Economics impacts of alcohol


เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบมากกว่าในเชิงบวก สมาคมอายุรแพทย์อเมริกัน(American Medical Association)ได้ให้นิยามภาวะการติดสุราว่า เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย จิตใจและบทบาทหน้าที่ทางสังคมเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลายชนิดรวมถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนหลายชนิด ได้แก่ ต้นทุนค่ารักษาพยาบาล (Health Care Cost)ซึ่งเป็นต้นทุนทางตรง (Direct cost) มีมูลค่า 6,513 ล้านบาทหรือ 4.2% ต้นทุนจากการสูญเสียผลิตภาพ(Cost of productivity loss) ซึ่งเป็นต้นทุนทางอ้อม (Indirect cost) มีมูลค่าสูงถึง 149,592 ล้านบาทหรือคิดเป็น 95.8% ของต้นทุนทั้งหมดซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนจากการสูญเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร 65.7% และต้นทุนจากการสูญเสียผลิตภาพจากการขาดงานและการขาดประสิทธิภาพขณะทำงาน 30.1% และต้นทุนจากทรัพย์สินที่เสียหาย (Cost of property damage)ได้แก่ ต้นทุนที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจรทางบก 0.5% และต้นทุนจากการฟ้องร้องคดีความจากการบังคับใช้กฎหมายคิดเป็น 0.2% ของต้นทุนทั้งหมด เป็นต้น

จากผลการวิจัยของ TDRI พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลเชิงลบทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าในปี พ.ศ. 2549 ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่สังคมไทยต้องรับภาระจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่าสูงถึง 156,105 ล้านบาทหรือคิดเป็น 1.99%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)ต่อปี หรือเฉลี่ยต่อประชากร 65 ล้านคน คิดเป็น 2,391 บาทต่อคนต่อปีใกล้เคียงกับงบเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐบาลจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลรวมกันทุกโรค  ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของเพศชายมีค่าสูงกว่าเพศหญิงประมาณ 4 เท่า และพบว่าประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เริ่มดื่ม  ครั้งแรกมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นและยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์โดยพบว่าผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีอัตราการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

จากข้อมูลนี้ จึงควรนำไปรณรงค์ให้ประชาชนและสังคมตระหนักถึงพิษภัยที่ซ่อนเร้นและกำหนดนโยบายการลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นโยบายทางด้านภาษีหรือนโยบายอื่นๆ สร้างสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ต้นทุนการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นส่วนมากเป็นเพศชายในวัยแรงงาน ดังนั้นมาตรการจึงควรเน้นไปที่ประชากรกลุ่มดังกล่าว สร้างความตระหนักให้กับนายจ้างเพื่อเน้นย้ำถึงการสูญเสียผลิตภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งจากการเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร การขาดงานและการขาดประสิทธิภาพขณะทำงานของผู้รับจ้าง เพิ่มความเข้มงวดในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายโดยจำกัดอายุ สถานที่จำหน่าย ตลอดจนเวลาที่ห้ามจำหน่ายให้มากขึ้น

( สุกัญญา  กาญจนบัตร / สรุป)

คำสำคัญ (Tags): #Economics impacts of alcohol
หมายเลขบันทึก: 515130เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2013 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2013 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท