ผู้สูงอายุ กับความยืดหยุ่น


...ต่างจังหวัด.. การฝึกปฏิบัติงานครั้งที่ 4 เริ่มต้นหลังเทศกาลวันปีใหม่ คือวันที่ 2 มกราคม 2556 ในสองอาทิตย์แรก ดิฉันได้ฝึกปฏิบัติงานพร้อมกับเพื่อนจากต่างสถาบัน ซึ่งมีความสนุกสนาน เป็นกันเองมาก ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนวิชาชีพกิจกรรมบำบัด การฝึกปฏิบัติงานในสถานที่ต่างๆที่ผ่านมา โดยแต่ละคนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งการที่ได้พบปะ พบเจอเพื่อนนั้น ทำให้มีความสุข มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ พร้อมกับแฝงไปด้วยความรู้ คำแนะนำที่ได้จากเพื่อนที่มาฝึกปฏิบัติงานก่อน สิ่งเหล่านี้ถือว่า เป็นความทรงจำที่ดีครั้งหนึ่งในชีวิตระหว่างเพื่อนด้วยกัน.. ขอบใจเพื่อน มา ณ ที่นี้ด้วยคะ  


..การฝึกปฏิบัติงานครั้งนี้ ดิฉันได้ดูแลผู้รับบริการผู้สูงอายุท่านหนึ่ง มีอาการสำคัญคือแขนและขาซีกซ้ายชา อ่อนแรง มือซ้ายหยิบจับของไม่ได้ ได้รับการวินิจฉัยโรค Cerebrovascular accident Left hemiparesis ซึ่งผู้รับบริการสามารถขยับแขน งอหัวไหล่ได้ด้วยตนเองแต่ไม่สุดช่วงการเคลื่อนไหว ซึ่งหมายความว่าเริ่มเข้าสู่ระดับการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวของBrunnstrom จากDisappearance synergy movement(การเคลื่อนไหวแบบเป็นกลุ่มก้อนของกล้ามเนื้อ เช่น ขณะเอื้อมหยิบสิ่งของมีการงอและเกร็งของข้อศอก หัวไหล่งอและกางออกไปด้วย ซึ่งในระยะนี้การเคลื่อนไหวแบบเป็นกลุ่มก้อนดังกล่าวและการเกร็งของกล้ามเนื้อหายไปเกือบหมดแล้ว)เป็นVoluntary movement(คือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ อวัยวะต่างๆได้อิสระ).. ผู้รับบริการคนดังกล่าวเป็นคนใจร้อน มีความคิดสร้างสรรค์ ประยุกต์ พลิกแพลงสิ่งต่างๆตลอดเวลา ขณะทำกิจกรรมบำบัดนั้นผู้รับบริการจะใจร้อน รีบทำให้เสร็จ และพลิกแพลงการทำกิจกรรมทุกครั้ง เช่น การฝึกการหยิบสิ่งของ ผู้รับบริการจะคิดหาวิธีการหยิบจับที่สะดวก ง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งบางครั้งการพลิกแพลง ปรับประยุกต์ดังกล่าวอาจทำให้ผู้รับบริการหยิบจับสิ่งของได้ไม่ถูกแบบแผนของรูปแบบการหยิบจับ แต่บางครั้งการปรับประยุกต์ดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ให้กับผู้รับบริการท่านนั้น หรือท่านอื่นๆได้ดี รวมถึงการที่ผู้รับบริการเป็นผู้สูงอายุที่ใจร้อน ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งอาชีพการงานและครอบครัว การให้กิจกรรมการรักษาจะเน้นให้ใจเย็นๆขณะทำกิจกรรมโดยต้องอธิบายถึงเหตุผลของความใจร้อนว่าส่งผลต่อกล้ามเนื้อขณะเคลื่อนไหวอย่างไร การอธิบายรายละเอียดของกิจกรรมว่าทำไปเพื่ออะไร เพราะอะไรจึงต้องทำกิจกรรมแบบนี้ ถ้าไม่ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าตนเองทำกิจกรรมดังกล่าวแต่ไม่ทำตามแบบที่กำหนดให้จะเป็นอย่างไรต่อไป

ซึ่งการให้การบำบัดฟื้นฟูนั้น หากลองมองย้อนไป ตามคำสอนของอาจารย์ที่ว่า เป็นนักกิจกรรมบำบัดต้องมีความยืดหยุ่น(flexible) จากการเรียนรู้ในห้องเรียน การฝึกปฏิบัติในห้องเรียน รวมถึงการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกนั้น ต้องเรียนรู้ที่จะมีความยืดหยุ่นต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ประสบพบเจอด้วย แต่การได้มาดูแลผู้รับบริการท่านนี้ทำให้ดิฉันได้ตระหนักว่า ความยืดหยุ่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากในนักกิจกรรมบำบัด เพราะไม่เพียงแต่สามารถนำกิจกรรมรอบๆตัวมาประยุกต์เป็นกิจกรรมการประเมิน การบำบัดฟื้นฟูได้แล้ว ก็ควรจะเปิดใจยอมรับถึงเหตุและผลของสิ่งต่างๆในเหตุการณ์ต่างๆให้กว้างมากขึ้น รู้จักที่จะนำเหตุ และผลนั้นมาคิด ปรับประยุกต์ต่อยอดให้ได้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอย่างไร จะปรับเปลี่ยนอย่างไรได้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 517294เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2013 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2013 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท