ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเด็กไร้รากเหง้าในประเทศไทย


ข้อสังเกตและบทความทางวิชาการของผู้เขียน ซึ่งเป็นคณะทำงานในทีมผู้ช่วยทางวิชาการ ภายใต้ “โครงการประชาคมวิจัยการจัดการประชากร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” อันมีต่อประเด็นที่นำเสนอในเวทีหารือเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไข การอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. ... จากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกับผู้แทนจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ตลอดจนประเด็นอื่นๆ อันเกี่ยวข้องกับ ร่างกฎกระทรวงมาตรา 7 ทวิวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551


"ประเด็นคำถาม คือ หากพบเด็กไร้รากเหง้าที่พบตัวในประเทศไทย จะมีข้อสันนิษฐานทางกฎหมายต่อเด็กอย่างไรบ้าง มีข้อสันนิษฐานทางกฎหมายการทะเบียนราษฎรว่าเด็กเป็นคนไทยจริงหรือไม่?"

หลักกฎหมาย

มาตรา 19 ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง ให้นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งปฏิบัติงานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้แล้วให้บันทึกการรับตัวเด็กไว้ ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรับเด็กไว้ ให้นำตัวเด็กพร้อมบันทึกการรับตัวเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตท้องที่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้หรือได้รับตัวเด็กจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้ว ให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้นายทะเบียนออก ใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

                    บันทึกการรับตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นสองฉบับและเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่ผู้รับตัวเด็กหนึ่งฉบับและส่งมอบให้กับนายทะเบียนผู้รับแจ้งหนึ่งฉบับ โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการบุคคลของผู้ที่พบเด็ก พฤติการณ์ สถานที่และวันเวลาที่พบเด็ก สภาพทางกายภาพโดยทั่วไปของเด็ก เอกสารที่ติดตัวมากับเด็ก และประวัติของเด็กเท่าที่ทราบ และในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย

มาตรา 19/1 เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าเด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้านให้หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่หน่วยงานนั้นตั้งอยู่ และให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

มาตรา 19/2 การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา 19 และมาตรา 19/1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

มาตรา 20 เมื่อมีการแจ้งการเกิดตามมาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 19/1 หรือมาตรา 19/2 ทั้งกรณีของเด็กที่มีสัญชาติไทยหรือเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรเป็นหลักฐานแก่ผู้แจ้งโดยมีข้อเท็จจริงเท่าที่สามารถจะทราบได้

สำหรับการแจ้งการเกิดของเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกสูติบัตรให้ตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด โดยให้ระบุสถานการณ์เกิดไว้ด้วย


วินิจฉัย

            หากพบเด็กไร้รากเหง้าในประเทศไทย บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรที่เกี่ยวข้องกับบุคคลไร้รากเหง้า ตั้งแต่มาตรา 19 จนถึง มาตรา 20ไม่มีการให้สันนิษฐานเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าวประการใดแต่ให้นายทะเบียนบันทึกเกี่ยวกับรายการบุคคลของผู้ที่พบเด็ก พฤติการณ์ สถานที่และวันเวลาที่พบเด็ก สภาพทางกายภาพโดยทั่วไปของเด็ก เอกสารที่ติดตัวมากับเด็ก และประวัติของเด็กเท่าที่ทราบ และในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย (มาตรา 19)

          จะเห็นได้ว่ากฎหมายบัญญัติให้บันทึกกรณีเด็กไร้รากเหง้าดังกล่าวตามความเป็นจริง ไม่มีบทสันนิษฐานเป็นประการอื่นแต่อย่างใด

          นอกจากนี้จากพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรที่เกี่ยวข้องกับเด็กไร้รากเหง้านั้นไม่พบว่ามีข้อความใดให้สันนิษฐานว่ากรณีที่ไม่ปรากฏบิดามารดา หรือไม่สามารถพิสูจน์สถานการณ์เกิดและสัญชาติของเด็กได้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ....ทั้งนี้มีเพียงการกำหนดวิธีการดำเนินการไว้ในมาตรา มาตรา 19/2  “การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา 19 และมาตรา 19/1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด”    เห็นได้ว่าไม่มีข้อความให้สันนิษฐานเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยแต่ประการใด และการจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนนั้น เป็นเพียงการทำทะเบียนเอกสารของผู้ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมาย เป็นเพียงบันทึกบุคคลมิใช่การให้มีสัญชาติไทยแต่อย่างใด


ประเด็นคำถามคือ ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร หากไม่ปรากฏบิดามารดา และไม่อาจสืบทราบได้ว่าบิดามารดาเป็นคนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าว กฎหมายการทะเบียนราษฎรจะสันนิษฐานอย่างไร?

วินิจฉัย

               กรณีที่ไม่อาจสืบทราบสถานะการเกิดของเด็กได้ หรือกรณีไม่ปรากฎบิดามารดาของเด็ก (เด็กไร้รากเหง้า) พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวตั้งแต่มาตรา 19 จนถึง มาตรา 20 ไม่มีการให้สันนิษฐานเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าวที่เป็นคุณแต่ประการใด  ไม่มีข้อสันนิษฐานว่าให้เด็กไร้รากเหง้าเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่มีข้อสันนิษฐานว่าให้ถือว่าบิดามารดาของเด็กที่ไม่ปรากฎนั้นเป็นผู้มีสัญชาติไทยแต่อย่างใด และหากไม่ทราบสัญชาติของเด็กก็ไม่มีบทบัญญัติให้สันนิษฐานว่าเด็กเป็นผู้มีสัญชาติไทยแต่อย่างใด

              แต่กฎหมายบัญญัติในมาตรา 19 ว่าในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้นายทะเบียนบันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย จะเห็นได้ว่ากฎหมายให้บันทึกข้อเท็จจริงตามความเป็นจริง กฎหมายไม่มีบทสันนิษฐานที่เป็นคุณในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด



                                                                                                              นางสาวปรางค์สิรินทร์ เอนกสุวรรณกุล

                                                                                                             (แก้ไขวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 9.53)


หมายเลขบันทึก: 521078เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2013 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2013 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท