ตวาด และขึ้นเสียงกับลูกน้อง ผลร้ายแรงกว่าที่คิด


ท่านที่เป็นหัวหน้า และผู้จัดการทั้งหลาย ไม่ทราบว่าเคยขึ้นเสียง หรือตวาดพนักงานใต้บังคับบัญชาบ้างหรือไม่ครับ บางคนอาจจะไม่เคยเลย บางคนอาจจะเคยบ้าง และบางคนอาจจะทำบ่อยๆ วันละหลายๆ ครั้ง ผมเองเคยเจอกับตัวเองมาเลยครับ ผู้บริหารบริษัทหนึ่งคุยกับผมอยู่ในห้องประชุม พอลูกน้องขอเข้าพบเพื่อที่เอางานมาให้ลงนาม ผู้บริหารท่านนี้อ่านจบ ก็ตวาดเสียงดังใส่ลูกน้องคนนี้ทันที เพราะว่าเจอที่ผิด พร้อมกับโยนเอกสารลงพื้น และบอกให้ไปทำมาใหม่ ผมเห็นลูกน้องคนนั้นก้มหน้าหนีด้วยความอาย และรีบเดินออกไปจากห้องประชุมโดยไม่ได้สอบถามเลยว่าตรงไหนที่ผิด และจะต้องแก้ไขตรงจุดไหนบ้าง

พอพนักงานออกไปจากห้องประชุม ผู้บริหารท่านนั้นก็หันมาคุยกับผมด้วยอารมณ์ปกติว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้พวกนี้ทำงานไม่ได้ ต้องตวาดและขึ้นเสียงเท่านั้นจึงจะเอาพนักงานอยู่ ผมเองก็คิดในใจว่าจริงหรือ ที่วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำให้พนักงานอยู่ในความควบคุมของเราและทำงานให้เราอย่างเต็มใจและพอใจ จริงหรือ??

มีผลงานวิจัยจาก Utah State University แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผลกระทบของการขึ้นเสียง หรือการตวาดนั้นมีผลลบต่อการทำงานของพนักงานอย่างมาก ประเทศทางตะวันตกเขาเคยเชื่อว่า ถ้าเรารู้สึกไม่ดี และเราแสดงออกตรงไปตรงมา ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เขาก็เลยมักจะใช้เสียงดัง และตวาดพนักงานเป็นประจำ แต่หารู้ไม่ว่า การกระทำดังกล่าวมีผลเสียตามมาอีกมากมาย ลองมาดูนะครับว่าผลเสียอะไรตามมาบ้างจากงานวิจัยชิ้นนี้

  • ผลงานพนักงานแย่ลงกว่าเดิม เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ว่าการที่แสดงอารมณ์โกรธ และตวาดใส่พนักงานนั้นจะทำให้พนักงานมีผลงานที่ดีขึ้น จริงๆ แล้วผลของการตวาดพนักงานมีแต่จะทำให้พนักงานรู้สึกแย่ลง และส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของพนักงาน ในระยะยาวพนักงานจะมีผลงานที่แย่ลงไปเรื่อยๆ
  • พนักงานขาดแรงจูงใจในการทำงาน ผลในข้อนี้เป็นผลกระทบโดยตรง พนักงานจะรู้สึกถึงการที่นายไม่ให้เกียรติเขา เอะอะก็ตวาดใส่ ขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานก็จะลดไปเรื่อยๆ จนหดหายไปในที่สุด จากนั้นพนักงานก็จะทำงานแบบซังกะตาย
  • พนักงานขาดความคิดสร้างสรรค์ การที่นายตวาดใส่บ่อย จะยิ่งทำให้พนักงานหมดความกล้าที่จะเสนอความคิดเห็นใหม่ๆ เพราะกลัวว่าเสนอไปก็จะโดนด่าอีก ก็เลยนิ่งเงียบ และปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม ซึ่งผลก็คือองค์กรจะวนเวียนอยู่ในวัฎจักรการทำงานแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นในการทำงานอีกเลย
  • เสี่ยงต่อการถูกทำร้าย นายที่ชอบตวาดใส่พนักงานบ่อยๆ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายโดยลูกน้องคนนั้น ผลการวิจัยระบุว่า 30% ของนายที่ชอบตวาดลูกน้อง ถูกทำร้ายร่างกาย หรือไม่ก็สิ่งของต่างๆ เพื่อเป็นการระบายความอัดอั้นในใจของพนักงาน บางรายเรียกได้ว่าถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตก็มีมาแล้ว
  • มีแต่ความเครียดในการทำงาน บรรยากาศในการทำงานจะมีแต่ความอึมครึมตลอดทั้งปี เพราะเวลามีอะไรไม่ดี นายก็จะมาใส่อารมณ์กับเรา เหมือนกับพนักงานเป็นที่รองรับอารมณ์ ดังนั้นบรรยากาศในการทำงานก็จะมีแต่ความหม่นหมอง อึมครึม ไม่มีความสนุกสนานเกิดขึ้นในการทำงานเลยสักนิด

จากวิจัยนี้ยังระบุว่าวิธีที่นายควรจะทำเวลาที่เกิดอาการไม่สบอารมณ์กับผลงานของลูกน้องก็คือ

  • ให้ใจเย็น นับ 1-10 ก่อน และระหว่างนี้ ก็ให้พิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริงของผลงานที่ไม่ดีนี้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ เป็นที่ตัวพนักงาน หรือเป็นที่ปัจจัยอื่นๆ
  • เวลาพนักงานเข้ามาคุยด้วย ก็พยายามระลึกไว้เสมอว่า ถ้าอยากให้พนักงานสร้างผลงานที่ดีขึ้นกว่านี้ เราจะต้องใจเย็น และคุยกับพนักงานด้วยการให้เกียรติมากกว่าที่จะตวาดใส่
  • สอบถามพนักงานถึงสาเหตุของปัญหา และแนวทางในการแก้ไขจากตัวพนักงาน และฟังพนักงานพูดด้วยความใจเย็น และส่งเสริมให้เขาคิดหาทางแก้ไขปัญหาด้วยความใจเย็น
  • บอกพนักงานได้ว่า เรารู้สึกอย่างไร แต่ต้องบอกด้วยความใจเย็นนะครับ เช่น บอกพนักงานได้ว่า “ผมไม่พอใจมากนะกับผลงานที่ออกมา” แต่ต้องพูดด้วยน้ำเสียงที่นิ่ง ไม่ใช่ตวาด จากนั้นก็ต้องให้การช่วยเหลือพนักงานว่าจะทำผลงานให้ดีขึ้นได้อย่างไร

อย่าลืมนะครับว่าผลงานของเราในฐานะหัวหน้าหรือผู้จัดการนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากผลงานของลูกน้องของเรา ถ้าเราไม่ให้เกียรติลูกน้องเรา ลูกน้องก็จะไม่ให้เกียรติเราเช่นกัน และยิ่งไปกว่านั้น เขาก็จะไม่สร้างผลงานอะไรใหม่ๆ ให้เราด้วย เราก็จะกลายเป็นผู้จัดการที่ไม่มีผลงานอะไรใหม่ๆ เลย

การตวาด หรือขึ้นเสียงอาจจะสร้างความสะใจให้ท่านได้ แต่มันไม่คุ้มเลยครับ กับผลที่จะตามมาในระยะยาว จริงมั้ยครับ

หมายเลขบันทึก: 519222เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2013 06:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2013 07:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท