ทักษะ(ชีวิต) แห่งอนาคตใหม่


หนังสือที่ดิฉันได้หยิบมาอ่านวันนี้เป็นหนังสือที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาสาระที่อัดแน่นไปด้วยหลักการ และทักษะกระบวนการ ยุทธวิธีที่หลากหลายสำหรับการศึกษาแห่งอนาคต ดิฉันเชื่อว่าหลายๆท่านได้เคยอ่านกันมาบ้างแล้ว "21st century skills : Rethinking How Students Learn" Editors by James Bellanca & Ron Brandt ถูกนำมาแปลเป็นฉบับภาษาไทยและเผยแพร่โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสำนักพิมพ์  openworlds โดยคุณวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และคุณอธิป จิตตฤกษ์ ใช้ชื่อว่า "ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่21"



พอเริ่มเปิดอ่าน ถึงแค่บทเกริ่นนำยังไม่ทันได้เข้าเนื้อหาในบทเลยค่ะก็สะดุดตาซะแล้วกับแผนภูมิภาพที่ ก.1 หน้า 34 "กรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่21 โดยภาคีเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่21 โดยแบ่งทักษะออกเป็น 3 องค์ประกอบคือ 


1. ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม


2. ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี


3. ทักษะชีวิตและการทำงาน



ทั้ง 3 ทักษะล้วนเป็นรวงข้าวที่เต็มเปี่ยมด้วยเมล็ดข้าวพันธุ์งามที่พร้อมจะถูกเก็บเกี่ยวแบบมีมูลค่า ได้ราคามากกว่าท้องตลาดทั่วไป แล้วทักษะไหนล่ะ ที่ถือว่าจริงแท้เป็นแก่นของรวงข้าวกันแน่? 



ผศ.ดร.ศันสนีย์ จะสุวรรณ์ ได้ให้ความคิดเห็นในแง่มุมที่น่าสนใจว่า "ทักษะชีวิตและการทำงาน" นี่แหละเป็นแก่นแท้ของเมล็ดข้าวพันธุ์งาม อาจารย์ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ทักษะนี้ถือว่ายากยิ่งแล้ว เพราะมันเป็นทักษะที่ต้องมีการกระตุ้นให้คนหรือเด็กนักเรียนอยากรู้ สิ่งนี้มันสอนยากยิ่ง เพราะทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องของการปลูกฝังให้กลายเป็นพฤติกรรม



ดิฉันได้ต่อความคิดเห็นของอาจารย์ไว้ว่า ทักษะนี้ที่ยากเพราะมันเป็น Tacit Knowledge ความรู้ฝังลึกหรือ ความรู้แฝงเร้น คือความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน ไม่ได้ถอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบางครั้งก็ไม่สามารถถอดเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ความรู้ที่สำคัญส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นความรู้แฝงเร้น อยู่ในคนทำงาน และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง จึงต้องอาศัยกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้คนได้พบกัน สร้างความไว้วางใจกัน และถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันและกัน



ทักษะชีวิตเป็นความสามารถของบุคคลในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ รอบตัวในสภาพ สังคมปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสําหรับการปรับตัวในอนาคต



ทักษะชีวิตเป็นความสามารถที่เกิดในตัวผู้เรียนได้ด้วยวิธีการสําคัญ 2 วิธี คือ
1. เกิดเองตามธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้ที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และการมีแบบอย่างที่ดี
2. การสร้างและพัฒนาโดยกระบวนการเรียนการสอน เป็นการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ร่วมกันในกลุ่ม ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ได้ลงมือปฏิบัติ ได้ร่วมคิดอภิปรายแสดงความคิดเห็น ได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิด มุมมอง เชื่อมโยง สู่วิถีชีวิตของตนเอง เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และปรับใช้กับชีวิต


ส่วนอีก 2 ทักษะเป็น Explicit Knowledge หรือความรู้ชัดแจ้ง คือความรู้ที่เขียนอธิบายออกมาเป็นตัวอักษร เช่น คู่มือปฏิบัติงาน หนังสือ ตำรา เวปไซด์ Blog ฯลฯที่ต่อยอดมาจากทักษะชีวิตและการทำงาน ซึ่งทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม เป็นทักษะที่สอดแทรกอยู่ในทักษะชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา การสื่อสารร่วมมือทำงาน และทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานจากการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสนใจ และใคร่ศึกษาของปัจเจกบุคคลที่จะลงลึกจนกลายเป็นความชำนาญในแต่ละศาสตร์
 อ.ประเวศ วะสี. (ปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อแก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน สานปฏิรูป. 24 (มีนาคม), หน้า 62 - 64 ; 2543) ได้ให้คำนิยามแก่นแท้นของการเรียนรู้ทักษะชีวิต คือ การยึดเอาชีวิตเป็น ศูนย์กลาง หรือเป็นตัวตั้งในการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความสามารถในการสร้าง คุณลักษณะที่จําเป็นสําหรับการดําเนินชีวิตอย่างเต็มศักยภาพของตนเอง ทําให้ชีวิตเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต



 การเรียนรู้ที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้งไม่ได้หมายความว่า วิชาหรือความรู้ ไม่สําคัญ แต่การเรียนรู้ที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง อาจทําให้เกิดการทอดทิ้ง ความเป็น “คน” หรือ “ชีวิต” แต่การเรียนรู้ที่ “คน” หรือ “ชีวิต” เป็นตัวตั้ง จะไม่ทอดทิ้งวิชา เพราะคนจะแสวงหาวิชาหรือความรู้ที่สอดคล้อง กับความเป็นคน หรือสร้างวิชาขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ต่อชีวิตและการอยู่ ร่วมกัน เพราะสิ่งสําคัญที่สุดของความเป็นคน คือการมีชีวิตที่เจริญและ มีการอยู่ร่วมกันด้วยสันติทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ แวดล้อม (สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน)



อย่างไรก็ดีหากจะต้องกล่าวทิ้งท้ายก็คงต้องสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ทักษะทั้ง 3 ล้วนเป็นองค์ประกอบที่แยกจากกันไม่ได้ในศตวรรษการศึกษาใหม่ เพราะหากรากเหง้าแห่งทักษะชีวิตไม่แน่นพอ ความใคร่รู้ในทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรมก็คงไม่เกิด และหากไม่มีการเรียนรู้เพิ่มเติม ทักษะชีวิตก็คงย่ำอยู่กับที่ การทำงานคงนับชามกันทุกวัน (เช้าชาม-เย็นชาม) และเมื่อไม่มีการเรียนรู้ ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยีก็คงไม่เกิด โลกก็ยังเป็นโลกที่กลมแบบเดิม การทำงานก็ช้าเหมือนเดิม ข้อมูลข่าวสารก็ยังคงต้องอาศัยสื่อเดิมๆอย่างวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ที่ขาด Social Network มาช่วยแบ่งปัน และย่อโลกให้แคบลงในพริบตา ย่นระยะเวลา ในการค้นหาข้อมูลข่าวสาร



นี่เป็นเพียงแค่แนวคิดหนึ่งในหนังสือที่มากคุณค่าเล่มนี้ ยังมีอีกหลายแง่มุม หลากหลายทัศนะของท่านผู้รู้ในหนังสือเล่มนี้ที่สามารถนำมาต่อยอดความคิดที่สามารถนำมาปรับปรุงและใช้ให้ถูกที่ ถูกทางได้อย่างยอดเยี่ยม และมีประสิทธิผล ดิฉันขอบอกต่อว่า  "ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่21"เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มหนึ่งที่ควรมีไว้คู่กายเพื่อเพิ่มทักษะ และพัฒนาการเรียนรู้ ให้ก้าวกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 



หมายเลขบันทึก: 519974เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท