Human Resource Management


การจัดการทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็นเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้องค์กรมีทรัพยากรมนุษย์ที่เหมาะสมทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ตลอดจนสามารถดำเนินงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด  ประกอบด้วยภารกิจสำคัญ ได้แก่ การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ การจัดคนเข้าทำงาน การฝึกอบรมและการพัฒนา การจ่ายค่าตอบแทน การรักษาความสัมพันธ์ การควบคุมและประเมินการปฏิบัติงาน

การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ คือ การพิจารณากำหนดความต้องการกำลังคนขององค์กรทั้งในด้านปริมาณและคุณลักษณะของกำลังคนตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้เพื่อนำไปเปรียบเทียบกำลังคนที่มีอยู่ในองค์กร ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการคนได้แก่ การเปลี่ยนแปลงองค์กร เช่น เปลี่ยนกลยุทธ์ ปรับโครงสร้างและเพิ่ม/ลดขนาด การเปลี่ยนแปลงบุคลากร ได้แก่ เลื่อนขั้น/ตำแน่ง โยกย้าย ลาออก เกษียณ และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอื่นๆเช่น นโยบาย เป็นต้น โดยการกำหนดคุณลักษณะของกำลังคน จากการวิเคราะห์งานซึ่งต้องจัดทำคำบรรยายลักษณะงานและข้อกำหนดตำแหน่งงานประกอบ

การจัดคนเข้าทำงาน(Staffing) คือ การสรรหาบุคคลและการคัดเลือกบุคคลให้มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของตำแหน่งงานซึ่งอาจเลือกจากภายในหรือภายนอก ได้จากการสมัคร สัมภาษณ์ ทดสอบ บุคคลอ้างอิง หรืออื่นๆ

การฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้เกิดผลิตภาพ (Productivity) โดยการสร้างแรงจูงใจและภาวะผู้นำ การพัฒนาองค์กร การพัฒนากระบวนการสื่อสาร การฝึกอบรมส่วนบุคล หรือการสร้างเส้นทางการเติบโตในสายงาน ซึ่งในการพัฒนาดังกล่าวต้องมีการประเมินความต้องการการพัฒนา การออกแบบและปฏิบัติการฝึกอบรม เช่น การบรรยาย จำลองสถานการณ์ ฝึกปฏิบัติและอบรมหลักสูตรต่างๆและประเมินผลการอบรม

การจ่ายค่าตอบแทน ต้องพิจารณาให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดความพึงพอใจและจูงใจให้คนที่มีความรู้ความสามารถอยู่ในองค์กร ซึ่งมีทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ประกันภัย ประกันสุขภาพ การตรวจสุขภาพฟรี การเลี้ยงฉลอง ท่องเที่ยว หลักการจ่ายค่าตอบแทน คือ ต้องมีความเสมอภาค เป็นธรรม ดึงดูดใจ แข่งกับองค์กรอื่นๆได้และเป็นไปตามกฎหมาย

การรักษาความสัมพันธ์ของคนในองค์กร ได้แก่ การจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสร้างความท้าทายในงาน การดูแลเอาใจใส่ การป้องกันการคุกคามทางเพศ การคุ้มครองสิทธิส่วนตัวของพนักงาน และการให้ความสำคัญกับประเด็นทางครอบครัว

การประเมินผลการปฏิบัติงาน การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพราะนอกจากจะสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุงแผนการปฏิบัติงานแล้วยังเป็นปัจจัยหลักทางการบริหารในการที่จะทำให้องค์กรสามารถพัฒนาและเจริญเติบโตได้อย่างมั่นคง แต่อาจพบข้อผิดพลาดบ่อยๆ เช่น การประเมินผลที่ผู้ประเมินเห็นเพียงด้านใดด้านหนึ่งแล้วนำไปขยายผลเอง (Halo effect) การเปรียบเทียบผลปฏิบัติงานกับคนอื่นแทนการเทียบกับมาตรฐาน(Contrast error)การประเมินผลงานล่าสุดโดยไม่คำนึงถึงผลงานที่ผ่านมาทั้งหมด(Dependency error) การประเมินผลที่ให้ผลประเมินสูง (Leniency error) หรือต่ำเกินไป (Severity error) โดยไม่มีเหตุอันสมควรและการประเมินที่ให้ความสำคัญและความสำเร็จของผู้ประเมินในขณะที่ผู้อื่นล้มเหลว (Self-Serving Bias)

วิธีการประเมิน มีทั้งแบบที่ยึดคุณลักษณะของบุคล พฤติกรรมการปฏิบัติงาน ผลสำเร็จของงานหรือวัตถุประสงค์เป็นหลัก หรืออาจผสมผสานหลายวิธี ซึ่งต้องเลือกวิธีประเมินให้เหมาะสมและเป็นไปตามนโยบายขององค์กร

( สุกัญญา  กาญจนบัตร / สรุป )

คำสำคัญ (Tags): #human resource management
หมายเลขบันทึก: 515131เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2013 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2013 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท