Health development approaches


การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจทั่วโลกส่งผลให้ผู้คนทั่วไปประสบภาวะคุกคามจากสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ด้อยลงทำให้เกิดการเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น (ทุกข์) เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอดและอุบัติเหตุ  อันมีสาเหตุจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล (สมุทัย) คือการมุ่งเน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยขาดการคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น การใช้ยาฆ่าแมลงในพืชผัก ที่ส่งผลไม่เพียงแต่สุขภาพของเกษตรกรและผู้ใกล้ชิด แต่ยังทำลายสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อห่วงโซ่อาหาร ทิศทางการแก้ปัญหา (นิโรธ) จึงควรกำหนดทิศทางการพัฒนานโยบายสาธารณะให้เกิดดุลยภาพ(มรรค)  โดยปรับจากการซ่อมสุขภาพ ไปสู่การสร้างสุขภาพ ภายใต้ พรบ.สุขภาพแห่งชาติปี 2550 ซึ่งเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพขยายมิติของคำว่าสุขภาพ(New definition of health)ให้รวมทั้งด้านร่างกาย(Psysical)จิตใจ( Psycho) สังคม(Social) และวิญญาณ (Spiritual)ซึ่งครอบคลุมปัจจัยกำหนดสุขภาพ  ให้สามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม

  นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพซึ่งสัมพันธ์กับกฎบัติอ๊อตตาว่า (Ottawa Charter : 2529) เป็นแนวคิดในการสร้างเสริมสุขภาพ ผลักดันให้การดำเนินนโยบายของภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น หรือของชุมชน ให้แสดงความห่วงใยและรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชนขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจ/สังคมและการเมืองให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี มุ่งให้ประชาชนสามารถมีทางเลือกที่จะก่อให้เกิดสุขภาพที่ดีได้ ทิศทางนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ จึงควรมีการพัฒนาทักษะประชาชนและครอบครัวให้  มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีไปพร้อมกับการสร้างให้ชุมชนเข้มแข็งและปรับทิศทางการบริการสุขภาพ รวมถึงนำแนวคิดเรื่อง “สุขภาพ” ไปสร้างให้เกิดความตระหนักทั้งในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม พลังงาน การเกษตร การจัดการสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการศึกษา เป็นต้น เพื่อให้นโยบายต่างๆเป็นประโยชน์ที่สุดต่อสุขภาพของประชาชน

เพื่อป้องกันนโยบายสาธารณะที่ขาดดุลยภาพ พรบ.สุขภาพแห่งชาติปี 2550 จึงกำหนดให้มีกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment; HIA) มีกลไกจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ปรับปรุงทุก 5 ปี เพิ่มสิทธิและหน้าที่ของประชาชนด้านสุขภาพ ข้อมูลสุขภาพเป็นความลับรวมไปถึงการมีสิทธิ์ปฏิเสธการรักษาและปฏิเสธการเข้าร่วมการทดลองหรือการวิจัยด้านสุขภาพ  HIA มีวัตถุประสงค์เพื่อ มุ่งหาผลกระทบเชิงซ้อน ต่อทั้งสถานะสุขภาพและปัจจัยของสุขภาพ มีการให้ข้อมูลหลายแหล่ง รับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย ใช้เวลาและทรัพยากรอันจำกัด โดยมุ่งเสนอผลการประเมินที่มีผลต่อการตัดสินใจก่อนดำเนินงาน มีขั้นตอนประเมิน 5 ขั้นตอน คือ 1) กลั่นกรองรายละเอียด 2) กำหนดขอบเขต 3) วิเคราะห์ผลกระทบ 4) ให้ข้อเสนอแนะทางเลือก และ 5) ติดตามควบคุมกำกับ โดยคำแนะนำมุ่งขจัดผลกระทบทางด้านลบต่อสุขภาพเป็นสำคัญ 

( สุกัญญา  กาญจนบัตร / สรุป )

คำสำคัญ (Tags): #health development approaches
หมายเลขบันทึก: 515123เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2013 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2013 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท