การรับภาพของผึ้ง


การรับภาพของผึ้ง

การรับภาพของผึ้ง

       พบว่าผึ้งสามารถรู้จักและจดจำรูปร่างของภาพต่างๆ ได้  เช่น  รูปทรงของดอกไม้ที่มีกลีบออกจากตรงกลาง  ซึ่งเป็นรูปกลมๆ  เช่น  ดอกทานตะวัน  ดอกดาวกระจาย  หรือเป็นริ้วๆ เช่น  ดอกข้าวโพด  จากการทดลองถ้าวางรูปทรงกลม  รูปสี่เหลี่ยม ฯลฯ  อยู่ในแถวเดียวกัน  ผึ้งไม่สามารถจำแนกแบบของรูปได้  แต่ผึ้งสมารถแยกรูปกลมออกจากรูปกากบาทหรือรูปสามเหลี่ยมจากรูปขีดๆ ได้  การรู้จักจดจำรูปทรงของดอกไม้ช่วยให้ผึ้งหาน้ำหวานและเกสรได้อย่างรวดเร็ว  เนื่องจากพฤติกรรมในการหาอาหารของผึ้งพันธุ์นั้นจะหาน้ำหวานจากดอกไม้ชนิดเดียวกันที่บานจำนวนมากๆ พร้อมกัน  ตลอดช่วงระยะเวลาที่ดอกไม้ชนิดนั้นบาน  และจะเปลี่ยนชนิดเมื่อดอกไม้นั้นโรยราหรือหมดน้ำหวานไป  ต่อจากนั้นผึ้งสำรวจจะบินหาน้ำหวานจากดอกไม้ที่พบใหม่  ดังนั้นน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งเลี้ยงจึงมีชื่อตามชนิดของดอกไม้ได้  เช่น  น้ำผึ้งลำไยในฤดูที่ดอกลำไยบาน  น้ำผึ้งลิ้นจี่  น้ำผึ้งเงาะ  ในฤดูที่ดอกไม้เหล่านั้นบาน 

การรับแสงและสี      

       ผึ้งมีประสิทธิภาพในการรับแสงและสีสูงมากเมื่อเทียบกับแมลงด้วยกัน  ผึ้งมีตาประกอบที่ใหญ่มากโดยเฉพาะผึ้งตัวผู้มีเซลล์รับภาพ (omatidia)  ที่ตาถึง 13,000 เซลล์  ผึ้งงานมี 6,300 เซลล์  และผึ้งนางพญามี 3,900 เซลล์  การทดลองของ ดร.ฟอนฟริช  ทำให้ทราบแน่ชัดถึงประสิทธิภาพของประสาทตาผึ้ง  เขาพบว่าผึ้งงานมีความสามารถที่จดจำและรู้จักสีได้ถึง 4 สี คือ  สีเหลือง  สีฟ้าปนเขียว  สีฟ้า  และสีอุลตราไวโอเลต  ในช่วงความถี่ของแสงจาก 650 ถึง 300  มิลลิไมครอน  ดร.ฟอนฟริช    พบว่าผึ้งตาบอดสีแดงคือ  มองสีแดงเป็นสีดำ  ในช่วงแสง 800-700 มิลลิไมครอน  แต่คนมองเห็นได้เพราะสามารถมองเห็นสีในช่วงแสง 800-400 มิลลิไมครอน  ผึ้งสามารถมองเห็นสีอุลตราไวโอเลตในช่วงแสง 400 ถึง 300 มิลลิไมครอน  ซึ่งตาของคนเราไม่สามารถมองได้  ผึ้งไม่สามารถจำแนกสีส้ม  สีเหลือง  และสีเขียวในช่วงแสง 650 ถึง 540 มิลลิไมครอน  ได้แต่ดูเป็นสีเหลืองสีเดียวกันไปหมด  และมองสีฟ้าสีม่วง  เป็นสีเดียวกัน       ประสิทธิภาพในการมองสีของผึ้งช่วยให้ผึ้งรู้จักสีต่างๆ ของดอกไม้มีประโยชน์ในการเก็บเกสรและการหาอาหารของผึ้ง  นอกจากนั้น  นักเลี้ยงผึ้งอาจนำความรู้ในการรู้จักและจดจำสีของผึ้งมาใช้ทาสีปากทางเข้า-ออกหน้ารังผึ้งช่วยให้ผึ้งจดจำรังผึ้งของตนเองได้ดีขึ้น  ไม่เข้ารังผิดบ่อยๆ

หมายเลขบันทึก: 52048เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2006 01:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท