เปิดใจนักไอทีรุ่นเยาว์


เปิดใจนักไอทีรุ่นเยาว์ ชนะเลิศการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ระดับประเทศ ปี 2549
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ รอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ ประจำปี 2549 ขึ้นเมื่อวันที่ 1-4 ส.ค. 2549 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรอแยล เบญจา สุขุมวิท 5 กรุงเทพฯ การแข่งขันครั้งนี้เป็นฝึกให้เยาวชนได้คิดแก้ปัญหาการบูรณาการความรู้ในเรื่องของการเขียนโปรแกรม นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่นักเรียนของเราจะได้ “จุดประกาย” ความสนใจในเรื่องของการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพราะหุ่นยนต์จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เยาวชนเหล่านี้เกิดความสนใจศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขั้นสูงต่อไป เพราะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์บังคับหุ่นยนต์เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ผลการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ ปรากฎว่า รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายฐปน วรวุฒิวัฒน์ และนายสุระวัชร์ กิตติวัชราพงษ์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายบรรชร ชัยอภิวัฒน์ และนายนิธวัฒน์ ลีละวัฒนพันธ์ โรงเรียนเบญจม ราชูทิศ จ. นครศรีธรรมราช รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 โรงเรียน ได้แก่ นายกฤษฎา มาชัยวงศ์ และ นายวัชรินทร์ คำอินต๊ะ โรงเรียนลำปางกัลยาณี จ. ลำปาง นายธวัชชัย คงใหม่ และนายอรุณ เรืองศรี โรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม จังหวัดพัทลุง ส่วนเด็กข้างบ้านของ สสวท. อย่างโรงเรียนปทุมคงคานั้น เป็นปีแรกที่ได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ 8 ทีมสุดท้าย โดยคว้ารางวัลชมเชยไปครอง เยาวชนคนเก่งรางวัลชนะเลิศ จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยนายฐปน วรวุฒิวัฒน์ (ไอวี่) ชั้น ม. 5 เล่าว่า ช่วงที่เรียน ม. 3 อาจารย์มาถามว่าสนใจเขียนโปรแกรมหรือเปล่า จึงได้ฝึกฝนมาเรื่อย ๆ พอเริ่มฝึกก็หุ้นกับเพื่อนซื้อชุด kit หุ่นยนต์มา 1 ชุด มาใช้ทดลองกันเอง เพราะตัวเองชอบเรื่องกลไกอยู่แล้ว ตอนเล็ก ๆ ก็ชอบเล่นชุดเลโก้เพื่อการเรียนรู้ชุดต่าง ๆ โดยเฉพาะประเภทที่มีเฟืองและเพลา ชุดกล่องสมองกลที่พัฒนาขึ้นโดย สสวท. ก็เหมือนกับสิ่งที่สนใจตอนเด็กพอดี และก็มีโอกาสลงสนามแข่งขันตั้งแต่เรียนชั้น ม. 3 มาเลยทีเดียว ไอวี่เล่าว่าในช่วง 3 ปีของการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์นั้น ได้เขียนคำสั่งที่หลากหลายขึ้นเรื่อย ๆ ในการแข่งปีนี้ที่ลุ้นและตื่นเต้นก็คือตอนที่หุ่นยนต์ทำประตูว่าลูกบอลจะตกหรือทำประตูได้หรือเปล่า หรือหุ่นยนต์จะวิ่งออกมาดื้อ ๆ ค่อนข้างตื่นเต้น และเหนื่อยไม่ใช่ย่อย เพราะสนามแข่งขันปีนี้ลำบากมาก ซับซ้อนกว่าปีก่อน ๆ นายสุระวัชร์ กิตติวัชราพงษ์ (ปุ๊ง) ชั้น ม. 5 บอกว่า ได้ประสบการณ์เพิ่มขึ้น ได้รู้ว่าเวลาเจอคู่แข่งต้องทำอะไรบ้าง การเตรียมตัวก็คือ ดูสนาม คาดเดากติกาล่วงหน้า แล้วเขียนโปรแกรมเตรียมไว้ ตอน ที่แข่งนั้นการรับค่าแสงของหุ่นยนต์มีปัญหา เพราะพื้นกับเส้นสีไม่ต่างกันเท่าไหร่จึงทำให้อ่านค่าผิดพลาดครับ เทคนิคการเขียนโปรแกรมของผมก็คือหมั่นศึกษาด้วยตัวเองไปเรื่อย ๆ และหมั่นหาความรู้ใหม่ ๆ ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ. นครศรีธรรมราช นั้นนายบรรชร ชัยอภิวัฒน์ (ชร) ชั้น ม. 4 บอกว่า เริ่มสนใจการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ตั้งแต่ ม. 2 อาจารย์ได้เปิดการอบรมเขียนโปรแกรม ฯ ให้นักเรียนที่สนใจเป็นพิเศษ ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบหุ่นยนต์อยู่แล้ว “พอเริ่มเขียนโปรแกรมแล้วทำได้ สนุก ทำแล้วมีความสุข เลยทำต่อมาเรื่อย ๆ” เป็นการปฏิบัติจริง ได้ใช้ความรู้ ที่เรียนมา ใจเย็น วางแผน ทักษะที่ใช้จริง ๆ แล้วไม่ต้องมี ขอให้ใจรัก ถึงไม่มีเลยก็เริ่มต้นฝึกความรู้ทักษะใหม่ได้ ชรเริ่มลงสนามแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ตั้งแต่ ม. 2 โดยครั้งนี้เป็นปีที่ 3 ซึ่งตอนนั้นมีการแข่งเป็นสาย มีบางทีมขาดไม่ได้ไปแข่ง “การแข่งครั้งแรกผมเป็นตัวสำรอง ทำหน้าที่แข่งแทนทีมที่ไม่ได้มา” เคล็ดลับการเรียนคอมพิวเตอร์ ทุกวิชาต้องเรียนในสิ่งที่ตัวเองรัก และต้องรู้ว่าเรียนไปแล้วใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง ประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งครั้งนี้คือการบริหารเวลา มีสติ พัฒนาฝีมือตัวเอง แข่งไม่โหด แต่ทุกปีสนามแข่งจะยากขึ้นเรื่อย ๆ ผมประทับใจการแข่งขันและยินดีกับผลการแข่งครั้งนี้มากครับ เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยาก อนาคตอยากเป็นวิศวกรหรือนักวิทยาศาสตร์ เพราะสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์และการแก้ปัญหา นายนิธวัฒน์ ลีละวัฒนพันธ์ (ปอน) ชั้น ม. 4 เล่าว่า ปัญหาที่พบ คือ เส้นเป็นชั้นอยู่ เวลาเลี้ยวจับเส้นแล้วจะเดินขึ้นไปบนเส้นไม่ได้ เริ่มลุ้นตั้งแต่ตอนเข้ารอบ 8 ทีมแล้วครับ คิดว่า แค่ได้เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายก็ดีมากแล้ว เพราะเราเป็นทีมต่างจังหวัด พอเข้ารอบชิงชนะเลิศก็รู้สึกตื่นเต้น ประหม่า ปกติผมเขียนโปรแกรมอยู่แล้ว และ ได้ทำโครงงานคอมพิวเตอร์ รวมทั้งศึกษาด้วยตัวเองมาตลอด “น้อง ๆ ที่สนใจการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ ลองไปปรึกษาอาจารย์หมวดคอมพิวเตอร์ดูนะครับ ลองทำดู แล้วจะรู้ว่าไม่ยากเลย ส่วนใหญ่เด็ก ๆ จะคิดว่าการเขียนโปรแกรมทุกอย่างนั้นทำยาก พอเพื่อนชวนก็บอกไม่เอา ไม่ทำ เขียนไม่เป็น อยากบอกว่าเขียนโปรแกรมนั้นไม่ยากเลย ถ้าใจรัก” ปอนบอก อ. เสาวนีย์ ลีละวัฒนพันธ์ คุณครูผู้ควบคุมทีมจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้ถือว่านักเรียนได้ประสบการณ์เยอะ สนามก็ยากพอสมควร นักเรียนทุกทีมเข้ามาด้วยความสามารถจริง ๆ พัฒนาการด้านการเขียนโปรแกรมพัฒนาดีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกรอบจนถึงรอบชิงชนะเลิศ จึงถือว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากว่าหัวใจสำคัญในยุคนี้และต่อไปคือการสร้างปัญญาประดิษฐ์ หรือสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาสั่งการให้ทำงานแทนมนุษย์ การที่หุ่นยนต์จะฉลาดแค่ไหน หรือทำงานอย่างอัตโนมัติให้เราได้มากแค่ไหน ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ต่อไป จึงเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้มองเห็นและรู้ว่าจะต้องเตรียมการอย่างไร โดยหลักการแล้วศักยภาพของเด็กทุกคนมีโอกาสทำได้ทั้งนั้น ถ้าเราสร้างสภาพของการเรียนรู้ให้พวกเขาอย่างเหมาะสม ถ้าเราทำทางให้ เขาก็ย่อมไปถึงปลายทางได้ง่ายกว่าที่จะเดินไปอย่างสะเปะสะปะ ในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ครั้งนี้ นักเรียนได้บูรณาการการเรียนรู้จาก หลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์ ฟิสิกส์ ก็คือกลศาสตร์ของการเคลื่อนที่แบบต่าง ๆ การคิดแบบเป็นระบบ กระบวนการแก้ปัญหา เป็นการนำทฤษฎีมาสู่ภาคปฏิบัติ จะทำให้นักเรียนเข้าใจทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และคอมพิวเตอร์ได้ดีขึ้น นักเรียนที่ยังไม่ได้รางวัลจากสนามแข่งขันนี้ก็อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะเชื่อมั่นว่าจากประสบการณ์ที่ เก็บเกี่ยวได้จากสนามแข่งขันครั้งนี้จะทำให้นำกลับไปพัฒนาฝีมือของตัวเองขึ้นอีกได้แน่นอน ส่วนโรงเรียนใดที่ยังไม่ได้ประลองฝีมือ รอติดตามข่าวการแข่งขันปีหน้าได้ที่เว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th
หมายเลขบันทึก: 51370เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2006 00:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท