กระบวนการร้องเรียนกรณีมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ UN และกระบวนการยื่นข้อร้องเรียนกรณีมีการละเมิดพันธกรณีตาม ICCPR และ CERD


ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน องค์กรของสหประชาชาติที่เข้ามาทำหน้าที่พิจารณารับเรื่องร้องเรียนได้แก่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งถูกตั้งขึ้นมาแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Human Rights Council : UNHRC) ทั้งนี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนพร้อมกับสอดส่องดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลกและหยุดยั้งการละเมิดสิทธิดังกล่าว

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีกลไกในการรับและพิจารณาข้อร้องเรียนแบบลับ โดยจะรับข้อร้องเรียนที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงมีความต่อเนื่องและเป็นระบบเท่านั้น นอกจากนี้ข้อร้องเรียนดังกล่าวจะต้องผ่านกลไกการเยียวยาภายในประเทศจนถึงที่สุดแล้วแต่ไม่สามารถแก้ไขได้จึงจะสามารถยื่นเรื่องต่อคณะทำงานที่ทำหน้าที่พิจารณารับเรื่องร้องเรียนได้

ทั้งนี้กระบวนการในการรับเรื่องร้องเรียนจะมีคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานว่าด้วยข้อร้องเรียนซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบและกลั่นกรองข้อร้องเรียนว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และคณะทำงานว่าด้วยสถานการณ์ ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาข้อร้องเรียนพร้อมคำชี้แจงของรัฐบาล ในกรณีที่ข้อมูลทั้งหมดปรากฏให้เห็นถึงความต่อเนื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงก็จะเสนอรายงานพร้อมมาตรการต่างๆ ให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนพิจารณาออกข้อมติเพื่อกดดันให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงต่อไป

นอกจากนี้ในตราสารด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับของสหประชาชาติได้มีการกำหนดขั้นตอนในการยื่นข้อร้องเรียนกรณีที่มีการละเมิดพันธกรณีตามที่กำหนดไว้ในตราสารนั้นๆ ซึ่งในที่นี้จะข้อยกเฉพาะฉบับที่มีความเกี่ยวข้องกับร่างกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไข การอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. ..... อันออกตามความในมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ เท่านั้น อันได้แก่

CERD

ข้อ 11

1. หากรัฐภาคีใดเห็นว่ารัฐภาคีอื่นไม่ปฏิบัติตามข้อบทของอนุสัญญานี้ รัฐภาคีนั้นอาจนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ คณะกรรมการจะส่งต่อเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องนั้น ภายในสามเดือน รัฐภาคีที่ได้รับเรื่องจะต้องเสนอคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรหรือถ้อยแถลงให้เกิดความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งระบุการจัดการแก้ไขซึ่งรัฐภาคีนั้นอาจได้ดำเนินไปให้คณะกรรมการทราบ

2. หากเรื่องดังกล่าวไม่ได้รับการปรับแก้จนเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะโดยการเจรจาทวิภาคี หรือโดยกระบวนการอื่น ๆ ภายในหกเดือนหลังจากรัฐภาคีได้รับแจ้งการร้องเรียนครั้งแรก ไม่ว่ารัฐภาคีใดในระหว่างรัฐทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง โดยการแจ้งให้คณะกรรมการและรัฐภาคีอีกรัฐหนึ่งนั้นทราบ

3. คณะกรรมการจะจัดการกับกรณีที่อ้างถึงตามวรรค 2 ของข้อนี้ ก็ต่อเมื่อได้พิจารณาอย่างชัดเจนแล้วว่าได้มีการใช้มาตรการภายในประเทศทั้งหมดแล้ว แต่ไม่ประสบผลในกรณีดังกล่าว อันสอดคล้องกับหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ตระหนักกันอยู่ทั่วไป อย่างไรก็ดี กฎนี้จะไม่ถือปฏิบัติหากกระบวนการการจัดการดังกล่าวดำเนินไปอย่างยืดเยื้อโดยไม่มีเหตุผลสมควร

4. ในกรณีใดก็ตามที่มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการ คณะกรรมการอาจขอให้รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องนั้นจัดหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้

5. ในขณะที่กรณีใดก็ตามตามข้อนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ รัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะจัดส่งผู้แทนเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการโดยไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในขณะที่คณะกรรมการพิจารณาเรื่องดังกล่าว

ข้อ 12

1. (ก) หลังจากที่คณะกรรมการได้รับและได้รวบรวมข้อมูลที่เห็นว่าจำเป็นทั้งหมดแล้ว ประธานคณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะกรรมาธิการเฉพาะกิจเพื่อไกล่เกลี่ย (ต่อไปนี้เรียกว่า คณะกรรมาธิการ) ประกอบด้วยบุคคลห้าคน ซึ่งอาจเป็นสมาชิกคณะกรรมการหรือไม่ก็ได้ สมาชิกคณะกรรมการจะได้รับการแต่งตั้งโดยฉันทามติจากคู่กรณี และคณะกรรมาธิการจะประสานงานระหว่างรัฐภาคีคู่กรณีโดยมุ่งหวังที่จะนามาซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเคารพในอนุสัญญานี้

(ข) หากรัฐภาคีคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ภายในสามเดือนในเรื่องการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการทั้งหมดหรือบางส่วน สมาชิกคณะกรรมาธิการที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐภาคีคู่กรณีจะได้รับการเลือกตั้งโดยการลงคะแนนลับของคณะกรรมการด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกคณะกรรมการ

2. สมาชิกคณะกรรมาธิการจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะส่วนตัว และจะต้องไม่เป็นคนชาติของรัฐภาคี คู่กรณีหรือรัฐที่มิได้เป็นภาคีอนุสัญญานี้

3. คณะกรรมาธิการจะเป็นผู้เลือกประธานและกำหนดระเบียบ ข้อบังคับของตน

4. โดยปกติการประชุมคณะกรรมาธิการจะจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ หรือในสถานที่อื่นตามแต่คณะกรรมาธิการจะเห็นว่าสะดวก

5. สำนักเลขานุการซึ่งจัดให้มีขึ้นตามข้อ 10 วรรค 3 ของอนุสัญญานี้ จะทำงานให้คณะกรรมาธิการที่จัดตั้งขึ้นกรณีมีข้อพิพาทระหว่างรัฐภาคี

6. รัฐภาคีคู่กรณีจะร่วมกันรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายของสมาชิกคณะกรรมาธิการอย่างเท่าเทียมกัน ตามประมาณการค่าใช้จ่ายโดยเลขาธิการสหประชาชาติ

7. เลขาธิการจะได้รับอำนาจให้จ่ายค่าใช้จ่ายของสมาชิกคณะกรรมาธิการ (หากจำเป็น) ก่อนที่จะได้รับการใช้คืนจากรัฐภาคีคู่กรณี ตามวรรค 6 ของข้อนี้

8. คณะกรรมาธิการจะได้รับข้อมูลที่คณะกรรมการได้รับและรวบรวม และคณะกรรมาธิการอาจขอให้รัฐที่เกี่ยวข้องจัดส่งข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้

ข้อ 13

1. เมื่อคณะกรรมาธิการได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างสมบูรณ์แล้ว คณะกรรมาธิการจะจัดเตรียมรายงานและเสนอต่อประธานคณะกรรมการ ระบุถึงผลการสอบสวนในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวระหว่างคู่กรณี และระบุรวมข้อแนะนำซึ่งคณะกรรมาธิการเห็นเหมาะสมสำหรับการแก้ไขข้อพิพาทอย่างสินติ

2. ประธานคณะกรรมการจะจัดส่งรายงานของคณะกรรมาธิการให้กับรัฐภาคีคู่กรณีและภายในสามเดือน รัฐภาคีคู่กรณีจะต้องแจ้งให้ประธานคณะกรรมการทราบว่ารัฐนั้นยอมรับหรือไม่ยอมรับข้อแนะนำตามที่ระบุรวมอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการ

3. ภายหลังจากช่วงเวลาที่จัดให้มีในวรรค 2 ของข้อนี้ ประธานคณะกรรมการจะจัดส่งรายงานของคณะกรรมาธิการและประกาศของรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องไปยังรัฐอื่นๆ ที่เป็นภาคีอนุสัญญานี้

ข้อ 14

1. รัฐภาคีรัฐหนึ่งรัฐใดอาจประกาศยอมรับอำนาจของคณะกรรมการในการรับพิจารณาข้อร้องเรียนจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลภายในเขตอาณาของรัฐภาคีนั้น ซึ่งอ้างว่าได้ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิตามที่ระบุในอนุสัญญานี้โดยรัฐภาคีนั้น ทั้งนี้ คณะกรรมการจะไม่รับข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับรัฐภาคีที่มิได้ประกาศยอมรับอำนาจของคณะกรรมการ

2. รัฐภาคีซึ่งได้ประกาศตามวรรค 1 ของข้อนี้อาจจัดตั้งหรือมอบหมายหน่วยงานภายใต้กระบวนการกฎหมายแห่งชาติของรัฐนั้นให้มีอำนาจรับพิจารณาข้อร้องเรียนจากบุคคลและกลุ่มบุคคลภายในเขตอาณาของรัฐนั้น ซึ่งอ้างว่าตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิตามที่ระบุในอนุสัญญานี้และได้ใช้มาตรการจัดการแก้ไขในระดับท้องถิ่นจนหมดสิ้นแล้วแต่ไม่บังเกิดผล

3. รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องจะต้องมอบเอกสารประกาศตามวรรค 1 ของข้อนี้ และเอกสารระบุชื่อของหน่วยงานที่ได้จัดตั้งหรือได้รับมอบหมายตามวรรค 2 ของข้อนี้ให้เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งจะจัดส่งสำเนาเอกสารไปแจ้งรัฐภาคีอื่น ๆ ทั้งนี้ รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องอาจเพิกถอนการประกาศนี้ได้ทุกเมื่อ โดยการแจ้งต่อเลขาธิการสหประชาชาติ แต่การเพิกถอนดังกล่าวจะต้องไม่กระทบต่อการร้องเรียน ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ

4. หน่วยงานซึ่งจัดตั้งขึ้นหรือได้รับมอบหมายตามวรรค 2 ของข้อนี้ จะจัดทำทะเบียนข้อร้องเรียนและจะจัดส่งสำเนาทะเบียนดังกล่าวเป็นรายปีให้เลขาธิการสหประชาชาติตามช่องทางที่เหมาะสม โดยเป็นที่เข้าใจกันว่าจะไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาต่อสาธารณชน

5. ในกรณีที่หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นหรือได้รับมอบหมายตามวรรค 2 ของข้อนี้ไม่สามารถปฏิบัติงานเป็นที่พอใจ ผู้ร้องเรียนมีสิทธิที่จะร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการภายในเวลา 6 เดือน

6. (ก) คณะกรรมการจะแจ้งข้อร้องเรียนที่ได้รับต่อรัฐภาคีที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อบทของอนุสัญญา โดยจะไม่เปิดเผยชื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยมิได้รับอนุญาต ทั้งนี้คณะกรรมการจะไม่รับข้อร้องเรียนที่ไม่มีการลงนาม

(ข) ภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากที่ได้รับการแจ้งข้อร้องเรียน รัฐจะต้องจัดส่งคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรหรือถ้อยแถลงไปยังคณะกรรมการเพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งระบุการจัดการแก้ไขที่รัฐนั้นอาจได้ดำเนินการแล้ว

7. (ก) คณะกรรมการจะพิจารณาข้อร้องเรียน โดยคำนึงถึงข้อมูลที่ได้รับจากรัฐภาคีและผู้ร้องเรียน ทั้งนี้ คณะกรรมการจะไม่พิจารณาข้องร้องเรียน หากผู้ร้องเรียนมิได้ประกันว่าได้ใช้กระบวนการจัดการภายในที่มีอยู่จนหมดสิ้นแล้ว แต่ไม่บังเกิดผล อย่างไรก็ตาม กฎนี้จะไม่ถือปฏิบัติหากกระบวนการจัดการดังกล่าวดำเนินไปอย่างยืดเยื้อโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(ข) คณะกรรมการจะจัดส่งข้อเสนอแนะนำไปยังรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องนั้นและไปยังผู้ร้องเรียน

8. คณะกรรมการจะรวมสรุปข้อร้องเรียนดังกล่าว สรุปคำอธิบายและถ้อยแถลงของรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องและข้อเสนอและข้อแนะนำของคณะกรรมการไว้ในรายงานประจำปีตามความเหมาะสม

9. คณะกรรมการจะมีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในข้อนี้ เมื่อรัฐภาคีอนุสัญญาอย่างน้อยที่สุด 10 รัฐ ได้ประกาศยอมรับอำนาจของคณะกรรมการตามวรรค 1 ของข้อนี้

ICCPR

ข้อ 41

1. รัฐภาคีแห่งกติกานี้อาจประกาศตามบทบัญญัติในข้อนี้ ในเวลาใดๆ ว่าตนยอมรับอำนาจของคณะกรรมการในอันที่จะรับและพิจารณาคำแจ้งที่มีผลว่ารัฐภาคีหนึ่งกล่าวอ้างว่ารัฐภาคีอีกรัฐหนึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีของตนตามกติกานี้ การรับและพิจารณาคาแจ้งตามข้อนี้จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นคาแจ้งซึ่งได้เสนอโดยรัฐภาคีซึ่งได้ประกาศยอมรับอำนาจของคณะกรรมการแล้ว คณะกรรมการจะไม่รับคำแจ้งใดๆ หากคำแจ้งนั้นเกี่ยวข้องกับรัฐภาคีซึ่งมิได้ทำคำประกาศเช่นว่านั้น การพิจารณาคำแจ้งที่ได้รับตามข้อนี้ให้เป็นไปตามวิธีพิจารณาต่อไปนี้

(ก) ถ้ารัฐภาคีหนึ่งแห่งกติกานี้พิจารณาเห็นว่ารัฐภาคีอีกรัฐหนึ่งมิได้ทำให้บทบัญญัติแห่งกติกานี้มีผลจริง รัฐนั้นอาจทำคำแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังรัฐภาคีอีกรัฐหนึ่งนั้น ภายในเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ได้รับคำแจ้งให้รัฐที่ได้รับแจ้งตอบรัฐที่ส่งคาแจ้งโดยทำเป็นคำอธิบายหรือคำแถลงอื่นเป็นลายลักษณ์อักษรชี้แจงรายละเอียดของเรื่องซึ่งควรรวมถึงการอ้างอิงกระบวนการภายในของรัฐนั้นและการเยียวยาที่ได้ดำเนินการไป หรือที่อยู่ระหว่างดำเนินการหรือที่มีอยู่ทั้งนี้เท่าที่เกี่ยวข้องและเป็นไปได้

(ข) ถ้ากรณีที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการปรับแก้ให้เป็นที่พอใจแก่รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายภายในหกเดือนนับแต่วันที่รัฐผู้รับได้รับคำร้องเรียนครั้งแรก รัฐใดรัฐหนึ่งย่อมมีสิทธิที่จะเสนอกรณีดังกล่าวต่อคณะกรรมการ โดยแจ้งให้คณะกรรมการและอีกรัฐหนึ่งทราบ

(ค) คณะกรรมการจะดำเนินการกับกรณีที่เสนอมาได้ก็ต่อเมื่อเป็นที่แน่ใจแก่คณะกรรมการแล้วว่าการเยียวยาภายในประเทศได้นามาใช้โดยถึงที่สุดแล้วโดยสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป หลักเกณฑ์นี้ไม่ใช้บังคับ ในกรณีที่การเยียวยาจะเนิ่นนานออกไปอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร

(ง) ให้คณะกรรมการจัดประชุมลับ เมื่อมีการพิจารณาคาร้องเรียนตามข้อนี้

(จ) ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของอนุวรรค (ค) คณะกรรมการจะช่วยเป็นสื่อกลางให้แก่รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อการหาข้อยุติฉันเพื่อนบนพื้นฐานแห่งความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐานที่ได้รับรองไว้ในกติกานี้

(ฉ) คณะกรรมการอาจร้องขอให้รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องตามที่อ้างถึงในอนุวรรค (ข) จัดส่งข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่เสนอมาสู่การพิจารณานั้น (ช) รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องตามที่อ้างถึงในอนุวรรค (ข) ย่อมมีสิทธิที่จะมีผู้แทนเข้าชี้แจงในขณะที่เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาในคณะกรรมการ และมีสิทธิที่จะเสนอคำแถลงด้วยวาจาและ/หรือเป็นลายลักษณ์อักษร

(ซ) ภายในสิบสองเดือนนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งตามอนุวรรค (ข) คณะกรรมการจะเสนอรายงาน

(1) ถ้ามีการบรรลุข้อยุติตามที่ระบุไว้ในอนุวรรค (จ) คณะกรรมการจะจำกัดขอบเขตของรายงานของตนให้เป็นเพียงคำแถลงโดยย่อในข้อเท็จจริงและข้อยุติที่บรรลุผล

(2) ถ้าไม่มีการบรรลุข้อยุติตามที่ระบุไว้ในอนุวรรค (จ) คณะกรรมการจะจำกัดขอบเขตของรายงานของตนให้เป็นเพียงคำแถลงโดยย่อในข้อเท็จจริง ทั้งนี้ให้แนบคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรและบันทึกคำแถลงด้วยวาจาซึ่งกระทำโดยรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องไปกับรายงานนั้นด้วย

ในทุกกรณี ให้ส่งรายงานดังกล่าวไปยังรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง

2. บทบัญญัติของข้อนี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อรัฐภาคีแห่งกติกานี้สิบรัฐได้ทำคำประกาศตามวรรค 1 ของข้อนี้ รัฐภาคีจะมอบคำประกาศไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติซึ่งจะส่งสำเนาคำประกาศนั้นๆ ไปยังรัฐภาคีอื่น ๆ คำประกาศอาจถูกถอนเมื่อใดก็ได้ โดยการแจ้งไปยังเลขาธิการฯ การถอนคำประกาศย่อมไม่กระทบกระเทือนการพิจารณากรณีใด ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับการแจ้งซึ่งได้จัดส่งไว้แล้วตามข้อนี้ คณะกรรมการจะไม่รับคำแจ้งจากรัฐภาคีอีกต่อไปหลังจากที่มีการแจ้งการถอนคำประกาศซึ่งรับไว้โดยเลขาธิการฯ เว้นแต่รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องได้ทำคำประกาศใหม่แล้ว


หมายเลขบันทึก: 521097เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2013 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2013 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท