สรุปการหารือเคสลุงตู่กับเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย : ประเด็นสิทธิในการยื่นคำร้องของประชาชน - ประชาชนมีสิทธิกรอกคำร้องเองได้หรือไม่?


สรุปการหารือระหว่างนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 

กับเจ้าหน้าที่ผู้รักษาการตามกฎหมายทะเบียนราษฎร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

ประเด็นสิทธิในการยื่นคำร้องของประชาชน - ประชาชนมีสิทธิกรอกคำร้องเองได้หรือไม่?

วันที่ 14 มกราคม 2556 เวลา 11.30 – 12.30 น. 

สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

ผู้เข้าร่วม[1]

การดำเนินการยื่นคำร้อง

เดิมคำร้องต่าง ๆ นั้น เป็นแบบคำร้องที่พิมพ์และเว้นช่องไว้ให้ประชาชนกรอก แล้วจึงยื่นต่อเจ้าหน้าที่ แต่ปัจจุบันกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดทำระบบคอมพิวเตอร์เพื่ออำนวยความสะดวกในหารยื่นคำร้องต่าง ๆ  ดังนั้น การยื่นคำร้องจึงมีสองระบบคู่ขนานคือ ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งต้องกรอกผ่านเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่เป็นผู้สอบถามประชาชนว่าต้องการยื่นคำร้องในกรณีใดและสอบถามข้อมูลเพื่อบันทึกตามแบบคำร้อง และระบบแบบคำร้องกระดาษ คือ ทางเขตจะพิมพ์แบบคำร้องต่าง ๆ ไว้ให้ประชาชนกรอกและนำมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งกำดำเนินการทางทะเบียนนั้น มีขั้นตอนดังนี้

1.  ผู้ร้องยื่นคำร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร  (ท.ร. 31)

2.  เจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องตรวจสอบคำร้องและหลักฐาน  (ถ้ามี)

2.1.  พยานเอกสาร : ตรวจสอบพยานเอกสาร และสอบปากคำประกอบเอกสาร

2.2.  พยานบุคคล : สอบพยานบุคคลที่ผู้ร้องกล่าวอ้างทีละปาก

3.  เจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องทำความเห็นเสนอนายทะเบียนอำเภอ

4.  นายทะเบียนอำเภอ  (ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย) พิจารณาพยานหลักฐานและมีคำสั่ง

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายจัดทำระบบรับคำร้องเพียงระบบเดียว คือ ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ไม่มีระบบแบบคำร้องกระดาษไว้ให้บริการประชาชน เจ้าหน้าที่จึงให้ลุงตู่เริ่มกระบวนการยื่นคำร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร (ท.ร. 31) ซึ่งเป็นคำร้องทั่วไปต่อเขตอำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย และแจ้งว่าการกรอกคำร้องนั้นต้องทำโดยเจ้าหน้าที่ผ่านระบบคอมพิวเตอร์

ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยื่นคำร้อง

1. ขั้นตอนการกรอกคำร้อง

เมื่อการกรอกคำร้องผ่านระบบคอมพิวเตอร์ต้องผ่านเจ้าหน้าที่เท่านั้น การใส่รายละเอียดของคำร้องจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าจะบันทึกคำร้องนั้นอย่างไร แต่อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิเสธสิทธิของผู้ยื่นคำร้องที่จะแนบเอกสารประกอบเพิ่มเติมคำร้อง เพื่อระบุพยานหลักฐานและข้อมูลที่ต้องการเสนอต่อเจ้าหน้าที่พิจารณา[2]

2. ขั้นตอนการทำความเห็นตามคำร้องของเจ้าหน้าที่เพื่อเสนอต่อนายทะเบียน

เมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามผู้ร้องและบันทึกในแบบคำร้องในระบบคอมพิวเตอร์แล้วนั้น ระบบคอมพิวเตอร์กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องต้องทำความเห็นเสนอต่อนายทะเบียนทันที จึงสามารถพิมพ์คำร้องออกมาพร้อมเลขคำร้องได้ ซึ่งการกรอกแบบคำร้องผ่านระบบคอมพิวเตอร์ก่อให้เกิดปัญหา 2 กรณี คือ

2.1 แบบคำร้องในระบบคอมพิวเตอร์ได้กำหนดให้ต้องทำความเห็นเสนอต่อนายทะเบียน ซึ่งตามแบบคำร้องนั้นมีช่องความเห็นของเจ้าหน้าที่เพียง 2 ช่อง คือ

o  ควรดำเนินการให้ โดย..........................   หรือ

o  ไม่อาจดำเนินการได้ เนื่องจากะ............................

หากเจ้าหน้าที่เลือกความเห็น “ควรดำเนินการให้” หมายถึงรับคำร้องแล้วเจ้าหน้าที่เห็นว่าต้องดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนทันที (กรณียื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียน) หรือหากเลือกความเห็น “ไม่อาจดำเนินการได้” ก็ต้องมีเหตุผลประกอบความเห็น ดังนั้น จึงไม่มีช่องความเห็นของเจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องให้ “รอการพิจารณาพยานหลักฐาน” ก่อนทำความเห็นดังกล่าว

2.2 แบบคำร้องในระบบคอมพิวเตอร์ได้กำหนดให้นายทะเบียนพิจารณาออกคำสั่ง  ซึ่งตามแบบคำร้องนั้นมีช่องความเห็นของนายทะเบียนเพียง 2 ช่อง คือ

o  อนุญาต ตามคำร้องรายการที่ ..............................   หรือ

o  ไม่อนุญาต ตามคำร้องรายการที่ะ............................  และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ

เหตุผลที่ไม่อนุญาตเพราะ..............................................................................................................................

หากเจ้าหน้าที่เลือกทำความเห็น “ควรดำเนินการให้” ข้างต้น ระบบคอมพิวเตอร์จะกำหนดให้เลือกคำสั่งของนายทะเบียนเพียง 2 ทางคือ “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” ซึ่งเมื่อเลือก “อนุญาต” ระบบคอมพิวเตอร์จะนำไปสู่งโปรแกรมเพิ่มชื่อตามคำสั่งดังกล่าวทันที อาทิเช่น ต้องดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนทันที กรณียื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียน) ซึ่งการมีคำสั่งอนุญาต หรือไม่อนุญาตนั้น เป็นคำสั่งที่กระทบสิทธิของผู้ยื่นคำร้อง จึงเป็นคำสั่งทางปกครองของนายทะเบียน เมื่อไม่มีช่องคำสั่งของนายทะเบียนให้ “รอการพิจารณาพยานหลักฐาน” ก่อนทำคำสั่งดังกล่าว ส่งผลให้นายทะเบียนต้องเลือกใช้ช่อง “ไม่อนุญาต” และให้เหตุผลประกอบ เช่น “พยานเอกสารไม่เพียงพอเห็นควรต้องสอบพยานเพิ่มเติม” แม้ว่าการมีคำสั่งไม่อนุญาตของนายทะเบียนข้างต้น นายทะเบียนจะมีเจตนาเพื่อทำเป็นคำสั่งเบื้องต้น เพื่อให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนทางทะเบียนต่อเท่านั้น โดยไม่มีเจตนาปฏิเสธสิทธิของผู้ยื่นคำร้อง

แต่อย่างไรก็ดี การไม่มีช่องคำสั่งของนายทะเบียนให้ “รอการพิจารณาพยานหลักฐาน”ก่อนทำคำสั่ง จึงส่งผลให้ “การไม่อนุญาต” เป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งปฏิเสธสิทธิของผู้ร้อง ซึ่งเกิดผลทางกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความปกครองไม่ตรงตามเจตนาของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง และนำไปสู่กระบวนการทางวิธีพิจารณาปกครอง เพื่ออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

ดังนั้น ทางโครงการบางกอกคลินิกรวมกับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้วยกฎหมายปกครอง จึงวางแผนช่วยเหลือลุงตู่ในการอุทธรณ์คำสั่งปกครอง “ไม่อนุญาตคำร้อง เนื่องจากพยานเอกสารไม่เพียงพอเห็นควรสอบพยานบุคคลเพิ่มเติม” ซึ่งตามกฎหมายวิธีพิจารณาความปกครองนั้น กำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่งทางปกครอง[3] แต่หากกรณีที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่งทางปกครองโดยไม่แจ้งสิทธิการอุทธรณ์และระยะเวลาอุทธรณ์ การนับระยะเวลาอุทธรณ์จะเริ่มนับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ได้แจ้งสิทธิการอุทธรณ์และระยะเวลาอุทธรณ์ใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ หากไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาอุทธรณ์มีระยะเวลาสั้นกว่า 1 ปี ให้ขยายระยะเวลาเป็น 1 ปีนับแต่ทราบคำสั่งทางปกครอง[4]



[1] 1. นายสุวัฒน์ ตันเสถียร  ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต ฝ่าย 1

2. นางกรุณา ธูปเทียนหอม  ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต ฝ่าย 2

3. นายณันทพงศ์ สินมา  หัวหน้าฝ่ายทะเบียน

4. นายสมชาย บำรุงจิตต์  เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ

5. นางเตือนใจ ดีเทศน์  มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา

6. นายชาญ สุจินดา หรือนายตูบ/ตู่  ผู้ร้องเรียน

7. นางเล็ก แซ่ตั้ง  พยานของผู้ร้องเรียน (พี่สะใภ้ของผู้ร้อง)

8. นายประเมิน เกาสละ  พยานของผู้ร้องเรียน (เพื่อนสมัยวัยเยาว์)

9. พันเอกล้วน จันทร์เผ่าแสง  พยานของผู้ร้องเรียน (เพื่อนสมัยวัยเยาว์)

10. นางสุวัน แววพลอยงาม  ประธานชุมชนนางเลิ้ง

11. นางสาวสายชล สิมะกุลธร    นักศึกษาภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

12. นางสาวเทพสุดา เกียรติสุขสถิตย์   นักศึกษาภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

13. นางสาวศิวนุช สร้อยทอง  นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

14. นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์  นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

15. นางสาวปรางค์สิรินทร์ อเนกสุวรรณกุล  นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] คำตอบกรณีเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิเสธสิทธิของผู้ยื่นคำร้องที่จะแนบเอกสารเพิ่มเติมคำร้องนั้น ได้ข้อมูลมาจากการสอบถามและหารือระหว่าง รศ. ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร กับผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตฯหัวหน้าฝ่ายทะเบียน และเจ้าหน้าที่ปกครองชำนาญการ วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 15.00 น. ณ สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

[3] มาตรา 44ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมาย กำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว

คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย

การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง

[4] มาตรา 40 คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ให้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย

ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้ระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งเริ่มนับใหม่ตั้งแต่ วันที่ได้รับแจ้งหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาดังกล่าวมีระยะเวลาสั้นกว่าหนึ่งปี ให้ขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง


หมายเลขบันทึก: 517237เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2013 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2013 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท