ความจำเป็นที่จะต้องประพฤติปฏิบัติธรรม...


คนเรามันยากจนเพราะเป็นคนขี้เกียจ ติดสุข ติดสบาย ไม่อยากทำ มันเริ่มต้นมาจากตัวน้อย ๆ นั่นแหละ ใหญ่แล้วโตแล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้วมันก็ยังขี้เกียจอยู่ “คนขี้เกียจถือว่าเป็นคนบาป” ถ้าเป็นเด็กขี้เกียจก็บาป เป็นผู้ใหญ่ขี้เกียจก็บาป เป็นสมณะชีพราหมณ์ขี้เกียจนั้นก็บาป...

วันนี้ญาติโยมพากันมาอยู่วัด มานอนวัด มีทั้งผู้หลักผู้ใหญ่วัยเกษียณ วัยทำงาน รวมถึงเด็ก ๆ ได้พากันมาทำความดี มาสร้างบารมี เดินตามรอยของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์


คนเราทำไมถึงต้องปฏิบัติธรรม...?

คนเรามีความจำเป็นที่จะต้องประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเรามีร่างกาย เราก็ต้องปฏิบัติร่างกาย ให้ข้าว ให้อาหาร ให้การพักผ่อน ให้การออกกำลังกาย อุปถัมภ์อุปัฏฐากร่างกาย เพื่อที่จะมีความสุขความสบายเป็นไปได้ตามสมควรแก่อัตภาพ ร่างกายของคนเราจึงจะตั้งอยู่ได้ เราก็เอาร่างกายทำการทำงาน ทำธุรกิจต่าง ๆ เพื่อจะได้เอามาหล่อเลี้ยงอุปถัมภ์อุปัฏฐากร่างกายตลอดถึงคุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้อง ลูกน้องพ้องบริวาร

คนเราก็ต้องมีใจ... ใจของคนเราทุก ๆ คนก็ต้องได้รับอาหาร อาหารของใจก็ได้แก่ความดี ได้แก่ความเสียสละ เป็นผู้ให้คนอื่น มีการช่วยเหลือทั้งทางกาย ทางความรู้ ทางสติ ทางปัญญา เป็นผู้ที่รับรู้สิ่งต่าง ๆ รู้ว่าอันไหนถูกก็ต้องทำ อันไหนไม่ถูกก็ไม่ทำ เป็นผู้ฝึกปล่อย ฝึกวาง เพราะว่าตัวของเราทุก ๆ คนที่แท้จริงนั้นมันไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็จะดับไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น

พระพุทธเจ้าท่านเน้นให้เรามาเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทางอันประเสริฐ สิ่งที่เกี่ยวข้องประจำชีวิตประจำวันนี้เกี่ยวข้องหมดทั้ง ๘ ประการ

ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคทั้ง ๘ ข้อ เราก็จะเป็นคนสบายที่สุด ไม่มีทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีโทษ ดีกว่ายิ่งกว่าเศรษฐีมหาเศรษฐี มีเงินตั้งหลายแสนล้านก็สู้มาประพฤติปฏิบัติเดินตามอริยมรรคของพระพุทธเจ้าตรัสไว้ไม่ได้

ชีวิตของเราที่มีปัญหาทุกวันนี้เพราะเราทำผิด ขาดตกบกพร่องต่อริยมรรคคือหนทางอันประเสริฐ 

เรามีความโลภ ความหลง แล้วก็ปฏิบัติตามจิตใจของตัวเองชีวิตจึงมีปัญหา เราปฏิบัติตามคนอื่นที่สืบทอดกันมาชีวิตจึงมีปัญหา เพราะว่าคนนั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้า ไม่ใช่พระอรหันต์

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันเกิดจากเหตุจากปัจจัย”  เราไม่ต้องมีความอยากความต้องการ เพียงแต่เรามาสร้างเหตุสร้างปัจจัย ผลมันก็จะได้รับเอง 

คนเรามันทำตามความอยาก อันไหนไม่ชอบก็จะไม่เอาไม่ทำ ความดีความถูกต้องทุกคนไม่รักไม่ชอบ เพราะว่ามันขัดใจตัวเอง มันเป็นสิ่งที่ทวนกระแส 

คนเรามันยากจนเพราะเป็นคนขี้เกียจ ติดสุข ติดสบาย ไม่อยากทำ มันเริ่มต้นมาจากตัวน้อย ๆ นั่นแหละ ใหญ่แล้วโตแล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้วมันก็ยังขี้เกียจอยู่ “คนขี้เกียจถือว่าเป็นคนบาป” ถ้าเป็นเด็กขี้เกียจก็บาป เป็นผู้ใหญ่ขี้เกียจก็บาป เป็นสมณะชีพราหมณ์ขี้เกียจนั้นก็บาป...

คนขี้เกียจจะรวยได้อย่างไร คนขี้เกียจะมีคุณธรรมได้อย่างไร...? เพราะธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความขี้เกียจขี้คร้าน ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า...


คนเรามันชอบไหลไปทางต่ำ ไม่ทำก็อยากได้ ติดสุขติดสบาย เป็นคนไม่มีเบรก ไม่มีคอนโทรล “ทุกท่านทุกคน พระพุทธเจ้าท่านให้เราทวนกระแสนะ...”

ครั้งอดีตที่พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญบารมีเป็นพระมหาชนกเรือแตกเรืออัปปาง คนอื่นท้อแท้ท้อถอยมองไม่เห็นฝั่งก็ไม่ขวนขวายพยายามที่จะต่อสู้ แต่พระมหาชนกท่านปฏิบัติทวนกระแสจิตกระแสใจมองไม่เห็นฝั่งแต่ท่านก็แบกแม่ว่ายน้ำข้ามไป จนร้อนถึงเทพยดาต้องมาช่วยเหลือคุ้มครองปกปักษ์รักษา...

พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ทวนกระแสทางจิตทางใจ ชีวิตของเราถึงจะดีขึ้น เลื่อนฐานะจากคนจนเป็นคนรวย จากสามัญชนเป็นอริยชน...

พระพุทธเจ้าท่านเมตตาสอนเรา ให้เน้นความสุขความดับทุกข์ด้วยการไม่ตามใจตัวเอง

เราทุกคนอย่าไปคิดว่าการตามใจตัวเองมันถึงจะมีความสุข...! พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มันไม่มีความสุข มันเป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ... 

เราปฏิบัติตัวไม่ถูก มีความเห็นผิด ในโลกในสังคมนี้คนเราจึงไม่มีศักยภาพ ไม่มีการฝึกการฝืนทวนกระแส ไม่มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขตนเอง เป็นมนุษย์เขาว่าเป็นผู้ประเสริฐก็ไม่ได้เป็นผู้ประเสริฐอย่างเขาว่า เพราะว่าเราไม่ได้ทวนกระแสทวนอารมณ์ ถ้าเราปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตนเองก็ได้ดีมีความสุข ทุกคนก็เคารพนับถือ

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในความดี ถ้าเรามีความดีแล้วในอนาคตเราไม่ต้องสงสัย เราจะพึ่งตัวเองได้ด้วยความดี 

คนดีนะ... คิดก็ดีอันไหนไม่ดีไม่คิด คนดีพูดก็ดีอันไหนไม่ดีไม่พูด คนดีทำก็ดีอันไหนไม่ดีไม่ทำ...

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สัพพะปาปัสสะอะกะระณัง คือการไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่ความดี ฉลาดในการทำความดี อันไหนไม่ดีไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ ต้องทวนกระแสอารมณ์ตัวเอง ทวนใจตัวเอง เพื่อเอาธรรมะมาประพฤติมาปฏิบัติ เลื่อนฐานะ เลื่อนตำแหน่งให้กับตนเอง


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรางอมืองอเท้ารอคอยแต่จะรับความช่วยเหลือจากคนอื่น 

เราต้องเป็นผู้ให้ ผู้เสียสละ เป็นคนดีคนเสียสละ คนรับผิดชอบ เรามันก็ย่อมเข้ากับผู้หลักผู้ใหญ่ได้สะดวก เพราะผู้หลักผู้ใหญ่เขาก็ไว้วางใจ ย่อมเข้ากับเพื่อน ๆ ย่อมเข้ากับลูกน้องพ้องบริวารได้ ทำไมจึงเข้าได้ก็เพราะเราเป็นคนดี... 

คนอื่นเขาจะดีจะชั่วก็ช่างเขา พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราไปรับเอาความดีความชั่วของคนอื่นมาใส่ใจ เราต้องเป็นคนดีกับคนที่เขาทำดีและเราต้องเป็นคนดีกับคนที่เขาไม่ทำดีด้วย เราอย่าเป็นคนไปลูบแข้งลูบขาแต่กับคนดี หรือแต่กับคนร่ำรวยคนมีอำนาจวาสนา

คนที่ไม่ดี เราก็เคารพนับถือเขาหมด... พระพุทธเจ้าท่านให้ทำใจเหมือนน้ำอยู่บนใบบัว เข้าได้กับทุก ๆ คน ถ้าเราเอาแต่คนดี คนไม่ดีเขาก็เกลียดเรา ถ้าอย่างนี้เราจะไปเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น มันไม่ถูกต้อง 

“ทุกคนอยากเป็นคนดีทั้งหมด แต่มีเหตุปัจจัยให้เขาเป็นคนไม่ดี...”

พระพุทธเจ้าท่านให้เราอภัยเขา สงสารเขา เพราะทุกคนนั้นมีความทุกข์ทั้งทางกาย ทุกข์ทั้งทางใจ ทุกข์จากญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล เราก็เป็นตัวอย่างในทางที่ดี ๆ ให้เขา อย่าไปซ้ำเติมเขา ทีนี้แหละชีวิตของเราก็จะมีอุปสรรคมีปัญหาน้อย 

ถ้าเราไปคบคนไม่ดีแล้วเราจะไปเข้าคลับเข้าบาร์ดื่มเหล้าเมายาอย่างนั้นไม่ใช่...! 

เพียงแต่เราไม่รังเกียจเขา ให้อภัยเขาได้ รับเขาเป็นเพื่อนได้ เพียงแต่เรารักษาศีลไว้ดี ๆ ปฏิปทาของเราจึงจะไม่ตก เรทติ้งของเราจึงจะไม่ตก 

การปฏิบัติธรรมนี้พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาศีล ๕ เป็นที่ตั้ง... 

เราตั้งศีล ๕ ไว้ในใจ เพราะศีล ๕ คือเป็นต้นของพระรัตนตรัย คือตัวของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ 

ศีล ๕ ได้แก่ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง 

ที่มันขัดใจของเราเขาเรียกว่า “มันบาป” มีความเห็นแก่ตัว เมื่อมีบาป มีกรรม มีเวร ภพชาติของเราไม่จบไม่สิ้น 

คนบาปนั้น คนอื่นไม่เคารถนับถือเรา เราเองก็เคารพตัวเองไม่ได้ เพราะว่าเราเป็นคนเชื่อถือไม่ได้ เราเป็นคนไม่มีศีลไม่มีธรรม 

การรักษาศีล ๕ ก็ทำให้เราปิดประตูนรก ปิดอบายภูมิ... ที่เราไม่อยากรักษาศีล ๕ แสดงว่าจิตใจของเรามันมีปัญหา เรามีความเข้าใจผิดมีความเห็นผิด ศีล ๕ นั้นแหละจะช่วยเรา 

มีเจตนาไว้ให้ดี ตั้งใจไว้ดี ๆ ถ้าไม่มีเจตนาทำอะไรไม่ผิดเพราะไม่ตั้งใจ ถ้าเรารู้อยู่แต่ทำแบบปล่อยวางอันนี้บาปแน่นอน บาปหลายต่อหลายชั้น อย่างเช่นเหล้า ไม่ว่าเราจะกินเพื่อเป็นเกียรติหรือกินแบบปล่อยวาง ใครได้กินก็เมาทั้งนั้น...!

การทำสมาธิมีหลายอย่าง เริ่มต้นจากเราทำการทำงาน เพราะคนเรามันต้องมีการมีงาน พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้มีสมาธิในการทำงาน “สมาธิได้แก่จิตใจเป็นหนึ่ง” ถ้าเราทำการทำงานใจของเราอยู่กับการทำงาน มีความสุขกับการทำงาน ไม่ว่าทำงานอะไรถ้าเราทำอย่างนี้เขาเรียกว่ามีสมาธิกับการทำงาน เราทำไปจิตใจเรามีความสุข ปิติ เย็น เราก็สบาย ไม่ใช่ทำไปก็ฝืนไป ใจก็ส่งไปแต่ทางอื่น อย่างนี้แหละการงานก็ไม่ได้ดี จิตใจก็เป็นทุกข์ 


ผู้เป็นเด็กก็เหมือนกัน... ผู้เป็นเด็กก็มีการทำงานของเราด้วยการเรียนการศึกษา ให้จิตใจมีความสุข จิตใจมีปิติ จิตใจรวมเป็นหนึ่ง การเรียนการศึกษาจะได้เข้าใจและมีความสุข ถ้าเราเรียนไปก็ทุกข์ไปอย่างนี้เขาเรียกว่า “ตกนรกทั้งเป็น” ไปทำการทำงานก็ตกนรก เพราะใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ขับรถก็เหมือนกันให้มีปิติมีความสุขกับการขับรถ...

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรากินเหล้ากินเบียร์เพื่อไม่ให้จิตใจของเรามัวเมาแตกกระจาย 

เวลาเราทานอาหาร ดื่มน้ำก็ให้ใจของเรามีปิติมีความสุข เราพูดเราคุยกับใครเหมือนกันก็ให้เราพูดดี ๆ พูดสุภาพ พูดอ่อนน้อมถ่อมตน อันไหนจะทำให้คนอื่นไม่สบายใจอย่าไปพูด เพราะคำพูดนี้คือ “ทูตแห่งสันติภาพ” ของทุก ๆ คน 

เราพูดทุก ๆ ครั้งต้องเป็นดอกไม้ อย่าเป็นของปฏิกูล “คนเรามันพกระเบิดไว้ในใจ มาระบายออกทางปาก” ฝึกพูดดี ๆ สมาทานความดีในคำพูด...  

คนเก่งต้องเข้ากับผู้ใหญ่ลูกน้องพ้องบริวารได้ดี... ไม่ต้องเอาแพ้เอาชนะใครในวาทะวาที สมาทานไว้เลยเรื่องนินทากาเลเหมือนเทน้ำ คนอื่นเขามานินทาอย่างนี้ก็แล้วไป ต้องปรับปรุงคำพูด โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก พูดให้ดี ๆ พูดให้กำลังใจลูก ถ้าพ่อแม่พูดไม่ดีมันเผาบ้าน เผาครอบครัว บ้านเราสร้างมาหลายล้าน ให้เราแต่งปฏิปทาให้เหมือนกับเราสร้างบ้าน  เวลาร้อนก็ติดแอร์ เวลาเย็นขึ้นมากก็มีฮีตเตอร์ให้ความอบอุ่น...

คนเรามันแก่มันเฒ่าไปทุกวัน... พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรารู้จักเก็บเงิน อย่าเป็นคนสุรุ่ยสุร่ายใช้เงินใช้สตางค์ไม่รู้จักคิด ต้องคำนวณรายรับรายจ่ายเก็บไว้


ในชีวิตประจำวันทุกวันนี้ ของที่เราจะบริโภคมันต้องซื้อด้วยเงินด้วยสตางค์ ต้องรู้จักวางแผน  คำว่า “ปล่อยวาง” พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนว่าให้เราเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย เดี๋ยวเราจะลำบากเมื่อแก่...

ทุกคนต้องฝึกตัวเองในการใช้เงินใช้สตางค์... สมมุติว่าเราทำงานได้วันละ ๑,๐๐๐ บาท พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราแบ่งว่าส่วนหนึ่งเก็บไว้ ส่วนหนึ่งทำทุนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อีกส่วนหนึ่งก็เอาให้พ่อให้แม่หรือทำบุญกุศล

เรื่องการใช้จ่าย... พระพุทธเจ้าท่านให้เราวางแผน ไม่อย่างนั้นอนาคตเรามันจะลำบาก เพราะตอนเราแก่เฒ่าเราต้องเข้าโรงพยาบาล เราต้องให้ทุนการศึกษาแก่ลูก ๆ หลาน ๆ...

การทำสมาธิ... ที่เรานั่งสมาธินี้นั้น พระพุทธเจ้าท่านให้เรานั่งสบาย ปล่อยวางเรื่องหน้าที่การงานออกให้หมด เรื่องดีไม่ดี เรื่องได้เรื่องเสีย ปล่อยวางให้หมด แล้วหายใจเข้าก็ให้รู้สบาย หายใจออกก็ให้รู้สบาย เปรียบเสมือนเราแบกของหนักมาทั้งวันเราก็วางของหนักลง “จิตใจของเราแบกอารมณ์ จิตใจส่งออกข้างนอกทั้งหมด เรารับเอามาเต็ม ๆ เลยนะ” ตอนนี้เรามาปล่อยวางให้หมด  หายใจเข้าก็ให้สบาย หายใจออกก็ให้สบาย...


การทำสมาธิก็เป็นงานอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ คืองานหายใจเข้าสบายออกสบาย เราอย่าไปอยากให้มันสงบ อย่าไปอยากไม่ปวดแข้งปวดขา ถ้ามันอยากอยู่มันไม่สงบ คนไม่ตายมันก็คิดอย่างนี้แหละ “อย่าไปคิดมากมันบาป...!” เราจะมาหยุดคิด มาพักผ่อนกับการปล่อยการวางทางจิตทางใจ จิตใจของเราที่กระจัดกระจายจะได้สงบ...

เรายิ่งหัวดีมันก็ยิ่งคิดมาก... พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาฝึกหยุด ฝึกปล่อย ฝึกวาง เราอย่าไปนั่งเอาเห็นโน้นนี้ ได้ยินเขาว่าเห็นก็อยากเห็นอย่างเขา ได้ยินเขาเข้าฌานก็อยากจะเข้ากับเขา...

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราปล่อยเราวาง ไม่เอาอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ท่านให้เอาปล่อยเอาวาง เราก็จะคิดไปเรื่อย เพราะเราจะเป็นแต่คนเอา ที่นี้เราไม่เป็นคนเอาแล้ว พระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นคนปล่อยคนวาง พระพุทธเจ้าท่านให้เราทำอย่างนี้ทุกวันนะ... 

ก่อนเข้านอนก็ให้กราบพระสวดมนต์นั่งสมาธิ ตื่นขึ้นมาก็ตั้งสติ กราบพระสวดมนต์ เพื่อเตรียมตัวก่อนทำงาน 

วันหนึ่งๆ ที่เรายุ่งกับการรับโทรศัพท์ เล่นคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เนท ชีวิตอย่างนี้เป็นชีวิตที่ขาดทุน รู้มากก็ยากนาน 

เทคโนโลยีที่ให้ความสะดวกสบาย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันมีทั้งคุณและโทษ เราต้องใช้ให้เป็น เพราะมันเป็นนรกหลุมเล็กหลุมใหญ่คอยจัดการพวกปัญญาชน เราเอาเวลาพักผ่อนกลางคืนไปเล่นคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เนท ไปเล่นแล้วก็ติดมันเลยเสียศักยภาพของทุก ๆ คน การทำงานก็ไม่เต็มที่เต็มศักยภาพเพราะการพักผ่อนมันไม่เพียงพอ 

เราอยู่บ้านอยู่ในสังคม ทำมาหากินเราก็ต้องปฏิบัติธรรมะ อย่าไปคิดเรื่องคนอื่น ให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อปรับปรุงแก้ไขตนเอง...


พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

ค่ำวันศุกร์ที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 517070เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2013 05:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2013 05:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท