Use of mass media


สังคมยุคปัจจุบันเป็นสังคมยุคสื่อสารซึ่งความเจริญก้าวหน้าหรือความอยู่รอดของสังคมขึ้นอยู่กับการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องทันเวลาและการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม สื่อมวลชน(mass media)  จึงมีบทบาทสำคัญในการเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมตลอดจนชี้นำความคิดของคนในสังคมสื่อมวลชนแต่ละชนิดมีลักษณะและคุณสมบัติที่แตกต่าง เช่น ให้ความบันเทิง  ให้การศึกษา  การประชาสัมพันธ์และโฆษณา (Public Relation) โฆษณาสินค้า (Advertising) โฆษณาเผยแพร่ (Publicity)   เช่น การโฆษณาเผยแพร่ผลงานของรัฐบาล รวมไปถึงการเผยแพร่ความรู้  การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ได้แก่ การเสนอข่าวสารในเชิงชักชวน ปลุกระดม ชี้นำความคิด ซึ่งความคิดเห็นของสื่อมวลชน อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรสื่อมวลชนกับรัฐบาล กลุ่มอำนาจ รวมทั้งประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ได้

ในปัจจุบันบทบาทของสื่อมีความสำคัญในการส่งเสริมและป้องกันการเกิดโรคภัยต่างๆกับคนไทยเป็นอย่างยิ่ง ความหลากหลายของสื่อที่ผลิตเพื่อให้คนไทยหันมาดูแลสุขภาพตนเองให้มากขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่บทบาทสำคัญของสื่อมวลชนด้านสุขภาพ คือการเสนอข่าว การเสนอความคิดเห็น ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพบุคคล/สังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การสะท้อนปัญหาให้คนในสังคมตระหนักในรายการโทรทัศน์ กรณีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยจำนวนมากและขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายกว่า 27,000 รายการ ซึ่งอาจมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก จนเห็นมิติความเชื่อมโยงของปัญหาพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกับผู้ใช้และคนใกล้ชิดโดยตรงแล้วผู้บริโภคอีกหลายล้านคนที่บริโภคอาหารจากแหล่งดังกล่าว ต้องได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ตกค้างในอาหารได้ การใช้สื่อมวลชนซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรเผยแพร่ข่าวสารเข้ามามีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นแทนประชาชนในเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อเสนอต่อสาธารณชนและรัฐบาล ในรูปของบทความ สารคดี บทวิเคราะห์วิจารณ์ มีจุดมุ่งหมายในเชิงสร้างสรรค์ โน้มน้าวจิตใจ ชี้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ช่วยให้คนที่ไม่เคยรู้ หรือรู้อยู่แล้ว รู้สึกกระตุกความคิดและกลับมาคิดทบทวน แล้วร่วมมือการกันแก้ปัญหาต่อไปได้

การผลิตสื่อเพื่อสุขภาพให้มีประสิทธิผลนั้น  ควรได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อการผลิตสื่อนั้นๆ  ว่าได้ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักเพิ่มขึ้น ได้แสดงความคิดเห็นต่อการดูแลสุขภาพตนเองร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลสุขภาพประชาชนมากน้อยเพียงใด  เป็นการสื่อสารสองทาง โดยมีการให้ข้อมูลย้อนกลับจากผู้ใช้สื่ออีกทั้งผู้ผลิตสื่อจะได้เพิ่มความรับผิดชอบต่อสิ่งที่นำเสนอออกไปด้วย 

การพัฒนาระบบสื่อสารสุขภาพ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะเพิ่มศักยภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้บริการสุขภาพ การเลือกผลิตภัณฑ์สุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงการป้องกันและความคุมโรค การผลิตสื่อด้านสุขภาพอนามัยออกมาเพื่อที่จะแข่งขันกับสื่อโฆษณาสินค้าและบริการต่างๆนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาวิจัยให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร เลือกช่องทางการสื่อสารให้มีความหลากหลายน่าสนใจ เลือกประเด็นที่โดนใจง่ายต่อการรับรู้และจดจำ หรือแม้แต้การเลือกผู้นำเสนอสื่อ บุคคลต้นแบบหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มความน่าสนใจและน่าติดตาม แต่การใช้สื่อสารมวลชน ต้องคำนึงกลยุทธ์ ช่องทาง งบประมาณ และกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการใช้สื่อรายการโทรทัศน์ อาจมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ดังนั้นหากต้องการให้สื่อส่งสารถึงมวลชนและส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากแล้ว ควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐและนโยบายด้วย

 

( สุกัญญา  กาญจนบัตร /สรุป )

คำสำคัญ (Tags): #Use of mass media
หมายเลขบันทึก: 515132เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2013 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท