นวนิยายอิงประวัติศาสตร์จีนในประเทศไทย : จากพงศาวดารสู่ยุทธจักรนิยาย (5 -1)


5. การแปลวรรณกรรมจีนตั้งแต่..2464 - 2475

ประวัติการแปล

การเริ่มตีพิมพ์นิยายจีนของหมอบลัดเลย์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 นับเป็นการทำให้เรื่องจีนเริ่มแพร่หลายไปยังกลุ่มคนที่ใหญ่ขึ้น และเป็นผลให้เรื่องจีนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่คนอ่านออกเขียนได้  ทำให้โรงพิมพ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นของฝรั่งและของคนไทยนำเอานิยายอิงพงศาวดารจีนที่มีการแปลนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มาตีพิมพ์กันอย่างแพร่หลายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว 

ประมาณปี พ.ศ.2464หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ที่มีนายศุกรี วสุวัตเป็นเจ้าของ และมีนายกิจ  สาราภรณ์เป็นบรรณาธิการ ก็มองเห็นลู่ทางที่จะทำให้หนังสือพิมพ์ของตนขายดีด้วยการพิมพ์นิยายจีนเป็นประจำ ต่อมาหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆต่างก็เอาอย่างลงพิมพ์เรื่องจีนกันเกือบทุกฉบับ[i]นอกจากนี้ก็ยังเกิดความนิยมขึ้นประการหนึ่งว่าเมื่อมีการลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์จบลงแล้วก็มีการรวมพิมพ์เป็นเล่มจำหน่ายอีกครั้งหนึ่งในรูปของหนังสือปกแข็งและหนังสือปกอ่อนหรือพ็อกเก็ตบุ๊ก 

ส่วนที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ที่มีนายหอม  นิลรัตน์ ณ กรุงเทพฯ เป็นเจ้าของ ก็ค่อนข้างแน่ชัดว่ามีการแปลเรื่องจีนลงพิมพ์แล้วในช่วงต้นปี พ.ศ.2464 คือเรื่อง “ง่วนเฉียว” ที่นายซุ่ยเทียม  ตันเวชกุล เป็นผู้แปล ที่นายซุ่ยเทียมได้กล่าวไว้ในคำนำเมื่อรวมเล่มเรื่องง่วนเฉียวครั้งแรก ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2464 ว่า

หนังสือเรื่องง่วนเฉียวนี้ ข้าพเจ้าได้เคยอ่านต้นฉบับจีนมานาน เห็นว่าเป็นเรื่องสนุกประกอบเป็นคติอยู่บ้าง ไม่เปล่าประโยชน์เสียทีเดียว ครั้นมาถึงคราวหนังสือพิมพ์นิยมออกเรื่องจีนกันขึ้น ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับความขอร้องจากคณะหนังสือกรุงเทพฯเดลิเมล์ ให้แปลออกเป็นภาษาไทยเพื่อนำลงในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์รายวัน และเมื่อจบแล้วจะได้รวบรวมเย็บออกเป็นเล่มจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง แต่ครั้นข้าพเจ้าลงมือแปลเรื่อยๆมาได้สักหน่อย ก็เผอิญมีคณะหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งชิงนำออกเสียก่อน  ทำให้ข้าพเจ้าเกือบสิ้นศรัทธาทีเดียว[ii]

จากคำกล่าวของนายซุ่ยเทียมข้างต้นแสดงให้เห็นว่า  ประมาณปี พ.ศ.2464 นั้น เรื่องจีนกำลังได้รับความนิยมจากผู้อ่านหนังสือพิมพ์อย่างสูงทีเดียว และหนังสือพิมพ์ที่นายซุยเทียมกล่าวถึงนั้นน่าจะหมายถึงหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ ซึ่งมีหลักฐานว่าเรื่องง่วนเฉียวก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการลงพิมพ์ในสยามราษฎร์ด้วย

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ที่มีนายศุกรี วสุวัตเป็นเจ้าของ และมีนายกิจ สาราภรณ์เป็นบรรณาธิการ ก็มองเห็นลู่ทางที่จะทำให้หนังสือพิมพ์ของตนขายดีด้วยการพิมพ์นิยายจีนเป็นประจำ ต่อมาหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆต่างก็เอาอย่างลงพิมพ์เรื่องจีนกันเกือบทุกฉบับนอกจากนี้ก็ยังเกิดความนิยมขึ้นประการหนึ่งว่าเมื่อมีการลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์จบลงแล้วก็มีการรวมพิมพ์เป็นเล่มจำหน่ายอีกครั้งหนึ่งในรูปของหนังสือปกแข็งและหนังสือปกอ่อนหรือพ็อกเก็ตบุ๊ก 

จากการสำรวจข้อมูลเรื่องจีนในหนังสือพิมพ์ภาษาไทยที่ตีพิมพ์จำหน่ายระหว่างปีพ.ศ. 2464–2476รวม  23  รายชื่อโดยค้นคว้าจากไมโครฟิล์มของหอสมุดแห่งชาติจำนวน41ม้วนรวม21รายชื่อและจากข้อมูลที่เป็นเอกสารชั้นรองอื่นๆอีก2รายชื่อพบว่าหนังสือพิมพ์ที่เป็นรายวันและรายอื่นๆล้วนลงพิมพ์นิยายจีนอย่างน้อยฉบับละ1-2เรื่องเป็นประจำและมีในบางช่วงที่บางฉบับลงพิมพ์ถึง3หรือ4เรื่องซึ่งที่ต้องลงพิมพ์มากถึงขนาดนี้นั้นเท่าที่สังเกตส่วนหนึ่งเกิดจากการที่หนังสือพิมพ์บางฉบับต้องหยุดตีพิมพ์จำหน่ายเรื่องจีนที่ยังค้างอยู่จึงต้องนำไปพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นที่อยู่ในเครือเดียวกัน  รวมเรื่องจีนที่พบทั้งหมด62  เรื่อง  ลงพิมพ์จบเรื่องมีจำนวน  42  เรื่อง  และที่ลงพิมพ์ไม่จบเรื่องหรือไม่มีหลักฐานว่าลงพิมพ์จนจบเรื่องมีจำนวน20  เรื่องดังรายละเอียดจากหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับดังนี้

1.หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์รายวันแม้สยามราษฎร์รายวันจะได้ชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์ผู้บุกเบิกการลงพิมพ์นิยายจีนดังที่ได้กล่าวแล้วแต่เนื่องจากไม่มีสำเนาหนังสืออยู่ในไมโครฟิล์มของหอสมุดแห่งชาติจึงทำให้ไม่สามารถสำรวจเรื่องจีนที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้จะอย่างไรก็ตามความสำคัญในฐานะผู้บุกเบิกการลงพิมพ์เรื่องจีนในหนัาหนังสือพิมพ์ก็เป็นสิ่งที่จะละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้  ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องจีนในหนังสิอพิมพ์ฉบับนี้จึงศึกษาจากประวัติการพิมพ์ของเรื่องจีนบางเรื่องและจากบันทึกหรือคำบอกเล่าของบุคคลต่างๆ

หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์มีนายศุกรีวสุวัตเป็นเจ้าของและมีนายกิจ สาราภรณ์ เป็นบรรณาธิการ เริ่มตีพิมพ์จำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 จนถึงปี พ.ศ. 2468 จึงหยุดไประยะหนึ่ง และเริ่มตีพิมพ์จำหน่ายอีกครั้งในปี พ.ศ.2471 แต่การตีพิมพ์จำหน่ายในครั้งหลังนี้จะหยุดไปเมื่อไรนั้นไม่อาจที่จะหาหลักฐานที่แน่ชัดได้ไม่ แต่จากข้อเขียน “นิยายจีนในเมืองไทย” ของ ทวีป วรดิลก[iii]ก็พอจะทราบได้ว่า หลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 แล้ว หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็ยังคงตีพิมพ์จำหน่ายอยู่อีกไม่น้อยกว่า 3-4 ปี และยังคงมีนิยายจีนลงพิมพ์อย่างคับคั่งเช่นเดิม

จะอย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักฐานว่าหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ลงพิมพ์เรื่องจีน แต่เราก็ไม่อาจหาหลักฐานที่แน่ชัดได้ว่า นิยายจีนเรื่องแรกที่ลงพิมพ์นั้นคือเรื่องอะไร ใครเป็นผู้เรียบเรียง จากหนังสือ“ตำนานหนังสือสามก๊ก” ก็พอจะมีร่องรอยที่สามารถให้ข้อสันนิษฐานได้ว่า นิยายจีนเรื่องแรกที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์น่าจะเป็นเรื่อง “โหงวโฮ้วเพงปัก” ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายในรายชื่อนิยายจีนที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงรวบรวมไว้และทรงระบุไว้ว่าเป็นเรื่องที่ได้รับการแปลและลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์เป็นครั้งแรกก่อน แล้วรวมพิมพ์เป็นเล่มในปี พ.ศ.2465 โดยคณะหนังสือพิมพ์ศรีกรุงในขณะที่นิยายจีนซึ่งแปลก่อนหน้านี้ไม่ได้ระบุแหล่งพิมพ์ครั้งแรก ส่วนที่แปลในช่วงหลังจากนั้นก็ไม่มีการรวบรวมไว้

ระหว่างนิยายจีนกับหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์นั้นธนวันต์จารุประยูรถึงกับกล่าวไว้ในบทความ “เรื่องของหนังสือพิมพ์เมืองไทยเป็นบันทึกความทรงจำของผู้สนใจหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง” ในหนังสืออนุสรณ์งานศพนายอารีย์  ลีวีระว่าหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีคนนิยมอ่านมากที่สุดเพราะเหตุประการเดียวคือมีเรื่องจีนสนุก…”[iv]

นิยายจีนที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์มีเป็นจำนวนมากทั้งนี้เป็นเพราะว่าในแต่ละฉบับนั้นมีลงพิมพ์พร้อมกันเป็นปกติถึง1-3เรื่องด้วยกัน  โดยมีทั้งที่เป็นเรื่องเก่าที่แปลในยุคก่อนและที่แปลขึ้นใหม่เรื่องเด่นๆได้แก่เรื่องง่วนเฉียว, เจียเองก้วน, ซังไทจื้อ, บ้วนเฮ้าตง, ฮิวลูซู่ม้า, ทั่งซอตี่, อันปังเตียก๊กจี่, จอยุ่ยเหม็ง, เจงฮองเฮา, และชั่นบ้อเหมาเป็นต้นนิยายจีนเหล่านี้หลังลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แล้วก็มีการพิมพ์รวมเล่มจำหน่ายอีกด้วยเรื่องเด่นๆที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มหลายครั้งได้แก่จอยุ่ยเหม็ง , เจงฮองเฮาและง่วนเฉียวเป็นต้น

2.หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์จีนโนสยามวารศัพท์เป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่นำเสนอเนื้อหาสนับสนุนการปฏิวัติประเทศจีนของดร.ซุนยัดเซ็นมีนายเซียวฮุดเส็งสีบุญเรืองเป็นเจ้าของและบรรณาธิการนอกจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้แล้วนายเซียวฮุดเส็งยังมีหนังสือพิมพ์ในเครือทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาจีนอีกหลายฉบับเช่นผดุงวิทยาและผดุงศึกษา

หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ของ นายเซียวฮุดเส็ง นั้น นอกเหนือจากการเสนอข่าวสารตามปกติแล้ว เนื้อหาภายในฉบับยังมีบทความ สารคดี ลงพิมพ์อีกจำนวนมาก ที่เด่นๆคือ บทความ สารคดี ทั้งที่เขียนและแปลส่วนใหญ่นั้นมักเป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยจีน และเรื่องราวที่เกี่ยวกับจีนหลังการปฏิวัติของซุนยัดเซ็น หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กลายเป็นเป้าโจมตีจากผู้นิยมลัทธิชาตินิยมในยุคนั้นเป็นอย่างมาก

จีนโนสยามวารศัพท์เริ่มตีพิมพ์จำหน่ายเมื่อปีพ.ศ.2450และหยุดจำหน่ายในปีพ.ศ.2466อันเนื่องมาจากนายเซียวฮุดเส็งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากรัฐบาลก๊กมินตั๋งของดร.ซุนยัดเซ็นเพื่อมิให้เกิดปัญหาต่อวิชาชีพนายเซียวฮุดเส็งจึงประกาศหยุดกิจการหนังสือพิมพ์ของตนเองทั้งหมดแล้วไปรับตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว

จากการสำรวจข้อมูลในไมโครฟิล์มของหอสมุดแห่งชาติหมายเลขล.123ม้วนที่8ถึง13[v]ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ตั้งแต่ฉบับประจำวันที่17กุมภาพันธ์2464ถึงฉบับประจำวันที่29ธันวาคม2466พบว่ามีเรื่องจีนลงพิมพ์ตั้งสิ้น  9เรื่อง  ลงพิมพ์จบเรื่องจำนวน  7  เรื่องคือ

2.1 ต้ายเหลืองเอียซู เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงหรือเหม็งในยุคที่อำมาตย์กังฉินเงี่ยมชงมีอำนาจ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าซี้จงฮ่องเต้ แปลโดย “ผดุง” (นายเซียวฮุดเส็ง  สีบุญเรือง) เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับที่ 3 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2464 ลงพิมพ์ถึงฉบับที่ 59 ก็ขาดหายไประยะหนึ่งเพราะผู้แปลป่วย  และหลังจากนั้นก็มีเรื่องอื่นลงพิมพ์ต่ออีกหลายเรื่อง  แต่เรื่องนี้ไม่ปรากฏลงพิมพ์ต่อ 

2.2 นึงเซียนงั่วซื้อ  เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าเม่งไท๊โจ๊วฮ่องเต้แห่งราชวงศ์เหม็ง ไม่ปรากฏชื่อผู้แปลและเรียบเรียง แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นนายเซียวฮุดเส็ง  สีบุญเรือง เป็นผู้แปลเอง เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับที่ 122 วันที่ 11 กรกฎาคม 2465 จนจบในฉบับที่ 378 วันที่ 24 มกราคม 2465 

2.3 ไจตินเจง เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแผ่นดินน่ำซ้อง รัชสมัยพระเจ้าซ้องเกาจงฮ่องเต้ ไม่ปรากฏชื่อผู้แปลและเรียบเรียง  แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นนายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง เช่นกัน  เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับที่ 279 วันที่ 25 มกราคม 2465 จนจบในฉบับที่ 16 วันที่ 13 เมษายน 2466 

2.4 ซินเองเจงไซ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง รัชสมัยพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ไม่ปรากฏชื่อผู้แปลและเรียบเรียง แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นนายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง เช่นกัน เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับที่ 17 วันที่ 14 เมษายน 2466 จนจบในฉบับที่ 44 วันที่ 15 พฤษภาคม 2466 

2.5 นี่แกอิ๋ว เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง  ไม่ปรากฏชื่อผู้แปลและเรียบเรียง  แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นนายเซียวฮุดเส็ง  สีบุญเรือง เช่นกัน  ผู้แปลระบุว่าไม่ใช่เกร็ดหรือกิ่งพงศาวดาร แต่เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าหยงเจิ้งฮ่องเต้ เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับที่ 37 วันที่ 17 พฤษภาคม 2466 จนจบในฉบับที่ 75 วันที่ 4 กรกฎาคม 2466 

2.6 ซาโป๋วเกี่ยม เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น ไม่ปรากฏชื่อผู้แปลและเรียบเรียง แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นนายเซียวฮุดเส็ง  สีบุญเรือง เช่นกัน เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับที่ 76 วันที่ 5 กรกฎาคม 2466 จนจบในฉบับที่ 135 วันที่ 15 กันยายน 2466 

2.7 โป้ยใต้เฮี้ยบ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง  รัชสมัยหย่งเจิ้งฮ่องเต้และคังฮีฮ่องเต้ ไม่ปรากฏชื่อผู้แปลและเรียบเรียง แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นนายเซียวฮุดเส็ง  สีบุญเรือง เหมือนกับเรื่องอื่นๆ  เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับที่ 136 วันที่ 17 กันยายน 2466 จนจบในฉบับที่ 177 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2466 

2.8 ฮ่วยเต็กจือ  เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง รัชสมัยพระเจ้าหย่งเจิ้งฮ่องเต้ และคังฮีฮ่องเต้  ไม่ปรากฏชื่อผู้แปลและเรียบเรียง  แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นนายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับที่ 178 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2466 จนจบในฉบับที่ 217 วันที่ 26 ธันวาคม 2466 

2.9 ปวยเล่งตอเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงแผ่นดินที่3 หลังจากที่ราชวงศ์ถังล่มสลายไปแล้ว คือแผ่นดินเอ้าจิ้น จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระเจ้าซ้องไท้โจ๊วฮ่องเต้ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ซ้อง ไม่ปรากฏชื่อผู้แปลและเรียบเรียงแต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นนายเซียวฮุดเส็ง  สีบุญเรือง เช่นกัน  เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับที่ 218 วันที่ 27 ธันวาคม 2466 และลงพิมพ์ไปจนถึงฉบับสุดท้ายที่มีอยู่ในไมโครฟิล์ม คือฉบับที่ 219 วันที่ 29 ธันวาคม 2466 

ลักษณะเด่นของนิยายจีนที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็คือความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่านิยายจีนเหล่านี้ล้วนเป็นงานเขียนประเภท “นวนิยาย” หาใช่เรื่องประเภทพงศาวดารที่ผู้แปลพยายามยืนยันไว้ในคำนำของทุกเรื่อง

3.หนังสือพิมพ์หลักเมืองหนังสือพิมพ์หลักเมืองเป็นหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์จำหน่ายตั้งแต่ปีพ.ศ.2470ส่วนจะหยุดพิมพ์จำหน่ายเมื่อไรนั้นไม่อาจหาหลักฐานยีนยันได้อย่างแน่ชัดแต่ในบัญชีหนังสือพิมพ์ของหอสมุดแห่งชาติมีหนังสือพิมพ์ชื่อนี้เพียงแค่ปีพ.ศ2476เท่านั้นหนังสือพิมพ์หลักเมืองมีนายต. บุญเทียมเป็นเจ้าของและบรรณาธิการนอกจากหนังสือพิมพ์หลักเมืองซึ่งออกจำหน่ายเป็นรายวันแล้วนายต. บุญเทียมก็ยังมีหนังสือในเครืออีก3ฉบับคือหนังสือพิมพ์หญิงไทย (รายวัน) หนังสือพิมพ์อิสระและหนังสือพิมพ์สันติภาพนอกจากนั้นก็มีหนังสือพิมพ์ภาษาจีนอีก3ฉบับคือ “ฉินจ๊งยิ่ดป่อ”

นอกจากการเสนอข่าวสารอันเป็นหน้าที่ปกติแล้วหนังสือพิมพ์หลักเมืองยังมีเรื่องเด่นที่รู้จักกันดีคือ “ลำตัดการเมือง” และ “นิยายจีน” ที่ลงพิมพ์พร้อมกันถึง2เรื่องความฮิตของลำตัดการเมืองและเรื่องจีนของหลักเมืองนั้นเสลาเรขะรุจิได้กล่าวไว้ว่า

หนังสือพิมพ์ในเครือของเขาทุกฉบับในสมัยนั้นเรียกว่า เซ้งลี้ฮ้อจริงๆใครๆก็ติดลำตัดและเรื่องจีนไปตามๆกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว คนบางกอกยุคนั้นก็ต้องว่า เกร็ดพงศาวดารจีนและลำตัดแล้วต้องถึงหลักเมืองแล้วถึงจะมัน จะเอาทาง  แสงเฮ้ากวง หรือภินิหารที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้แล้วในโลกนี้ หรือ พวก โจ๊ะพรึมๆ ที่ต้องมาอ่านที่หลักเมืองนี้แหละ จะอะไรเสียอีกหละ ก็โดยฝีมือ เจ๊กมิ้นที่แปลและเรียบเรียงนั่นละ[vi]

จากข้อมูลที่รวบรวมจากไมโครฟิล์มของหอสมุดแห่งชาติ หมายเลข 105[vii]ซึ่งเป็นสำเนาหนังสือพิมพ์หลักเมืองเฉพาะปีพ.ศ.2475 (3 พฤษภาคม 2475–31 มีนาคม 2475) มีเรื่องจีนลงพิมพ์ทั้งสิ้น 4 เรื่อง  โดยเรื่องซินเพ็กเอี้ยเป็นเรื่องที่ลงพิมพ์ติดต่อกันนานที่สุดและยังไม่จบ  เข้าใจว่าหลังจากปี พ.ศ.2475 ก็น่าจะลงพิมพ์เรื่องจีนอีกไม่น้อย 

3.1 กิมบั้งบ๊วย  ระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารสมัยราชวงศ์ซ้อง  แปลและเรียบเรียงโดย “จีนสยาม” เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับวันที่ 3 เมษายน  2475 จนจบภาค 2 ในฉบับวันที่ 3 มิถุนายน 2475 ส่วนภาค 3 ซึ่งผู้แปลระบุว่า  ต้นฉบับภาค 3 ยังไม่ตกเข้ามา  จึงต้องพักไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับต้นฉบับ  จึงจะแปลในโอกาสต่อไป…”[viii] 

3.2 เนี่ยอั้งเง็กระบุว่าเป็นพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ซ้อง รัชสมัยพระเจ้าซ้องฮุยจงฮ่องเต้  แปลโดย “ต.บุ้นตง” เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2474 จนจบภาค 1 ฉบับปีที่ 8 ฉบับที่ 127 วันที่ 22 กันยายน  2475 หลังจากจบภาค 1 แล้ว  ก็ไม่ปรากฏว่ามีการนำเรื่องตอนต่อไปมาลงพิมพ์อีกเลยจนถึงฉบับวันที่ 31 มีนาคม 2475 

3.3 ซิ่นเพ็กเอี้ยระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารสมัยราชวงศ์ถัง  แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีนโดย “จีนสยาม” เป็นเรื่องที่มีความยาวมาก  ผู้เรียบเรียงแบ่งออกเป็นภาคๆ ได้ 5 ภาคด้วยกัน (แต่การแบ่งภาคก็ไม่เป็นระบบนัก เพราะในการจบของแต่ละภาคนั้นยึดความพอใจของผู้เรียบเรียงเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงเนื้อเรื่อง) ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่ 8 ฉบับที่ 35 วันที่ 4 มิถุนายน 2475 จนกระทั่งถึงฉบับวันที่ 31 มีนาคม  2475 เท่าที่พบมีไม่จบเรื่อง 

3.4 อั้งเน่ยยี่  ระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารสมัยราชวงศ์ชิง  สมัยพระเจ้าซุ่นตี้  แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีนโดย “ต.บุ้นตง” เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่ 8 ฉบับที่ 119 วันที่ 14 กันยายน 2475 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2475 ยังไม่จบ 

4.หนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองบางกอกการเมืองเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกที่ประกาศตนอย่างชัดแจ้งว่าจะมีบทบาททางการเมืองมีบริษัทบางกอกการเมืองของนายหอมนิลรัตน์ณอยุธยาเป็นเจ้าของ  บรรณาธิการคนแรกคือพระสันทัดอักษรสารต่อมาก็เปลี่ยนเป็นบี๋นุชศรีเริ่มตีพิมพ์จำหน่ายตั้งแต่ฉบับประจำวันที่1มิถุนายนพ.ศ. 2466และหยุดไปในปีพ.ศ. 2475

โดยทั่วไปบางกอกการเมืองตีพิมพ์เรื่องจีนเป็นประจำวันละ2เรื่องแต่บางครั้งก็มีลงพิมพ์ถึง3เรื่องเช่นเมื่อคราวที่หนังสือพิมพ์ข่าวสดซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ในเครือต้องหยุดตีพิมพ์ก็ต้องนำนิยายจีนเรื่อง“อิ้วจิดกง”ภาค1ที่กำลังตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดมาลงพิมพ์ต่อจนจบ  เป็นต้น

นิยายจีนที่ตีพิมพ์ในบางกอกการเมืองเท่าที่สำรวจจากไมโครฟิล์มของหอสมุดแห่งชาติ[ix]ในช่วงระยะเวลาเพียงปีเศษๆคือตั้งแต่ปีที่1ฉบับที่1จนถึงปีที่2ฉบับที่239มีเรื่องจีนลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองรวม17เรื่องลงพิมพ์จบแล้ว15เรื่อง  อีก2เรื่องไม่มีหลักฐานให้สืบค้น  แต่เข้าใจว่าจะน่าลงพิมพ์จนจบเรื่องและน่าจะมีเรื่องอื่นๆลงพิมพ์อีกหลายเรื่อง  ทั้งนี้เพราะหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังคงตีพิมพ์จนถึงปีพ.ศ.2475อันเป็นช่วงเวลาที่เรื่องจีนยังคงได้รับความนิยมอยู่เรื่องจีนที่ลงพิมพ์ทั้งหมดมีรายละเอียดดังนี้

4.1เซียงเฉียว  ระบุว่าเป็นกิ่งพงศาวดารจีนสมัยเซียงเฉียวเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีนโดยผู้เรียบเรียงจอยุ่ยเหม็งเจียเอ็งก๊วนฮ่งฮวงซัวตอนเตี้ยก๊กจี่  ผู้เรียบเรียงจอยุ่ยเหม็งคือพ.ต.ต.พระวิบุลจีนพากย์(จือ  สุวงศ์) เรียบเรียงลงตีพิมพ์ในน.ส.พ.สยามราษฎร์  เรื่องเซียงเฉียวเริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่1ฉบับที่1วันที่1มิถุนายน2466  จนถึงฉบับปีที่1ฉบับที่107วันที่10ตุลาคม2466แม้ว่าหนังสือพิมพ์บางกอก  การเมืองฉบับปีที่1ฉบับที่1จะไม่มีในไมโครฟิล์มและในตอนต้นเรื่องของทุกวันที่ลงพิมพ์จะระบุฉบับที่เริ่มลงพิมพ์เป็นตอนแรกเอาไว้

4.2ซีไทจื๊อ  ระบุว่าเป็นกิ่งพงศาวดารสมัยราชวงศ์หงวน(มองโกล) เรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีนแต่ไม่ได้บอกชื่อผู้เรียบเรียงไว้ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่1ฉบับที่1วันที่1มิถุนายน2466จนจบในฉบับปีที่1ฉบับที่60วันที่16สิงหาคม2466 

4.3เอ็งบ้วนตัดระบุว่าเป็นกิ่งพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์หมิง  รัชสมัยพระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้  เรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีน  ไม่ระบุชื่อผู้เรียบเรียง  ลงพิมพ์ต่อจากเรื่องซีไทจื๊อตั้งแต่ฉบับปีที่1ฉบับที่61วันที่17สิงหาคม2466ไปจนจบในฉบับปีที่1ฉบับที่88วันที่18กันยายน2466 

4.4ยินเต็กกุนระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารจีนสมัยแผ่นดินไต้จิ้น(ราชวงศ์จิ้น) แลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีน  ไม่บอกชื่อผู้แปล  ลงพิมพ์ต่อจากเรื่องเอ็งบ้วนตัดตั้งแต่ฉบับปี่ที่1ฉบับที่89วันที่19กันยายน2466ถึงฉบับปี่ที่1ฉบับที่184วันที่16พฤศจิกายน  2466 

4.5 เอ็งไท้ซัวแป้ะ(ภาค 1)  ระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารจีนสมัยจิวเฉียว  รัชสมัยพระเจ้าจิวบู๊อ๋อง ไม่ระบุชื่อผู้แปล-เรียบเรียง ลงพิมพ์ต่อจากเรื่องเซียงเฉียวตั้งแต่ฉบับปีที่ 1 ฉบับที่ 108 วันที่ 11 ตุลาคม 2466 ไปจนจบภาค 1 ในฉบับปีที่ 1 ฉบับที่ 158 วันที่ 18 ธันวาคม 2466  ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการพิมพ์ภาค 2 เมื่อใด

4.6 อิ้วจิดกัง (ภาค 1)ระบุว่าเป็นกิ่งพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ซ้อง ไม่ระบุชื่อผู้แปล-เรียบเรียง  ตอนต้นลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดในช่วงประมาณปี พ.ศ.2466  แต่ไม่สามารถค้นหาข้อมูลหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้ เข้าใจว่าน.ส.พ.ข่าวสดต้องหยุดพิมพ์จำหน่ายจึงนำมาลงต่อในบางกอกการเมืองตั้งแต่ฉบับปีที่ 1 ฉบับที่ 131 วันที่ 13 พฤศจิกายน 2466ถึงปีที่ 1 ฉบับที่ 141 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2466 ทำให้ช่วงดังกล่าวถึงบางกอกการเมืองมีเรื่องจีนลงพิมพ์พร้อมกันถึง 3 เรื่องในแต่ละฉบับ 

4.7 เซียงหลู (ภาค 1) ระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารจีนสมัยแผ่นดินเม่งเฉียว(ราชวงศ์หมิง) เรียบเรียงเป็นภาษาไทยจากต้นฉบับภาษาจีนโดย “เกาทัณฑ์ทอง” ลงพิมพ์ต่อจากเรื่องยินเต็กกุน  ตั้งแต่ฉบับปีที่ 1 ฉบับที่ 135 วันที่ 17 พฤศจิกายน  2466 จนถึงฉบับปีที่ 1 ฉบับที่ 158 วันที่ 14 ธันวาคม  2466 

4.8 ฮุนซีอ๋อง (ภาค 1-2)ระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารสมัยราชวงศ์ซุย  “กุหลาบสีน้ำเงิน” เป็นผู้เรียบเรียงตั้งแต่ตอนต้นจนถึงฉบับวันที่ 29 เมษายน  2467 เปลี่ยน  ผู้เรียบเรียงเป็น“จันทร์ฉาย” ซึ่งเรียบเรียงต่อจนจบภาค 2 ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่ 1 ฉบับที่ 158 วันที่ 14 ธันวาคม 2466 จนถึงฉบับปีที่ 1 ฉบับที่ 295 วันที่ 30 พฤษภาคม 2467 

4.9 ฮุนซีอ๋อง ภาค 3ตอนอูบุ้นบ๊วยกิ๊ดเป็นขบถ  ระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ซุย “ภู่กันทอง” เรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีน ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่ 2 ฉบับที่ 9 วันที่ 11 มิถุนายน  2467 ถึงปีที่ 2 ฉบับที่

4.10 ยี่โต้วบ๊วยระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวจีนสมัยราชวงศ์ถัง “เกาทัณฑ์ทอง” เป็นผู้เรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีน  ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่ 1 ฉบับที่ 160 วันที่ 17 ธันวาคม 2466 ถึงปีที่ 1 ฉบับที่ 175 วันที่ 5 มกราคม  2466 

4.11 เอี้ยบุ้นป่า  ระบุว่าเป็นพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ซ้อง  รัชสมัยพระเจ้าซ้องกวนจงฮ่องเต้  “มะลิเลื้อย” เป็นผู้เรียบเรียง  ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่ 1 ฉบับที่ 176 วันที่ 7 มกราคม  2466 ถึงปีที่ 1 ฉบับที่ 265 วันที่ 3 เมษายน 2467 

4.12 ตันกวงเหม็ง  ระบุว่าเป็นกิ่งพงศาวดารจีนสมัยจิ้นเฉียวหรือไต้จิ้น  รัชสมัยพระเจ้าจิ้นง่วนเต้  “เกษรา” เป็นผู้เรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีน จนถึงฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2467  เปลี่ยนผู้เรียบเรียงเป็น “ขิมเหล็ก” ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่ 1 ฉบับที่ 266 วันที่ 24 เมษายน  2467 ถึงปีที่ 1 ฉบับที่ 293 วันที่ 28 พฤษภาคม 2467 

4.13 ซังเซียงกิ่ว  ระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์หงวนตอนต้น  มีผู้เรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีน  ถึง 4 คน คือ“จันทร์แจ่ม” เป็นผู้เรียบเรียงถึงฉบับวันที่ 2 มิถุนายน 2467 แล้วเปลี่ยนผู้เรียบเรียงเป็น “ง้าวทอง” ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2467 จากนั้นก็เปลี่ยนเป็น“ชะเลง”ตั้งแต่ฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม 2467 และ”ไชยธัช”เรียบเรียงต่อจากชะเลงจนจบ  ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่ 1 ฉบับที่ 293 วันที่ 28 พฤษภาคม 2467 ถึงปีที่ 2 ฉบับที่ 103 วันที่ 3 ตุลาคม  2467 

4.14 กิมเล่งแช และกิมเล่งแชภาค 2ตอนนางเง็กยู่เฮียงทำศึก  ระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ถัง รัชสมัยพระเจ้าถังไตจงฮ่องเต้และพระเจ้าถังเต็กจงฮ่องเต้ “อิ่มอารมณ์” แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีน ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่ 1 ฉบับที่ 295 วันที่ 30 พฤษภาคม 2467 ถึงปีที่ 2 ฉบับที่ 158 วันที่ 11 ธันวาคม  2467 

4.15 เซียวเต็กเซ้ง  ระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ถัง  รัชสมัยพระเจ้าถังมกจงฮ่องเต้“ไชยธัช” เป็นผู้เรียบเรียง(ในหนังสือพิมพ์ใช้คำว่า “ผู้ร้อยกรอง”) ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่ 2 ฉบับที่ 104 วันที่ 4 ตุลาคม 2467 แต่ไม่สามารถสืบค้นได้ว่าจบในฉบับใด  เนื่องจากในไมโครฟิล์มของหอสมุดแห่งชาติมีถึงเพียงฉบับปีที่ 2 ฉบับที่ 239 วันที่ 20 มีนาคม 2467 ซึ่งเรื่องนี้ยังลงพิมพ์ไม่จบ 

4.16 หลี่ฮ่งกี่  ระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ซ้อง  รัชสมัยพระเจ้าซ้องฮุยจงฮ่องเต้ “อิ่มอารมณ์” เป็นผู้แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีน  ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่ 2 ฉบับที่ 156 วันที่ 8 ธันวาคม  2467 ถึงปีที่ 2 ฉบับที่ 218 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2467 

4.17 กอซิ่วย้ง  ระบุว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น  รัชสมัยพระเจ้าฮั่นว้วงฮ่องเต้  “จันทราทิตย์” เป็นผู้แปลและเรียบเรียง  ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับปีที่ 2 ฉบับที่ 219 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2467 แต่ไม่สามารถสืบค้นได้ว่าจบในฉบับใด  เนื่องจากในไมโครฟิล์มของหอสมุดแห่งชาติมีถึงเพียงฉบับปีที่ 2 ฉบับที่ 239 วันที่ 20 มีนาคม 2467 ซึ่งเรื่องนี้ยังลงพิมพ์ไม่จบ 

5.หนังสือพิมพ์ศรีกรุงเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่เริ่มตีพิมพ์จำหน่ายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2456แต่ในระยะแรกๆตีพิมพ์จำหน่ายเป็นรายเดือนถึงปีพ.ศ.2469จึงเปลี่ยนเป็นหนังสือพิมพ์รายวันมีนายศุกรีวสุวัตเป็นเจ้าของและบรรณาธิการเป็นหนังสือพิมพ์ที่แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบ้างตามสมควรแต่ก็มิได้มีคารมที่กล้ารุนแรงนัก  มีบันเทิงคดีประเภทนิยายลงพิมพ์ทั้งที่เป็นนิยายอิงพงศาวดารจีนและนิยายอิงพงศาวดารไทยลงพิมพ์ควบคู่กันแต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่านิยายจีนที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มักเป็นเรื่องเก่าที่เคยตีพิมพ์ในฉบับอื่นหรือที่แปลมาตั้งแต่ยุคต้นๆเช่นเรื่องจอยุ่ยเหม็งที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์เป็นต้นนอกนั้นก็มีเรื่องเม่งลี่กุน , ซ้องเล่งกุนและแพกงต้วนเป็นต้น

การตีพิมพ์ซ้ำเรื่องที่เคยลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นมาแล้วของศรีกรุงนี้อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะการแข่งขันกันมากเป็นผลให้เรื่องจีนที่จะนำมาเรียบเรียงเกิดขาดแคลนต้นฉบับ หรืออาจเป็นไปได้ในอีกแง่หนึ่งว่า ในยุคนั้นมีการแข่งขันกันมากจนทำให้เรื่องที่นำมาแปลหรือฝีมือการแปลไม่มีคุณภาพ การนำเรื่องเก่ามาตีพิมพ์ใหม่จึงอาจเป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้สามารถดึงผู้อ่านกลับมาอ่านนิยายจีนอีกครั้งหนึ่ง 

เนื่องจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุงไม่มีสำเนาอยู่ในไมโครฟิล์ม  จึงไม่สามารถที่จะค้นหารายละเอียดของการลงพิมพ์เรื่องจีนแต่ละเรื่องมากล่าวไว้ในที่นี้ได้

นอกจากหนังสือพิมพ์ทั้ง5ฉบับดังกล่าวซึ่งเป็นสนามใหญ่สำหรับเรื่องจีนแล้วยังมีหนังสือพิมพ์เรื่องฉบับอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากที่ลงพิมพ์เรื่องจีนเป็นประจำแต่มักจะเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีอายุสั้นนิยายจีนที่ลงพิมพ์เหล่านี้จึงมีทั้งที่พิมพ์ต่อเนื่องกันจน

หมายเลขบันทึก: 512402เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท