การมีส่วนร่วมของประชาชน...สู่ความเป็นเจ้าของระบบสุขภาพ : กรณีผู้พิการกับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน(CBR)


                         การมีส่วนร่วมของประชาชน...สู่ความเป็นเจ้าของระบบสุขภาพ

                : กรณี ผู้พิการ กับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน(CBR)

                                                                                                            บรรยาย : ผศ.ดร.ปัตพงษ์  เกษสมบูรณ์

                                                                   ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

                ลุง สมหวัง” ไม่มีรอยยิ้ม ไม่ค่อยพูดจา เก็บตัวมักเก็บตัวอยู่มุมหนึ่งของบ้าน เนื่องจากพิการขาทั้งสองข้างเดินไม่ได้ วันหนึ่งชุมชนจึงได้รวมตัวกันไปถามไถ่ ชวนคุย และวิเคราะห์สภาพแวดล้อมร่วมกันจึงพบว่า ‘ห้องน้ำ’
ที่ลุงสมหวังใช้นอกจากจะอยู่ไกลตัวบ้านแล้ว ยังไม่เหมาะสมกับคนพิการที่เมื่อใช้แล้วจะสามารถลุกขึ้นเองได้
อีกทั้งคนในครอบครัวไม่ค่อยมีเวลาช่วยเหลือ จึงรวมตัวกันสร้างส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ให้โดยได้รับสนับสนุนอุปกรณ์และแรงงานจากคนในชุมชน นอกจากนี้ยังชวนพูดคุย ถามไถ่เป็นประจำ ฝึกการเดินด้วยไม้เท้าสี่ขา ทำให้ลุงสมหวังสามารถเดินเข้าห้องน้ำและทำกิจวัตรประจำวันเองได้ กลับมามีเสียงและรอยยิ้มอีกครั้งหนึ่ง

              “คนพิการ” เป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ประมาณการคนพิการที่จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2517 มีคนพิการประมาณ ร้อยละ 0.5 ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.7 ในปี 2545 และเกือบร้อยละ 3 ในปีพ.ศ.2550 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ กว่า 1 แสนคน3(สำนักงานสถิติแห่งชาติ,2551) คนพิการส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตในครอบครัว เนื่องจากช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เคลื่อนไหวลำบาก
ขาดความมั่นใจ และสังคมไทยยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนพิการ

               ปัจจุบันสังคมไทยได้มีการยอมรับและเชื่อว่าการเสริมสร้างพลังให้กระบวนการรักษาและฟื้นฟูคนพิการมีความเข้มแข็งและยั่งยืน จะต้องเริ่มจากคนพิการเอง ครอบครัวของคนพิการ และชุมชนที่คนพิการอาศัยอยู่ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ริเริ่มและสนับสนุนให้ดำเนินงานตามแนวคิดการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน(Community-Based Rehabilitation: CBR) (World Health Organization, 2005) ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมด้านการฟื้นฟู การพัฒนาคนพิการโดยชุมชน เป็นผู้วางแผนดำเนินการและประเมินผล จากฐานความต้องการและสภาพเงื่อนไขภายในชุมชนนั้นๆ เปิดโอกาสให้คนพิการ ครอบครัวคนพิการ สมาชิกชุมชน ตลอดจนองค์กรหน่วยงานต่างๆ ทั้งนอกและในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกกิจกรรม โดยมีเป้าหมายให้คนพิการในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ในสังคมและชุมชนได้อย่างเสมอภาค

                กรณีลุงสมหวัง การสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ทำโดยวิเคราะห์ครอบครัวและชุมชน
เริ่มที่การวิเคราะห์ว่าในชุมชนนั้นๆ ใครเข้มแข็งและเป็นผู้นำที่แท้จริง เช่นเดียวกับในครอบครัวที่ควรทำความเข้าใจว่าใครมีเงื่อนไขเหมาะที่สุด ที่จะร่วมให้การช่วยเหลือดูแลคนพิการในครอบครัว แล้วดึงศักยภาพคนในครอบครัวและชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล รักษา ส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการเช่น ชวนให้เป็นอาสาสมัคร ให้ความรู้และฝึกทักษะที่จะช่วยเหลือดูแลคนพิการ โดยการนำความรู้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในครอบครัวและชุมชนมาใช้ในการดูแลคนพิการ นอกจากนี้ ยังถือเป็นการสร้างเครือข่ายการดูแลคนพิการในชุมชนเป็นเครือข่ายครอบครัว จิตอาสา ทั้งนี้อาจนำศักยภาพสมาคม
/ชมรม/กลุ่มคนพิการ โดยให้ รพช. และ รพ.สต. ร่วมเป็นพี่เลี้ยง ร่วมเป็นเพื่อนเยี่ยมเพื่อนด้วย

                คุณค่าของงาน CBR มีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมไทย โดยนำไปสู่การเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน การจัดการทรัพยากรที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนการปรับทัศนคติในทางบวกแก่คนในชุมชนและตัวคนพิการเอง การสนับสนุนโอกาสและสิทธิของคนพิการ การสนับสนุนการฟื้นฟูสภาพทุกส่วนตามศักยภาพที่มีอยู่ของคนพิการ การสนับสนุนให้คนพิการอยู่ร่วมกับชุมชนในฐานะสมาชิกที่เสมอภาคในชุมชนมีความสุขและความอบอุ่น ที่สำคัญ ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันในการจัดการระบบสุขภาพ ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

                                                                                                                                               อลิสา/ สรุป

อ่านเพิ่ม

- วิสัน สุคะมะโน.2555. การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน (CBR) http://school.obec.go.th/specialsatun/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=13

- รัชนี สรรเสริญ. การบูรณาการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ในสถานบริการปฐมภูมิ: บทเรียนรู้จากประเทศไทย. วารสาร การพยาบาลและการศึกษา. ปีที่ 3 ฉ.2 (พ.ค.-ส.ค.53)

 

หมายเลขบันทึก: 514136เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท