ที่มาของ ขนมโมจิ


♥วันแห่งความรัก♥
บทความ ที่มาของ ขนมโมจิ 

*สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในจังหวัดนครนายก ซึ่งชาวบ้านในบริเวณนั้น ได้นำสินค้าต่างๆ มาค้าขายกับทหารญี่ปุ่น สินค้าที่ชาวบ้านนำมาจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าพื้นเมืองประเภทผัก ผลไม้ และขนม โดยเฉพาะนางพันนา ซึ่งเป็นหญิงสาวชาวบ้านมีอายุประมาณ 18 ปี ได้ทำขนมพื้นบ้านเช่นไข่เหี้ย กล้วยทอด ซาลาเปาทอด ขายจนได้รู้จักกับทหารหนุ่ม ชาวญี่ปุ่นชื่อซาโต้ ซึ่งเป็นหมอ และได้เกิดมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน




วันหนึ่งทหารญี่ปุ่น ก็ต้องโยกย้ายไปที่อื่น แต่ก่อนจากไปนั้น ซาโต้ได้สอนนางพันนาทำขนมโมจิ และบอกกับเธอว่า ขนมนี้จะเป็นตัวแทนของซาโต้ และเป็นตัวแทนของประเทศเขา ถ้าเขาไม่อยู่และนางพันนาคิดถึงซาโต้ ให้ทำขนมนี้ ซาโต้จะกลับมา เมื่อซาโต้ได้สอนจนนางพันนาทำขนมโมจิเป็น ซาโต้กินขนมโมจิแล้วบอกกลับนางพันนาว่า นางพันนาทำขนมญี่ปุ่นโมจิได้อร่อยที่สุด
ก่อนที่ทหารญี่ปุ่นจะจากไป ซาโต้บอกกับนางพันนาว่า หากวันใดคิดถึงเขาให้ทำขนมโมจิ ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ซาโต้จะกลับมาหานางพันอีก ถ้าจะทำขายก็ทำได้ เพราะมีทหารญี่ปุ่น ที่คิดถึงบ้านอยากจะกินขนมญี่ปุ่น อย่างขนมโมจิและแล้วซาโต้ก็จากไป แต่นางพันนา ก็ยังคงทำอาชีพหาบของขาย ขนมญี่ปุ่นโมจิให้กับกองทัพทหารญี่ปุ่นต่อไป ต่อมาญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นกลับประเทศญี่ปุ่น แต่นางพันนายังทำขนมโมจิขายให้กับผู้คนในจังหวัดนครนายก




จนวันหนึ่งทหารไทยบอกกับนางพันนาว่า ขนมที่ทำขายอยู่ ห้ามกิน ห้ามทำ ห้ามขาย เพราะเป็นขนมของญี่ปุ่น ขนมนี้มันคือขนมกบฏ นางพันนาจึงไม่ได้ทำขนมโมจินี้ขาย แต่ทุก ๆ ครั้งที่คิดถึงซาโต้ นางพันนาก็จะแอบทำขนมโมจินี้ เพื่อแทนความคิดถึง หนุ่มญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่รัก และทุกครั้งที่ทำนางพันนา ทำขนมโมจินี้ จะตั้งจิตอธิษฐาน สวดมนต์ภาวนา ให้ซาโต้กลับมากินขนมของตัวเอง วันแล้ววันเล่า นานหลายสิบปีจนทุกคนลืมเรื่องนี้ไปหมดแล้วจนกระทั่งพ.ศ. 2547 พระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบประวัติเรื่องขนมโมจินี้ จึงให้ทหารคนสนิทไปสืบหาที่มาขนมโมจิสูตรดังกล่าว ซึ่งได้ไปหาอยู่หลายที่และนำมาให้เสวย แต่พระเทพทรงตรัสว่าไม่ใช่ขนมโมจิสูตรที่ตามหา




ต่อมาอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก ได้ประชาสัมพันธ์และสืบหาจนได้ทราบจากนายมานพ ศรีอร่าม ข้าราชการพัฒนาชุมชนว่าผู้ที่ทำขนมโมจิดังกล่าวคือมารดาของตัวเอง ในขณะนั้นมีอายุมากแล้วแต่ความทรงจำยังดี สามารถเล่าเรื่องราวต่างๆในอดีตได้เป็นอย่างดี พร้อมได้สอนให้บุตรและบุตรสะใภ้ได้ทำขนมดังกล่าว ถวายสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งยายพันนารอคอยวันนี้มานานแสนนาน วันที่ขนมโมจิของแกได้ถูกเผยแพร่อีกครั้ง เหมือนได้บอกกับซาโต้ว่ายังมีสาวบ้านนาคนนี้รออยู่
ปัจจุบันยายพันนาได้จากไปแล้ว โดยได้รับพระราชทานเพลิงศพจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และปัจจุบันขนมโมจิสูตรดังกล่าวได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีรสชาติที่อร่อย กลมกล่อมและมีไส้ให้เลือกหลายชนิด
เรียบเรียงโดย ชมรมประวัติศาสตร์สยาม 

คำสำคัญ (Tags): #ขนมโมจิ
หมายเลขบันทึก: 519600เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2013 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท