อู๊ดดี้
นาย ชัยณรงค์ อริยะประเสริฐ

ความเป็นมาของสภาคณาจารย์ในประเทศไทย(บทความคัดลอก)


ความเป็นมาของสภาคณาจารย์ในประเทศไทย
แนวคิดเรื่อง สภาคณาจารย์ในประเทศไทยปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2471 โดยพระดำริของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลเดชวิกรมพระบรมราชชนก  ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดรูปแบบ แนวคิด และการพัฒนามหาวิทยาลัยขึ้นในประเทศไทย และปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนขึ้นในปี พ.ศ. 2474 โดยสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร องค์ประธานคณะกรรมการดำริรูปการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และอธิบดีกรมหาวิทยาลัย ในขณะนั้นได้ทรงดำริให้มี “สภา Senate” ขึ้นด้วยนอกเหนือจากการมีสภามหาวิทยาลัย (Board of Council) โดยทรงมีพระประสงค์ให้สภา senate มีหน้าที่รับทราบกิจการเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยทุกอย่าง ทั้งทางธุรการ และวิชาการ
แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่า สภาพสังคมและการเมืองในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันนำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงระหว่างเชื้อพระวงศ์ และกลุ่มผู้ก่อการคณะราษฎร์ ได้มีผลกระทบต่อทิศทางการพัฒนาของอุดมศึกษาไทยเป็นอย่างมาก ถึงขนาดสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทรถูกจับกุมคุมขังต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิตในกรณีต้องสงสัยว่าจะก่อกบฏ  ถูกถอดฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด โดยให้เรียกชื่อว่า “นักโทษชายรังสิต”  *อันยังความโศกสลดพระทัยเป็นอย่างมากมาสู่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชชนนี) ในฐานะผู้ทรงได้รับการมอบหมายจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นพระราชมารดาบุญธรรม ถึงกับทรงมีพระราชดำรัสว่า “ฉันตายแล้วฉันจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวงท่านได้อย่างไร ท่านอุ้มมาพระราชทานฉันกับพระหัตถ์เองทีเดียวเมื่อ 12 วัน แท้ ๆ”
(*หลังจากที่ “นักโทษชายรังสิต” ถูกกักขัง ณ เรือนจำกลางบางขวาง ในข้อหา “กบฏ” เป็นเวลาเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2482 ในที่สุดรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตัดสินใจปล่อยให้พระองค์ท่านให้เป็นอิสระและได้รับคืนฐานันดรศักดิ์ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์” และคืนสู่พระอิสริยยศ  “กรมขุนชัยนาทนเรนทร” ในวันที่ 28 กันยายน 2486)
และภายใต้การปกครองแบบเผด็จการนั้น   ทางรัฐบาลทหารยังได้ส่งนายทหารและนักการเมืองสำคัญ ๆ มากำกับดูแลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น จอมพล ป.  พิบูลสงคราม (อธิการบดี 2487 และ 2492) จอมพล ประภาส  จารุเสถียร (อธิการบดี 2506-2512)  จอมพลสฤษ  ธนะรัชต์ (นายกสภามหาวิทยาลัย 2502-2506) หรือจอมพลถนอม  กิตติขจร (นายกสภามหาวิทยาลัย 2506-2514) ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยหลังจากนั้นได้พัฒนาไปอย่างมากตามกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จนถึงจุดอิ่มตัวที่สังคมต้องการสิทธิและเสรีภาพ โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการนั้น ความต้องการเสรีภาพทางวิชาการได้ทำให้มีการพบปะพูดคุยกันเกี่ยวกับบทบาทของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยระหว่างกลุ่มอาจารย์ของจุฬาฯ และธรรมศาสตร์เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ นับแต่ปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา (การประชุมที่ปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนครั้งแรกเกิดที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ระหว่างวันที่ 1-5 มิถุนายน 2507) ทำให้เกิดเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้ง “สภาคณาจารย์” ขึ้นเพื่อเปิดโอกาให้บรรดาอาจารย์ได้มีส่วนร่วมในการบริหารมหาวิทยาลัย
ผลของการพบปะพูดคุยกันของหมู่อาจารย์นำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้นในปี พ.ศ. 2508  เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดลองจัดตั้งสภาศาสตราจารย์เลียนแบบแนวคิด Faculty Senate ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้ผู้มีตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นสมาชิกของสภานี้  แต่ปรากฏว่าสภาดังกล่าวต้องสลายตัวไปในระยะเวลาต่อมา เพราะลำพังศาสตราจารย์ ไม่น่าจะถือเป็นตัวแทนของบรรดาอาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัยได้ (การกำหนดให้มีเฉพาะผู้มีตำแหน่งทางวิชาการสูง ๆ ในสภาคณาจารย์นั้นเป็นการกล่าวอ้างว่าทำตามอย่างสากล  และมักใช้เป็นเหตุในการพยายามยุบสภาคณาจารย์ลงให้เหลือเพียงแค่สภาวิชาการ  แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ที่จะเป็นอาจารย์ในต่างประเทศได้ มักมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์อยู่แล้ว ในขณะที่บางมหาวิทยาลัยในประเทศไทยอาจจะไม่มีศาสตราจารย์เลยก็ได้)
สภาคณาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอีกครั้งในอีกสี่ปีต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 โดยคณะกรรมการปรับปรุง พ.ร.บ. ชุดดังกล่าวได้มีข้อเสนอให้จัดทำข้อบังคับ “สภาคณาจารย์” ขึ้นเป็นกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ. ในระหว่างนี้ คณาจารย์ของจุฬาฯ ได้มีการจัดตั้งสโมสรอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นแล้ว  โดยมี ศ.ดร.เกษม  สุวรรณกุล  เป็นนายกสโมสรฯ และได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดสภาคณาจารย์โดยได้เสนอให้ทางมหาวิทยาลัยจัดตั้งสภาคณาจารย์ในการสัมมนาเกี่ยวกับ “ระบบบริหารมหาวิทยาลัย” ในเดือนมีนาคม 2514
มีการเสนอร่างข้อบังคับ สภาคณาจารย์ ผ่านเข้าสู่ที่ประชุมคณบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลายครั้งกว่าจะผ่านการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้ง ที่ 286 วันที่ 16 สิงหาคม 2514 อันนำไปสู่ประกาศรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาคณาจารย์  และมีการเลือกตั้งตัวแทนของคณาจารย์มหาวิทยาลัยขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 23 กันยายน 2514 มีสมาชิกจากการเลือกตั้งทั้งหมด 38 คน แยกเป็นประเภทเลือกตั้งทั่วไป 7 คน ประเภทตัวแทนคณะ 31 คน  และมีการประชุมเป็นครั้งแรก ในวันที่ 1 ตุลาคม 2514 โดยมี ผศ.ดร.วิจิตร  ศรีสอ้าน ผู้รักษาตำแหน่งเลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้นเป็นผู้กล่าวรายงานในการเปิดประชุม
        [ที่มา : สุรพล  ศรีบุญทรง.  สภาคณาจารย์ บทบาทและความเป็นมา สารสภาคณาจารย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ฉบับที่ 24 เดือนธันวาคม 2550  หน้า 59-62.]
โดย :พณิตา พุ่มเอี่ยม 

สภาอาจารย์ในระดับสากล
จากที่ได้นำเสนอถึงความเป็นมาของสภาคณาจารย์ในประเทศไทย โดยผู้ที่ริเริ่มให้มีสภาคณาจารย์ขึ้นในประเทศไทย เป็นครั้งแรกคือ โดยพระดำริของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลเดชวิกรมพระบรมราชชนก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471  แต่มีผลปฏิบัติจริง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2514 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ข้อมูลที่ได้รับเพิ่มเติมว่า สภาอาจารย์เกิดขึ้นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คาดว่าปี พ.ศ. 2512 แต่ยังไม่สามารถหาหลักฐานได้)  และที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วประเทศก็ได้ถือปฏิบัติ ในแนวทางเดียวกัน
จากการลองสุ่มสำรวจข้อบังคับว่าด้วยสภาคณาจารย์ (Faculty Senate Bylaws)  ในต่างประเทศหลาย ๆ แห่ง ผ่านทางอินเตอร์เน็ท ไม่ว่าจะเป็นสภาคณาจารย์ของ University of Texas Health Science Center (UTHSC), Metropolitan State College of Denver, University of Southern Mississippi, และ St. Mary’ University พบว่ามีลักษณะบทบาท หน้าที่ และที่มาของกรรมการไม่ต่างไปจากสภาคณาจารย์ของไทยไปสักเท่าใดนัก คือ มุ่งประเด็นการมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้มาซึ่งการบริหารจัดการที่ดี (Good Governace หรือ University Governance) ขึ้นในมหาวิทยาลัย
ลักษณะร่วมระหว่างสภาคณาจารย์ของไทยกับของต่างประเทศอีกอย่าง คือ เป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ 3 ตำแหน่งสำคัญ คือ ประธานสภาคณาจารย์ (Chair of the Senate), รองประธานสภาคณาจารย์ (Vice Chair) และเลขาธิการสภาคณาจารย์ (Secretary) จะต้องได้รับการเลือกตั้งซ้ำอีกครั้งจากบรรดากรรมการสภาคณาจารย์ที่เป็นตัวแทนของบุคลากรทั้งมหาวิทยาลัย
โดยอาจกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งที่แตกต่างกันออกไปบ้าง เช่น กำหนดให้ประธานสภาคณาจารย์มีวาระ 2 ปี  ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ มีวาระ 1 ปี  หรืออาจกำหนดให้สมาชิกสภาคณาจารย์จำนวนไม่เกิน 50 คน มาจากสัดส่วนบุคลากรของแต่ละหน่วยงาน   มีวาระการเป็นตัวแทนคนละ 3 ปี    ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องไม่เกิน 2 วาระ และกำหนดให้สมาชิกเหล่านั้นเลือกตั้งกันเองขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญทั้ง 3 คือ ประธานสภาคณาจารย์  รองประธานสภาคณาจารย์ และเลขาธิการสภาคณาจารย์ ได้ในวาระละ 1 ปี
ส่วนบทบาทหน้าที่ของกรรมการบริหารสภาคณาจารย์ในต่างประเทศ มักรับการกำหนดไว้ดังนี้
1.  ประธานสภาคณาจารย์  (Chair of the Senate)
·        เป็นตัวแทนขององค์กรสภาคณาจารย์ในการปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้ระบุไว้ในธรรมนูญ (Constitutions) ข้อบังคับ (Bylaws) ตลอดจนปฏิบัติตามภารกิจ และนโยบายของสภาคณาจารย์
·        เป็นประธานคณะกรรมการบริหารของสภาคณาจารย์
·        มีหน้าที่เป็นประธานในการประชุมสภาคณาจารย์ทุกครั้ง
·        เป็นตัวแทนของบุคลากรมหาวิทยาลัยในการทำหน้าที่กรรมการที่ปรึกษาด้านการบริหาร (Faculty Advisory Council)
·        เป็นตำแหน่งที่มีวาระ 2 ปี ได้มาด้วยการลงคะแนนเสียงข้างมากของบรรดากรรมการสภาคณาจารย์
·        โดยธรรมเนียม ประธานสภาคณาจารย์จะสงวนสิทธิในการออกเสียงลงมติใด ๆ ยกเว้นกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน
2.  รองประธานสภาอาจารย์  (Vice Chair)
·        ได้รับการเลือกตั้งจากบรรดากรรมการสภาคณาจารย์ ด้วยวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี
·        เป็นตำแหน่งบริหารอันดับ 2 รองจากประธานสภาคณาจารย์ ทำหน้าที่แทนประธานสภาคณาจารย์ในโอกาสที่ตัวประธานสภาคณาจารย์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ (Absence of the President)
·        กรณีที่ประธานสภาคณาจารย์หมดวาระลงก่อนกำหนด ให้รองประธานสภาคณาจารย์ปฏิบัติภารกิจเฉพาะงวดการประชุมหลังจากตัวประธานสภาคณาจารย์หมดวาระลง แต่ต้องดำเนินการเลือกตั้งให้ได้มาซึ่งประธานสภาคณาจารย์คนใหม่ในการประชุมครั้งถัดไป หากสามารถกระทำได้
3.  เลขาธิการประธานสภาคณาจารย์  (Secretary)
·        ได้รับการเลือกตั้งจากบรรดากรรมการสภาคณาจารย์ ด้วยวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี
·        เป็นตำแหน่งบริหารอันดับ 3 ซึ่งรับผิดชอบในการเป็นประธานการประชุม ในกรณีที่ทั้งตัวประธาน และรองประธานไม่สามารถดำเนินการประชุมได้ (แต่โดยธรรมเนียมแล้ว จะไม่มีการเรียกประชุมหากทั้งประธานและรองประธานไม่สามารถมาร่วมประชุมได้)
·        มีหน้าที่เชิญประชุม เตรียมการประชุม และจัดส่งเอกสารการประชุมไปยังกรรมการสภาคณาจารย์ทุกท่าน
·        มีหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้งกรรมการสภาคณาจารย์ จัดเตรียมบัตรลงคะแนน บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายชื่อของผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อ ตลอดจนดำเนินการรับรองผลการลงคะแนนเลือกตั้ง
·        มีหน้าที่จัดเตรียม แจกจ่าย เผยแพร่ และเก็บดูแลรักษา บันทึกรายงานการประชุมของสภาคณาจารย์
·        มีหน้าที่จัดส่งเอกสารมติที่ประชุมในส่วนที่เป็นการให้คำแนะนำไปยังอธิการบดี และผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย
·        มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายโดยมติที่ประชุมสภาคณาจารย์
4.  กรรมการสภาคณาจารย์  (Parliamentarian)
·        ได้รับการเลือกตั้งมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ตามสัดส่วนของบุคลากรภายในหน่วยงาน
·        บางแห่งกำหนดให้มีวาระละ 3 ปี่ ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้ 2 วาระ ในระหว่างนั้นอาจถูกเลือกขึ้นไปดำรงตำแหน่งสำคัญ คือ ประธานฯ รองประธานฯ และเลขาธิการ ได้วาระละ 1 ปี ซึ่งนับว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถได้ผลัดกันขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ และทำให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ติดยึดกับตำแหน่ง (แต่หากต้องไปดำรงตำแหน่งในงานสภาคณาจารย์ระดับประเทศ ระดับสากล อาจต้องปรับแก้วาระของประธานสภาคณาจารย์ให้มีวาระ 2 ปี เพื่อให้มีเวลาพอสำหรับวาระ 1 ปี ของตำแหน่งในระดับชาติ ระดับสากล)
·        ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังในการระหว่างการเข้าประชุมเสนอความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ และลงมติในวาระสำคัญเพื่อผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ
        [ที่มา : ผศ.สุรพล  ศรีบุญทรง.  สภาคณาจารย์ บทบาทและความเป็นมา สารสภาคณาจารย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ฉบับที่ 24 เดือนธันวาคม 2550  หน้า 71-72.] โดย :พณิตา พุ่มเอี่ยม 

คำสำคัญ (Tags): #สภาคณาจารย์
หมายเลขบันทึก: 516908เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2013 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2013 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท