การพัฒนาอาชีพ (Career Development) : กลยุทธ์ในการรักษาพนักงาน


                     การพัฒนาอาชีพ (Career Development) : กลยุทธ์ในการรักษาพนักงาน

                                                                                                                                       โกศล  สนิทวงษ์*

                                                                             บทนำ

               การพัฒนาอาชีพ (Career Development) และการจัดทำสายอาชีพ (Career Path) เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการธำรงรักษาบุคลากรขององค์การ จึงกลายเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาการลาออกของบุคลากรในองค์การได้วิธีการหนึ่งที่นิยมทำคือการจัดให้มีเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (CareerPath) ให้แก่บุคลากรเพื่อเป็นแรงจูงใจและให้พนักงานเห็นความก้าวหน้าในอาชีพ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและได้รับการยอมรับจากองค์การ นอกจากนี้การวางเส้นทางสายอาชีพสามารถนำไปจัดกลุ่มงานและหน้าที่ที่พนักงานรับผิดชอบได้อย่างสมดุล
ลดปัญหาความกดดันในงานและเป็นการดำเนินการอย่างมีหลักเกณฑ์ โปร่งใสและยุติธรรม ลดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างบุคลากรและผู้บริหารซึ่งแต่ละองค์การก็จะมีการจัดทำรูปแบบสายทางความก้าวหน้าในอาชีพของพนักงานแตกต่างกันไปตามบริบทขององค์การ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดต่างมีแนวความคิดที่ว่าการพัฒนาอาชีพเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรได้เลื่อนตำแหน่งซึ่งจะช่วยเพิ่มความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์การ (Schwarzwald, Koslowsky & Shalit, 1992) ทั้งนี้การที่องค์การจะสามารถจัดทำระบบการพัฒนาอาชีพได้ดีเพียงใดนั้น มีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างเช่นผู้บริหาร โครงสร้างองค์การ ระบบขององค์การและยังรวมถึงนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย
ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาอาชีพกลายเป็นเครื่องมือในการรักษาบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นกลยุทธ์มากขึ้น

           ความหมายของอาชีพ (Career) การพัฒนาอาชีพ (Career Development) และการจัดทำสายอาชีพ (Career Path) ดนัย เทียนพุฒ (2537) ได้ให้ความหมายของ “อาชีพ” หมายถึง งานทุกงานที่บุคคลหนึ่งได้เคยผ่านการมีประสบการณ์มาตลอดชีวิตการทำงานในแต่ละคน ซึ่งอาจเกิดได้จากการวางแผนหรือไม่ได้วางแผนการทำงานในลักษณะต่างๆคนที่จะประสบความสำเร็จมักจะเป็นคนที่กำหนดเป้าหมายในงานของตนเอง มีการวางแผนการเดินทางไปยังเป้าหมายที่ตนเองตั้งไว้แล้วดำเนินการเพื่อให้ได้มีประสบการณ์ในการผ่านงานด้านต่างๆไปจนถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดที่ตั้งไว้ซึ่งต่อมาได้เพิ่มคำจำกัดความของอาชีพ (Career) ว่าหมายถึง การรับรู้ของพนักงานที่สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมและทัศนคติ คุณค่าและความทะเยอทะยาน ซึ่งสัมพันธ์กับประสบการณ์ในการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงชีวิตการทำงานของแต่ละบุคคล (ดนัย, 2540) ในขณะที่ธงชัย สันติวงษ์ (2531) ให้ความหมายของ อาชีพงาน (Career) ว่าหมายถึง ลำดับที่ต่อเนื่องของประสบการณ์จากงานหลายๆ อย่าง ที่คนๆ
หนึ่งได้เคยเข้าไปเกี่ยวข้องและเคยทำมาในช่วงเวลาของชีวิตการทำงานของเขา ซึ่งมีมุมมองแตกต่างจาก
ณัฎฐพันธ์ เขจรนันท์ (2541) ที่ให้ความหมายของ “อาชีพ” ว่าหมายถึง งานที่บุคคลกระทำโดยใช้ความรู้
ทักษะและความสามารถของตนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

              ส่วนบริบทในต่างประเทศมีผู้ให้ความหมายไว้จำนวนมากเช่น De Cenzo และ Robbins (อ้างในณัฏฐพันธ์ เขจรนันทน์, 2542) กล่าวว่า อาชีพ คือลำดับขั้นของตำแหน่งงาน ซึ่งบุคคลดำรงอยู่ในแต่ละช่วงชีวิตของเขา
ซึ่ง Super (อ้างใน นวลศิริ เปาโรหิตย์, 2541) ได้ให้ความหมายคำว่า (Career) หมายถึง งานต่างๆที่บุคคลได้ทำรวมทั้งตำแหน่งต่างๆ ที่บุคคลได้เคยประจำอยู่ในช่วงชีวิตการทำงานซึ่งอาชีพถือว่าเป็นกระบวนการที่ไม่หยุดนิ่ง
มีการเคลื่อนไหวและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจัดเป็นภารกิจทางพัฒนาการของชีวิตมนุษย์

          จากคำนิยามและการให้ความหมายข้างต้น จึงสรุปได้ว่า แนวคิดเกี่ยวกับงานอาชีพ คือ ความสัมพันธ์ของประสบการณ์ในการทำงานและลำดับขั้นของตำแหน่งงานซึ่งบุคคลดำรงอยู่ในแต่ละช่วงชีวิตของเขาโดยบุคคลอาจปฏิบัติงานในสายอาชีพเดิมตั้งแต่เริ่มต้นไปตลอดจนกระทั่งเกษียณอายุ เช่น ชาวนา ชาวสวน พ่อค้า ครู นักบัญชี นายแพทย์ นักบริหาร เป็นต้น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงสายอาชีพตามความเหมาะสม หรือ ความต้องการส่วนตัว ขึ้นอยู่กับทัศนคติ พฤติกรรม สิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ของบุคคลนั้น แต่ละคนสามารถเลือกทำอาชีพเดียวหรือหลายอาชีพในขณะเดียวกันได้ซึ่งอาจจะสังกัดในองค์การหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของความสนใจและความถนัดของบุคคล

          การพัฒนาอาชีพ (Career development) หมายถึง ความพยายามประเมินศักยภาพของบุคคล
กำหนดเส้นทางอาชีพที่เหมาะสม วางแผน รวมทั้งดำเนินการฝึกอบรมและเสริมประสบการณ์ เพื่อเตรียมบุคคลสำหรับความก้าวหน้าในงาน โดยมุ่งส่งเสริมให้บุคลากรได้พัฒนาตนเอง เปิดโอกาสให้คนทำงานแต่ละคนมีโอกาสเติบโตและก้าวหน้าในงาน โดยมุ่งสู่เป้าหมายในอาชีพที่ตนถนัด เพิ่มคุณภาพชีวิตในการทำงานอีกนัยหนึ่งหมายถึงความพยายามประเมินศักยภาพเกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อให้พนักงานได้พัฒนาตนเองและมีโอกาสบรรลุเป้าหมายงานอาชีพที่เขาปรารถนาภายใต้เงื่อนไขที่เขามีอยู่ ในขณะที่ปภาวดี ประจักษ์ศุภนิติและกิ่งพร ทองใบ (2533) กล่าวถึง การพัฒนาสายอาชีพ ว่าหมายถึง ความพยายามที่จะประเมินศักยภาพของบุคคล
กำหนดเส้นทางอาชีพที่เหมาะสม วางแผน รวมทั้งดำเนินการฝึกอบรมและเสริมสร้างประสบการณ์เพื่อเตรียมบุคคลสำหรับความก้าวหน้าในงาน โดยมุ่งส่งเสริมให้บุคลากรได้พัฒนาตนเอง สำหรับมุมมองของ Thomas G.
Gutteridge (อ้างใน ศศิพร พวังคะพินธุ์, 2549) กล่าวว่า การพัฒนาอาชีพเป็นองค์ประกอบที่เกิดจากการประสานกันระหว่างกระบวนการย่อย 2 กระบวนการ คือกระบวนการวางแผนอาชีพของบุคคล (Individual career planning) กับกระบวนการจัดการอาชีพขององค์การ (Institution career management) ส่วนแนวคิดของ Gutteridge and Hutcheson (1990) ให้ความหมายว่า กระบวนการที่เกิดจากการประสานงานกันระหว่างกระบวนการวางแผนอาชีพบุคคล (Career Planning) และกระบวนการจัดการอาชีพขององค์การ (Career Management) ซึ่งจะส่งผลให้พนักงานเข้าใจตนเองยิ่งขึ้นรวมถึงโอกาสก้าวหน้าในอาชีพในองค์การ ส่วน Dessler (1997) กล่าวถึง การพัฒนาอาชีพ หมายถึง ความก้าวหน้าหรือความเติบโตของพนักงานตามการเคลื่อนไหวของความสำเร็จในอาชีพ
ตามช่วงเวลาที่ผ่านไป การพัฒนาความสำเร็จในอาชีพเป็นผลกิจกรรมที่สำคัญ 2 อย่างคือ การวางแผนในอาชีพ (Career Planning) และการบริหารงานอาชีพ (Career Management)

 จากความหมายของคำว่า การพัฒนาสายอาชีพ ตามที่นำเสนอ สามารถสรุปความหมายของการพัฒนาสายอาชีพว่า
เป็นกิจกรรมในการเปิดโอกาสให้คนทำงานแต่ละคนมีโอกาสเติบโตและก้าวหน้าในงานตามแผนสายอาชีพที่องค์การได้วางไว้โดยมุ่งสู่เป้าหมายอาชีพที่ตนเองถนัดเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตงานสำหรับเป้าหมายของพนักงานเองควบคู่ไปกับการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การในส่วนเป้าหมายขององค์การ

ในขณะที่สายอาชีพ (Career paths) หมายถึง เส้นทางความก้าวหน้าในงานอาชีพซึ่งองค์การกำหนดขึ้นเพื่อให้พนักงานทราบว่าเขาจะเติบโตไปในตำแหน่งหน้าที่อะไรได้บ้างเมื่อเข้ามาทำงานกับองค์การ (Mondy & Noe III 1993) ผู้บริหารองค์การจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับแนวคิดการกำหนดเส้นทางอาชีพเพื่อเลือกประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับองค์การที่ตนเองบริหารอยู่การจัดทำเส้นทางสายอาชีพ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอาชีพ ซึ่งเป็นการพัฒนาประเภทหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ จะต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในขณะเดียวกันองค์การจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อรองรับการพัฒนาบุคลากรให้เขาได้มีโอกาสแสดงความสามารถอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมทั้งจะต้องเตรียมความก้าวหน้าในสายอาชีพหรือทางแห่งความก้าวหน้าในตำแหน่งที่พวกเขาจะก้าวไปได้รองรับไว้อีกด้วย(Pace, Smith& Mills, 1991 : 1-4)

การจัดทำเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (career path) จะทำให้พนักงานเห็นว่าตนเองจะสามารถมีความเจริญก้าวหน้าในงานไปได้อย่างไรบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นไปตามแนวทางที่วางไว้เสมอไป เป็นการแสดงให้พนักงานเห็นเส้นทางเจริญเติบโตของตำแหน่งงานภายในองค์การซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายของงานและอาชีพที่ตั้งไว้ ทั้งรูปแบบของเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพโดยทั่วไป (Normal Track) และเส้นทางเดินในสายอาชีพเฉพาะ (Fast Track) ที่องค์การมีการจัดการพิเศษให้สอดคล้องกับความสามารถที่โดดเด่นของผู้ปฏิบัติงานและความจำเป็นในการใช้งานขององค์การ จะช่วยจูงใจให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองเห็นอนาคตในการทำงาน เห็นโอกาสที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งงาน การได้ทำงานที่ท้าทาย หรือได้รับการเพิ่มมูลค่างาน หากหัวหน้าตามสายงานไม่ต้องการสูญเสียลูกน้องของตนเองไปก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะร่วมมือกับหน่วยงานบุคคลในการกำหนดผังความก้าวหน้าในสายอาชีพ ของตำแหน่งงานที่ตนต้องดูแลรับผิดชอบและองค์การว่าจัดแบ่งเป็นระดับใด โดยให้ระบุระดับของตำแหน่งงานตั้งแต่ระดับสูงสุดจนกระทั่งระดับล่างสุด

วัตถุประสงค์ของการพัฒนาสายอาชีพ การกำหนดวัตถุประสงค์ของการพัฒนาอาชีพช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมในกิจกรรมการพัฒนาสายอาชีพซึ่งจะทำให้แต่ละกลุ่มสามารถดำเนินงานอย่างสอดประสานกันทำให้โครงการประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ การพัฒนาสายอาชีพเป็นงานทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่ออนาคตขององค์การโดยการพัฒนาสายอาชีพมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์จากประสบการณ์ Warren Bennis (1996) กล่าวในหนังสือ “On Becoming A Leader” โดยสรุปว่า ประสบการณ์ที่หลากหลายมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาผู้นำหรือผู้บริหารขององค์การ เนื่องจากประสบการณ์ของบุคคลจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะและความเข้าใจในธรรมชาติของงานและสภาพแวดล้อมโดยประสบการณ์ในอดีตจะทำให้ทั้งบุคคลและองค์การสามารถรองรับต่อปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดจนสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในสถานการณ์ที่การพลวัตรของธุรกิจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

2. สนับสนุนบุคลากรที่มีความสามารถ ศักยภาพและความตั้งใจ ระบบงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รวมทั้งการตอบแทนความดีความชอบซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวปฏิบัติหรือวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และภารกิจขององค์การ

3. เพื่อพัฒนาและส่งเสริมพนักงานภายในองค์การ 

4. ลดอัตราการลาออกของพนักงาน

กิจกรรมในการพัฒนาสายอาชีพ เครื่องมือในการประเมินตนเอง (Self-Assessment Tools)เป็นเทคนิคแรกที่ถูกใช้ในการพัฒนาสายอาชีพ เครื่องมือซึ่งที่นิยมใช้ในการช่วยพนักงานในการประเมินตนเอง ได้แก่
การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในการวางแผนสายอาชีพ (Career-Planning Workshop) และคู่มือสายอาชีพ (Career Workbooks) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในการวางแผนสายอาชีพ (Career-Planning Workshop)หลังจากที่พนักงานเสร็จสิ้นการประเมินตนเองแล้วจะนำเอาสิ่งที่ตนเองได้ค้นพบมาเทียบกับของผู้อื่น ส่วนการฝึกอบรมจะเป็นการทำแบบฝึกหัดในเชิงประสบการณ์ที่เป็นรูปแบบของกลุ่มที่มีโครงสร้างและการเข้าร่วมโดยจะให้ความรู้แก่บุคคลเพื่อเตรียมพร้อมต่อสายอาชีพ คู่มือสายอาชีพ (Career Workbooks)ประกอบไปด้วยคำถามและคำตอบที่ออกแบบมาเพื่อชี้แนะบุคคลให้ค้นหาจุดแข็งและจุดอ่อน, โอกาสในงานและสายอาชีพ, และขั้นตอนที่สำคัญในการเอื้อมถึงเป้าหมายการให้คำปรึกษาส่วนบุคคล(Individual Counselling) การพัฒนารายบุคคลเกิดขึ้นมาและครอบคลุมมากกว่าการพัฒนาทักษะซึ่งรวมถึงการเจริญเติบโตของบุคคลและการพัฒนาซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานปัจจุบันได้ โปรแกรมการอบรมจึงมุ่งเน้นไปที่พนักงานทุกระดับชั้นและใช้ระบบการส่งมอบการเรียนรู้ที่หลากหลาย
ยิ่งไปกว่านั้นในหลายองค์การได้มีการพัฒนาทักษะของตนเองไม่เพียงแค่มุ่งให้นำไปใช้ในงานปัจจุบันแต่ยังสามารถนำไปใช้ในงานที่หลากหลายมากขึ้น Job Posting System ซึ่งเป็นกระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยให้พนักงานสามารถสมัครงานในตำแหน่งที่ว่างอยู่ในองค์การได้การเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring System)
ระบบพี่เลี้ยงจะช่วยสร้างความกระจ่างสำหรับความคาดหวังที่กำกวมขององค์การโดยช่วยประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนสำหรับพนักงานใหม่และยังช่วยลดความรู้สึกตระหนกตกใจสำหรับพนักงานใหม่เมื่อเริ่มเข้ามายังองค์การ
ศูนย์อาชีพ (Career Resource Center) ศูนย์จะทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพแก่พนักงาน
โปรแกรมเส้นทางอาชีพ (Career path Program)

**ติดตามตอนที่ 2 ในวันที่ 16 มีนาคม 2556 กันนะครับ**

* นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์






หมายเลขบันทึก: 521054เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2013 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2013 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท