ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาคนไร้รากเหง้าในประเทศไทย โดยคุณวีนัส สีสุข


         บันทึกการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อการปฏิรูปกฎหมายสัญชาติในการขจัดและป้องกันปัญหาความไร้สัญชาติในประเทศไทย วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๕  โรงแรมเซ็นทราศูนยราชการและคอนแวนชันเซ็นเตอร์ จัดโดย UNHCR และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสวนาหัวข้อย่อยในประเด็นคนไร้รากเหง้า
โดย คุณวีนัส สีสุข

               ในครั้งที่ได้มีการปฏิรูปแก้ไขกฎหมายการทะเบียนราษฎร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑  ผ่านร่างพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ฉบับที่ ๒ ปี๒๕๕๑ โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ  ตอนที่มีการยกร่างกฎหมายดังกล่าวนั้นก็ได้มีการพิจารณาแล้วว่า จะทำอย่างไรให้เด็กที่เกิดในประเทศไทยทุกคนได้รับการจดทะเบียนอย่างครบถ้วน ซึ่งเราก็มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องดังกล่าว โดยได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐ ของพระราชบัญญัติ เป็นการกำหนดเชิงบังคับว่า เมื่อมีการแจ้งการเกิด ให้นายทะเบียนมีหน้าที่รับแจ้งการเกิด และออกสูติบัตรให้กับเด็กทุกคน ซึ่งวิธีการตามมาตรา ๒๐นี้ ใช้กับเด็กทุกกลุ่มไม่ว่าเด็กนั้นจะเป็นคนไทย หรือคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยก็ตาม อย่างไรก็ดี มาตรา ๒๐ ก็เป็นกฎหมายที่ใช้ได้ในสถานการณ์ปกติ กล่าวคือ เป็นการรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้กับเด็กที่อยู่ในสภาพปกติ มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองที่สามารถจะให้ข้อมูล ให้ข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียน สามารถมาทำหน้าที่ในการแจ้งการเกิดของเด็กต่อนายทะเบียนได้
                แต่ในกรณีของเด็กที่ตกอยู่ในสถานะของคนด้อยโอกาส ซึ่งในที่นี้หมายความถึง คนที่ถูกบิดามารดาทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ เป็นเด็กไร้เดียงสา เป็นเด็กเร่ร่อน หรือเป็นเด็กที่ไม่พบบุพการี ในกรณีดังกล่าวพระราชบัญญัติก็ได้มีการบัญญัติแนวทางการแก้ปัญหาไว้ในมาตรา ๑๙ วรรค ๑ กรณีเด็กแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสา และมาตรา ๑๙/๑ กรณีเด็กเด็กเร่ร่อนและเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งที่อยู่ในอุปการะของหน่วยงานรัฐหรือเอกชน  ซึ่งต้องทราบว่าเดิมนั้นเราไปกำหนดเด็กที่ตกอยู่ในสถานะของคนด้อยโอกาส ไว้แค่เฉพาะกลุ่มของเด็กตั้งแต่แรกเกิดและเด็กอ่อนเท่านั้น ซึ่งคำว่า เด็กอ่อน สำนักทะเบียนกลางได้มีการนิยามความหมายไว้ตามความเห็นของแพทย์ให้หมายความว่า “บุคคลตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ ๒๘ วัน” การให้คำนิยามดังกล่าวก็จะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เมื่อมีโอกาสแก้ไข เราจึงได้แก้ไขตามมาตรา ๑๙ โดยขยายอายุของเด็กเป็นเด็กแรกเกิดและเด็กไร้เดียงสา ซึ่งคำว่าไร้เดียงสานั้นก็ได้มีการนิยามไว้ในกฎกระทรวงปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ไว้ให้หมายความถึง “ เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุไม่เกิน ๗ ปี ”  ดังนั้นถ้าหากเด็กในช่วงแรกเกิดจนถึงอายุ ๗ ปี ถ้าถูกทอดทิ้งก็ให้ใช้มาตรา ๑๙ ในการแก้ปัญหา  โดยให้ผู้ที่พบเห็นหรือเก็บเด็กได้นำเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้มีหน้าที่ในการแจ้งเกิด โดยแจ้งที่สำนักทะเบียนใดๆก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสำนักทะเบียนที่เด็กเกิด อันเป็นการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักกฎหมาย ในกรณีของเด็กที่อายุไม่เกิด ๗ ปีและตกอยู่ในสถานะถูกทอดทิ้ง
                 ส่วนในกรณีของเด็กที่มีอายุเกินกว่านั้น โดยเราก็มีนิยามคำว่าเด็ก ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ว่าหมายถึง “บุคคลที่มีอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบูรณ์” ดังนั้นเด็กที่มีอายุเกิน ๗ ปีแต่ไม่เกิน ๑๘ ปีบริบูรณ์ ถ้าตกอยู่ในสถานะเด็กเร่ร่อน ไม่ปรากฏบุพการี หรือกรณีที่บุพการีอาจจะเสียชีวิตไปตั้งแต่วัยเยาว์ สืบค้นหาพยานหลักฐานไม่ได้ โดยที่มาตรา ๑๙/๑ ก็ได้ไปผูกไว้ว่า เด็กเหล่านี้ถ้าอยู่ในการดูแลอุปการะของหน่วยงานรัฐหรือเอกชน  ก็ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นมีหน้าที่จะต้องแจ้งเกิดให้กับเด็ก และถ้าเด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนก็ให้แจ้งต่อนายทะเบียนที่หน่วยงานสงเคราะห์นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่
                  แต่อย่างไรก็ตามก็เกิดปัญหาตรงที่ว่า การที่นายทะเบียนในประเทศไทยจะรับแจ้งเกิดใครสักคนนั้น ก็ต้องทราบสถานะทางการเกิด ว่าเด็กนั้นเกิดในประเทศไทยหรือไม่ และถ้าเกิดในประเทศไทยก็ต้องรับรู้สถานะทางสัญชาติของเด็ก ว่าเด็กนั้นเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ใช่คนสัญชาติไทย เพราะระบบการทะเบียนราษฎรของบ้านเรา ตั้งแต่ที่เอาระบบเลข ๑๓ หลักมาใช้ในปีพ.ศ. ๒๕๒๖ ก็ได้แยกประเภทของเลข และแบบพิมพ์การทะเบียนราษฎรที่จะมอบให้กับคนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยโดยเอาเรื่องของสัญชาติมาเป็นตัวกำหนดด้วย  ดังนั้นสำหรับเด็กที่มีปัญหาตามมาตรา ๑๙ และ มาตรา ๑๙/๑ ก็ได้มีการกำหนดไว้ในมาตรา ๑๙/๒ ว่าต้องไปผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวก็ออกมาตั้งแต่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ โดยออกมาตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๑ แต่ก็เกิดปัญหาตรงที่ เด็กเหล่านี้ไม่อาจแสวงหาพยานหลักฐาน หรือว่าสืบเสาะก็ไม่พบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับสถานะการเกิดหรือถิ่นที่เกิดของตนเองได้แต่อย่างใด
                 ดังกรณีตัวอย่างที่เข้ามาสู่เวทีของเรา เมื่อวานกรณีของคุณบัวรา ซึ่งมีข้อเท็จจริงชัดเจนว่า คุณบัวราได้ปรากฏตัวและเริ่มรู้ว่าตนเองอยู่ประเทศไทยเมื่ออายุประมาณ ๗ ขวบ ที่บึงกาฬ อาศัยอยู่ที่บ้านตายายซึ่งไม่ใช่ตายายแท้ๆ และบ้านหลังดังกล่าวก็อยู่ติดริมแม่น้ำโขง จากข้อเท็จจริงดังกล่าวก็มีโอกาสเป็นไปได้ว่า คุณบัวราอาจจะเป็นลูกคนลาวที่เอามาทิ้งไว้ฝั่งนี้ก็ได้ หรือบ้านเกิดอาจอยู่ฝั่งนี้ก็ได้ แต่เมื่อกลับไปแสวงหาคนที่จะยืนยันหรือรับรองว่าคุณบัวราเกิดตรงนั้น ก็พบว่าไม่มีใครอยู่เลย ซึ่งคุณบัวราเองก็ออกจากชุมชนนั้นมาเป็นเวลานานแล้ว
                 บุคคลเหล่านี้จึงเกิดปัญหาว่า เมื่อไปดำเนินการแจ้งเกิดต่อนายทะเบียน ก็จะติดเงื่อนไขว่า ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดของตนเองได้ เพราะไม่รู้ว่าตนเกิดที่ไหน เกิดในประเทศไทยหรือไม่ ดังนั้นการรับแจ้งเกิดจึงสะดุดลง แต่อย่างไรก็ตามแม้กระบวนการในการรับแจ้งเกิดจะสะดุดลงแล้ว กฎหมายก็มองต่อไปว่า จะทำอย่างไรไม่ให้บุคคลเหล่านี้ตกอยู่ในสภาวะไร้รัฐ (Stateless) พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงมีการบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙/๒ ว่าถ้ามีกรณีเด็กที่ไปแจ้งการเกิดแล้วไม่อาจพิสูจน์สถานการณ์เกิดได้ กำหนดให้นายทะเบียนต้องทำทะเบียนประวัติให้ ซึ่งแบบพิมพ์ประวัตินี้ ผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ก็ให้ใช้แบบพิมพ์ ทร.๓๘ก. และกำหนดให้เป็นบุคคลประเภทที่มีบัตรประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข ๐ ที่เรียกว่า บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งเป็นการให้เลขบัตรประจำตัวกับผู้ที่เข้าสู่กระบวนการแจ้งเกิดแต่ไม่อาจทำการแจ้งการเกิด เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์สถานะการเกิดได้  ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า กฎหมายไทยซึ่งก็คือพระบัญญัติการทะเบียนราษฎรเมื่อออกมาแล้ว จะสามารถดำเนินการแจ้งเกิดให้กับคนทุกคนได้หรือไม่ ก็ต้องเรียนว่า ยังไม่ได้ ยังไม่ครอบคลุม
                ซึ่งในกรณีของคนที่เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาและก็ตกอยู่ในสถานะของคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พระราชบัญัติการทะเบียนราษฎรก็ได้บัญญัติในมาตรา ๓๘ ให้มีการจัดทำทะเบียนประวัติเช่นเดียวกัน แต่ตอนนี้เรากำลังเน้นในกลุ่มของคนไร้รากเหง้าว่าเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร กล่าวคือทำอย่างไรให้บุคคลเหล่านี้มีหลักฐานที่เหมาะสมกับสถานะของเขา เนื่องจากว่าเมื่อเราให้เลขประจำตัวและกำหนดให้มีสถานะตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว ก็เริ่มทำให้มองเห็นสภาพปัญหาที่เกิดตามมาแล้วว่า คนที่มีบัตรเลข ๐ ตาม พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร กับคนเลข ๐ ตามนโยบายของรัฐที่ออกมาเป็นยุทธศาสตร์ จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาในสิทธิสถานะบุคคล สิทธิในเรื่องของการดำรงความเป็นมนุษย์อยู่ในสังคม สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แตกต่างกันในหลายๆเรื่อง
              การเข้าสู่กระบวนการของคนไร้รากเหง้าตามยุทธศาสตร์ปี ๔๘ นั้น กระบวนการดังกล่าวจะทำให้คนไร้รากเหง้าสามารถพัฒนาสถานะของตนเองได้ โดยยุทธศาสตร์ปี ๔๘ ก็ได้มีมติครม.ที่กำหนดหลักเกณฑ์รองรับยุทธศาสตร์แล้วเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ และตอนนี้ก็ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยออกมาแล้ว โดยมีการแบ่งว่า ถ้าเป็นกรณีคนไร้รากเหง้าที่เกิดในประเทศไทยก็ได้สัญชาติไทยไปตามมาตรา ๗ ทวิ พระราชบัญญัติสัญชาติ ซึ่งเน้นว่าต้องเป็นคนไร้รากเหง้าที่เกิดในประเทศไทย แต่ถ้าเป็นคนไร้รากเหง้าที่อพยพเข้ามา กล่าวคือ คนไร้รากเหง้าที่เกิดนอกราชอาณาจักรและย้ายเข้ามาในประเทศไทย ก็ให้เป็นต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และสุดท้ายคนไร้รากเหง้าที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ตนเองเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทยนั้นทำอย่างไร ยกตัวอย่างกรณีคุณบัวรา ซึ่งตัวคุณวีนัสเองนั้นเองนั้นก็เชื่อว่าคุณบัวราเกิดประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าคุณบัวราเกิดประเทศไทย คุณบัวราเองนั้นก็ยอมรับโดยจำนนว่าจะเป็นคนต่างด้าวตามยุทธศาสตร์ เพื่อที่จะได้มีช่องทางในการพัฒนาสถานะตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนดต่อไป ซึ่งถามว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนถาวรหรือไม่ ในความเห็นของคุณวีนัสนั้น คุณวีนัสเห็นว่ายังไม่ใช่ และที่สำคัญนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ออกมาตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็ไม่ได้แก้ปัญหาให้คนไร้รากเหง้าทุกคน เนื่องจากมิติของการพัฒนาสถานะตามยุทธศาสตร์ ซึ่งออกมาเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยไปเขียนไว้ว่าจะพัฒนาสถานะให้ในเบื้องต้นเฉพาะคนที่ได้รับการสำรวจถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๒ จำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ คน ซึ่งคุณบัวรานั้นได้รับการสำรวจในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จึงไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการกำหนดสถานะ ก็คือ ต้องเป็นมีบัตรประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข ๐ (คนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน)อยู่ต่อไป จะพัฒนาสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ได้ แม้ว่าจะยอมรับว่าตนเองเป็นต่างด้าว ยอมรับในสถานะดังกล่าวโดยจำนน เพราะอยากที่จะมีสถานะมีสิทธิที่ดีกว่านี้ ก็ไม่สามารถทำได้ นี่คือปัญหาประการหนึ่ง ซึ่งก็จะมีผลต่อเนื่องไปยังเรื่องของการอาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการทำงาน
             ซึ่งจะมีความแตกต่าง ระหว่างระบบการพัฒนาสถานะด้วยยุทธศาสตร์ กับระบบการพัฒนาสถานะด้วยกฎหมายการทะเบียนราษฎร ซึ่งปัจจุบันนี้ ตัวยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้นก็ปิดไปแล้ว และเราก็ไม่ทราบว่ายุทธศาสตร์ใหม่ ที่ออกมาเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ จะมีแนวทางที่จะแก้ปัญหาให้กับคนไร้รากเหง้าที่ตกหล่นอยู่อีกหรือไม่ อย่างไร
             เมื่อพิจารณามิติของการขจัดปัญหาคนไร้รากเหง้าให้พ้นจากความเป็นคนไร้รัฐ โดยพิจารณาจากกฎหมายการทะเบียนราษฎร ก็พบว่ากฎหมายดังกล่าวมีมาตราที่ดูแลในเรื่องนี้ครบถ้วน ทุกคนสามารถที่จะมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร ทุกคนสามารถที่จะมีเลข ๑๓หลักได้ มีรัฐเจ้าของตัวบุคคลได้ แต่ตรงนี้จะเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องของการไร้รัฐเท่านั้น แต่ในส่วนของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอื่นๆก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีมาตรการนโยบายที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต แต่ถ้าจะทำให้สมบูรณ์และเชื่อมโยงไปถึงการแก้ไขในเรื่องของสัญชาติด้วย ในความเห็นของคุณวีนัสเห็นว่าจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายการทะเบียนราษฎรอีกครั้ง เนื่องจากตั้งแต่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ฉบับที่ ๒ นี้มาตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เราก็เริ่มเห็นปัญหาแล้วว่ามีคนอีกจำนวนมากที่อยู่ในประเทศไทย แต่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดของตนเอง หรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวเองเป็นคนที่เกิดในประเทศไทยหรือไม่ โดยปัจจุบันถ้าพิจารณาจากการศึกษากฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทยก็ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดที่บัญญัติรับรองเพื่อแก้ปัญหาของบุคคลเหล่านี้ บุคคลที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าตนเองเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
              ดังนั้นกฎหมายที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้ก็คือกฎหมายการทะเบียนราษฎร ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขโดยเฉพาะการเพิ่มเติมแนวทางการแก้ปัญหาของกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสหรือเป็นคนที่ไร้รากเหง้า โดยไปแก้ในมาตรา ๑๙/๒ ในกระบวนการพิสูจน์สถานะการเกิด โดยจะต้องมีบทสันนิษฐานว่า ถ้าเป็นกรณีที่ไม่อาจแสวงหาพยานหลักฐานได้ ไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเกิดในหรือเกิดนอกราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดๆก็ตาม หรืออาจจะผูกเงื่อนไขเพิ่มเติมไปอีกว่า ถ้าอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องและมีหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนว่าอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไป ก็ให้กฎหมายสันนิษฐานว่า บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย
ซึ่งแนวคิดในการแก้ปัญหาคนไร้รากเหง้าโดยใช้ข้อสันนิษฐานของกฎหมายข้างต้นก็มีแล้วในประเทศใกล้เคียง ประเทศเพื่อนบ้านของเราที่เป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนเช่นเดียวกันกับประเทศไทย คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งได้มีบทบัญญัติดังกล่าวไว้ในกฎหมายสัญชาติ ตัวอย่างเช่น กฎหมายสัญชาติของราชอาณาจักรกัมพูชา ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔ วางหลักว่า“บุคคลดังต่อไปนี้ เกิดในราชอาณาจักรกัมพูชา มีสัญชาติและสถานะพลเมืองกัมพูชา
                     ...เด็กแรกเกิดโดยบิดามารดาไม่เป็นที่ปรากฏ...
                     ...เด็กแรกเกิดที่พบในราชอาณาจักรกัมพูชา...”
           เมื่อเข้าตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดก็ไม่ต้องไปพิสูจน์สถานะการเกิด หรือกรณีที่พิสูจน์ไม่ได้จริงๆ ถ้าพบตัวในกัมพูชาก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเกิดที่ราชอาณาจักรกัมพูชา และให้มีสัญชาติและสถานะพลเมืองกัมพูชา
  หรือตัวอย่างกฎหมายสัญชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปีพ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๓ วางหลักว่า “สัญชาติของเด็กที่ไม่ทราบว่าใครเป็นบิดามารดา คนไร้รากเหง้า หรือเด็กที่พบอยู่ในดินแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและไม่รู้ว่าใครเป็นบิดามารดา ถือว่าเป็นพลเมืองลาว...” ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาคนไร้รากเหง้าโดยใช้กฎหมายสัญชาติ
              แต่ในความเห็นของคุณวีนัส เห็นว่าปัญหาเรื่องนี้เกิดจากช่องว่างของกฎหมายการทะเบียนราษฎร แลละที่สำคัญก็คือ ถ้าการแก้ไขสามารถดำเนินการได้ คนไร้รากเหง้าเหล่านี้ ก็จะรอดพ้นจากความไร้สัญชาติต่อเนื่องกันไปอีกด้วย
             ในปัจจุบันแนวทางสำหรับคนที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานะการเกิดได้ว่าเกิดในหรือเกิดนอกราชอาณาจักรไทย ว่าจะเข้าสู่กระบวนการของกฎหมายสัญชาติอย่างไรนั้น ถ้าหากเป็นกรณีที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนต่างด้าวก็เข้าสู่กระบวนการแปลงสัญชาติ แต่ก็ต้องไปดำเนินการแปลงสัญชาติซึ่งมีหลักเกณฑ์มากมาย หรือถ้าเป็นหญิงก็ไปจดทะเบียนสมรสกับชายที่มีสัญชาติไทย แล้วก็ไปขอสัญชาติตามสามี ซึ่งวิธีการดังกล่าวก็ไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่สมควร และการได้สัญชาตินั้นก็ไม่ใช่สัญชาติไทยโดยการเกิดอีกด้วย
              การได้สัญชาติไทยโดยการเกิดของเรานั้นก็มีแค่การได้เนื่องจากเกิดในราชอาณาจักร(ได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดน)กับกรณีที่เกิดนอกราชอาณาจักรแล้วก็ไปผูกกับเรื่องสายโลหิต (ได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต จากบิดา-มารดา)

             
             ดังนั้นเมื่อเราไปแก้กฎหมายการทะเบียนราษฎรว่าให้คนไร้รากเหง้าเป็นคนที่เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อไหร่ กระบวนการพิจารณาสัญชาติก็จะเป็นเรื่องที่ดำเนินสืบเนื่องต่อไปได้โดยผลของการที่กฎหมายการทะเบียนราษฎรได้ยอมรับว่าคนๆนั้นเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ส่วนว่าจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือหลังการเกิด หรือได้สัญชาติไทยไทยโดยหลักอะไร หรือไม่ได้สัญชาติไทย ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติที่จะต้องไปพิจารณากันต่อไปว่า จะปรับแก้อย่างได้ไรบ้าง ในเบื้องต้นคุณวีนัสขอเรียนในประเด็นดังกล่าวต่อที่ประชุมเพียงเท่านี้ก่อน

                                                                          

                                                                              บันทึกและเรียบเรียงโดยนางสาวปรางค์สิรินทร์  เอนกสุวรรณกุล

                                                                                                                          วันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕



หมายเลขบันทึก: 514210เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2012 03:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท