ทำไมนิ้วมือที่แช่น้ำจึงเหี่ยว???


ทำไมนิ้วมือที่แช่น้ำจึงเหี่ยว???

                                          


            ความรู้เก่า ๆ ที่เราได้ยินได้ฟังหรือที่ได้เรียนมาบอกไว้ว่า  สาเหตุที่ทำให้ผิวเหี่ยวหากแช่น้ำนานก็คือ ผิวชั้นนอกเกิดการออสโมซิส ขยายตัวมากเสียจนเหี่ยวย่นอย่างที่เห็น  ฟังดูสมเหตุสมผล และน่าเชื่อถือดีแล้ว แต่ก็มีการวิจัยล่าสุดเสนอแนวคิดมาใหม่ว่า การที่นิ้วเหี่ยวตอนแช่น้ำ เป็นกระบวนการหนึ่งของการปรับตัวเพื่อให้เราสามารถหยิบจับสิ่งของในน้ำได้ดีขึ้นต่างหาก 

            ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่า ปลายนิ้วที่เพิ่งขาดออกจากมือ เมื่อนำไปแช่น้ำก็หาได้มีการดูดน้ำจนเหี่ยวไม่ (ไม่ต้องห่วงค่ะ ปลายนิ้วนี้ได้รับการเย็บกลับคืนมือเจ้าของอย่างสวัสดิภาพในเวลาต่อมา) จึงสงสัยว่าแท้จริงแล้ว การที่นิ้วเหี่ยวนี้น่าจะเป็นเพราะกลไกการทำงานของเส้นประสาทที่นิ้วเสียมากกว่า ซึ่งส่งสัญญาณไปให้หลอดเลือดฝอยที่นิ้วมือตีบตัวลง เนื้อเยื่อบริเวณนั้นจึงดูเหี่ยวลงด้วย ซึ่งน่าจะเป็นไปเพราะการปรับตัวของร่างกายไปตามสภาพแวดล้อม ซึ่งในที่นี้คือการที่ร่างกายแช่อยู่ในน้ำนั่นเอง 

                                        

           การตั้งข้อสังเกตนี้ได้รับการทดลองโดยทีมนักวิจัยประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ได้ให้ผู้ร่วมทดลองได้หยิบจับสิ่งของต่าง ๆ กัน 45 ชนิด โดยมีทั้งของที่แห้งและเปียก จากกล่องหนึ่งไปใส่อีกกล่องหนึ่งผ่านรูที่เจาะไป โดยให้ผู้ร่วมทดลองกลุ่มหนึ่งหยิบสิ่งของด้วยมือที่แห้งตามปกติ ส่วนอีกกลุ่มได้ให้นำมือไปแช่น้ำไว้ก่อนเป็นเวลา 30 นาที เพื่อให้นิ้วมือมีรอยเหี่ยว ปรากฏว่า กลุ่มที่นิ้วมือมีรอยเหี่ยวสามารถหยิบจับและส่งผ่านสิ่งของต่าง ๆ ได้เร็วกว่ากลุ่มที่มือแห้งถึง 12% และผลการทดลองนี้ได้รับการรายงานในเว็บไซต์ Biology Letters เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา
           "ถึงแม้ว่าเวลาที่แต่ละคนใช้ในการหยิบจับสิ่งของจะแตกต่างกันออกไป แต่ก็เป็นที่น่าสนใจมาก ๆ ที่ผู้ที่มีนิ้วเหี่ยว ๆ ทุกคนสามารถหยิบจับสิ่งของที่เปียกชื้นได้เร็วกว่าเสมอ" ทอม สมัลเดอร์ส ผู้นำทีมการทดลองกล่าว 
ส่วนเหตุผลที่ว่า ทำไมมือจึงไม่เหี่ยวตลอดเวลาเพื่อให้หยิบจับสิ่งของได้ดีกว่าเสมอ สมัลเดอร์ ก็คาดว่ามันอาจเกี่ยวเนื่องกับเหตุผลบางประการกับการรักษาระดับความไวต่อการรับความรู้สึกของนิ้วมือเอาไว้ก็ได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องค้นคว้าอย่างลึกซึ้งกว่านี้เพื่อหาคำตอบต่อไป




ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://health.kapook.com/view54310.html


หมายเลขบันทึก: 519180เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2013 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เพิ่งรู้ค่ะว่าการที่นิ้วมือเหี่ยวเป็นแบบนี้นี่เอง  ขอบคุณมากนะค่ะ ^____^ 

ครับเพิ่งรู้เหมือนกัน. ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท