ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 มีหน้าตาอย่างไร ตอนที่ 4


        Khan Academy เป็นตัวอย่างหนึ่งของสภาพแวดล้อมเสมือนที่ใช้สำหรับถ่ายทอดองค์ความรู้จากคนหนึ่งไปสู่อีกหลายๆคน Khan Academy เป็นเว็บไซต์ที่มีการจัดทำสื่อการสอนในรูปแบบวีดีโอ ในหัวข้อทางวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ โดยสามารถเข้าถึงได้จากเว็บไซด์อย่าง  YouTube หรือจากโปรแกรมที่ติดตั้งบนอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพา ทำให้สามารถเรียนรู้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้นและมีผู้คนที่สนใจและเรียนรู้จากการเช่ื่อมต่อผ่าน Internet ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก หากเรามาวิเคราะห์กันว่าถ้าเนื้อหาวิชาความรู้ที่ Khan Academy จัดทำขึ้นมานั้นมีครบทุกเนื้อหาวิชาในบทเรียนตามหลักสูตรของระบบการศึกษาทั้งหมดจะเกิดอะไรขึ้น เด็กในศตวรรษที่ 21ยังจำเป็นที่จะต้องไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพื่อเรียนรู้ในเนื้อหาต่างๆเหล่านี้อีกหรือไม่ ถ้าเขาสามารถที่จะนั่งเรียนอยู่้ที่บ้านหรืออยู่ที่ใดๆก็ได้บนโลกใบนี้ การนั่งฟัง Lecture ในห้องเรียนจากอาจารย์ผู้สอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่ไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์สื่อสาร  กับการนั่งฟัง Lecture บนอุปกรณ์พกพาบนโซฟาในห้องรับแขกที่บ้าน บนเตียงนอน หรือแม้แต่ตามร้านกาแฟที่มีบรรยากาศที่สะดวกสบาย มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ใช้และสามารถใช้อุปกรณ์สื่อสารได้เมื่อต้องการ ด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันนี้ ถ้าเด็กนักเรียนสามารถที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับความต้องการในการเรียนรู้ขณะนั้นเขาจะเลือกสภาพแวดล้อมแบบไหน จะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันกับสภาพห้องเรียนแบบเดิมๆมากน้อยเพียงใด สถานที่ไหนที่จะมีองค์ประกอบที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่ากัน แน่นอนเราไม่สามารถคาดการณ์กับอนาคตที่จะเกิดขี้นได้ แต่เราพอเริ่มจะมองเห็นแนวโน้มจากพฤติกรรมของการเรียนรู้หรือปัจจัยจากสภาพแวดล้อมทั้งสองส่วนมีผลทำให้การเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไป

         การเข้าถึงองค์ความรู้ในศตวรรษที่ 21 จากอุปกรณ์สื่อสารพกพาชนิดต่างๆแม้ว่าจะทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาก็ตาม แต่ความรู้ที่ได้นั้นๆก็เป็นเพียงความรู้แบบชัดเจนตรงตัว (Explicit Knowledge) เหมือนกับความรู้ที่ได้จากการอ่านจากหนังสือ มนุษย์จำเป็นที่จะต้องสื่อสารแลกเปลี่ยน หรือ ฝึกฝนความรู้เหล่านั้นจนเกิดเป็นความชำนาญ จนกระทั่งหล่อหลอมกลายเป็นประสบการณ์ที่ฝังอยู่ส่วนลึกของสมอง (Tacit Knowledge) สภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพแวดล้อมเสมือนควรจะมีคุณลักษณะเช่นใดที่มีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาการดังกล่าว ดังนั้นการเรียนรู้เพียงลำพัง (Self learning) อาจไม่ใช่คำตอบ หากแต่จะต้องมีบุคคลที่มีประสบการณ์หรือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆมาคอยแลกเปลี่ยน ตั้งคำถาม แนะนำหรือคอยช่วยเหลือผู้เรียนให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ด้วยดี บุคคลนั้นคือหน้าที่ของครูหรืออาจารย์ที่จะต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ให้ข้อมูลความรู้แบบทางเดียว มาเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน หรือที่เรียกว่า Facilitator ที่คอยเติมเต็มองค์ความรู้ให้กับผู้เรียนจนสามารถต่อยอดการเรียนรู้นั้นให้สัมฤทธิ์ผลในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น ดังนั้นกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21 จึงเป็นการเรียนรู้แบบสื่อสาร 2 ทาง มีการโต้เถียงกันอย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประเด็นหรือมุมมองที่น่าสนใจ เกิดการค้นคว้าเพิ่มเติมและต่อเนื่อง มีการนำเอาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้แก่ ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี และ ทักษะชีวิตและอาชีพ มาใช้กันอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ผู้เรียนรวมถึงครูหรืออาจารย์เกิดแนวความคิดต่อยอดกันภายในห้องเรียนจนนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ 

         ในอีกมุมหนึ่ง สื่อสังคมออนไลน์ประเภท Social Network เช่น Facebook Twitter หรือแม้แต่ Google+ ที่เริ่มมีบทบาทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการต่อต้านการใช้งานสังคมออนไลน์ในห้องเรียน แต่หาลองพิจารณาถึงพฤติกรรมของผู้เรียนที่เกิดมาในยุคเจนเนอเรชั่นแซดแล้ว เรามิอาจที่จะปฎิเสธการใช้งานดังกล่าวได้ เพราะคนกลุ่มนี้ถือว่าสังคมออนไลน์นั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตประจำวันไปแล้ว เราอาจสังเกตเห็นนักเรียนหรือนักศึกษาที่พิมพ์ข้อความโต้ตอบกันบนสื่อสังคมออนไลน์แทนการที่จะโทรศัพท์พูดคุยกัน แชร์รูปภาพหรือวีดีโอกับสิ่งที่พวกเขารู้สึกในขณะนั้น และสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยที่ไม่ถือว่าเป็นการถูกรบกวน ดังนั้นหากเราเปิดใจยอมรับและลองมองในมุมที่จะนำเอาสื่อสังคมออนไลน์มาช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนโดยการแนะนำและปลูกฝังความรับผิดชอบ ควบคู่กับการใช้งานที่ถูกวิธี น่าจะมีประโยชน์ในการสร้างความสัมพันธ์ในสภาพแวดล้อมเสมือน ในขณะเดียวกันภายในห้องเรียนก็มีการสร้างปฎิสัมพันธ์กันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนทางกายภาพควบคู่ไปด้วย

        หากเรามองภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นจนถึงตรงจุดนี้ เชื่อว่าผู้อ่านอาจจะเริ่มเห็นเค้าโครงหรือภาพลางๆของรูปแบบการเรียนการสอนหรือภาพกิจกรรมที่จะเกิดขั้นในห้องเรียนในอนาคตได้พอสมควร ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดหน้าตาคุณลักษณะของห้องเรียนหรือกำหนดพื้นที่ใช้สอยที่เปลี่ยนแปลงไปจากห้องเรียนแบบเดิมๆ และเมื่อนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาเขียนสร้างเป็นแนวความคิดในการออกแบบห้องเรียน เราก็สามารถที่จะได้เห็นรูปร่างที่สมบูรณ์ของห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 อย่างสมบูรณ์.


หมายเลขบันทึก: 516624เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2013 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2013 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท