การจัดการความรู้ในยุคสังคมฐานความรู้: ปลาทูแห่งปัญญา


“โมเดลปลาทู” คือแบบจำลองง่ายๆ ของ “การจัดการความรู้” แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ “หัวปลา+ตัวปลา+หางปลา”

สืบเนื่องจากเมื่อเสาร์ที่ 16 กันยายน 2549 บุคลากร 10 คนจากฝ่ายอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับมอบหมายให้เข้ารับการอบรมทางวิชาการเรื่อง การจัดการความรู้ในยุคสังคมฐานความรู้ (Knowledge Management in the Knowledge-based Society) จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังต่ออีกหนึ่งเรื่อง

ในการฟังบรรยายในวันนั้นผมประทับใจวิทยายุทธ์ในการถ่ายทอดความรู้ของดร.ประพนธ์เป็นอย่างยิ่ง ท่านนำเอา ปลาทู (ซึ่งผมชอบรับประทานมาก) มาสอนเรื่อง การจัดการความรู้ ให้ดูเป็นเรื่องง่ายๆ ในพริบตา ทำให้ผมรู้สึกรักปลาทูมากยิ่งขึ้น อยากรับประทานปลาทูทุกวัน!!!

โมเดลปลาทู คือแบบจำลองง่ายๆ ของ การจัดการความรู้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ หัวปลา+ตัวปลา+หางปลา

เรามาทำความรู้จักกับส่วนแรกกันเลย ส่วนนี้คือ หัวปลา ซึ่งเรียกว่า “Knowledge Vision: KV” อันหมายถึง วิสัยทัศน์ (Vision) หรือทิศทางของการจัดการความรู้ ด้วยการตอบคำถามว่า ทำ KM ไปทำไม? ทำไปเพื่ออะไร?” คำตอบตัวอย่างก็ได้แก่ เพื่อความเป็นเลิศ หรือ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน เป็นต้น

ส่วนต่อมาก็คือ ตัวปลา ซึ่งเรียกว่า “Knowledge Sharing: KS” ส่วนนี้เป็น หัวใจ ที่ให้ความสำคัญกับ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share & Learn/ลปรร.) ซึ่งควรเป็นการแลกเปลี่ยนกันด้วย ใจ ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ต้องมีการเปิดโอกาสให้มีการรับฟัง มีการชื่นชม ผู้ให้และผู้รับมีความใกล้ชิด เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน สบายๆ ไม่เป็นทางการ

ปลาทู KM ส่วนสุดท้าย ก็คือ หางปลา ซึ่งเรียกว่า “Knowledge Assets: KA” เป็น คลังความรู้ สำหรับรวบรวม จัดเก็บ ความรู้ที่ได้รับอย่างเป็นระบบ ช่วยให้การแพร่กระจายความรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่าย ประยุกต์ใช้ ICT สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่มีพลังดุจหางปลาสะบัดเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเบื้องหน้า

พอเล่ามาให้ฟังถึงตรงนี้แล้วก็คงจะนึกออกแล้วนะว่า ปลาทูแห่งปัญญา คืออะไร หากไม่กระจ่าง ก็จะได้แถลงไขให้ทราบต่อไป

อาจารย์ประพนธ์ได้ให้ตัวอย่างของ คลังความรู้ (Knowledge Assets)” ที่น่าสนใจไว้หนึ่งตัวอย่าง นั่นก็คือ Blog ซึ่งเป็นการนำเอา ICT ประยุกต์ใช้เพื่อสร้างแหล่งรวบรวมจัดเก็บและเผยแพร่ ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทางอินเทอร์เน็ตอย่างได้ผล

ตัวอย่าง Blog ที่อาจารย์ประพนธ์ได้สร้างไว้ คือ 

http://gotoknow.org/blog/beyondkm

ใน Blog แห่งนี้เป็นประตูสู่องค์ความรู้ต่างๆ อีกมากมาย เราสามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ผมเองก็ได้ความรู้ "การจัดการความรู้" จากที่แห่งอย่างมากมายในชั่วเวลาอันสั้น

ที่เขียนมาให้อ่านทั้งหมดนี้ก็คือ ลปรร. นั่นเอง เมื่อเรียนรู้ ก็เอามาเล่าสู่กันฟัง ผมตั้งใจให้มันคือจุดเริ่มต้นของการทำ KM ในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ถึงตรงนี้ก็บอกได้ว่า การถูกกำหนดให้มี หน้าที่ เข้าอบรมเรื่อง การจัดการความรู้ในยุคสังคมฐานความรู้ นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง

Blog ที่ท่านกำลังอ่านอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นผลสัมฤทธิ์จากการฝึกอบรมที่ได้รับ มันจะเป็นช่องทางในการนำเอาความรู้ที่ได้สั่งสมมาตลอดระยะเวลาการทำงานบริหารอาคารสถานที่อันยาวนานมาเผยแพร่สู่สาธารณะ อันจะเป็นประโยชน์ชุมชนไม่มากก็น้อย

โปรดติดตามชมพัฒนาการของ KM ในการบริหารอาคารสถานที่ด้วย KS เรื่อง

วิจัยและพัฒนาการบริหารอาคารสถานที่อย่างยั่งยืน

http://gotoknow.org/blog/RD-SD-Building

หมายเลขบันทึก: 51394เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2006 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โมเดลปลาทูกับโมเดลปลาลังคล้ายกันมิคะคุณศุภโชค

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท