ภูมิปัญญาไทย “เหยียบเหล็กแดง” บรรเทาอัมพฤกษ์ อัมพาต


 หากพูดถึง “การเหยียบเหล็กแดง”เชื่อว่าหลายคนคงนึกไปถึงการทรงเจ้า เข้าทรง เดินหรือวิ่งฝ่ากองถ่านที่แดงก่ำในเทศกาลกินเจ ซึ่งก็แล้วแต่วิจารณญานของผู้พบเห็นว่าจะเชื่อในสิ่งที่เห็นหรือเชื่อว่าเป็นเพียงการการแสดง
 แต่การ“เหยียบเหล็กแดง”ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นการใช้เท้าของหมอผู้รักษาไปเหยียบบนเหล็กที่กำลังเผาร้อนแดงอยู่บนเตาไฟ แล้วเหยียบไปตามร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งคล้ายกับการย่ำขางของชาวล้านนา แต่ต่างกันที่เทคนิควิธีการ อุปกรณ์และตัวยาสมุนไพรที่ใช้ร่วม 
“สง่า พันธ์สายศรี” หรือหมอกอเดรอ หมอพื้นบ้านผู้ทรงคุณวุฒิแพทย์แผนไทยประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัย 75 ปี คือผู้ที่สืบทอดภูมิปัญญาศาสตร์แพทย์ทางเลือกแขนงนี้มาจากบรรพบุรุษตั้งแต่รุ่นทวด นับเวลาแล้วร่วม 100 กว่าปี
  หมอกอเดรอเล่าว่า วิชาการเหยียบเหล็กแดงได้รับการถ่ายทอดจากพ่อตั้งแต่ปี 2494 หรือเมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมา ในการสืบทอดวิธีการรักษาดังกล่าวจะต้องทำพิธีครอบครูด้วยเพราะถ้าผู้สืบทอดไม่ได้ทำพิธีครอบครู อาจทำให้เกิดผลเสียต่อตนเองได้ในภายหลังและในการรักษาก็จะไม่ได้ผล โดยสรรพคุณของการเหยียบเหล็กแดงนั้น จะช่วยบรรเทาอาการโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต มือเท้าชา กระดูกทับเส้น เคล็ดขัดยอกให้ดีขึ้น
  สำหรับขั้นตอนการรักษา ก่อนอื่นจะต้องมีการบูชาครูด้วยดอกไม้ธูปเทียน พร้อมด้วยเงิน 12 บาทไม่ขาดไม่เกิน เตรียมเตาถ่านและเหล็กสำหรับเหยียบ ซึ่งอาจจะใช้ “ผาล” เหล็กสำหรับสวมหัวหมูเครื่องไถ หรือจะเป็นพวกมีด ดาบ ศาสตราวุธก็ได้ ถือเป็นการเอาเคล็ดที่จะพิชิตชัยโรคร้ายได้ด้วย แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือ “น้ำมันงา” ที่ผ่านการปลุกเสก เพราะจะช่วยให้หมอผู้รักษาที่เหยียบเหล็กแดงไม่ร้อนเท้า รวมกระทั่งถึง “ใบพลับพลึง” หรือ “ใบตอง” มารองก่อนลงเท้าไปกับตัวผู้ป่วย เพราะน้ำมันในใบไม้พวกนี้จะช่วยบรรเทาปวดได้ดี
  เมื่อของพร้อมแล้ว หมอจะทำพิธีท่องบริกรรมคาถา จากนั้นจะต้องสอบถามผู้ป่วยก่อนว่าเคยรับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วหรือไม่ เพราะการรักษาที่ถูกต้องจะต้องทำควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบัน จากนั้นจึงจะเริ่มจับตามจุดต่าง ๆ เพื่อตรวจดูอาการ ก่อนใช้เท้าเหยียบน้ำมันงาและเหยียบเหล็กแดงที่วางอยู่บนเตาร้อนๆ และเหยียบไปบริเวณที่มีอาการ ซึ่งจะได้ผลทั้งจากการกดนวดและความร้อนในเวลาเดียวกัน
  หมอกอเดรอย้ำว่า การนวดด้วยวิธีนี้ผู้นวดจะต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถควบคุมน้ำหนักความแรงของการกดได้ โดยการนวดอาจใช้อวัยวะส่วนต่างๆ มาประกอบด้วย เช่น นิ้วมือ ศอก เท้า มากด คลึง บีบ ทุบ สับ ตามร่างกายผู้ป่วย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อราย ตอนท้ายผ่อนแรงทั้งสองฝ่ายด้วยการใช้ลูกประคบมาร่วมด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับไอร้อนจากลูกประคบในการทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ดีขึ้น 
  จุดที่น่าสนใจและน่าแปลกใจ กระทั่งกลายเป็นคำถามสำหรับภูมิปัญญาการรักษาโรคแขนงนี้ก็คือ ทำไมตอนที่หมอยกเท้าจากน้ำมันไปเหยียบเหล็ก ไฟลุกติดขาโชติช่วง แต่กลับไม่มีอาการสะดุดหรือสะดุ้งเลยแม้แต่นิด
  หมอกอเดรอเผยว่า ในขั้นตอนการเหยียบเหล็กแดง ผู้เหยียบจะต้องทำจิตให้สงบ เป็นสมาธิระลึกถึงครูบาอาจารย์ และทำพิธีดับพิษไฟก่อนการเหยียบเหล็กแดง อีกทั้งยังต้องเป็นคนที่มีเมตตาบารมี ถือศีลมีจิตใจมั่นคง มีสมาธิตั้งอยู่ในพรหมวิหารสี่ นอกจากนี้ ยังมีข้อบังคับด้วยว่าหมอที่จะมารักษาแบบเหยียบเหล็กแดงนี้จะต้องเป็นเพศชายเท่านั้น ซึ่งต่างจากของล้านนาที่ผู้ย่ำเป็นได้ทั้งชายและหญิง 
  “การเหยียบเหล็กแดงนี้ จะช่วยผ่อนคลาย แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก แขนติด ไหล่ติด หลังแข็งเป็นไม้ก็ช่วยได้ ทำให้อุ่นและนวด จะสบายหลังการนวด แต่ต้องระวังในคนท้องทำแล้วจะให้โทษ ทำแล้วแท้งเลย หรือเด็กเล็กๆ คนสูงอายุ เป็นโรคพุพอง น้ำเหลืองเสีย ความดันโลหิตสูงก็ทำไม่ได้ ไข้ตัวร้อน เป็นไข้ รักษาไม่ได้ เพราะใช้ไฟจากความร้อนด้านนอกไปผสมผสาน ถ้าเอาไปถ่ายความร้อนให้กลับไปจะทำให้ไข้สูงขึ้นเป็นอันตรายและถ้ามีประจำเดือนก็ทำไม่ได้ ถ้าเหยียบเข้าไปจะทำให้ทะลักออกมา ตกเลือดได้ ถ้าท้องอ่อนๆ ก็แท้งเลย” หมอกอเดรอ กล่าว 
  ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาจะมากน้อยขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วย หากได้นวดทุกวันให้ร่างกายได้รับการกระตุ้นก็จะเห็นผลเร็วขึ้น

  “ที่ผ่านมายังไม่พบมีใครได้รับผลกระทบจากการมาเหยียบเหล็กแดงนี้ ในแต่ละวันก็จะมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวเดินทางมาให้รักษาจำนวนนับไม่ถ้วน เฉลี่ยวันละ 20-30 ราย ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.ยกเว้นวันศุกร์ที่จะหยุดการรักษา โดยนอกจากตัวหมดเองแล้ว ยังมีลูก ๆ อีก 6 คนที่ช่วยกันสืบทอดภูมิปัญญานี้ไว้” หมอกอเดรออธิบาย และสรุปทิ้งทายว่า “หลังจากการนวดแล้ว ผู้ป่วยควรมีการบริหารเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายอยู่เป็นประจำ อาจใช้เครื่องมือง่ายๆ ที่หาได้ในครัวเรื่อนอย่างการทำรอกชักเท้าซ้ายขวาแทนจักรยานบกราคาแพงที่ขายกันอยู่” 
********** 
  หมายเหตุ - สำหรับการเหยียบเหล็กแดง เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้ทัดเทียมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งจะมีการจัดเสวนาให้ความรู้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม โดยสลับหมุนเวียนเอาศาสตร์ต่างๆ ที่น่าสนใจมานำเสนอ หากสนใจติดต่อ สอบถามได้ที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข โทร.0-2590-2600

                      

หมายเลขบันทึก: 512461เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท