Community paticipation


การมีส่วนร่วมของประชาชนสู่ความเป็นเจ้าของระบบสุขภาพ : กรณี ผู้พิการ กับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-Based Rehabilitation : CBR)

“ลุงสมหวัง” ได้รับอุบัติเหตุขาพิการทั้งสองข้างเดินไม่ได้ ไม่มีรอยยิ้ม ไม่ค่อยพูดจา มักเก็บตัวอยู่มุมหนึ่งของบ้านคนเดียว วันหนึ่งชาวบ้านในชุมชนจึงได้รวมตัวกันไปเยี่ยมที่บ้านให้กำลังใจชวนพูดคุยและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมร่วมกันจึงพบว่า‘ห้องน้ำ’ที่ลุงสมหวังใช้นอกจากจะอยู่ไกลตัวบ้านแล้วยังไม่เหมาะสมกับคนพิการที่เมื่อใช้แล้วจะไม่สามารถลุกขึ้นเองได้ อีกทั้งคนในครอบครัวต้องทำงานไม่ค่อย  มีเวลาช่วยเหลือ เพื่อนบ้านจึงรวมตัวกันสร้างส้วมที่ถูกสุขลักษณะให้โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์และแรงงานจากคนในชุมชน นอกจากนี้ยังไปเยี่ยมเป็นประจำ ทำให้ลุงสมหวังฝึกการเดินด้วยไม้เท้าสี่ขาสามารถเดินเข้าห้องน้ำและทำกิจวัตรประจำวันเองได้ กลับมามีเสียงและรอยยิ้มอีกครั้งหนึ่ง

องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้สนับสนุนให้ดำเนินงานตามแนวคิดการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-Based Rehabilitation: CBR) (World Health Organization, 2005) ปัจจุบันสังคมไทยได้มีการยอมรับและเชื่อว่าการเสริมสร้างพลังให้กระบวนการรักษาและฟื้นฟูคนพิการมีความเข้มแข็งและยั่งยืนจะต้องเริ่มจากคนพิการเอง ครอบครัวของคนพิการและชุมชนที่คนพิการอาศัยอยู่ซึ่งโดยชุมชนเป็นผู้วางแผนดำเนินการและประเมินผล จากฐานความต้องการและสภาพเงื่อนไขภายในชุมชนนั้นๆ เปิดโอกาสให้คนพิการ ครอบครัวคนพิการ สมาชิกชุมชน ตลอดจนองค์กรหน่วยงานต่างๆ ทั้งนอกและในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกกิจกรรมโดยมีเป้าหมายให้คนพิการในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ในสังคมและชุมชนได้อย่างปกติสุข

“คนพิการ” ในสังคมไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2517 มีคนพิการประมาณร้อยละ 0.5 ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.7 ในปี 2545 และเกือบร้อยละ3 ในปีพ.ศ.2550 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละกว่า 1 แสนคน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ,2551) คนพิการส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตในครอบครัว เนื่องจากช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เคลื่อนไหวลำบาก ขาดความมั่นใจและสังคมไทยยังมีระบบการสนับสนุนช่วยเหลือคนพิการไม่ทั่วถึง

กรณีลุงสมหวัง การสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ทำโดยวิเคราะห์ครอบครัวและชุมชน เริ่มที่การวิเคราะห์ว่าในชุมชนนั้นๆ ใครเข้มแข็งสามารถเป็นผู้นำได้ เช่นเดียวกับในครอบครัวที่ควรทำความเข้าใจว่าใครมีเงื่อนไขเหมาะที่สุด ที่จะร่วมให้การช่วยเหลือดูแลคนพิการในครอบครัว แล้วดึงศักยภาพคนในครอบครัวและชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล รักษา ส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพ  คนพิการ เช่น ชวนให้เป็นอาสาสมัคร ให้ความรู้และฝึกทักษะที่จะช่วยเหลือดูแลคนพิการ โดยการนำความรู้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในครอบครัวและชุมชนมาใช้ในการดูแลคนพิการ  นอกจากนี้ ยังถือเป็นการสร้างเครือข่ายการดูแลคนพิการในชุมชน เป็นเครือข่ายครอบครัวจิตอาสา ทั้งนี้อาจนำศักยภาพสมาคม/ชมรม/กลุ่มคนพิการมาสร้างงานสร้างประโยชน์แก่ชุมชน โดยให้ รพช. และ รพ.สต. ร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการเยี่ยมบ้านหรือ ร่วมเป็นกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ด้วย

คุณค่าของงาน CBR มีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมไทย โดยนำไปสู่การเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนโดยชุมชน เพื่อชุมชน การจัดการทรัพยากรที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนการปรับทัศนคติในทางบวกแก่คนในชุมชนและตัวคนพิการเอง การสนับสนุนโอกาสและสิทธิของคนพิการ การสนับสนุนการฟื้นฟูสภาพทุกส่วนตามศักยภาพที่มีอยู่ของคนพิการ การสนับสนุนให้คนพิการอยู่ร่วมกับชุมชนในฐานะสมาชิกที่เสมอภาคในชุมชน มีความสุขและความอบอุ่น ที่สำคัญทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันในการจัดการระบบสุขภาพ ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

 ( สุกัญญา  กาญจนบัตร/ สรุป )

ค้นคว้าเพิ่มเติม

- วิสัน สุคะมะโน.2555. การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน ( CBR ) http://school.obec.go.th/specialsatun/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=13

-  รัชนี สรรเสริญ. การบูรณาการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ในสถานบริการปฐมภูมิ: บทเรียนรู้จากประเทศไทย. วารสาร การพยาบาลและการศึกษา. ปีที่ 3 ฉ.2 (พ.ค.-ส.ค.53)

คำสำคัญ (Tags): #Community paticipation
หมายเลขบันทึก: 515134เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2013 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2013 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท