“ทุเรียน”..เวียนกันชม..สวน


ทุเรียน..ของโปรดของใครบางคน กลิ่นทุเรียนสุกจะหอม/เหม็น ก็แล้วแต่คนชอบ/ไม่ชอบ..สัจธรรมที่เรียนรู้ได้...ทั้งที่เป็นสิ่งเร้าเดียวกัน…

“ทุเรียน”..เวียนกันชม..สวน




ทุเรียน..ของโปรดของใครบางคน   

กลิ่นทุเรียนสุกจะหอม/เหม็น ก็แล้วแต่คนชอบ/ไม่ชอบ ..สัจธรรมที่เรียนรู้ได้...ทั้งที่เป็นสิ่ง (เร้า) เดียวกัน ..เกิด"รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ"ต่างกัน.   เอ..ทุเรียน ทำให้นึกไปถึง"ขันธ์ 5"ได้เลยหนอ    เตือนตนให้ฝึกเรื่อง "การรับรู้ การตีความและการให้ค่า".. หากรับรู้ แล้วไม่ตีความ ไม่ให้ค่า..ใจก็คงจะสงบมากขึ้น ฝึกไว้ๆ ๆ ..กลับมาดู...ธรรมะ-ชาติ.. ด้านอื่นๆจากทุเรียนดีกว่า 


ทุเรียนป่า..ของผองสัตว์ป่า   

ช่วงฤดูทุเีรียนสุก ลูกมักจะหล่นจากต้นสูงใหญ่ เป็นที่หมายปองของผองสัตว์ป่า   ที่เก็บทุเรียนมาแกะกินกันความชำนาญมากกว่าเรา  เพราะเขายังชีพด้วยไม้ผลจากป่า โดยทั่วไปผลที่สุกเมื่อหล่นก็จะแยกพูออกง่ายตามลักษณะของทุเรียนป่า


ทุเรียนป่า  เอามาขาย...

ชาวบ้านที่มีอาชีพหาของป่า พวกสะตอ เหรียง แถวปักษ์ใต้  เมื่อทุเรียนสุกก็จะขึ้นไปบนเขาเก็บทุเรียนป่าที่ผลร่วงหล่นลงมา โดยการขับรถมอเตอร์ไซค์เสือภูเขา ที่ขับขึ้นลงทางลาดชันสูงได้  เก็บใส่เข่งที่พาดมากับท้ายรถ  เต็ม..สองเข่งซ้ายและขวา..ถ่วงน้ำหนักให้ดุลกัน ขณะขับ เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนแน่ๆ ...


ทุเรียนบ้าน..กลิ่นรสเป็นที่ต้องการ ต้องตา ต้องใจ 

สำหรับใครที่หลงใหล (ใครเผลอลืมตัว ..หลงใหลกลิ่น & รส ?? )  ต้นจะสุงใหญ่ เวลาเดินไปในสวนทุเรียนต้องระวัง เจ้าของสวนมักจะไปเก็บผลที่หล่น แต่เก็บไว้ได้ไม่นาน เพราะอยู่ในระยะสุกเนื้อจะนิ่มและเละหากทิ้งไว้ข้ามวัน แต่ก็นำไปทำทุเรียนกวนได้  เจ้าของสวนจะบอกได้ว่า รสชาติและเนื้อแต่ละต้นจะเป็นอย่างไร ..เนื้อหนา เนื้อบาง เนื้อละเอียด...แล้วแต่จะเลือกกิน  ..เป็นความภูมิใจที่ได้คัดสรรพันธุ์ไว้ เพราะส่วนใหญ่ปลูกด้วยเมล็ด...“พันธุ์” จึงกลายไปได้ เป็นสิ่งที่รอลุ้นว่า ผล ใน “รุ่นลูก” ต้นใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากต้น “พ่อแม่” อย่างไร... นี่ล่ะ ชาวสวนที่แสดงบทบาทของนักปรับปรุงพันธุ์ตามธรรมชาติ  มีเสน่ห์ยิ่งนัก บางครั้งผู้ปลูกก็ไม่อยู่รอที่จะพิสูจน์ได้....ลาจากไปเสียก่อน ... สัจธรรมตามกฏแห่งธรรมชาติ



ทุเรียนพันธุ์ ..เข้ามาแทนที่  

จากการปรับปรุงพันธุ์  ต้นไม่สูงมาก สวนใหญ่เมื่อใกล้สุกมัก จะตัดขายมากกว่าที่จะปล่อยให้สุกหล่น โดยทั่วไปถ้าในระยะสุกได้ที่ จะมีรสหวาน หอม เนื้อหนา เปลือกหนา แต่เมล็ดลีบไม่สมบูรณ์  จึงมักใช้การปลูกจากต้นพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง เสียบยอด  ผลในรุ่นต่อไปก็ไม่กลายพันธุ์มากนัก จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทำให้เป็นผลไม้ที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกร ขณะเดียวกันก็ทำรายได้ให้บริษัทค้าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืชและสารเคมีอื่นๆ ที่สรรหามาปกป้องทุเรียน..ทั้งต้น ใบ ดอก ผล บำรุงทุกระยะ.คาดการณ์ได้ว่า สารเคมีจะใช้มากน้อยแค่ไหนขึ้นกับประสบการณ์และการดัดสินใจ  บางครั้งให้สารเคมีครอบคลุมไว้ทุกด้านตั้งแต่  เชื้อราดำ..ไฟท๊อบทอรา  เพลี้ยไก่แจ้ หนอนและอื่นๆ ..  การดูแล ป้องกันโดยให้สารเคมีที่ครอบจักรวาล ทำให้สิ้นเปลืองและก่อความเสียหายมากมาย ...  ฝากลองคิด ๆๆๆ..



ทุเรียน...ที่บ้านสวน หลังสวน..

มีหลายแปลง  บางแปลงด้วยสภาพสวนที่อยู่ติดกันมีความต่างของสภาพดิน การดูแลก็แตกต่างกันบ้าง  อย่างเช่นสองแปลงมีความลาดชัน ลงสู่แนวห้วย  การปลูกต้องปรับแนวลาดชัน  สวนแปลงหนึ่งดินมีหินปน  ดินไม่ดี  ส่วนอีกแปลงดินดีกว่า   สวนที่ดินไม่ดีจึงต้องมีวิธีการดูแลที่ต่างไปจากสวนที่ดินดีกว่า  ด้วยระบบรากชอนไชลงไปในดินไม่สะดวกนัก จึงใช้วัสดุในท้องถิ่นมาคลุมโคน หากเมื่อต้นโตขึ้นก็จะย่อยสลายไปตามธรรมชาติ..เพิ่มคุณภาพของดิน ที่บ้านสวนใช้กาบมะพร้าวซื้อมาเป็นจำนวนรถสิบล้อขนเข้ามา นำมาจัดเรียงสวยงาม..ปกคลุมให้ความชุ่มชื้นกับราก ตามพื้นที่รอบบริเวณทรงพุ่มของต้น หลายปีกว่าจะผุสลาย บางครั้งก็ใช้ฟางข้าว พ่อและคนงานไปขนมาจากนาในละแวก




ทุเรียน.. กับความงามแห่งต้นผล   

ทุกครั้งที่กลับไปเยี่ยมบ้าน ได้ไปสวนแปลงอื่นๆที่ห่างบ้านออกไป เพื่อชมและเชียร์ทุเรียนของพ่อ   สภาพทุเรียนใบดำ ความมันของใบ รอให้ชมอยู่ตลอดสองข้างทางเข้าสวน  หยาดเหงื่อแรงงานที่ลงไป สร้างความภูมิใจ จากการเรียนรู้ ฝึกลองผิดลองถูก ที่ได้เห็นพืชพรรณ มีสุขภาพดี  เป็นเพราะการดูแลเอาใจใส่  "ปลูกและดูแลต้นให้ดี ต้นงาม ใบงาม ออกจำนวนชุดใบได้ที่ ก็ออกดอกสมบูรณ์ ลูกผลก็จะอร่อย"  พ่อบอกอย่างนั้น .. หลายคนที่เห็นต้นทุเรียนดูแข็งแรง ใบมัน  ตะโกนถามพ่อว่า “ใส่อะไร ทำไมจึงมีต้นงาม”...พ่อบอกว่า “ใส่ใจ”…พืชในสวนได้รับการเอาใจใส่ไม่ว่าอะไรๆ



ทุเรียน.. กับความงามของในคำกวี...

ยอดอ่อนโค้งงอ คลี่ใบ แกว่งไกวตามลม...ความงามตามธรรมชาติ ถูกยกมาชื่นชม   เป็นบทเรียน ในวันนี้   เมื่อพ่อจับปลายกิ่งขึ้นมาพิจารณาและบอกว่า.. กวีชมความงามของผู้หญิงดั่ง??  ก็ได้ยินกลอนทันใด “...งามโอษฐ์ดังใบไม้อ่อน  งามกรดั่งลายเลขา  งาม..”.....เห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า.. งามๆๆ 


ทุเรียน..กับการหยั่งราก 

 ระบบรากของทุเรียนพันธุ์มักไม่แกร่ง เปรียบเทียบกับทุเรียนพื้นบ้าน  โดยเฉพาะในสภาพดินอย่างที่สวน นอกจากนี้ช่วงฤดูฝน ลมแรง พายุพัดผ่าน ก็จะทำให้โค่นล้มได้ ทำให้มีเทคนิคการทาบรากเพิ่มจากต้นทุเรียนบ้าน... "เพิ่มขา"  เพื่อช่วยกันให้พยุงและให้ความแข็งแรง   ส่วนรากที่ยังไม่หยั่งลึกก็ใช้ กาบมะพร้าว (ปักษ์ใต้เรียก "พดพร้าว")  วางเรียงรอบโคนต้นเมื่อให้น้ำก็ยังคงความชุ่มชื้นอยู่ได้นานกว่า   วันนั้นกาบมะพร้าวหนึ่งชิ้น  ถูกหยิบขึ้นมาชี้ชวนให้ดู  ส่วนหนึ่งมีรากเกาะติด  บอกให้รู้ว่า ต้นทุเรียนในสวนถูกใจกับกรรมวิธีเช่นนี้  แขนงของรากฝอยที่แผ่ออกมาในรัศมีโคนต้น  พ่อบอกว่า รากทุเรียนกำลังหาอาหาร ใบปรุงอาหาร (การสังเคราะห์ด้วยแสง) ทั้งใบอ่อน ใบแก่  ฉันสัมผัสใบทุเรียนดึงมาใกล้ๆและก้มกระซิบบอกว่า ปรุงอาหารเก่งๆนะ สะสมไว้ในเนื้อ ผล  จะได้ชื่นชมความอร่อย 



ทุเรียน.. กับความต้องการน้ำ .

ระบบน้ำในสวนต้องเผื่อไว้ยามฤดูแล้ง และ/หรือฝนทิ้งช่วง เนื่องจากสภาพดินและความชัน ทำให้เมื่อฝนตกน้ำไหลแรง พื้นดินไม่เก็บน้ำได้มากนัก แต่มีลำห้วยเล็กๆ ไหลรินตลอดปี นำน้ำมาพักในสระที่ขุดไว้ข้างห้วย กักน้ำเป็นฝายน้ำล้นด้วยวัสดุธรรมชาติ  ใช้ร่วมกันกับสวนอื่นๆตลอดสายห้วย มีน้ำใช้ให้เป็นประโยชน์  ใช้เครื่องสูบน้ำเป็นตัวเครื่องรถยนต์ นำมาปรับใช้ดึงน้ำเข้าระบบน้ำไปตามท่อในระบบ (sprinkler system) แต่ละโคนต้น ควบคุมปริมาณน้ำ ซึ่งทุเรียนต้องการมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละระยะ เช่นก่อนออกดอก งดน้ำเพื่อให้ทุเรียนเครียด ออกตาดอก  แต่ดอกช่วงบานติดลูกในระยะ "หางแย้" ต้องให้น้ำมาก กลีบเลี้ยงที่หุ้มผลเล็กๆจะหลุดออกทำให้ทรงลูกจะสวยตั้งแต่เล็กๆ  เหล่านี้เกษตรกรจะมีความรู้ที่สั่งสมไว้  เช่นเดียวกันกับพ่อและแม่...


ทุเรียน...กับความสดจากสวน  

 ของโปรดของฉันเป็นพันธุ์กระดุม ลูกเล็กกำลังน่าทาน และพันธุ์ก้านยาว.. เนื้อเนียน ไม่หวานจัดนัก  (ต้นที่เสนอไว้ในภาพเป็นต้นพันธุ์ของหมอนทอง)  แต่ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ใดๆ ในสวนเช่น หมอนทอง ก้านยาว  หรือ กระดุมทอง ที่ปลูกไว้มีคุณภาพดี รสอร่อย ส่วนใหญ่ผู้ที่มาติดต่อซื้อขายมักจะดูจากต้นและใบ เพราะถึงแม้ว่ามีผลดก ต้นก็ไม่โทรมแสดงว่าได้รับการบำรุงดูแลดี  โดยเฉพาะรายที่มาติดต่อตัดทุเรียนเพื่อส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งจะมีออเดอร์มา ต้องจัดหาสินค้าให้เต็มคอนเทนเนอร์ อย่างไรก็ตามถึงจะเป็นเกรดทุเรียนส่งออก ราคาก็ขึ้นกับพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรมักจะตกเป็นผู้เสียเปรียบเสมอ ไม่มีอำนาจต่อรอง บางครั้งทำสัญญาก่อนตัดทุเรียนก็ยังไม่วาย..เป็นปัญหา  คงต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งในส่วนนี้


ทุเรียนกับความสุขที่แฝงตัว....ถึงแม้รายได้ที่ทุเรียนที่บ้านสวนยังห่างไกลคำว่ามั่งคั่ง  แต่ก็ประทังไปได้เพราะนั่นไม่ใช่คือเป้าหมายสำคัญ  

เพียงจัดการให้ดุลทั้งรายรับรายจ่ายและมีเงินเหลือใช้ในการดำเนินงานต่อไปในแต่ละปี  แต่สิ่งที่ไม่สามารถนับเป็นเม็ดเงิน มีมากมาย เช่นความสบายใจ การปลูกพืชพันธุ์ สีเขียวทำให้สบายตา ทำให้ใจสงบ  มีสมาธิ ได้ศึกษาเรียนรู้ มีสุขภาพดี ได้แบ่งปัน ส่วนหนึ่งนำไปถวายพระ ฝากไปให้ญาติพี่น้องต่างถิ่น  ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานของการทำสวนอย่างพอดี ตามกำลัง ไม่ต้องเร่งรัดพืชพันธุ์ ถึงแม้จะทำงานด้วยความตั้งใจ เหนื่อยล้า แต่ล้วนมีความสุขที่แฝงตัว ให้ได้สงบใจ-กาย..


ทุเรียน..กับความผูกพัน.. 

ได้คุยกันเล่นๆในหมู่ลูกชาวสวนทั้งสี่คนพี่น้องว่า ..ที่สวนมีทั้ง "ราชาและราชินีแห่งผลไม้"  เรา..บริวารก็เลยอิ่มกับผลไม้สดในสวน สำราญใจ  ...ทุเรียนได้รับการให้ฉายาว่า .. king of the fruits  ....ทั้งหนามแหลมคม  ซ่อนความหวานมัน อร่อยภายใน  "อย่าด่วนตัดสินอะไรจากภายนอก  สัจธรรมจากทุเรียนสอนไว้"...นึกย้อนภาพสมัยเด็กๆ   ที่เหล่าลูกๆนั่งรอมองแม่แกะทุเรียน  เห็นได้ว่าไม่ง่ายนะ   แต่อร่อยสมกับการรอที่นาน   แต่ปัจจุบันมีทักษะในการแกะทุเรียน แป๊บเดียว    ครั้งหนึ่งมีน้กท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มาแวะซื้อทุเรียน ...ก่อนซื้อต่อรองราคาดิบดี  แต่ขณะที่ยืนรอ ได้เห็นวิธีการแกะ   สุดท้ายด้วยความประทับใจ  จากที่ต่อราคาไว้กลับเป็นให้ทิปๆเลยหล่ะ ..เรา..ทึ่งที่ฝรั่ง/คนต่างชาติซื้อทุเรียนกิน และ ฝรั่ง/คนต่างชาติ  ทึ่งที่เห็นเราแงะทุเรียนกว่าจะได้กิน..


ทุเรียนในฐานะที่เป็นของกำนัล...

ปัจจุบันนี้เมื่อเอาทุเรียนไปฝากเพื่อนๆในกลุ่ม  ขณะที่นัดวันมากิน  ลูกสาวชาวสวนก็ทำหน้าที่แกะทุเรียนให้เพื่อนๆอยู่ในสภาพพร้อมหยิบได้เลย  ส่วนใหญ่ใครๆที่ไม่มีทักษะก็จะบอกว่ายาก เวลาซื้อในตลาดจะต้องให้แม่ค้าผ่าไว้ให้  ปกติทุเรียนพันธุ์จะมีเปลือกซึ่งมักจะมีความหนามากกว่า  แต่ถ้ามีทักษะการใช้ปลายมีดคมและแข็งแรงกรีดลงไป แยกทุเรียนออกเป็นแต่ละพู  จากนั้นใช้ปลายมีดกรีดเบาๆผ่ากลางพู ทำให้แยกเป็นสองส่วนและติดก็จะสกันด้านล่าง สวยงามรอกินประเภทในจานได้เลย  เพื่อนๆชมเมื่อเห็นกรรมวิธี ..หากจะนำไปแช่ตู้เย็นเนื่องจากทานไม่หมด ก็ควรจะแช่ทั้งเปลือก (ทั้งพู) เพราะจะไม่ทำให้สภาพเนื้อเปลี่ยนไป เนื้ออร่อยเหมือนเดิม...เว้นเสียแต่ชอบกินเนื้อนิ่มๆ เพราะขบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมียังมีต่อเนื่อง.

ทุเรียน..กับสัตว์เลี้ยง  

ของโปรดเจ้าสี่ขาที่บ้านทุกตัว (รอทไวเลอร์ ดุ..ด้วยซิ) 3 ตัวและทุกตัววิ่งไล่กันในสวนทุเรียน ปัจจุบันเหลือเพียง 1 ตัวละ :-((   มีหน้าที่ตามเจ้าของสวนไปเที่ยว หนอนหมอบเล่นในสวน เห่าบ้างเมื่อมีเสียงรบกวน   รางวัลก็คือ ทุเรียนหอมหวานอร่อย  หากแกะทุเรียนเมื่อไหร่ เป็นอันต้องนั่งรอ แหงนมอง น้ำลายหยดแหมะๆ.. ใครจะอดใจไหว ไม่ให้เจ้าสี่ขาลิ้มลอง  ฉะนั้นในหนึ่งผลที่แกะออกมาแล้วก็สำเร็จเจ้าสมาชิกไปอย่างรวดเร็ว  หน้าทุเรียนปี..น้องหมาเหล่านี้ ขนมันสวยงาม มีน้ำมีนวล ทำน้ำหนักได้ดี เพราะแคลอรี่สูงและกำมะถันก็ค่อนข้างสูงในเนื้อทุเรียน ..ส่วนน้องแมวก็ขอมีส่วนแบ่งบ้างแต่น้อยมากเมื่อเทียบกับเจ้าสี่ตัว  ทุกชีวิตในสวนนี้จึงได้ชื่นชมรสชาติทุเรียนกันถ้วนทั่ว..ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนสด หรือทุเรียนกวน หรือทุเรียนทอด..ชอบทั้งนั้น..


ทุเรียน..กับฝีมือปลูกและดูแลโดยพ่อและแม่อร่อยเสมอ..

ฉันบอกท่านอย่างนั้นเมื่อได้ลิ้มลองรสชาติทุกปี ขอบคุณทุกอย่างจากบ้านสวน  มีบาง crop แปลงที่ปลูกใหม่จะเรียกกันว่าแปลง "ทุเรียนDr." ปลูกไว้เมื่อ "ลูกสาวชาวสวน"ต้องจากบ้านไปเรียนไกลโพ้น ข้ามน้ำข้ามมหาสมุทร   แม้คิดถึงผลไม้โปรดก็ไม่มีให้ได้ลิ้มลอง    ทุเรียนที่บ้านสวนจะเลือกกินได้ ไม่ว่าจะเป็นระยะเนื้อนิ่ม แข็ง หวาน/ไม่หวานอย่างไร.. จัดให้...  นำเป็นของฝากเพื่อนฝูงที่ชอบพอ  ประเภทที่กลิ่นทุเรียนยั่วยวนได้..ก็ชอบใจไปตามๆกัน  ญาติสนิทไปทำบุญที่วัด หากญาติโยมบอกว่าทุเรียนอร่อย ชอบกินทุเรียนก็จะส่งไปให้ จึงได้แบ่งปันความสุขทั่วๆกัน   ส่วนเพื่อนๆนั้น หากมีโอกาสก็เชิญชวนไปเที่ยว ชิมและชมที่สวน.. สนุกตามประสาชาวสวน..อิ่มตาอิ่มท้องอิ่มใจ  และแน่นอนที่สวนจะไม่ยอมตกลงให้ตัดทุเรียนที่ยังไม่ได้เวลาเพื่อนำไปขาย  พ่อค้าที่มาขอตัดทุเรียนก่อนในช่วงที่ราคาดี  ก็จะไม่ได้ หากยังไม่ได้เวลาที่เหมาะสมต่อความอร่อย ไม่ขาย การันตีได้ ..เพราะเคารพความรู้สึกของผู้บริโภคที่ได้กินทุเรียนอ่อนจะรู้สึกอย่างไร  ถึงแม้ไม่อ่อนแต่ยังไม่ถึงเวลาตัดก็ไม่ควรอย่างยิ่ง  เสียความอร่อยของทุเรียนหมด :-((

....ขอบคุณ...ที่มีวันนั้น วันนี้ และวันหน้า ในสวนผลไม้.....

@"ลูกสาวชาวสวน"    @..ปักษ์ใต้  เมืองประตูสู่ด้ามขวานไทย



สุชาติ์มณี

๑๗ ธค. ๒๕๕๕

บันทึำกไว้ยามบ่าย ...๑๓ นาฬิกา

หมายเลขบันทึก: 512340เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 08:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

 คุณ pap2498 ชอบปลูกทุเรียนหรือ ชอบกินทุเรียนค่ะ?? ถ้าชอบปลูกก็จะทำให้มีสุขภาพดี  แต่ถ้าชอบกิน..ปกติก็จะมีแคลอรี่สูง คงกินมากไม่ได้นะค่ะ 

บางคนใช้มุข บอกว่าให้กิน "หนึ่งหน่วยบริโภค"  แล้วกินทุเรียน "หนึ่งหน่วย" คือหนึ่งผล อย่างนี้ไม่ดีต่อผู้ที่ต้องอยู่ในความดูแลเรื่องสุขภาพ.. แต่ใครที่ชอบ กลิ่นก็ยั่วยวนชวนกินจริงๆ  อย่างนี้ใช้ทุเรียนฝึกการดับกิเลส ได้ไหมหนอ??.ขอได้รับความขอบคุณที่มาเยี่ยมชมสวนในบันทึกนี้....จากลูกสาวชาวสวนค่ะ

ชอบกินทุเรียน ทอด ค่ะ  ไม่หมดถุงไม่เลิกกินค่ะ

 คุณครูทิพย์ชอบกินทุเรียนทอด..เหรอค่ะ?? เช่นเดียวกันเลย...อุ๊บส์...มีคำแนะนำว่า ...."watch your weight"  เผลอไม่ได้เลยน๊า  กินเพลินเลยหล่่ะ:-))

น้องๆ..ลูกชาวสวนที่บ้าน..มีเทคนิคการทอดให้ไม่ให้อมน้ำมัน แต่ก็ทำเป็นครั้งคราว เป็นเพราะวัตถุดิบมีมากมาย  นำไปเป็นของฝากเพื่อนๆชอบกันทุกคน

คิดๆว่าจะซื้อเครื่องมาทอดและอบละเนี่ย.. เพราะเสียดายทุเรียน  คิดหาทางแปรรูปให้ได้มูลค่า (added value)  ให้มากขึ้น  หาทางเลือกมากขึ้น  อาจจะดีกว่าขายผลสุกค่ะ ..สงสัยต้องให้ครูทิพย์สมัตรเป็นสมาชิกฝ่ายชิม อิอิ!!   จริงๆแล้วคุณภาพแป้งอร่อยมากกว่าพืชใดๆ เคยเอาไปให้เพื่อน/อาจารย์ชาวต่างชาติกิน ก็ชอบกัน ชนิดทอดๆ  อร่อยกว่าchips มันฝรั่งของเขาอีก เห็นบอกว่าอย่างนั้น  แต่ถ้าเป็นชนิดสุกๆ ก็ถอยกันหมดค่ะ ได้กลิ่นก็ไม่ไหวกัน ..

..ชิ้นที่ป่นๆ แตกง่าย  ถ้าเอามาโรยทานกับสลัดทุกประเภท. กรอบๆๆ...  อืมม์..เมนูโปรดค่ะ..รักษาสุขภาพแบบแอบเพิ่มแคลอรี่นิดๆ  ปลอบใจว่าผักเยอะๆ..ขอบคุณที่แวะมาทักทายค่ะ:-))

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเที่ยวสวนทุเรียนปักษ์ใต้ค่ะ 

องค์ความรู้เรื่องการปลูก ดูแลทุเรียนเป็นสากล..นำไปปรับใช้ได้นะค่ะ หากใครสนใจ แวะมาเยี่ยมเยือนพูดคุย จะได้ถามผู้รู้ให้ค่ะ:-))

ผมชอบปลูกทุเรียน และชอบกินทุเรียนและสนใจที่จะปลูกเมล็ดให้กลายพันธุ์ตามธรรมชาติ

เยี่ยมเลยค่ะ ที่คุณ pap2498 ปลูกทุเรียน ด้วยเมล็ดให้กลายพันธุ์โดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นตลอดเวลารวมถึงพืชพันธุ์   ยีนที่ผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ก็จะถูกส่งผ่านไปรุ่นต่อรุ่น ลักษณะที่ปรากฏก็จะได้รับการคัดเลือกไว้

อย่างนี้ที่สวนคุณ pap คงมีหลายพันธุ์แน่ๆเลย ..น่าชื่นชมนะค่ะที่รักษาสายพันธุ์ตามธรรมชาติเอาไว้ ...  ขอบคุณที่แวะเข้ามาแบ่งปันประสบการณ์อีกครั้งค่ะ :-))

เสนอให้เลี้ยงแพะ หรือ ห่าน จะกินหญ้าหมด แถมให้ปุ๋ย ให้นม เนื้อ    แต่มันมีปัญหา ทั้งสองอย่าง   แพะไม่กินแต่หญ้า แต่กินต้นไม้ด้วย  ห่าน ดี แต่หมาเพื่อนบ้านจะมากินห่าน ตายหมด    ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ ไม่ยาก ...เปลือกทุเรียน เม็ดทุเรียน  ยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก   ผมคิดไว้นานแล้วครับ  เนยทุเรียน ทาหนมปัง ก็ยังไ้ด้ 

โห.. คนถางทาง ..มีข้อเสนอแนะมากมายที่ชวนคิด น่าลองค่ะ   อืมม์.. แพะเหรอค่ะ?? เห็นด้วยเลยว่า กินเรียบ..กินทุกชนิดที่ขวางหน้า ใจคงไม่สงบเท่าไหร่ ถ้ามีแพะกินต้นไม้ล้มลุก พืชผักและไม้ดอกสวยๆในสวนด้วย คงไม่หมดเฉพาะหญ้า และกลิ่นแพะก็ด้วย ฤาจะต้องทำกลิ่นให้ใกล้เคียงกัน :-))

ส่วนห่านน่าจะลองนะค่ะ...ยังไม่เคยเลี้ยงห่าน แต่ชอบห่าน คอยาวๆท่าทางเวลาไล่ไชร้กันรักดี สมัยเด็กๆ วิ่งหนีห่่านก็สนุกละ   ยังไงที่บ้านสวนก็คงต้องสอนเจ้าสี่ขา-หมาน้อยไม่ให้ระรานห่านถ้าจะเลี้ยง    ติ๊กตอก ๆ ...คิดๆๆทำไงดี แก้ไม่ยากเหรอค่ะ?? สงสัยต้องเชิญมาแถลงไขเพิ่มเติม ถ้าจะกรุณา  จัดการหาวิธีผูกมิตรให้ห่านกะน้องหมาให้ได้ก่อน:-))

ส่วนผลิตภัณฑ์จากทุเรียน ตั้งแต่ภายนอกยันภายใน  หมายถึง ตั้งแต่เปลือก จนกระทั่งเมล็ดเลย ก็คิดไว้หมดแล้วเหรอค่ะ...อืมม์..อย่างนี้ต้องเก็บสะสมตังค์ค่ารถ/ค่าเครื่อง/ค่าตัว...เชิญไปเยี่ยมที่สวนนซะหน่อยละ.. มากินทุเรียนหน่ะค่ะ  เพราะสวนเล็กๆเท่านั้น อย่างนี้ไม่ทราบว่า ท่านจะมีคิวให้ไหมหนอ??  โดยเฉพาะได้เมื่อยินว่า "เนยทุเรียน"...ทาหนมปังด้วย  yammy ๆๆๆ ...เอาไว้ค่อยถามไปใหม่ค่ะ   ส่วนเมล็ดทุเรียน...เมื่อก่อนเพื่อนเคยถามว่า ทุเรียนกวนใส่เม็ดทุเรียนด้วยเหรอ??  เลยบอกว่า แม้กระทั่งเนื้อทุเรียน ยังกวนไม่ค่อยจะทันเลย จะเอาเมล็ดไปใส่ให้เสียรสชาติ ลดความอร่อยทำไม???  แต่ที่อื่นไม่ทราบนะค่ะ .

ปัจจุบันนี้ องค์ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทำได้มากมาย..ไม่่ใช่เฉพาะการถนอมอาหารแต่เป็นอย่างอื่นด้วย  แต่ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ถึงระดับชาวสวนเลยค่ะ ถึงแม้ว่าทำไม่ได้ระดับชาวสวน แต่การสร้างแรงจูงใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มมูลค่าก็ควรจะส่งเสริมให้มีขึ้น ..อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเช่นกัน...ขอบคุณค่ะที่แวะมาฝากข้อคิดไว้ ทำให้รู้สึกว่าอนาคตยังสดใสได้กับผลไม้ไทยๆ  :-))

ชอบทานก้านยาวค่ะ ไม่หวานมาก เนื้อละเอียด เม็ดเล็กๆ ค่ะ 

ทุเรียนให้พลังานสูงค่ะ เพลอทานมากไม่ได้ค่ะ แต่เป็นผลไม้ที่แสนจะรสชาดดีค่ะ

นานๆ ดิฉันจะทานสักครั้ง 

 คุณ Bright Lily..ชอบทาน ก้านยาว นะค่ะ ...เช่นกันค่ะ  แต่ส่วนใหญ่ทุเรียนตลาดผู้คนมักจะสนใจหมอนทอง มีรสหวานกว่า  รูปทรงผลก็สวยได้สัดส่วน  พันธุ์ก้านยาวจึงเป็นส่วนแบ่งตลาดที่น้อย  หลายคนอาจจะไม่รู้จักด้วย  ที่ส่วนก็ปลูกไว้ทานกัน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นหมอนทองค่ะ

นึกถึงก้านยาวเมืองนนท์ ...อืมม์.. สมัยก่อนเมื่อย่างเข้าวัยรุ่น ไปเรียนหนังสือ มีเพื่อนเป็นชาวเมืองนนท์  สมัยนั้นสวนทุเรียนเมืองนนท์ยังมีให้ชื่นชม เราสาวๆไปชมสวนกัน กินทุเีรียนด้วย  ประสาเด็กต่างจังหวัดเข้ากรุงไปเีรียน บรรยากาศที่นั่น ยังเป็นสวนทุเีีรียน ยกเป็นร่อง ตอนนั้นแถวตลาดท่่าน้ำนนท์ก็ยังมีให้เห็นเยอะเลยทุเรียนที่นั่น   ติดถึงก้านยาวเมืองนนท์ละก้อ...รสชาติอร่อยสมคำเล่าลือ  เสียดายปัจจุบันราคาแพงมากๆ  สวนก็กลายเป็นบ้านเรือน แต่ผ่านไปก็ยังท้องร่อง สวนยังมีให้เห็นบ้าง  แถมน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีก่อน เฮ้อ ไม่เหลือละ.ต้นผล... ยังมีความทรงจำที่ดีๆค่ะ  ขอบคุณที่แวะมาทักทายค่ะ :-))

ชอบทุเรียนด้วยทำให้เราต้องคอยแวะเวียนดูแลสม่ำเสมอจะได้ไม่ไปเที่ยวไกล ๆ ในฤดูร้อน

สวัสดีค่ะคุณpap 2498

จริงๆด้วยค่ะ ถ้าชอบปลูกทุเีรียน ก็คงเป็นห่วงช่วงแล้งที่ขาดน้ำ  สังเกตดูว่าใบเหี่ยว ยอดเหี่ยว  ใจคนปลูกก็คงเหี่ยวแห้งไปด้วย ..ต้นไม้ที่ปลูกบ่งชี้อาการว่า น่าจะไม่ดีแน่    แต่ก็คงไปเที่ยวได้นะค่ะ ถ้าวางแผนการให้น้ำต้นทุเรียนไว้ดีๆ

ไม่ทราบว่าที่สวนคุณ pap 2498 ช่วงนี้มีผลทุเรียนไหม๊??   .อืมม์...ที่นี่ บ้านสวน ยังมีลูกทุเีรียน ทวายตามฤดูค่ะ ไม่เคยใช้สารเคมีทำทวายนะค่ะ และไม่คิดจะใช้ด้วย เพราะผลตกค้างมีผลต่อคนและสิ่งแวดล้อม   ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา สมาชิกมากันเต็มบ้าน  ก็กินกันตัวอ้วนกลม จะคล้ายๆกะลูกทุเรียนไปทุกทีละ.:-(( .ขอบคุณค่ะที่แวะมาเยือน เล่าประสบการณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท