ประเทศไทยไม่ยอมให้ถือสองสัญชาติ จริงหรือ????!!!!


                  เมื่อวันก่อนนี้ (10 มกราคม 2556) ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าไปอ่านบันทึกของท่านอาจารย์รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ในเวป gotoknow ("http://www.gotoknow.org/posts/259492") ในหัวข้อ "กม.ไทยห้ามคนไทยถือสองสัญชาติจริงไหม ?? เด็กลูกครึ่งต้องเลือกสัญชาติเมื่ออายุ ๒๐ ปีจริงหรือ ?? ซึ่งอาจารย์ได้นำข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งมีข้อความว่า 

“...กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
จึงจัดโครงการเผยแพร่ความรู้ในประเด็นสำคัญที่หญิงไทยจำนวนมากประสบ “แต่งงานกับชายต่างชาติ ดีจริงหรือ” ณ ห้องประชุม กรมการกงสุล โดย นางอาภรณ์ ใหม่มงคล เจ้าพนักงานปกครองระดับชำนาญการ กรมการปกครอง
กระทรวงมหาดไทย แนะนำผู้หญิงไทยว่า ควรจดทะเบียนสมรส
ซึ่งตามกฎหมายไทยไม่ยินยอมให้ถือสองสัญชาติ แต่ไม่มีบทลงโทษ
ส่วนในกรณีการขอคืนสัญชาติไทย สามารถนำหลักฐาน อาทิ
ใบมรณบัตรคู่สมรสหรือใบหย่าเป็นหลักฐานแสดง
และยื่นคำร้องที่สถานกงสุลในแต่ละประเทศหรือในต่างจังหวัด
สามารถยื่นเรื่องขอคืนสัญชาติเป็นพลเมืองไทยที่ภูธรจังหวัด
เจ้าพนักงานปกครองระดับชำนาญการ กล่าวถึงกรณีของบุตรว่า เด็กจะได้สัญชาติไทย
หากไปแจ้งที่สถานทูตไทยในต่างประเทศ
รวมถึงจะมีสิทธิได้สัญชาติของคู่สมรสชาวต่างชาติด้วย
หรือหากลืมแจ้งขณะอยู่ที่ต่างประเทศ สามารถนำสูติบัตรของบุตรที่ได้รับจากประเทศนั้น
ๆ มาแปลและแจ้งเรื่องในประเทศไทยได้ในภายหลัง แต่ภายใน ๑ ปี หลังบุตรมีอายุครบ ๒๐
ปีแล้ว จะต้องให้ลูกเลือกเพียงสัญชาติเดียว..... (เดลินิวส์เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม
พ.ศ.๒๕๕๒)” 

                อาจารย์พันธุ์ทิพย์ได้ตั้งข้อสงสัยได้สองประเด็น คือ กม.ไทยไม่ยินยอมให้คนสัญชาติไทยถือสองสัญชาติ ??และ บุตรของหญิงไทยและชายต่างด้าวต้องเลือกสัญชาติไทยเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ??!! 

              ...โดยที่ข้าพเจ้าก็ได้แสดงความเห็นในหัวข้อดังกล่าวต่อข้อความในหนังสือพิมพ์และการให้ความรู้ของกรมการปกครองไว้ดังนี้….

                        “...ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับท่านอาจารย์พันธุ์ทิพย์เป็นอย่างยิ่งค่ะ ว่าการกล่าวของคุณอาภรณ์ดังกล่าว ไม่น่าจะถูกต้อง และมีสองประเด็นชัดๆ ที่เห็นว่า ขัดกับบทกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ก็คือ ขัดกับพรบ.สัญชาตินั่นเองค่ะ 

                      คำกล่าวที่ว่า "ตามกฎหมายไทยไม่ยินยอมให้ถือสองสัญชาติ แต่ไม่มีบทลงโทษ" และ คำกล่าวที่ว่า "หลังบุตรมีอายุครบ ๒๐ ปีแล้ว จะต้องให้ลูกเลือกเพียงสัญชาติเดียว" ข้าพเจ้าขอแสดงความคิดเห็นต่อทั้งสองประโยคนี้ร่วมกัน ซึ่งทั้งสองประโยคนี้ มีประเด็นร่วมกันคือ ประเทศไทยไม่ยอมให้ถือสองสัญชาติจริงหรือไม่ โดยอาจแตกประเด็นได้เป็น การถือสองสัญชาติเนื่องจากสัญชาติที่ได้เพิ่มจากการสมรสไม่ได้ และ การถือสองสัญชาติเนื่องจากได้สัญชาติเพิ่มขึ้นตามบิดาหรือมารดาเป็นซึ่งคนต่างด้าว เพิ่มจากสัญชาติไทยไม่ได้ สองประเด็นย่อยดังกล่าวนี้ จริงหรือไม่

                     ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้อ่านข้อความจากหนังสือพิมพ์ที่อาจารย์พันธุ์ทิพย์นำมาเล่าสู้กันฟังข้างต้นนี้ ข้าพเจ้าก็จำได้เลยว่า ข้าพเจ้าเคยเรียนมาว่า กฎหมายไทยนั้นไม่ได้ปิดกั้นให้คนถือสองสัญชาติ คำกล่าวข้างต้น ขัดกับหลักวิชาที่อาจารย์พันธุ์ทิพย์สอนมา ในชั้นมหาวิทยาลัย เพื่อความแน่ใจข้าพเจ้าจึงได้เปิดตัวบทพรบ.สัญชาติ 2508 รายมาตรา เพื่อหาข้อสนับสนุนว่า กฎหมายไทยไม่ได้ปิดกั้นการมีสองสัญชาติ 

                      ในหมวดที่ 2 ของพรบ.สัญชาติ บัญญัติเรื่องการเสียสัญชาติ ซึ่งเป็นหมวดที่มีความใกล้ชิดกับประเด็นดังกล่าวมากที่สุด ถ้าจะบัญญัติให้ถือสองสัญชาติไม่ได้ เนื้อหาก็จะอยู่ในหมวดนี้ หรืออยากจะรู้ว่าถือสองสัญชาติได้ ก็ต้องดูหมวดนี้เช่นกัน ว่ากฎหมายไม่ได้เขียนห้ามถือสองสัญชาติเอาไว้

                      เมื่อได้เปิดกฎหมายดูรายมาตราในหมวดที่ 2 เริ่มตั้งแต่มาตรา 13 ถ้าหากท่านทั้งหลายมีพรบ.สัญชาติอยู่ในมือแล้วเปิดดู ก็จะพบว่า กรณีที่บุคคลอาจมีสัญชาติอื่นได้นอกเหนือจากสัญชาติไทย( มีการบัญญัติในมาตรา 13-15 )ไม่ว่าด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะเป็นจากการสมรสกับคนต่างด้าว ตามหลักสืบสายโลหิตบิดา หรือมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าว  หรือกรณีอื่นๆนั้น กฎหมายบัญญัติชัดเจนเลยว่า กรณีของคนที่อาจมีสัญชาติอื่นนอกจากสัญชาติไทย การที่บุคคลเหล่านี้จะสละสัญชาติไทยหรือไม่นั้น หรือจะถือสัญชาติอื่นอยู่ต่อไปหรือไม่นั้น กฎหมายได้ใช้คำว่า "ประสงค์" ก็คือเป็นความประสงค์ของบุคคลเหล่านี้ทั้งสิ้น คำว่าประสงค์นี้เป็นคำที่มีความหมายชัดเจน เมื่อเป็นความประสงค์ของบุคคลผู้นั้น ก็แปลว่า การจะสละสัญชาติ หรือการจะถือสัญชาติอื่นอยู่ต่อไปนั้น เป็นไปตามเจตนาของเอกชนนั้นๆ กล่าวง่ายๆก็คือ เป็นไปตามเจตนาของเรา หากเรามีสิทธิในสัญชาติอื่นด้วยดังกล่าว เราจะสละสัญชาติไทยก็ได้ ไม่สละสัญชาติไทยก็ได้ อยากจะถือสัญชาติอื่นต่อไปก็ได้ ไม่ถือสัญชาติอื่นต่อไปก็ได้ กฎหมายเขียนไว้ค่อนข้างชัดเจนมาก และเข้าใจได้ไม่ยาก

                   หรือหากการจะหมายความถึงการถือสองสัญชาติไม่ได้ จะเสียสัญชาติไทยนั้น ในเรื่องของการจะเสียสัญชาติไทย เราก็ต้องรู้ว่า มีได้แค่ในกรณีที่แปลงสัญชาติเป็นคนต่างด้าว การสละสัญชาติไทย หรือถูกถอนสัญชาติ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 เท่านั้นเอง

                      การแปลงสัญชาติที่จะทำให้เสียสัญชาติไทยนั้น ก็คือไปทำตามกระบวนการขั้นตอนการแปลงเป็นคนสัญชาติของประเทศที่เราต้องการ ตามหลักเกณฑ์วิธีการของกฎหมายนั้นๆ ไม่ใช่การมีสิทธิในสัญชาติในทันที ซึ่งถ้าหากว่าประเทศใดบัญญัติให้คู่สมรสของคนสัญชาตินั้น มีสิทธิในสัญชาตินั้นๆด้วย นั่นหมายความว่าเมื่อสมรสตามกฎหมายประเทศนั้นๆ คู่สมรสก็ย่อมทรงสิทธิในสัญชาติ ซึ่งเป็นการทรงสิทธิที่ได้จากการสมรส ไม่ใช่จากการแปลงสัญชาติ หากเป็นไปตามกรณีดังกล่าว ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เราทรงสิทธิไม่ไ้ด้เป็นเพราะการแปลงสัญชาติ เป็นเพราะการสมรส ต้องดูมาตรา 13 สละสัญชาติไทยเป็นไปตามเจตนาของเอกชน เจตนาของเรา กฎหมายใช้คำว่า "ประสงค์" เป็นคนละเรื่องกันกับการแปลงสัญชาติที่จะทำให้เราเสียสัญชาติไทยตามมาตรา 22 ต้องรู้ว่ากรณีดังกล่าว เราต้องไปดูมาตรา 13 ไม่ใช่มาตรา 22  ดังนั้นหญิงไทยไม่ต้องกลัวในเรื่องนี้ หากว่าเราสมรสกับคนต่างชาติแล้วเราจะทรงสิทธิในสัญชาติของประเทศคู่สมรส(หรือกรณีชายไทยไปสมรสกับชาวต่างชาติก็เช่นกัน)ด้วย นอกเหนือไปจากสัญชาติไทยของเรา นี่ไม่ใช่เรื่องการแปลงชาติ เราไม่ได้จะเสียสัญชาติไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องการทรงสิทธิในสัญชาติเพิ่มเพราะการสมรส เราดูมาตรา 13 เป็นไปตามความประสงค์ของเรา เราจะสละสัญชาตไทยก็ได้ ไม่สละสัญชาติไทยก็ได้ นี่เป็นไปตามเจตนาของเรา

                   และตามที่อาจารย์แหววได้ให้ความรู้ข้างต้นแล้วว่า หากเราแปลงสัญชาติ หรือเข้าตามหลักเกณฑ์การจะเสียสัญชาติไทยตามมาตรา 22 จริง ก็ต้องดูควบคู่กับมาตรา 5 พรบ.สัญชาติด้วย คือการเสียสัญชาตินั้นให้มีผลก็ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลเฉพาะตัว นั่นก็คือ แม้จะเข้าตามหลักเกณฑ์มาตรา 22 ที่จะทำให้เสียสัญชาติไทยแล้ว แต่การเสียสัญชาติไทยก็จะมีผลเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน  

                  ในประเด็นย่อยอีกเรื่องคือการกล่าวว่า "การให้บุตรต้องเลือกสัญชาติเมื่ออายุครบ 20 บริบูรณ์"นั้น มาตราที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่งก็คือมาตรา 14 ของพรบ.สัญชาติ ซึ่งในมาตรา 14 นั้น ข้าพเจ้าก็เคยได้มีความเข้าใจผิดมาก่อน ตอนที่ได้อ่านมาตรานี้โดยที่ยังไม่มีความรู้ใดๆ  สับสนในคำว่า "ถ้าประสงค์จะถือสัญชาติอื่นอยู่ต่อไป ให้แสดงความจำนงสละสัญชาติไทย" ว่านี่เป็นการไม่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติหรือไม่ แต่เมื่อมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องโดยอาจารย์พันธุ์ทิพย์ได้ให้ความรู้และอธิบายว่า มาตรานี้เป็นเจตนาของเอกชน ที่จะแสดงความจำนงสละสัญชาติหรือไม่ก็ได้ และประกอบกับที่ข้าพเจ้าได้อ่านความรู้ที่อาจารย์พันธุ์ทิพย์เขียนข้างต้นว่า 

“................อันนี้ อ.แหววเข้าใจว่า น่าจะเป็นไปตามกฎหมายที่ประกาศใช้ในวันที่
๒๖ กุมภาพันธ์
พ.ศ.๒๕๓๕ และถูกยกเลิกในเวลาราว ๑ เดือนต่อมา กล่าวคือ มาตรา ๑๔ แห่ง
พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕
ซึ่งบัญญัติว่าผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าว
และอาจถือสัญชาติของบิดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดา
หรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง
ให้แสดงความประสงค์เข้าถือสัญชาติได้เพียงสัญชาติเดียว
โดยให้แจ้งความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีอายุครบยี่สิบปีบริบรูณ์
ถ้าไม่มีการแจ้งความจำนงภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่า ผู้นั้นสละสัญชาติไทย
เว้นแต่รัฐมนตรีจะสั่งเฉพาะรายเป็นอย่างอื่นบทบัญญัตินี้ถูกประกาศใช้ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์
พ.ศ.๒๕๓๕ และถูกยกเลิกในวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๕

และ

จะเห็นว่า มาตรา ๑๔ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขโดย
พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งมาแทนที่ จึงบัญญัติว่า ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าว
และได้สัญชาติของบิดาด้วยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดา หรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยตามมาตรา
๑๒ วรรคสอง ถ้ายังประสงค์จะถือสัญชาติอื่นอยู่ต่อไป
ให้แสดงความจำนงสละสัญชาติไทยตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีอายุครบยี่สิบปีบริบรูณ์"

                    เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านความรู้ถึงวิวัฒนาการของบทบัญญัติข้างต้นจากอาจารย์พันธุ์ทิพย์ ทำให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการตีความว่ามาตรานี้เป็นไปตามเจตนาของเอกชนอย่างยิ่ง เพราะ เดิมนั้นกฎหมายไปจำกัดบุตรที่เข้าตามกรณีดังกล่าว ให้ถือเพียงสัญชาติเดียว แต่กฎหมายดังกล่าวนี้ใช้ได้เพียงแค่เดือนเดียวก็ต้องแก้ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ และได้มีการปรับปรุงมาเรื่อยๆ ปัจจุบัน แก้ไขโดยพรบ.สัญชาติ ฉบับที่4 พศ.2551คิดตามตรรกะง่ายๆเลยว่า เดิมให้เลือกสัญชาติเพียงสัญชาติเดียว ถ้าจะแก้แล้วยังคงให้เลือกเพียงสัญชาติเดียว เราอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวก็ได้ ดังนั้นเมื่อแก้แล้ว การตีความก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย เดิมให้เลือกเพียงสัญชาติเดียว เมื่อแก้แล้วกฎหมายน่าจะมีเจตนารมณ์ที่ไม่จำกัดให้คนถือสัญชาติใดเพียงสัญชาติเดียวอีกต่อไปแล้ว  ประกอบกับที่ต้องอ่านมาตรา 15 ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวเนื่องกัน ที่ระบุให้กรณีอื่นนอกเหนือมาตรา 14 ถ้า"ประสงค์" จะสละสัญชาติ... เมื่อใช้คำว่าประสงค์ก็ย่อมตีความได้เป็นที่แน่นอนว่า เป็นเรื่องของเจตนาของเอกชนผู้นั้น ว่าจะสละก็ได้ไม่สละก็ได้ ตามที่ได้แสดงความเห็นไปข้างต้น 

                    จึงเป็นข้อสังเกตที่เราควรต้องตระหนักว่า หากเราไม่ทราบหรือไม่แน่ใจว่ากฎหมายนั้น ตีความอย่างไรกันแน่ การอ่านตัวบทกฎหมายด้วยความตั้งใจ การศึกษาถึงพัฒนาการหรือวิวัฒนาการของกฎหมายดังกล่าว ก็จะช่วยทำให้เห็นถึงบริบท หรือความต้องการของกฎหมาย หรือที่เรียกว่า "เจตนารมณ์ของกฎหมายที่แท้จริงได้" ซึ่งในฐานะนักกฎหมาย เรื่องการตีความกฎหมายตามเจตนารมณ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และนักกฎหมายไม่สามารถจะละเลยประเด็นนี้ได้ การตีความกฎหมายนั้นดูตามลายลักษณ์อักษรแล้วต้องดูตามเจนารมณ์ของกฎหมายด้วย เมื่อนักกฎหมายตีความกฎหมายโดยคำนึงถึงสองประการนี้ ประชาชนก็จะได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริงได้ 

                   ซึ่งเมื่อข้าพเจ้าได้อ่านตัวบทกฎหมายพรบ.สัญชาติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ได้อ่านถึงวิวัฒนาการของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายตามที่กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า กฎหมายไทยไม่ได้ปิดกั้นให้คนถือสองสัญชาติแต่อย่างใด นับว่าเป็นเรื่องที่เราควรทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อจะให้ประชาชนไม่ได้รับเดือดร้อน และได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงมีอย่างแท้จริง”


โดยปรางค์สิรินทร์ เอนกสุวรรณกุล 
10 มกราคม 2556
เผยแพร่เมื่อ 
13 มกราคม 2556
หมายเลขบันทึก: 516074เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2013 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2013 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท