สรีรวิทยาของการเจริญเติบโต และพัฒนาการของลำไย


ลำไย : ชุมชนคนสนใจเรื่องลำไย ถามตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

http://www.gotoknow.org/dashboard/home/#/posts/545415/edit

สาวน้อยใจดี นู๋ยุ้ยแก้มตุ่ย

https://www.facebook.com/profile.php?id=100000397078840


            วันนี้ได้มีโอกาสอ่านเนื้อหาใน วิชาไม้ผลเขตกึ่งร้อน (subtropical fruit plants)  เรื่องการปลูกลำไย    ในหัวข้อเรื่อง  สรีรวิทยาของการเจริญเติบโต และพัฒนาการ ของท่าน ผศ.พาวิน มะโนชัย  เห็นว่ามีเนื้อหาเชิงวิชาการที่มีประโยชน์มาก...มาก 

            ตลอดระยะเวลาร่วม 5 ปีที่ผ่านมา  ยุ้ยเองได้อาศัยศึกษาความรู้ และนำความรู้ของท่านมาใช้เป็นแนวทางในการการปลูกลำไยมาโดยตลอด  โดยใช้แนวทาง และวิธีการของท่านเกือบร้อยละ 90  ทั้งนี้รวมไปถึงเนื้อหา งานวิจัย ของอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าว ณ ที่นี้   อีกทั้งยังได้ศึกษา และสังเกตแนวทางการนำมาปฏิบัติของเกษตรกรท่านอื่นๆ อีกหลายๆ ท่าน ที่เ่ขียนเคยความคิดเห็นโพสต์มาในโลกออนไลน์

             จากความรู้ทั้งหมด ยุ้ยได้นำมาพิจารณา และปรับประยุกต์ใช้ตามสภาพความเป็นจริงแห่งบริบทของสวนของยุ้ยเอง  ซึ่งตั้งอยู่ในเขตตำบลสะตอน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี...ค่ะ  

             ดังนั้นวันนี้จึงใคร่ขออนุญาตท่านอาจารย์  ทำการคัดลอกเนื้อหาเรื่อง สรีรวิทยาของการเจริญเติบโต และพัฒนาการ มาลงให้อ่านกัน   เพื่อว่าเกษตรกร และผู้สนใจท่านอื่นๆ ที่ได้เข้ามาอ่าน ณ เวลานี้  จะได้มีโอกาสศึกษาเนื้อหาดังกล่าว และนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบท และช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกลำไยของทุกๆ ท่าน...ค่ะ

โดยใคร่จะขออนุญาตจาท่าน ผศ.พาวิน มะโนชัย คัดลอกมาแบบ ไม่แต่งเพิ่ม เติมเนื้อหาใดๆ เลยค่ะ

             ส่วนวิธีการนำความรู้ของท่านอาจารย์ มาปรับประยุกต์ใช้กับบริบทของสวนลำไยของยุ้ย  จะได้นำมาเล่าสู่กันฟัง ว่า "สิ่งใดทำไปแล้ว ได้ผล หรือไม่ได้ผลอย่างไร"  จะว่ากันทีหลัง  เพื่อว่าเกษตรกรในเขตพื้นที่เดียวกันกับยุ้ย จะสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการปรับประยุกต์ใช้กับสวนลำไยของท่านต่อไป...ค่ะ

 

สรีรวิทยาของการเจริญเติบโตและพัฒนาการ

การเจริญด้านกิ่งใบ

          ลำไยที่อยู่ในระยะต้นกล้าและต้นลำไยที่ปลูกด้วยกิ่งตอนที่ยังไม่ให้ผลผลิตจะมีการผลิใบ 3-5 ครั้งต่อปี ส่วนต้นที่ให้ผลผลิตและมีอายุมากจะมีการผลิใบก่อนการออกดอกประมาณ 1-2 ครั้ง คือหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 3-4 สัปดาห์ ลำไยจะเริ่มผลิใบซึ่งจะตรงกับ ช่วงฤดูฝน (กันยายน-ตุลาคม) (มัลลิกา, 2536; มาโนตย์, 2536; สมบูรณ์, 2534) การผลิใบ ครั้งที่สองอาจเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงฤดูหนาวสภาพของอุณหภูมิทั้งในดินและอากาศต่ำ มีผลทำให้การเจริญของยอดใหม่ใช้เวลานานกว่าครั้งแรกประมาณ 2 เท่า (ตระกูล, 2533) สำหรับต้นลำไยพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ที่ปลูกในสาขาไม้ผล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ พบว่ามี การผลิใบเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็สามารถออกดอกได้ ส่วนต้นที่มีอายุน้อยส่วนใหญ่จะผลิใบประมาณ 2 ครั้ง ก่อนออกดอก แต่อย่างไรก็ตามการผลิใบอาจเกิดได้ถึง 3 ครั้งในต้นที่มีอายุมากแต่มักจะพบในต้นที่มีการออกดอกเว้นปี ขาดเพิ่มเติมข้อมูลของ menzel การเจริญทางส่วนสืบพันธุ์


การเจริญทางส่วนสืบพันธุ์

ก. การออกดอก ลำไยที่ปลูกด้วยกิ่งตอนที่มีสภาพของต้นสมบูรณ์ จะเริ่มออกดอกในปีที่ 2 โดยช่อดอกส่วนใหญ่จะเกิดตรงส่วนปลายยอด ภายในต้นเดียวกันอาจผลิดอกไม่พร้อมกันทั้งต้น ลำไยจะเริ่มแทงช่อดอกราว ๆ ปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ พื้นที่ปลูกและสภาพแวดล้อมในแต่ละปี ลำไยมีนิสัยการออกดอกที่ไม่สม่ำเสมอ (irregular bearing) บางปีออกดอกมาก (on year) บางปีออกดอกน้อย (off year) นักวิจัยหลายท่านได้กล่าวถึงปัจจัยที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการออกดอกของลำไยไว้ดังนี้

                1. ความสมบูรณ์ของต้น ลำไยเป็นพืชที่ใช้เวลาตั้งแต่ออกดอกถึงผลแก่ นานประมาณ 6-7 เดือน ในปีที่ติดผลดกอาหารจะถูกใช้ไปอย่างมากและต้นลำไยจะมีระยะเวลาในการพักฟื้นและสะสมอาหารสั้น หากการดูแลรักษาไม่ดีพอจะทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะถ้าสภาพแวด-ล้อมไม่เอื้ออำนวยในปีถัดไปก็จะออกดอกน้อย ในฤดูกาลผลิต 2541 ซึ่งเป็นปีที่ ลำไยออกดอกน้อยแต่กลับพบว่ามีต้นลำไยของเกษตรกรบางรายออกดอกได้ดี   จากการสอบถามข้อมูลจาก เจ้าของสวนพบว่าสวนลำไยดังกล่าวออกดอกและติดผลน้อยในปีที่ผ่านมา (ขจร สุรินทร์ธรรม ติดต่อส่วนตัว) แสดงให้เห็นว่าการติดผลดกก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลำไยออกดอกติดผลน้อยในปีถัดไป ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ลำไยออกดอกติดผลเว้นปี Batten (1986) แนะนำว่าในปีที่ลำไยออกดอกมากควรปลิดช่อดอกออกประมาณ40%และหลังติดผลให้ปลิดผลออก อีก10 % สำหรับประเทศไทยยังไม่มีรายงานถึงการศึกษาวิธีการปลิดช่อดอกเพื่อแก้ไขปัญหาการออกดอกเว้นปี

                2. พันธุ์ ลำไยแต่ละพันธุ์มีความยากง่ายของการออกดอกที่แตกต่างกัน เช่น พันธุ์ใบดำ และอีดอ มีนิสัยการออกดอกค่อนข้างสม่ำเสมอ ส่วนพันธุ์เบี้ยวเขียวและแห้ว มักจะออกดอกเว้นปี ลำไยบางพันธุ์มีนิสัยออกดอกง่ายและออกดอกมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี เช่น พันธุ์เพชรสาคร (พาวิน, ไม่ระบุปีที่พิมพ์)

                3. การผลิใบอ่อน ต้นลำไยที่มีอายุน้อยอาจผลิใบใหม่2-3 ครั้งหลังการเก็บเกี่ยวก่อนออกดอกในฤดูกาลต่อไปแต่ต้นลำไยที่มีอายุมากอาจผลิใบใหม่เพียง 1 ครั้งก็สามารถออกดอกได้ (ปฐม, 2535; สมบูรณ์, 2534) จังหวะของการผลิใบอ่อนครั้งสุดท้าย ใบและยอดของลำไยจะต้องแก่ทันก่อนที่อากาศหนาวเย็นจะมากระทบ จากการศึกษาของ เอนก (2539) พบว่าต้นลำไยที่ ผลิใบอ่อนในช่วงฤดูหนาว จะออกดอกได้น้อย และช้ากว่าต้นที่ไม่ผลิใบ ถึงแม้ว่าได้รับอุณหภูมิต่ำที่เหมาะสมต่อการชักนำการออกดอกก็ตาม

                4. อุณหภูมิ นับว่าเป็นปัจจัยหลักที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเกิดตาดอกของลำไย โดยจะสังเกตได้ว่าในปีที่มีอากาศหนาวเย็นมากและยาวนานสามารถชักนำให้ลำไยทั้งต้นที่สมบูรณ์และต้นที่โทรมออกดอกได้ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าสภาพอุณหภูมิต่ำสลับกับอุณหภูมิสูง หรืออุณหภูมิไม่ต่ำพอลำไยจะออกดอกน้อย ทั้งๆที่ต้นสมบูรณ์ มีการศึกษาถึงระดับอุณหภูมิ กลางวัน/กลางคืนที่ 15/15 องศาเซลเซียส หรือ 20/10 องศาเซลเซียสกับลำไยพันธุ์แห้ว พบว่าต้นลำไยสามารถสร้างตาดอกได้ เมื่อได้รับระดับอุณหภูมิดังกล่าวนาน 4 สัปดาห์ (นพดล จรัสสัมฤทธิ์ ติดต่อส่วนตัว) การศึกษาในลำไยพันธุ์อีดอก็ให้ผลการทดลองที่คล้ายกันคือ บทบาทของอุณหภูมิต่อการออกดอกนั้นเชื่อกันว่า อุณหภูมิต่ำ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในพืช (พีรเดช, 2529) ขาดข้อมูลเพิ่มเติม

                5. การขาดน้ำ เชื่อกันว่าสภาพการขาดน้ำช่วยส่งเสริมการออกดอกของลำไย โดยช่วยลดการผลิใบที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนระยะเวลาการออกดอกตามปกติ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม)ทั้งนี้เนื่องจากพืชดูดน้ำได้น้อยลง ทำให้ได้รับธาตุไนโตรเจนซึ่งละลายขึ้นไปกับน้ำลดลงตามไปด้วยเนื่องจากธาตุไนโตรเจนมีบทบาทช่วยส่งเสริมให้เกิดการเจริญทางกิ่งใบดังนั้นเมื่อระดับของไนโตรเจนลดต่ำลงการผลิใบจึงถูกชะลอหรือยับยั้งจากนั้นเมื่อพืชได้รับอุณหภูมิต่ำเพียงพอก็จะสามารถออกดอกได้ในลิ้นจี่ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับลำไย Chaikiattiyos et al.(1994) รายงานว่าสภาพการขาดน้ำเพียงอย่างเดียวไม่สามารถชักนำ ให้ลิ้นจี่ออกดอกได้ เขาพบว่าอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสจำเป็นสำหรับการออกดอก ของลิ้นจี่ และไม่สามารถทดแทนด้วยการงดให้น้ำ อย่างไรก็ตาม รวี (2540ก) ได้ให้ความเห็นถึงความสัมพันธ์ของความหนาวเย็น ความสมบูรณ์ของต้นและสภาพการขาดน้ำต่อการออกดอกว่า ถ้าหากปีใดมีอุณหภูมิไม่ต่ำพอ ความสมบูรณ์ของต้นและสภาพความเครียดน้ำจะมีบทบาทที่สำคัญร่วมกัน แต่หากปีใดที่สภาพอุณหภูมิต่ำและยาวนาน อิทธิพลของความหนาวเย็น จะสามารถข่มปัจจัยอื่นได้ทั้งหมด

               6. ฮอร์โมนภายในต้น มีรายงานถึงการศึกษาปริมาณฮอร์โมนที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการออกดอกของลำไย โดย Huang (1996) ในต้นลำไยที่เอื้อต่อการชักนำให้เกิดการสร้างตาดอก ระดับของไซโตไคนินโดยเฉพาะ ไอโซเพนเทนนิล อะดีโนซีน (isopentenyl adenosine)จะสูง แต่จะมีระดับของจิบเบอเรลลิน(GAS) และแอบซิสสิค แอซิด (ABA) ต่ำ นอกจากนี้ Chen et al. (1997) ได้วิเคราะห์ปริมาณไซโตไคนินในยอดลำไยในระยะต่าง ๆ พบว่าปริมาณไซโตไคนิน ทั้งหมดต่ำในระยะที่ลำไยผลิใบอ่อน แต่จะสูงในระยะสร้างตาดอกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีเอติน(zeatin) ซีเอติน ไรโบไซด์(zeatin riboside) ไอโซเพนเทนนิลอะดิโนซีน(isopentenyl adenosine)และไอโซเพนเทนนิลอะดินิน (isopentenyl adenine) นพพร (2539) ได้ศึกษาถึงปริมาณสารคล้ายจิบเบอเรลลินในยอดลำไยก่อนการออกดอกพบว่าในช่วงก่อนออกดอกปริมาณสารคล้ายจิบเบอเรลลินลดลง และลดลงต่ำสุดจนไม่สามารถตรวจพบในสัปดาห์ที่มีการออกดอก แต่อย่างไรก็ตามเคยมีผู้ทดลองใช้สารพาโคลบิวทราโซลซึ่งเป็นสารยับยั้งการสร้างจิบเบอเรลลิน กลับไม่สามารถชักนำให้ลำไยออกดอกได้ (ประหยัด, 2529) แสดงให้เห็นว่าการลดระดับของ จิบเบอเรลลินเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถชักนำให้ลำไยออกดอกได้ ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า การออกดอกของลำไยอาจถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนมากกว่า 1 ชนิด

แนวทางการควบคุมการออกดอกของลำไย

     1. การเลือกพันธุ์ปลูก (cultivars) ในขณะนี้มีลำไยพันธุ์ที่ออกดอกติดผลง่ายและ ออกดอกทะวายคือ พันธุ์เพชรสาครทะวาย แต่อย่างไรก็ตามลำไยพันธุ์นี้ถึงแม้จะออกดอกติดผลสม่ำเสมอแทบทุกปี แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมปลูกในภาคเหนือ เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านคุณภาพของผลคือมีผลขนาดเล็ก เมล็ดโต เนื้อมีกลิ่นคาว แต่พันธุ์นี้น่าสนใจในแง่การปรับปรุงพันธุ์ ลำไยพันธุ์อื่นที่ออกดอกค่อนข้างสม่ำเสมอคือ พันธุ์ใบดำ แต่ก็มีข้อจำกัดในด้านคุณภาพเช่นกัน สำหรับพันธุ์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น อีดอ แห้ว สีชมพู และเบี้ยวเขียว บางต้นออกดอกติดผลสม่ำเสมอติดต่อกันหลายๆปีถ้าได้รับการคัดเลือกพันธุ์เป็นต้นแม่ในการขยายพันธุ์ก็จะได้ต้นลำไยที่มีพฤติกรรมการออกดอกที่ดีด้วย

     2. การควั่นกิ่ง (cincturing or girdling) วิธีการนี้เป็นการตัดเส้นทางลำเลียงอาหารที่ใบสังเคราะห์ได้ไม่ให้เคลื่อนย้ายผ่านจุดที่ควั่นไปสู่ส่วนอื่นของพืชเป็นการชั่วคราว ทำให้มีการสะสมอาหารในส่วนเหนือรอยควั่นมากขึ้น และยังช่วยควบคุมการผลิใบอ่อนได้ นอกจากนี้ การควั่นกิ่งอาจมีผลต่อการสะสมของสารยับยั้งการเจริญเติบโต (growth inhibitors) และมีส่วนช่วยทำให้ต้นไม้ออกดอกได้ (Menzel and Paxton, 1987) สำหรับลำไยมีรายงานว่าการควั่นกิ่งพันธุ์เพชรสาครสามารถชักนำให้ออกดอกได้เร็วขึ้นและออกดอกได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับต้นที่ไม่ได้ควั่นกิ่ง (ชยาณ์, 2541; ประสิทธิ, 2541) ส่วนในพันธุ์อีดอนั้นสาธิต (2541) ได้ศึกษาถึงระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการควั่นกิ่ง พบว่าการควั่นกิ่งในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนจะออกดอกได้มากกว่าและเร็วกว่าต้นที่ควั่นในเดือนตุลาคมและต้นที่ไม่ควั่นกิ่ง (ดูรายละเอียดในหัวข้อการผลิตลำไยนอกฤดู)

     3. การใช้สารเคมี (chemical treatment) ความพยายามที่จะหาสารเคมีต่างๆ เพื่อนำมาชักนำการออกดอกของลำไยที่ผ่านมา เช่น การใช้สารพาโคลบิวทราโซล (ประหยัด, 2529) การใช้เอทธิฟอน และ SADH   (สมศักดิ์, 2527; สุนทร, 2540) ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่ง ปีพ.ศ.2541 คุณประยูร อุปโน ซึ่งอยู่ที่ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สามารถบังคับให้ลำไยพันธุ์อีดอออกดอกนอกฤดูกาลได้ และในเวลาต่อมาจึงทราบกันว่าสารที่ใช้บังคับคือสารโพแทสเซียมคลอเรต ซึ่งเป็นสารที่นำมาเป็นส่วนผสมของดอกไม้ไฟและเม็ดพลุ การค้นพบคุณสมบัติของสารนี้ในการบังคับให้ลำไยออกดอกได้นั้นค้นพบโดยบังเอิญ โดยคนงานล้าง ทำความสะอาดถังบรรจุโพแทสเซียมคลอเรตบริเวณใต้ต้นลำไย ทำให้ลำไยออกดอกติดผลหลายรุ่นตลอดปี (ประเวศ มีกิจ, 2542 ติดต่อส่วนตัว) ในเวลาต่อมาจึงได้มีการทดลองสารที่อยู่ในกลุ่มของอนุมูลคลอเรต ได้แก่ โซเดียมคลอเรต โซเดียมไฮโปรคลอไรท์ที่พบว่าสามารถทำให้ลำไยออกดอกได้ (ดูรายละเอียดในหัวข้อการผลิตลำไยนอกฤดู ) ขาดข้อมูลเพิ่มเติม


ข. การบานของดอกและการผสมเกสร ระยะเวลาตั้งแต่ช่อดอกเริ่มโผล่จนถึงดอก เริ่มบานใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ลักษณะการบานของดอกจะบานจากโคนไปหาปลายช่อ และการบานของช่อแขนงย่อย จะบานจากโคนไปหาปลายเช่นกัน ลำไยต้นหนึ่ง ๆ จะมีระยะการบานประมาณ 1-1.5 เดือน สำหรับลำดับการบานของดอกนั้นพบว่า มี 2 รูปแบบ หลักๆ คือรูปแบบ ที่ 1 ดอกตัวผู้บานก่อน โดยดอกตัวผู้จะบานต่อเนื่องกันตั้งแต่ดอกแรกถึงดอกสุดท้าย ใช้เวลา 25-28 วัน ส่วนดอกตัวเมียจะบานหลังดอกตัวผู้เริ่มบานประมาณ 14 วัน โดยดอกตัวเมียมีระยะเวลาการบาน 5-7 วัน แต่จะมีการบานมากที่สุดในวันที่สองของการบาน รูปแบบที่ 2 คือ ดอกตัวเมียบานก่อน และมีการบานอยู่สองช่วง โดยแต่ละช่วงมีระยะการบาน 4-7 วัน หลังจากดอกตัวเมียชุดแรกบานได้ 4-6 วัน ดอกตัวผู้จะเริ่มบานและบานต่อเนื่องกันไป 15-25 วัน (ภาพที่ 3.6 และ 3.7 ) ลักษณะของดอกตัวเมียที่บานเต็มที่และพร้อมที่จะรับละอองเกสร (receptive) สังเกตได้จากยอดเกสรตัวเมีย (stigma lobe) จะแยกออกเป็น 2 แฉก (bifurcation) และมี น้ำหวาน (nectar) ที่จานรองดอกและมีช่วงเวลาในการผสมเกสรอยู่ระหว่าง 7.00-10.30 น. (วัฒนา, 2511) ส่วนอับละอองเกสรมีระยะการแตกหรือเปิดต่อเนื่องกันประมาณ 4 ชั่วโมง หลังดอกบาน มนตรีและคณะ (ไม่ระบุปีที่พิมพ์ ก.) พบว่าอับละอองเรณูมีการเปิด14% ในเวลา 11.00 น. 40%ในเวลา 13.00 น. และ 27%ในเวลา 15.00 น. ส่วนที่เหลือจะมีการเปิดในเวลาอื่น ดอกตัวผู้แต่ละดอกบานประมาณ 2-3 วัน การผสมเกสรโดยธรรมชาติอาจเกิดได้สองกรณีคือ ผสมข้ามดอกภายในต้นเดียว (self pollination) และผสมข้ามต้น (cross pollination) การผสมทั้งสองกรณีจะสำเร็จ โดยอาศัยแมลงเป็นสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมลงพวกผึ้ง ส่วนลม และแรงดึงดูดของโลก มีบทบาทอยู่บ้างแต่น้อยมาก การปฏิสนธิ (double fertilization) จะเกิดขึ้นใน ถุงต้นอ่อน (embryo sac) ประมาณ 4 วัน หลังจากมีการถ่ายละอองเรณู (ฉันทนา, 2513)


ค. สัดส่วนเพศดอก ช่อดอกหนึ่ง ๆ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยดอกตัวผู้ ดอกตัวเมีย ส่วนดอกสมบูรณ์เพศพบน้อยมากหรือไม่พบเลยโดยปกติดอกตัวผู้จะมีมากกว่าดอกตัวเมียแต่สัดส่วนเพศดอกจะผันแปรตามพันธุ์ การปฏิบัติดูแลรักษาและสภาพแวดล้อมในแต่ละปี หรือในแต่ละช่วงและการออกดอกมนตรี และคณะ (ไม่ระบุปีที่พิมพ์ ข) รายงานว่าต้นลำไยที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดมีสัดส่วนดอกตัวผู้ต่อดอกตัวเมีย 5:1 ส่วนต้นที่ปลูกด้วยกิ่งตอนมีสัดส่วนของดอกตัวผู้ต่อดอกตัวเมียสูงกว่า คือพันธุ์แห้วมีสัดส่วน 6:1 เบี้ยวเขียว 7:1 ดอและ สีชมพู 9:1 การมีดอกตัวเมียอยู่สูงก็มีโอกาสติดผลต่อช่อสูงด้วย


ง. การติดผล ภายหลังดอกบานประมาณ 2 สัปดาห์ จะเกิดการติดผล ซึ่งสังเกตได้จาก กลีบดอกจะค่อยมีสีซีดลงและเหี่ยวไปในระยะ 3-4 วัน หลังจากการถ่ายละอองเกสร

          ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดผลของลำไยปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการทำสวนลำไยคือ การติดผลมากเกินไปซึ่งบางครั้งอาจ ติดผลมากกว่า 100 ผลต่อช่อ ทำให้ผลลำไยมีขนาดเล็กและเปลือกบาง บางพันธุ์เช่น พันธุ์สีชมพูเนื้อมักแฉะน้ำ แต่อย่างไรก็ตามในบางปีกลับพบกับปัญหาการติดผลน้อยทำให้ปริมาณผลผลิตต่ำ ซึ่งสาเหตุของการติดผลมากหรือน้อยนั้นเกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน ดังจะกล่าวต่อไปนี้

     1. ความสมบูรณ์ของต้น ต้นลำไยที่ออกดอกหากสภาพต้นไม่สมบูรณ์โอกาสที่จะติดผลย่อมน้อยลง การติดผลต้องใช้อาหารจำนวนมาก และอาจเกิดการแก่งแย่งอาหารระหว่างผลอ่อนในช่อเดียวกันหรือต้นเดียวกัน ผลที่สมบูรณ์กว่าย่อมมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่า ดังนั้นการร่วงของผลอ่อนในต้นที่ไม่สมบูรณ์จึงมีสูง (รวี, 2540ข) การเตรียมต้นให้มีความพร้อมก่อนการออกดอกจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการออกดอกและติดผล ควรบำรุงให้ต้นลำไยแตกใบอ่อนอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง

     2. เพศดอกและสัดส่วนเพศดอก ผลลำไยเจริญมาจากดอกตัวเมียที่ได้รับการผสมเกสรจากดอกตัวผู้ การมีสัดส่วนเพศดอกที่เหมาะสมและมีจำนวนดอกตัวเมียต่อช่อมากย่อมมีโอกาสติดผลได้มาก จำนวนดอกตัวผู้และตัวเมีย อาจผันแปรตามสภาพต้น สภาพแวดล้อม และความยาวช่อดอก

     3. ลำดับการบานของดอก  กิดขึ้นหลายๆรูปแบบจากการสังเกตพบว่าช่อดอกลำไยที่ดอกตัวเมียบานก่อนโดยไม่มีดอกตัวผู้ จากช่ออื่นๆภายในต้นหรือต่างต้นบานคาบเกี่ยว ดอกตัวเมียทั้งหมดจะร่วงหล่นเนื่องจากไม่ได้รับการผสมเกสร แต่ถ้ามีดอกตัวผู้บานคาบเกี่ยวและมีแมลงช่วยผสมช่อดอกที่มีดอกตัวเมียบานก่อนและบาน 2 รุ่นก็จะมีการติดผล 2 รุ่น ในช่อเดียวกัน ตัวอย่างรูปแบบการบานของดอก ดูภาพ 3.6 และ 3.7 ประกอบ

     4. แมลงผสมเกสร โดยธรรมชาติของดอกลำไยการผสมเกสรอาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณีคือการผสมข้ามดอกภายในต้นเดียวกันหรือผสมข้ามดอกและข้ามต้น การผสมทั้ง 2 กรณีจะสำเร็จได้โดยอาศัยแมลงเป็นสื่อ ส่วนลมและแรงดึงดูดของโลกนั้นอาจมีบทบาทอยู่บ้างแต่น้อยมาก (วัฒนา, 2511) การนำผึ้งพันธุ์ (Apis mellifear L.) ไปปล่อยในสวนลำไยอายุ 9 ปีในระยะ ดอกบานเพื่อช่วยผสมเกสร พบว่าต้นลำไยติดผล 16.7ผลต่อช่อ ส่วนต้นที่ไม่มีแมลงผสมเกสร ติดผลเพียง 1.09 ผลต่อช่อ (พิชัย และคณะ, 2536) สำหรับพฤติกรรมของผึ้งในการผสมเกสรนั้นผึ้งจะดูดน้ำหวานจากเกสรตัวผู้ เกสรของดอกลำไยจะติดที่ขนบริเวณส่วนหัวและส่วนอกของผึ้งเมื่อผึ้งบินไปยังดอกตัวเมียเกสรก็จะติดที่ยอดเกสรตัวเมีย การถ่ายละอองเกสรจึงเกิดขึ้น ดังนั้น ในระยะที่ดอกลำไยบานจึงไม่ควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงเพราะจะเป็นอันตรายต่อผึ้ง

     5. สภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิอากาศจัดเป็นตัวแปรที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการติดผลของลำไย จากการใช้โพแทสเซียมคลอเรตชักนำให้ลำไยออกดอกนอกฤดูในช่วงฤดูฝน โดยให้สาร ในอัตราเท่ากันคือ 8 กรัมต่อตารางเมตร พบว่ามีผลอย่างมากต่อการออกดอกติดผล และสัดส่วนเพศดอกดังแสดงในตารางที่ 3.6 นอกจากนี้ช่วงที่ลำไยติดผลน้อยมักเกิดในช่วงที่เกษตรกรให้สารโพแทสเซียมคลอเรตในช่วงเดือนตุลาคม และดอกลำไยจะบานในช่วงเดือธันวาคม ซึ่งตรงกับฤดูหนาว อิทธิพลของสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการติดผลของลำไยมีดังนี้

          5.1 อุณหภูมิ ในขณะที่ดอกกำลังพัฒนาและดอกกำลังบานอุณหภูมิของอากาศจะต้องไม่สูงหรือที่เกินไป วึ่งจะเป็นอันตรายต่อเกสรตัวผู้และตัวเมีย (รวี ,2540 ข) อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของละอองเรณูอยุ่ในระหว่าง 25-30 ซ. แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 20 ซ การงอกขอละอองเรณูจะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอุณหภูมิในขณะดอกบานต่ำประมาณ ซ. การงอกของละอองเรณูของลำไยพันธ์อีดอจะมีการงอกไม่เกิน 2% (นิพัฒน์ และคณะ, 2544) จากข้อมูลดังกล่าวน่าจะพอนำมาอธิบายถึงการติดผลน้อยของต้นลำไยที่ได้รับสารโพแทสเซียมคลอเรตใน เดือนตุลาคมและดอกบานช่วงเดือนธันวาคมซึ่งตรงกับช่วงอุณหภูมิต่ำจึงอาจมีผลต่อการงอกของละอรเกสรจึงทำการผสมไม่ติดซึ่งส่งผลทำให้ลำไยติดผลน้อย


ตารางที่ 3.6
  ผลของการให้สารโพแทสเซียมคลอเรตในช่วงฤดูฝนต่อการออกดอก จำนวนดอกต่อช่อ สัดส่วนเพศดอกและจำนวนผลเฉลี่ยต่อช่อของลำไยพันธุ์อีดอที่ปลูกในสภาพพื้นที่ ดอน (พาวิน , 2543)
               

          5.2 ฝน ขณะที่ดอกบานหากมีฝนตกลงมาจะไปชะเอาน้ำเหนียวๆบนยอดเกสรตัวเมียออก ทำให้ละอองเกสรไม่สามารถเกาะติดในขณะที่มีการถ่ายละอองเกสร นอกจากนี้ในช่วงดอกบานถ้ามีฝนตกมากๆ ทำให้ดอกลำไยร่วงหล่น และยังทำให้การผสมเกสรลดลง

          5.3 ความชื้นสัมพันธ์ ในสภาวะที่มีความชื่นสัมพันธ์ของอากาศสูง การปลดปล่อยละอองเกสรจะเกิดขึ้นได้ช้า หากมีความชื้นสัมพันธ์สูงตลอดวันอาจไม่มีการปลอดปล่อยเกสรเลย ในอีกด้านหนึ่งหากความชื้นสัมพันธ์ในอากาศต่ำ หรือแห้งมาก ทำให้ยอดเกสรตัวเมียแห้ง ดอกสูญเสียน้ำ และร่วหล่นไปได้

          5.4 แสงแดด มีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ หากแสงแดดจัดอุณหภูมิย่อมสูงขึ้นอย่างมากแต่ในทางกลับกันความชื้นสัมพัทธ์จะลดลง พิชัย และคณะ (2536) รายงานว่า ช่อดอกที่อยู่ทางทิศตะวันออกของต้นมีการติดผลสูงกว่าด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือมีการติดผลมากกว่าทิศใต้ 5.2, 5.3 ,5.4 ขาดรูปเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามบทบาทของสภาพภูมิอากาศต่อการติดผลของลำไยคงจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดกันต่อไป

      6. โรคและแมลงศัตรูลำไย จากการสังเกตต้นลำไยที่เป็นโรคพุ่มไม้กวาดจะติดผลน้อยกว่าต้นปกติ คือช่อดอกหนึ่ง ๆ อาจให้ผลผลิตเพียง 4-5 ผลต่อช่อ นอกจากนี้การระบาดของ เชื้อราในระยะออกดอก และดอกบานมีผลทำให้ดอกลำไยร่วงได้ ส่วนแมลงศัตรูที่พบระบาดในช่วงลำไยแทงช่อดอก เช่น เพลี้ยไฟ หนอนคืบ หนอนกินดอกลำไย หนอนม้วนใบ เพลี้ยหอยและ มวนลำไยถ้ามีการระบาดมาก ๆ ก็มีผลทำให้ลำไยติดผลน้อยลง

      7. การปฏิบัติดูแลรักษา ในช่วงที่ลำไยออกดอกควรให้น้ำ และปุ๋ยอย่างพอเพียง ถ้า ต้นลำไยขาดน้ำ และธาตุอาหารก็เป็นสาเหตุทำให้การติดผลน้อยได้เช่นกัน


จ. การเจริญเติบโตของผล  การเติบโตของผลลำไยเป็นแบบซิกมอยด์ เคิร์ฟ (sigmoid curve) สำหรับพันธุ์อีดอใช้เวลาในการเติบโตจากระยะติดผลถึงโตเต็มที่ประมาณ 21 สัปดาห์ ดาวเรือง (2530) แบ่งการเติบโตของผลลำไยออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

        ระยะที่ 1 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ติดผลจนถึงสัปดาห์ที่ 10 จะมีการเติบโตอย่างช้า ๆ เป็น การเจริญเติบโตของเปลือกและเมล็ด ส่วนเนื้อผลเริ่มเกิดเมื่อผลอายุประมาณ 6 สัปดาห์ และมีการเจริญเติบโตอย่างช้า จนถึงสัปดาห์ที่ 14 ในขณะที่เมล็ดใช้เวลาตั้งแต่ติดผลถึงสัปดาห์ที่ 8

        ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่หลังสัปดาห์ที่ 10-21 หลังติดผล ระยะนี้ผลลำไยจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเนื้อผลจะเจริญอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ สัปดาห์ที่ 14 จนกระทั่งถึงสัปดาห์ที่ 21 การเจริญของเนื้อจะคงที่ ส่วนเมล็ดจะเจริญรวดเร็วในสัปดาห์ที่ 8 ถึง 14 หลังจากนั้นขนาดของเมล็ดจะโตเกือบเต็มที่

        ระยะที่ 3 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 21 เป็นต้นไป เป็นระยะที่มีการเติบโตของผลช้าลงเนื่องจากส่วนเนื้อและเมล็ดมีการเจริญเกือบคงที่ ขาดกราฟระยะการเจริญเติบโต


ฉ. ขนาดผล ลำไยที่ปลูกเป็นการค้าของไทยโดยทั่วไปจะมีขนาดของผลอยู่ในช่วง 2.5 – 3.5 เซนติเมตร อย่างไรก็ตามขนาดของผลขึ้นอยู่กับพันธุ์ สภาพแวดล้อมและการปฏิบัติ- ดูแลรักษา การใช้ GA3 ความเข้มข้น 50 มก/ล. ในระยะตั้งแต่ดอกบานถึง 4 สัปดาห์หลังดอกบาน สามารถเพิ่มขนาดของผลได้ 17.7% (กิติโชติ และรวี, 2537) ในกรณีที่ต้นลำไยติดผลมาก เมื่อผลลำไยมีขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วเหลืองทำการปลิดผลออก สามารถเพิ่มขนาดของผลได้อย่างชัดเจน


ช. การแตกของผล ผลแตก (fruit cracking) เกิดจากความไม่สมดุลของการขยายตัวของส่วนเนื้อและส่วนเปลือก เนื้อผลซึ่งมีลักษณะเป็นเซลล์อ่อนนุ่ม (spongy parenchyma) มีความสามารถในการยืดหดตัวได้สูงในขณะที่เปลือกมีความยืดหยุ่นต่ำกว่า ในกรณีที่เนื้อผล มีการขยายปริมาตรอย่างรวดเร็วและเร็วกว่าการขยายตัวของเปลือก แรงดันที่เกิดจากการขยายของขนาดของเนื้อผลถ้ามีมากพอก็จะดันให้เปลือกผลแตก การแตกของผลลำไยมักเกิดในระยะที่ผลลำไยใกล้จะแก่และพบว่าการแตกของผลส่วนใหญ่เกิดกับต้นลำไยที่ติดผลดก ผิวเปลือกบาง การป้องกันการแตกของผลอย่าให้ลำไยติดผลดกและให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ระยะออกดอกถึงผลแก่ส่วนธาตุอาหารที่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการแตกของผลคือธาตุแคลเซียม 

หมายเลขบันทึก: 519598เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2013 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 06:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท