หลักเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กมีการรับรองตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศใดบ้าง หากบิดาและมารดามีสิทธิเข้าเมืองหรือสิทธิอาศัยแตกต่างกัน เด็กควรสืบสิทธิตามบิดามารดาอย่างไร


หลักเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กมีการรับรองตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศใดบ้าง หากบิดาและมารดามีสิทธิเข้าเมืองหรือสิทธิอาศัยแตกต่างกัน เด็กควรสืบสิทธิตามบิดามารดาอย่างไร

หลักกฎหมายที่รับรองหลักเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖

มาตรา ๒๒ การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

การกระทำใดเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก หรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อเด็กหรือไม่ ให้พิจารณาตามแนวทางที่กำหนดในกฎกระทรวง

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. ๑๙๘๙

ข้อ ๓

1. ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน ศาลยุติธรรม หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือองค์กรนิติบัญญัติ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก

เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำที่เขียนไว้ในข้อ ๓ วรรค ๑ ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กฯ จะพบว่าหลักการเรื่อง “ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก” นั้น มีความหมายที่กว้างครอบคลุมทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับเด็กไม่ว่าจะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อมและไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ล้วนแล้วแต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก ดังนั้นการที่รัฐใดๆ ก็ตามซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาฯ ฉบับนี้จะออกกฎเกณฑ์หรือมาตรการใดๆ อันเกี่ยวข้องกับเด็กมาใช้บังคับในดินแดนของตนจะต้องคำนึงถึงหลักการดังกล่าวด้วยเสมอ

ทั้งนี้ประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กได้นำหลักเรื่องผลประโยชน์สูงสุดของเด็กมาบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ ด้วยเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ประเทศไทยนอกจากจะมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายในของตนอีกด้วย

สำหรับนิยามของหลัก “ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก” นั้นไม่ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนแต่อย่างใดแต่กรณีของประเทศไทยนั้น มีการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดแนวทางในการพิจารณาถึงสิ่งที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก โดยให้ความสำคัญไปที่สิ่งที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก ซึ่งต้องทำการพิจารณาเด็กเป็นการเฉพาะรายไป

ดังนั้นในกรณีที่บิดาและมารดามีสิทธิเข้าเมืองหรือสิทธิอาศัยแตกต่างกัน การจะพิจารณาว่าเด็กควรสืบสิทธิตามบิดาหรือมารดานั้น ต้องทำการเปรียบเทียบระหว่างสิทธิของบิดาและมารดาว่าสิทธิของใครจะเป็นประโยชน์แก่เด็กมากกว่ากัน ผู้ใดมีสิทธิที่จะเป็นประโยชน์แก่เด็กมากกว่าเด็กก็ควรจะสืบสิทธิตามผู้นั้นซึ่งสอดคล้องกับหลักผลประโยชน์สูงสุดของเด็กตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กฯ และ มาตรา ๒๒ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฯ นั่นเอง


คำสำคัญ (Tags): #ประโยชน์สูงสุด
หมายเลขบันทึก: 521095เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2013 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2013 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท