การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (End of Life Care)


จากการฟังบรรยายในหัวข้อเรื่อง " การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (End of Life Care) "

ขอขอบคุณ คุณรัชณีย์ ป้อมทอง จากโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ผู้บรรยายณ ห้อง Auditorium คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ.2556 เวลา 13.00-15.00 น.

ดิฉันได้สรุปความรู้ และเชื่อมโยงกับกิจกรรมบำบัด ดังนี้

  ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หมายถึง ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าสภาวะการป่วยไข้เป็นระยะลุกลาม เรื้อรัง หรือเป็นการป่วยไข้ที่เข้าสู่ระยะท้ายๆของโรค ซึ่งไม่มีวิธีรักษาให้หายได้ (น.พ.สถาพร ลีลานันทกิจ,2552)

เป้าหมายของการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย

1. ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

2.บรรเทาอาการทุกข์ทรมานต่างๆทั้งทางกายและจิตใจ

3. ช่วยให้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงและความสูญเสียต่างๆ

4. ช่วยให้ได้ทำภารกิจต่างๆที่ยังห่วงกังวลให้สำเร็จ

  1. ช่วยให้เสียชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยมีความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด

หลักการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

  การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ซึ่งนอกเหนือจากการดูแลด้านสภาพร่างกาย จากผลของโรค หรือความเสื่อมของร่างกายในผู้สูงอายุ นักกิจกรรมบำบัด และทีมสหวิชาชีพทางการแพทย์ควรดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม (Holistic care) ต้องประคับประคองทางด้านจิตใจ จิตวิญญาณ สังคม และสิ่งแวดล้อม

มีการส่งเสริมความเป็นอิสระแก่ผู้ป่วยและครอบครัวในการจัดการดูแลตนเอง ให้ญาติหรือบุคคลใกล้ชิดมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยมากที่สุด ดูแลให้ผู้ป่วยและครอบครัวปรับตัวยอมรับสภาพได้และเผชิญกับเหตุการณ์อย่างมีความสุข มีการประคับประคองด้านจิตใจ แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้ป่วย และจัดสิ่งแวดล้อมให้ตายอย่างสงบ

นักกิจกรรมบำบัด ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย และมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยนั้น ใช้ชีวิตให้มีคุณค่ามากที่สุด และมีความสุขที่สุด เพื่อให้เกิดWell-being และQuality of life นอกจากผู้บำบัดจะให้การรักษาอย่างเป็นองค์รวมแล้ว ผู้บำบัดก็ควรให้การรับฟังผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด

นักกิจกรรมบำบัดจึงใช้กรอบอ้างอิงทางกิจกรรมบำบัดที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือ Psychospiritual integration Frame of Reference

Becoming : ผู้รับบริการสามารถรับรู้ และเข้าใจถึงสภาพอาการ หรือโรคที่ตนเองกำลังเป็นอยู่

Meaning : ส่งเสริมคุณค่า และมีความหมายในชีวิตของผู้รับบริการโดยจัดกิจกรรม หรือสิ่งที่ผู้รับบริการสนใจ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำกิจกรรม ในระยะสุดท้ายของชีวิต

Centredness : ให้ผู้รับบริการระลึกถึงสิ่งที่มีคุณค่าต่อตนเอง และสิ่งที่ทำให้ตนเองรู้สึกมีความสุข

Connectedness : เชื่อมโยง และปรับตนเองให้เข้ากับ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ทางสังคม ทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ทำให้ผู้รับบริการตายอย่างสงบสุข

Transcendence : ผู้รับบริการสามารถมีความสุขในช่วงสุดท้ายของชีวิต โดยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และตายอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด

ความตายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ มีเกิด มีแก่ มีการเจ็บป่วย ก็ต้องมีการตาย จึงอยากให้ทุกคนพึงระลึกถึงการทำความดีขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ การทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ ก่อนการเสียชีวิต ซึ่งไม่สามารถย้อนกลับมาทำได้อีกก่อนที่จะสายเกินไป


หมายเลขบันทึก: 516163เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2013 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2013 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท