โจทก์ขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา


วัตถุประสงค์ของการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 เพื่อให้โจทก์    สามารถบังคับได้เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3730/2552)

   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3730/2552 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า:  

            “มีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 มาใช้บังคับหรือไม่ 

              เห็นว่า วัตถุประสงค์ของการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 ก็เพื่อให้โจทก์สามารถบังคับคดีได้เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ดังนั้น สิ่งที่จะขอคุ้มครองจะต้องตรงกับการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องร้องหรืออยู่ในประเด็นแห่งคดีและเป็นเรื่องที่อยู่ในคำขอท้ายฟ้องด้วย 

              คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยหลังจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์แล้วกลับไปทำสัญญาจะซื้อจะขายและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยมีคำขอท้ายฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แต่ท้ายฟ้องของโจทก์ไม่มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากโจทก์ไป  

              คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ที่ขอห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาจึงเป็นเรื่องนอกเหนือจากประเด็นแห่งคดีและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 มาใช้บังคับได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

แหล่งข้อมูลจาก http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

หลักเกณฑ์กรณีโจทก์ขอคุ้มครองชั่วคราว

๑. ประเภทคดี

โจทก์ขอได้ทุกคดี เว้นแต่

คดีมโนสาเร่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๙ คือ

๑) คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสามแสนบาท

๒) คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นโ หากจำเลยชนะคดี ศาลเพียงยกฟ้องโจทก์ 

คดีที่โดยสภาพแห่งคำฟ้องไม่อาจขอได้ แม้เป็นคดีแพ่งสามัญ แต่สภาพแห่งคำฟ้องไม่อาจมีคำขอได้ เช่น ฟ้องหย่า ฟ้องให้เพิกถอนการสมรส ฟ้องขอให้รับรองบุตร เป็นต้น

๒. ผู้มีสิทธิขอ

ผู้ยื่นคำขอ ต้องเป็นโจทก์ เพราะโจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลย จำเลยซึ่งไม่ได้ฟ้องแย้ง คงให้การต่อสู้คดีให้พ้นความรับผิด มิได้ขอให้บังคับอย่างใดและไม่มีสิทธิประโยชน์ที่ศาลจะต้องคุ้มครองระหว่างพิจารณา หากจำเลยชนะคดี 

"โจทก์" หมายถึงผู้ยื่นคำฟ้องต่อศาลและโจทก์ที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเท่านั้น ตามมาตรา ๒๕๔  ไม่หมายรวมถึงกรณีที่จำเลยเป็นผู้แพ้คดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาที่เรียกว่า "โจทก์อุทธรณ์หรือโจทก์ฎีกา" ตามมาตรา ๒๒๙ และมาตรา ๒๓๕ ประกอบมาตรา ๒๔๗

๓. ศาลที่จะยื่นคำขอ  จะขอในศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาก็ได้ โดยมีเงื่อนไขให้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา

๔. ลักษณะคำขอ คำขอตามมาตรา ๒๕๔ เป็นคำขอฝ่ายเดียว แต่ศาลมีอำนาจฟังคู่ความอีกฝ่ายหรือคู่ความอื่น ๆ ก่อนออกคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ ได้ ตามมาตรา ๒๑ (๓) 

๕. ขอในเหตุฉุกเฉินได้  การขอในเหตุฉุกเฉินมีเฉพาะกรณีที่โจทก์ยื่นคำขอตามมาตรา ๒๕๔ เท่านั้นตามมาตรา ๒๖๖ โจทก์ยื่นคำร้องแสดงให้เห็นว่ากรณีมีเหตุฉุกเฉินเพื่อให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดยไม่ชักช้า ซึ่งเป็นการขอให้ศาลสั่งเป็นกรณีฉุกเฉิน คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำขอในเหตุฉุกเฉินเป็นที่สุด อุทธรณ์ฎีกาไม่ได้และยื่นคำขอโดยอ้างเหตุฉุกเฉินในเหตุเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ ตามมาตรา ๒๖๗ วรรคหนึ่ง ตอนท้าย แต่โจทก์มีสิทธิยื่นขอในเหตุธรรมดตามมาตรา ๒๕๔ ได้ตามมาตรา ๒๖๗ วรรคสาม

๖. วิธีขอให้คุ้มครองชั่วคราว

๖.๑ ยึดหรืออายัด

๖.๒ ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป

๖.๓ ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับ แก้ไข หรือเพิกถอนการดำเนินการทางทะเบียน

๖.๔ ขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังจำเลยไว้ชั่วคราว

๗. การขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา จะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับคำฟ้องหรือคำขอท้ายฟ้อง 

๘. ผลของวิธีการชั่วคราวเมื่อมีคำพิพากษา 

    ๑. ศาลตัดสินให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือบางส่วน ตามมาตรา ๒๖๐ (๑) เมื่อจำเลยชนะคดี คำสั่งศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวในส่วนที่จำเลยชนะคดี ให้ถือว่าเป็นอันยกเลิกเมื่อพ้นกำหนด ๗ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

   ๒. ศาลตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะ มาตรา ๒๖๐ (๒) บัญญัติว่าคำสั่งของศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

                        ------------------------------------------------------------------------------------

      บันทึกไว้เพื่อการรวบรวม ทบทวน อ้างอิงและนำไปใช้ในการทำงานของผู้เขียนเป็นหลัก

หมายเลขบันทึก: 516194เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2013 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2013 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณความรู้ดีๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท