ส.ค.ส ....เสริม...ความ...สุข


ในสมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็ก การส่ง ส.ค.ส. อวยพรกันในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น มักจะส่งคำอวยพรไปหาคนนั้นคนนี้ผ่านบัตร ส.ค.ส.โดยบริษัทไปรษณีย์ไทยเป็นผู้ดำเนินการให้ ภาพในบัตร ส.ค.ส.ที่ชินตามักจะเป็นภาพน้ำตกแม่กลาง แม่ยะ หรือไม่ก็จะเป็นภาพวิวทิวทัศน์และดอกไม้สวยๆจากลัดดาแลนด์ สวนดอกไม้อันเลื่องชื่อของเชียงใหม่ในแต่ก่อน ปัจจุบันนี้ น้อยคนนักจะส่งบัตร ส.ค.ส. อวยพรให้กัน เพราะช่องทางการสื่อสารมีมากมายหลายรูปแบบให้เลือกใช้บริการก็ถือเป็นเรื่องปกติของความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของมนุษย์


การให้คำอวยพรไม่ว่าจะเป็นแบบเก่าหรือแบบใหม่ ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือให้ทุกคนมีความสุข
เพราะการอวยพรในทำนองนี้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แห่งความปรารถนาดีต่อกันจากใจลึกๆ
ข้างใน ถือเป็นเรื่องของการร่วมสร้างบรรยากาศแห่งความเมตตาและมุทิตาจิตในระหว่างมนุษย์ด้วยกันได้ดีทีเดียวเชียว


เมื่อวันก่อนได้ฟังคำบรรยายของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ซึ่งพูดเกี่ยวกับความสุขว่า คนไทยนิยมส่งคำอวยพรวันปีใหม่ด้วยถ้อยคำว่า “ขอให้มีความสุข” ท่านบอกว่าน่าจะผิด เพราะที่ถูก ต้องบอกว่า “ขอให้เห็นความสุข
ท่านอธิบายเพิ่มเติมว่า ความสุขน่ะคนเรามีกันอยู่แล้ว แต่เราไม่ค่อยได้เห็นกัน ดังนั้นท่านจึงพยายามชี้ให้เราได้เห็นสุขกันซึ่งมันมีอยู่แล้ว


ฟังเรื่องนี้แล้วก็ทำให้นึกถึงนิทานเรื่อง “เทวดาซ่อนสุข” ที่เคยอ่านเจอในอินเตอร์เนต เรื่องมีอยู่ว่า
เทวดาตนหนึ่งปรารถนาให้ความสุขแก่มนุษย์แต่จะให้แบบซึ่งๆ หน้า แบบ “นี่คือความสุข เราขอมอบให้แก่เจ้า” มันก็จะง่ายเกินไปจนกลายเป็นสิ่งไร้ค่า ก็เลยต้องให้แบบมีเงื่อนไข คือต้องให้มีความพยายามกันหน่อย
ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ท่านก็ตกลงในใจเองว่า ต้องให้โจทย์ให้เงื่อนไขยากๆ หินๆ เข้าไว้ สิ่งที่เรียกว่าความสุขจึงจะมีคุณค่า


ตอนแรกท่านเทวดาก็วางแผนว่า จะเอาความสุขไปไว้ที่ก้นทะเลลึกให้หากันแบบยากๆ แต่นึกดูอีกทีก็พบว่า
ไม่ได้มนุษย์มันชอบผจญภัย ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำมนุษย์ไปมาหมด วันหนึ่งถ้ามันไปดำน้ำเพื่อดูปะการังก็ต้องเจออยู่ดี
เฮ้อ อย่าดีกว่า แล้วท่านก็เปลี่ยนแผนด้วยการเอาความสุขไปไว้บนยอดเขาสูง แต่ก็นึกขึ้นได้ว่า ต่อให้สูงแค่ไหน มนุษย์ก็ต้องเจออยู่ดี โดยเฉพาะพวกนักปีนเขา หรือพวกหามดแดงบนยอดต้นไม้ เอ หรือว่าเราจะเอาไปไว้ในถ้ำกลางป่าไพรใหญ่ ก็ไม่ได้อีกนั่นแหล่ะ เพราะมนุษย์เป็นพวกชอบล่าสมบัติ ขุดค้นไปทั่ว เดี๋ยวมันก็ไปเจอจนได้
เทวดาวางแผนแล้ววางแผนอีก ก็หาที่ดีๆ ซ่อนความสุขแก่มนุษย์ไม่ได้ ท่านต้องมานอนปวดหัวอีกเป็นคืน


ในวันรุ่งขึ้น เมื่อเทวดาตื่นขึ้นมาท่านก็เกิดปัญญาสว่างใสเห็นที่ทางสำหรับซ่อนความสุขแก่มนุษย์แบบโดยบังเอิญไม่ตั้งใจคิด และท่านก็มั่นใจว่า ที่ที่จะซ่อนความสุขนี้รับรองว่า หาได้ยากแน่ๆ ท่านจะไม่เปลี่ยนใจแล้ว ทั้งนั่งยันนอนยัน ทั้งคอนเฟร์มและฟันธงว่า ที่ตรงนี้ลึกลับที่สุดแน่นอน


ใจ” คือ สถานที่ที่เทวดาท่านคิดว่าจะสามารถซ่อนความสุขแก่มนุษย์ได้ดีที่สุด !


นิทานเรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า ผู้ใดก็ตามเฝ้าแสวงหาความสุขจากข้างนอกเป็นด้านหลัก
เขาผู้นั้นจะสุขน้อยและทุกข์มาก เพราะเหตุว่า การหวังได้อะไรๆ จากสิ่งอื่นหรือคนอื่นมันมีตัวแปรมากมาย
ซึ่งตัวแปรเหล่านั้นก็จะแปรเปลี่ยนผันผวนไปตามเหตุปัจจัยที่มันจะเป็น ซึ่งบางครั้งสวนทางกับความต้องการของเรา หลักการคิดเชิงพุทธจึงสอนให้เราตระหนักว่า “มองทุกอย่างตามที่มันเป็น อย่างมองทุกอย่างตามที่เราต้องการให้เป็น” อย่างแรกเป็นสัจจธรรมที่เราต้องยอมรับแทรกแซงไม่ได้ อย่างที่สองเป็นความอยากของเราเอง และเราก็มีข้อจำกัดในการควบคุมตัวแปรต่างๆ ที่เราต้องการให้เป็น


เอาเป็นว่า เราส่งและรับความปรารถนาดีสู่เพื่อนและจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในเทศกาลปีใหม่นี้ด้วยถ้อยคำอวยพรที่น่าจะเป็นว่า “ขอให้เห็นความสุขกันตลอดปี ๒๕๕๖ นี้ด้วยเทอญ” จงมาร่วมกันต่อยอดความสุข เสริมความสุขที่มันมีอยู่แล้วให้มีมากขึ้นๆ แล้วเราก็จะพบว่า “สุขนั้นมีอยู่ในเราตลอดมาและตลอดไป” 

 

                                           ต่อให้หา  จากแดนใด     ไกลสุดฟ้า

                                เราทั้งหล้า          จะไม่เห็น        เป็นเช่นหวัง                   

                                เพราะความสุข    ที่แท้               ยังคงยัง

                                ถูกกลบฝัง          ซ่อนไว้            ในใจเรา

 

ด้วยความปรารถนาดีอยากให้ทุกท่านได้เห็นความสุขตลอดกาล

 

พระมหาอัมพร ชุตินฺธโร

 

 



 

คำสำคัญ (Tags): #เป็นสุข#เห็นสุข
หมายเลขบันทึก: 514794เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2013 06:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2013 06:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท