เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว



ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือที่มีชื่อเป็นทางการว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของ จ.ปัตตานีมา ตั้งแต่โบราณ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู อำเภอเมือง ปัตตานี ซึ่งเป็นปูชนียสถานอันทรงความศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เดิมศาลเจ้านี้มีชื่อเรียกว่า "ศาลเจ้าซูก๋ง" ตามหลักฐานที่จารึกอยู่ในศาลเจ้า ปรากฏว่า ตั้งขึ้นเมื่อวันชัยมงคล ปีบวนเละที่ ๒ ศักราชราชวงศ์เหม็ง ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๑๑๗ ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา แม้ศาลเจ้านี้จะตั้งมาเก่าแก่นับได้หลายศตวรรษ แต่ด้วยบุญญาภินิหารของเจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว ศาลเจ้านี้จึงมีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่ศรัทธาของสาธุชนเสมอมามิได้ขาด 

  ส่วน ตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว นั้น มีบันทึกไว้ในหลายๆแหล่ง มีเรื่องราวที่เหมือนๆกันแต่อาจมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่แตกต่างกันไปบ้าง  ตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่บันทึกไว้ในหนังสือ “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปัตตานี” จัดพิมพ์โดยมูลนิธิเทพปูชนียสถาน ระบุว่า เจ้าแม่เกิดในตระกูล “ลิ้ม” มีชื่อว่า “กอเหนี่ยว” พำนักอยู่ในมณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน เป็นน้องสาวของ “ลิ้มเต้าเคียน” หรือ “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” 

  เมื่อยังเป็นเด็ก สองพี่น้องได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะแขนงต่างๆ จนแตกฉาน ฝ่ายพี่ชายเมื่อโตขึ้นก็ได้เข้ารับราชการ สร้างผลงานปราบโจรสลัดญี่ปุ่นจนได้รับการแต่งตั้งเป็น “ขุนพลเซ็กกีกวง” คุมกองทัพเรือ แต่ต่อมาเขาถูกใส่ร้ายว่าสบคบกับโจรสลัด จนทางการออกประกาศจับ จึงได้ตีฝ่าวงล้อมของทหารหลวง หนีออกทะเลไปยังเกาะไต้หวัน

  ลิ้มโต๊ะเคี่ยม เห็นว่าทัพหลวงยังคงติดตามโจมตี ประกอบกับถูกโจรสลัดรังควาญอยู่ตลอด จึงเดินทางต่อไปทางเกาะลูซอน (ฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน) แล้วเข้าไปยังเวียดนาม แต่บางตำนานเล่าว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเข้าไปอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และภายหลังจึงได้ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองปัตตานี ที่ปัตตานี ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ได้ภรรยาเป็นชาวปัตตานีและเข้ารีตเป็นมุสลิมตามภรรยา 

 ฝ่าย ลิ้มกอเหนี่ยว ผู้เป็นน้องสาว เมื่อเห็นว่าพี่ชายขาดการติดต่อ ไม่ได้ส่งข่าวคราวเป็นเวลานาน จนมารดาซึ่งอยู่ในวัยชราล้มป่วยเป็นประจำ ด้วยความกตัญญูจึงอาสาออกเดินทางไปตามพี่ชายให้กลับมาเยี่ยมบ้าน

  ในวันเดินทาง ลิ้มกอเหนี่ยวได้เข้าไปร่ำลามารดา และลั่นสัจจวาจาไว้ว่า “หากแม้นพี่ชายไม่ยอมกลับมาหามารดาแล้วไซร้ ตนก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป”

  ลิ้มกอเหนี่ยว กับญาตินำเรือออกทะเลเป็นเวลาหลายเดือน กระทั่งเข้าเขตเมืองปัตตานี ก็ได้จอดทอดสมอไว้ริมฝั่ง ลิ้มกอเหนี่ยว เดินเข้าไปในเมืองและพูดคุยกับชาวบ้านจนได้ความว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยม พี่ชายยังมีชีวิตอยู่ และได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่อยู่ที่นี่ จึงได้เข้าไปหาและชวนพี่ชายให้กลับไปยังบ้านเกิด  แต่ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ไตร่ตรองดูแล้วเห็นว่าหากกลับไปตอนนี้จะสร้างความลำบากให้แก่ตน เนื่องจากยังติดประกาศจับของทางการ ขณะที่ความเป็นอยู่ทางนี้ก็มีความสมบูรณ์ดีอยู่ จึงตัดสินใจกล่าวกับน้องสาวว่า

 “ตนหาใช่เนรคุณทอดทิ้ง มารดาและน้องสาวไม่ แต่เหตุที่ทางการจีนกล่าวโทษว่าสบคบกับโจรสลัด สร้างความอัปยศจนต้องพลัดพรากมาอยู่ที่นี่ ตนอยู่ทางนี้ก็มีภารกิจมากมาย  อีกทั้งได้รับปากกับเจ้าเมืองว่าจะก่อสร้างมัสยิดให้ (มัสยิดกรือเซะ) จึงไม่สามารถกลับไปในขณะนี้ได้”

  ลิ้มกอเหนี่ยวเมื่อได้ยินดังนั้น ก็คิดว่าจะหาโอกาสอ้วนวอนพี่ชายให้กลับไปให้จงได้ จึงขอพำนักอยู่ในปัตตานีต่อ

 ในขณะนั้นเจ้าเมืองตานีกำลัง ก่อสร้างมัสยิดเพื่อใช้ประกอบศาสนกิจโดยมอบให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นนายช่างออก แบบและก่อสร้าง ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้อุทิศกายและใจให้กับงานที่ได้รับมอบหมาย ยิ่งทำให้ลิ้มกอเหนี่ยวเกิดความโกรธและน้อยใจในตัวพี่ชาย พยายามอ้อนวอนพี่ชายให้เห็นแก่มารดาก็ไม่สำเร็จ จึงได้สาบแช่งไว้ว่า “แม้พี่ชายจะมีความสามารถในการก่อสร้างเพียงใดก็ตาม แต่ขอให้สร้างมัสยิดนี้ไม่สำเร็จ” และแอบไปผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ด้านข้างมัสยิดที่กำลังก่อสร้าง

  ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเมื่อสูญเสียน้องสาวก็เสียใจมาก จึงจัดการศพตามประเพณีอย่างสมเกียรติ พร้อมกับสร้างฮวงซุ้ยขึ้นที่ “หมู่บ้านกรือเซะ” แล้ว ทำการก่อสร้างมัสยิดต่อไปจนเกือบเสร็จอยู่ในขั้นก่อสร้างโดมหลังคา วันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ฟ้าผ่าลงมายังโดมที่กำลังสร้างจนเสียหายหมดทั้งๆที่ไม่มีวี่แววพายุฝนแต่ อย่างใด ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงทำการก่อสร้างโดมหลังคาใหม่ แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีก คือเกิดฟ้าผ่าลงมายังยอดโดมอีกครั้ง ทำให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมนึกถึงคำสาบแช่งของลิ้มกอเหนี่ยวขึ้นได้ จึงเกิดความท้อใจเลิกล้มการก่อสร้างมัสยิดเพราะคิดว่าคำสาบแช่งของน้องสาวมี ความศักดิ์สิทธิ์

   เล่ากันว่า ลิ้มก่อเหนี่ยว ได้สำแดงความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเรือและผู้สัญจรไปมาในแถบ นั้นเสมอ จนเป็นที่เลืองลือไปทั่ว เป็นเหตุให้ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาได้นำกิ่งต้นมะม่วงหิมพานต์ที่นางใช้ ผูกคอตายมาแกะสลักเป็นรูปบูชาไว้สักการะและสร้างศาลให้เป็นที่ประดิษฐานรูป บูชา พร้อมกับขนานนามว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว”

  ปรากฏว่าเมื่อตั้งศาลแล้ว ก็มีผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้กันมากมาย ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปบนบานให้เจ้าแม่ช่วย บ้างก็กราบไหว้ขอให้ทำมาค้าขายเจริญ  แล้วก็บังเกิดผลตามความปรารถนาแทบทุกคน ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลื่องลือไปยังเมืองต่างๆ 

  ต่อมา พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย ต้นสกุล “คณานุรักษ์”) เห็นว่าศาลเจ้าแม่ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ไม่สะดวกในการประกอบพิธี จึงทำการบูรณะศาลเจ้าซูก๋ง บนถนนอาเนาะรู ในตัวเมืองปัตตานี และได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวมาประดิษฐาน ภายหลังมีชื่อว่า “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” (ศาลเทพเจ้าแห่งความเมตตา) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” มากระทั่งทุกวันนี้


หมายเลขบันทึก: 520741เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2013 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2013 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท