที่เสื่อม หมายความว่า บุคคลที่เป็นครูนั้นจะต้องไม่นำศิษย์ไปในที่ต่ำทรามใดๆ สิ่งใดเป็นความเสื่อมโทรมทางจิตใจ จะไม่ชักนำศิษย์ไปทางนั้น ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เป็นครู ก็จะต้องไม่ประพฤติสิ่งที่เสื่อมทรามทั้งหลายทั้งปวงให้ศิษย์เห็น ครูจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอบายมุขทั้งปวง คุณลักษณะของครูตามหลักกัลยาณมิตตธรรมทั้ง 7 ประการ ดังกล่าวนี้ หากบังเกิดมีกับ ผู้ที่เป็นครูคนใดแล้ว บุคคลนั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นครูที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของสังคมอย่างแน่นอน 

หมายเลขบันทึก: 521299เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2013 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2013 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท