กิจกรรมบำบัดสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย (การบันทึกความรู้ประจำเดือน ธันวาคม )


กิจกรรมบำบัดสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย

ผู้หย่อนสมรรถภาพทางด้านร่างกาย หมายถึงบุคคลที่มีปัญหาทางร่างกายในด้านโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะต่างๆอันเนื่องมาจากการเป็นโรค ความบกพร่องในการทำงานของระบบต่างๆ ความเสื่อมตามวัยหรืออุบัติเหตุ ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จำกัดการแสดงบทบาทหรือทำกิจกรรมตามบทบาทของบุคคลนั้น สามารถแบ่งประเภทของผู้หย่อนสมรรถภาพทางด้านร่างกายตามสาเหตุใหญ่ๆได้ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ป่วยระบบประสาท หมายถึงบุคคลที่มีความผิดปกติในการทำงานของตัวเซลล์ประสาทและทางเดินประสาททั้งในสมองและไขสันหลัง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบประสาทเองหรือจากสาเหตุอื่นแล้วส่งผลให้ระบบประสาทมีการทำงานผิดปกติ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง การได้รับอุบัติเหตุทางสมอง โรคพาร์คินสัน เป็นต้น
  2. ผู้ป่วยทางระบบโครงสร้างของร่างกายและกล้ามเนื้อ เช่น โรครูมาตอยด์ กระดูกหัก กระดูกพรุน โรคมัยแอสทีเนียเกรวิส โรคของกล้ามเนื้อ การตัดแขนและ/หรือขา ปวดหลัง ไฟไหม้/น้ำร้อนลวก เป็นต้น
  3. ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่มือและแขน อันมีสาเหตุมาจากการได้รับบาดเจ็บหรือสาเหตุอื่นที่ทำให้เส้นประสาทส่วนปลาย กล้ามเนื้อและกระดูกทำงานบกพร่อง การจัดผู้ป่วยกลุ่มนี้แยกออกจากสองกลุ่มแรกข้างต้นเนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการของทั้งสองระบบเกิดขึ้นร่วมกัน อีกทั้งขอบข่ายงานทางกิจกรรมบำบัดในผู้ป่วยประเภทนี้ค่อนข้างเด่นชัดและมีความสำคัญมาก
  4. ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจและเมตาลิซึมของร่างกาย เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะไม่มีความพิการหรือภาวะทุพพลภาพปรากฏให้เห็น แต่มักมีสภาพร่างกายโดยทั่วไปอ่อนแอ เหนื่อยง่าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันตามบทบาทและหน้าที่ของตนเอง

ขอบข่ายงานกิจกรรมบำบัดในผู้หย่อนสมรรถภาพทางด้านร่างกาย

  1. ให้การประเมินเพื่อรวบรวมปัญหาของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางกิจกรรมบำบัด เช่น กำลังของกล้ามเนื้อ ระยะการเคลื่อนไหว ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ การรับความรู้สึก การรับรู้และความรู้ความเข้าใจ รูปแบบและความคล่องแคล่วในการทำงานของมือ การทำกิจวัตรประจำวัน
  2. ให้คำแนะนำหรือให้กิจกรรมเพื่อคงไว้ซึ่งสภาวะที่ดีของผู้ป่วย
  3. ให้การดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วยที่หย่อนสมรรถภาพทางด้านร่างกาย
  4. ให้คำแนะนำและให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการรับความรู้สึก
  5. ให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการรับรู้และการเรียนรู้ รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีปัญหาในด้านนี้
  6. กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ปกติ ยับยั้งการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ตามวิธีการรักษาทางกิจกรรมบำบัด
  7. ให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับมือ เช่น รูปแบบการทำงานของมือ ความคล่องแคล่วในการใช้มือ การทำงานอย่างประสานกันระหว่างมือทั้งสองข้าง
  8. สอนผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันตามระดับความสามารถของผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด
  9. ดัดแปลงอุปกรณ์ช่วยและอุปกรณ์เสริมในการทำกิจวัตรประจำวันให้กับผู้ป่วย
  10. ออกแบบและจัดทำเครื่องดามให้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องดาม สอนวิธีใส่-ถอดและการดูแลรักษาเครื่องดาม
  11. สอนวิธีใส่-ถอด การใช้และการดูแลรักษากายอุปกรณ์เทียมต่างๆ
  12. ให้คำแนะนำในการทำงานอย่างถูกวิธีและสอนเทคนิคในการสงวนพลังงาน
  13. ให้คำแนะนำในการจัดตารางเวลาของกิจกรรมในแต่ละวันให้มีความสมดุลกัน
  14. ประเมินและให้คำแนะนำในการดัดแปลงสภาพบ้านและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้รับบริการแต่ละราย
  15. ประเมินความสามารถในการประกอบอาชีพและสอนทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ
  16. ให้คำปรึกษาและแนะนำญาติของผู้ป่วยเกี่ยวกับการยอมรับในตัวผู้ป่วยและวิธีในการช่วยดูแลผู้ป่วยภายหลังจากที่ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล

หมายเลขบันทึก: 518064เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2013 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2013 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท