ความเป็นมา การรำเดี่ยว


       การแสดงนาฏศิลป์ไทยเป็นศิลปะการแสดงที่มีอยู่คู่บ้านคู่บ้านเมืองมาหลายศตวรรษ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไทยที่ได้สร้างสรรค์ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชาติ และเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ การทำนุบำรุงรักษา ควรทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการอนุรักษ์องค์ความรู้ไว้ให้มั่นคง และเป็นต้นแบบแห่งการถ่ายทอดความรู้ด้านนาฏศิลป์ไทย องค์ประกอบความรู้นาฏศิลป์ไทย มีการศึกษาค้นคว้า รวบรวมมาตั้งแต่อดีตเช่นกัน ปรากฏหลักฐานมีตำรารำในรัชกาลที่ ๑ ผู้วิจัยมีความเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงให้ความสำคัญต่อนาฏศิลป์ไทยเป็นล้นพ้น ทรงสังคายนาท่ารำไทย แล้วจารึกไว้เป็นแบบแผน นับเป็นคุณประโยชน์อันอเนกอนันต์ต่อวงการนาฏศิลป์ไทยจนถึงปัจจุบัน ดังที่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงเดชานุภาพทรงค้นพบ และทรงอธิบายว่า “ตำรารำซึ่งรวบรวมไว้ดีในหอสมุดฯ บัดนี้ มีเก่าที่สุดเพียงสร้างขึ้นใน รัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นตำราท่ารำต่างๆ เขียนรูประบายสีปิดทองเล่ม ๑ เหลือแต่สมุดตอนข้างต้น ตอนปลายขาดหายไปเสียแล้ว อีกเล่มหนึ่งเป็นตำราท่ารำเหมือนกับเล่มที่กล่าวมาแล้ว แต่เขียนฝุ่น เป็นลายเส้นเดียว รูปภาพเป็นฝีมือช่างครั้งรัชกาลที่ ๒ ฤๅที่ ๓ แต่มีภาพท่ารำบริบูรณ์ ๖๖ ท่า สมุดเล่มนี้ได้มาแต่ในราชวังบวรฯ เทียบดูกับตำราเล่มรัชกลาที่ ๑ เห็นเรียงลำดับท่าต่างๆ เป็นระเบียบเดียวกัน เป็นหลักฐานให้เห็นว่าตำราเล่มที่ได้มาจากพระราชวังบวรฯ เป็นของคัดสำเนามาจากรัชกาลที่ ๑ และเป็นหลักให้รู้ได้อีกอย่าง ๑ ว่าท่ารำต่างๆ ที่ขาดหายไปจากเล่ม รัชกาลที่ ๑ นั้นเป็นท่าใดๆ บ้างอาศัยหลักฐานที่ได้จากสมุดตำรารำทั้ง ๒ เล่ม เข้าใจว่าตำรารำเช่นนี้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่เป็นอันตรายเสียเมื่อครั้งเสียกรุงฯ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกคงจะได้โปรดฯ ให้ประชุมพวกครูละครทำตำราท่ารำขึ้นใหม่ไว้เป็นแบบแผนสำหรับพระนครครั้นต่อมาเจ้านายซึ่งทรงศักดิ์สูง เช่น กรมพระราชวังบวรฯ เป็นต้น จึงโปรดให้คัดสำเนาตำรานั้นไปรักษาไว้เป็นแบบฉบับสำหรับหักโขนละคร” ( ตำราฟ้อน ฉบับเรียบเรียงในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงเดชานุภาพ, ๒๔๖๖ )

         ในตำราท่ารำท่าครูเป็นผู้บันทึกไว้มีการรำหลายประเภท อาทิเช่น การรำมาตรฐาน การรำเดี่ยว ระบำ รำ ฟ้อน โดยเนื้อหาและท่ารำมีความแตกต่างกันไปตามแบบแผน การรำเดี่ยวตัวพระ มีผู้ที่สนใจน้อย และเนื้อหาไม่ปรากฏชัดเจนมากนัก บทเพลงที่ค้นพบมีปรากฏอยู่มีดังนี้ 

รำอิเหนาตัดดอกไม้ฉายกริช

อิเหนาชมดง

รำกริชสุหรานากง

รำพระไวยตรวจพล

รำพระสุธนเดินป่า

ฉุยฉายพราหมณ์

รำพลายชุมพล

รำลงสรงโทน
หมายเลขบันทึก: 517453เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2013 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2013 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท