National Health Act


พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2250  ในฐานะ “ธรรมนูญสุขภาพของประเทศไทย” ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทย ที่จัดทำด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนกว่า 4.7 ล้านคนตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสมบูรณ์ ใช้ระยะเวลานานถึง 8 ปี และเป็นกฎหมายฉบับแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับระบบสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งเรื่องสิทธิหน้าที่และความมั่นคงด้านสุขภาพ กระบวนการมีส่วนร่วม และกลไกการทำงาน เป็น “เครื่องมือใหม่” ที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในสังคมมาทำงานเรื่องสุขภาพร่วมกัน ด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทำหน้าที่หนุนเสริมกลไกต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลไกของรัฐบาลที่จำแนกเป็น กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ และกลไกใหม่ภายใต้ .ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ให้ผสานตัวเข้าหากัน เพื่อช่วยกันทำงานพัฒนาสุขภาพหรือสุขภาวะที่มุ่งสู่ทิศทาง “สร้างนำซ่อม” ร่วมกันต่อไป

กลไกสำคัญภายใต้ พรบ.สุขภาพฯ คือ ‘สมัชชาสุขภาพ’(สช.) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากงานวิจัยของ สวรส.ที่สนับสนุนและนำเสนอกรอบความคิดมาตั้งแต่ปี 2543 และมีการจัดสัมมนาสมัชชาสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องทุกปี จนกระทั่งเมื่อ พรบ.สุขภาพฯได้รับการประกาศใช้ สมัชชาสุขภาพจึงได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ โดยมีการจัดทั้งสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เฉพาะพื้นที่  มติสมัชชาสุขภาพถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะถูกส่งต่อและผลักดันสู่การปฏิบัติผ่านช่องทาง กลไกของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งให้ภาคประชาชนร่วมดำเนินการ โดย สวรส.เข้าไปร่วมทำงานวิชาการในเวทีและกิจกรรมที่ สช.ดำเนินการร่วมกันอย่างใกล้ชิด

เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฉบับนี้ ต้องการให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันพิจารณาถึงผลกระทบทางสุขภาพ ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วกับประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เนื่องมาจากการดำเนินนโยบายการพัฒนา หรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหวังผลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับการสร้างเสริมและคุ้มครองสุขภาพของทุกคนในสังคม การพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในพรบ.สุขภาพฯ พ.ศ.2550 จะมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสมัชชาสุขภาพในระดับต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันในการดำเนินงาน

ในส่วนของการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องผ่านการประเมิน Environmental Health Impact Assessment หรือ EIA ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ระยะหลังแนวคิดในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมุ่งไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นการประเมินโครงการต่างๆนอกจากจะประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะต้องทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment หรือ HIA) ซึ่งรวมไปถึงเรื่อง สุขภาพกาย จิต สังคม และปัญญา จึงต้องคำนึงถึงมิติของสังคมด้วย (Social Impact Assessment)

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิฯ ที่ มาตรา 11 กำหนดให้บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมิน มีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว มาตรา 5 มีสิทธิในการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ มาตรา 10 มีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลแผนงาน โครงการและนโยบายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และมาตรา 25(5) ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ รวมถึงมาตรา 46 - 48 การจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกี่ยวพันกับการใช้สิทธิตาม มาตรา11

( อ่านเพิ่มเติมwww.nationalhealth.or.th/และwww.hsri.or.th/)  (สุกัญญา  กาญจนบัตร/สรุป)

คำสำคัญ (Tags): #national health act
หมายเลขบันทึก: 515124เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2013 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2013 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท