ยามว่างของนักเรียน (เล่น) ขอหลบหน้าจอ สู่โลกกว้าง


ยามว่างของนักเรียน (เล่น) ขอหลบหน้าจอ สู่โลกกว้าง


กิจกรรมดีที่เก็บมาฝากกันหนนี้  เป็นของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของเล่น และการละเล่นเด็กเพื่อพัฒนาผู้เรียนศูนย์เครือข่ายการศึกษานาหม่อม ซึ่งโรงเรียนวัดโพธาราม ต.ทุ่งขมิ้น อ.นาหม่อม จ.สงขลา จัดขึ้น โดยการสนับสนุนของเครือข่ายพุทธิกา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แนวคิดจากโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา



กิจกรรมทีว่านี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการปฏิบัติการของเล่น การละเล่นของเด็กรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาการจัดการศึกษาเพื่อสุขแท้ทางปัญญาของผู้เรียน ดำเนินงานโดยวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จัดค่ายการเรียนรู้ของเล่น และการละเล่น เพื่อพัฒนาผู้เรียนศูนย์เครือข่ายการศึกษานาหม่อม



จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้ “ครูน้อย” นางอภิรดี ผิวดี ผู้ดูแลโครงการอธิบายว่า เป็นเพราะเยาวชนไปเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์กันมากขึ้นจนกลายเป็นปัญหา ทั้งปัญหาด้านการเรียน หรือสุขภาพในด้านสายตา เหตุนี้กิจกรรมจึงใช้ความคิดพื้นฐาน เชื้อเชิญให้เยาวชนหันมาเล่นกีฬา หรือการละเล่นแบบเก่า ที่ทั้งสร้างความสนุกสนาน ความสามัคคี และหาจุดร่วมระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่น กับธรรมชาติของเด็ก เพราะจะได้อนุรักษ์ของเล่นไปในคราวเดียวกัน


“เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงเขาจากเมื่อก่อนเขาไม่รู้จัก แต่ตอนนี้สามารถบอกคนอื่นได้สอนคนอื่นได้ ตัวเด็กเองก็เกิดทัศนคติตามแบบของสุขแท้คือ มีการเอื้อเฟื้อ จะมีเรื่องการให้มากขึ้น แต่ก่อนต่างคนต่างกลับบ้าน ตอนนี้จะมีเรื่องการสอนการบ้านกันบ้าง ทำของเล่นเสร็จแล้วเอาไปให้น้องเล่น ปกติในหลักสูตรมีหลักสูตรสาระท้องถิ่นอยู่แล้วก็เลยนำโครงการไปเข้าร่วมด้วยเพื่อให้เกิดความยั่งยืน อย่างน้อยเราก็เป็นแหล่งเรียนรู้ให้โรงเรียนอื่นมาดูหลักสูตรเราได้” ครูน้อยบอก


นอกจากนี้การเล่นละเล่นแล้ว ในค่ายยังมีการเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆในอดีตให้เด็กๆ ฟังด้วยจะได้ทั้งความสนุกและความรู้ถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นับวันจะเลือนหาย อย่างที่ “นพนิตย์ ประสมพงษ์” ปราชญ์ชาวบ้าน ออกตัวแต่ตอนแรกว่า ต้องเข้าใจว่าการที่เด็กไปสนใจการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ อาจเป็นเพราะของเล่นโบราณหลายชนิด ต้องใช้พื้นที่ในการเล่น สถานที่ปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย




แต่กระนั้นข้อดีของของเล่นสมัยก่อนคือไม่ต้องซื้อสามารถหาวัสดุในชุมชนมาทำเล่นเองได้ เช่น การเล่นยิงราว ที่ใช้ไม้ไผ่สองท่อน เอาไปปักลงดิน และนำหนังยางไปคล้องไว้ หลังจากนั้นนำยางเส้นๆ ไปวางบนยาวเส้นที่คล้องไว้กับไม้ การเล่นคือจะมีตัวหนอน (ยางถัก นำมาร้อยกันจนได้ความหนาและยาวพอสมควรเพื่อใช้ยิง) ให้ยิงตัวหนอนไปที่รวมซึ่งมียางวางอยู่ใครยิงยางตก ก็จะได้ยางเส้นที่ตกไป ใครยางหมดก่อนถือว่าแพ้และจะโดนยึดหนังยางไปด้วย



“ของเล่นสมัยก่อนไม่ต้องเสียเงินซื้อแต่ของเล่นสมัยนี้ต้องเสียเงินซื้อ ปัจจุบันเด็กทำของเล่นไม่เป็น โครงการนี้ดีเด็กจะได้มีประสบการณ์จะได้รู้อะไรจากคนแก่ๆ บ้าง จากเพื่อนบ้าง ซึ่งถือว่าได้ถ่ายทอดวิธีการเล่นและของเล่นสมัยโบราณให้คงอยู่สืบไป” ปราชญ์ชาวบ้านกล่าว


หันมาลองถามสอบถามมุมมองของเยาวชนก็ดูจะประทับใจไม่แพ้กัน อย่าง ด.ญ.ศรัณย์พร นวลนิล นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดโพธาราม ที่มาร่วมกิจกรรมนั้น แม้จะยอมรับว่า ชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ แต่ก็รู้ดีว่าจะทำให้เสียสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องสายตา และหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ และประทับใจกับเล่นจากใบมะพร้าว เพราะได้เรียนรู้และสามารถนำไปทำแจกเพื่อนๆ และน้องๆ ได้


“วันนี้ได้แนวทางการสานปลาตะเพียนไปแล้วน่าจะไม่ยากเท่าไหร่ ปีใหม่นี้จะสานให้หลาน 2 คน คนหนึ่งประมาณ 2 เดือน อีกคนหนึ่งเข้าอนุบาลแล้ว เขาน่าจะดีใจที่เราทำให้เขา ของเล่นที่เราซื้อมาเป็นของที่คนอื่นทำไม่ใช่เราทำ ของที่เราทำเองเราทำแล้วให้เพื่อนมันรู้สึกดีค่ะ ไม่เหมือนซื้อมาแล้วให้เพื่อน อยากหัดทำเรือ” ด.ญ. ศรัณย์พร กล่าว



หรือเขยิบอายุมาหน่อย ที่ กอล์ฟ-ไตรภพ แก้วคง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกว่า เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ ม.2 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือจากเดิมที่เคยเป็นเด็กติดเกมส์ แต่เมื่อได้เข้าโครงการก็ได้เรียนรู้การประหยัด ไม่พึ่งวัตถุ ส่งผลให้ ปรับเวลาในการเล่นเกมส์น้อยลง เมื่อตัวเองเริ่มเปลี่ยนจึงผันตัวเองสู่การเป็นพี่เลี้ยง เพราะอยากเรียนรู้ว่าของเล่นโบราณทำออกมาแล้วจะมีวิธีการเล่นอย่างไร 


“อยากรู้ถึงกรรมวิธีของวัสดุในการเอามาทำเพราะไม่มีค่าใช้จ่าย เช่นเรือที่ทำจากก้านกล้วย เราสามารถแข่งกันได้ชวนเพื่อนๆมาเล่นได้ด้วย มีกลุ่ม มีสังคม และจะไม่เสี่ยงต่อการติดยาเสพติด คือเราทำของเล่นเล่นกันอยู่กันเป็นกลุ่มในชุมชน แต่การเล่นเกมส์ออนไลน์เราจะใช้อินเตอร์เน็ตสื่อสารกันได้ บางทีเราไปเจอพวกเอเยนค้ายาเขาก็สามารถชักจูงทำให้เราลองถ้าเราไปเจอกับเขาบางทีเขาอาจผสมยามาในของกินและอาจจะทำให้เราติดที่นี้เราก็เข้าไปพัวพันในสิ่งไม่ดีได้” นายไตรภพ กล่าวทิ้งท้ายถึงความรู้สึกหลังร่วมกิจกรรม


แม้จะไม่ทันสมัย ไม่หวือหวา แบบที่เด็กวัยอย่างพวกเขาต้องการ แต่การละสายตาจากหน้าจอ มาลองผลิตและเรียนรู้ของเล่นหนนี้ น่าจะได้อะไรมากกว่าความบันเทิงเป็นแน่

หมายเลขบันทึก: 513864เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2012 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2012 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท