วันขึ้นปีใหม่


วันขึ้นปีใหม่

นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

                                  

ความหมาย วันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า ปี หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน และ เวลา 12 เดือนตามสุริยะคติ

ความเป็นมา

นานาชาติ  ในสมัยโบราณนั้น แต่ละชาติต่างก็ไม่มีวันขึ้นปีใหม่ที่ตรงกัน เช่นในประเทศเยอรมัน ชาวเยอรมันในสมัยโบราณจะมีวันขึ้นปีใหม่ในปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเวลาที่กำลังมีอากาศหนาวเย็น ประชาชนที่แยกย้ายออกไปหากินในที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ในช่วงฤดูร้อน หลังจากเก็บเกี่ยวพืชผล และ นำขึ้นยุ้งฉางเสร็จแล้ว ก็จะมาร่วมฉลองขึ้นปีใหม่ในระยะนี้ ต่อมาเมื่อชาวโรมันได้เข้ามารุกราน จึงได้เลื่อนการฉลองปีใหม่มาเป็น วันที่ 1 มกราคม ชาติโบราณ เช่น ไอยคุปค์ เฟนิเชียนและอิหร่าน เริ่มปีใหม่ราว วันที่ 21 กันยายน รวมถึงชาวโรมันก็เริ่มปีใหม่วันนี้เช่นเดียวกัน

ครั้งมาถึงสมัยของซีซาร์ที่ใช้ปฏิทินแบบยูเลียน จึงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม แต่พวกยิวจะขึ้นปีใหม่ อย่างเป็นทางการประมาณวันที่ 6 กันยายน ถึงวันที่ 5 ตุลาคม และ ทางศาสนาเริ่มวันที่ 21 มีนาคม ส่วนชาวคริสเตียนในยุคกลางจะเริ่มปีใหม่ในวันที่ 25 มีนาคม คนอังกฤษ เชื้อสายแองโกลซักซ้อมได้เริ่มปีใหม่วันที่ 25 ธันวาคม ภายหลังเมื่อพระเจ้าวิลเลี่ยม ( William the Conqueror ) ได้เป็นราชาธิราชแห่งเกาะอังกฤษ จึงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม ต่อมาเมื่อถึงยุคกลางชาวอังกฤษก็เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 25 มีนาคม เช่นเดียวกับชาวคริสเตียนอื่น ๆ แต่ต่อมาเมื่อมีการใช้ปฏิทินแบบกรีกอเรียน ชาวคริสเตียนนิกายโรมันคาทอลิกก็กลับมาขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคมกันอีก

ไทย ประเพณีปีใหม่ของไทยสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ตอนต้น ถือวันทางจันทรคติเป็นวันขึ้นปีใหม่ สำหรับพระราชพิธีปีใหม่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเสด็จเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยง ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานฉลากแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคน ครั้นพระราชทานสิ่งของตามฉลากแล้วเสด็จพระราชดำเนินมาที่ศาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดพระเนตรละครหลวงแล้วเสด็จ ฯ กลับ  ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯให้ใช้พุทธศักราช แทน รัตนโกสินทร์ศก ตั้งแต่  พุทธศักราช ๒๔๕๕ และต่อมาใน พุทธศักราช ๒๔๕๖ โปรดให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกันเรียกว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์

ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๘ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร มหาอานันทมหิดล ได้ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็น วันขึ้นปีใหม่ เพราะวันที่ ๑ มกราคม ใกล้เคียงวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปีและเป็นการสอดคล้องตามจารีตประเพณีโบราณของไทยต้องตามคติแห่งพระบวรพุทธศาสนาและตรงกับนานาประเทศ โดยให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑  มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 หน้า 31 เป็นต้นไป

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช  เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๙๐ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โปรดให้ยกการพระราชกุศลสดับปกรณ์ผ้าคู่ในวันขึ้นปีใหม่ ไปใช้ในพระราชพิธีสงกรานต์ ซึ่งฟื้นฟูขึ้นใหม่ตามโบราณราชประเพณีซึ่งเป็นเทศกาล สงกรานต์ในวันที่ ๑๓ - ๑๔ - ๑๕ เมษายน

ต่อมา พุทธศักราช ๒๕๐๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการพระราชกุศลสวดมนต์เลี้ยงพระในวันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนเป็นเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรวันขึ้นปีใหม่แทนใน พุทธศักราช ๒๕๐๑   และวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิตไปพระบรมมหาราชวัง ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธปฏิมาที่พระแท่น นพปฎลมหาเศวตฉัตรภายในท้องพระโรง เวลา ๗ นาฬิกา เสด็จฯ ลงยังสนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยแล้วทรงบาตรพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยจัดเป็นสาย ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศานุวงศ์ ๕๐ รูป นอกนั้นสายละ ๒๕ รูป รวมพระสงฆ์ ๓๐๐ รูป เสร็จแล้วเสด็จฯ ขึ้น งานนี้แต่งเครื่องแบบปรกติขาว งานนี้มีสังข์แตร ปี่พาทย์ ประโคม บรรเลง ตั้งแต่เสด็จทรงจุดเทียนจนเสด็จขึ้นวันนี้ เวลา ๙ นาฬิกาจนถึงเวลา ๑๗ นาฬิกา สำนักพระราชวัง จะได้จัดที่สำหรับลงพระนามและนามถวายพระพรไว้ที่พระบรมมหาราชวัง

  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ในวันที่๑มกราคมเป็นวันที่๓๑ธันวาคมซึ่งเป็นวันสิ้นปี

  ต่อมาในปี พุทธศักราช ๒๕๑๘ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นงานส่วนพระองค์ ณ พระราชฐานที่ประทับ

สำหรับ พิธีของราชการและประชาชนในวันขึ้นปีใหม่ ก็จะมีตั้งแต่คืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม จนถึง วันที่ ๑ มกราคมเช่นเคยยึดถือมาเดิม คือในวันสิ้นปีหรือวันที่ ๓๑  ธันวาคม ทางราชการหรือประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ จัดให้มีการรื่นเริง และมหรสพ มีพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชน สมเด็จพระสังฆราชประทานพรปีใหม่แก่พุทธศาสนิกชนและบุคคลสำคัญของบ้านเมือง เช่น ประธานรัฐสภานายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา กล่าวคำปราศรัย พอถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. วัดวาอารามต่างๆ จะจัดพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้อง กลอง ระฆัง เพื่อแสดง ความยินดีต้อนรับรุ่งอรุณแห่งชีวิตของประชาชนในปีใหม่โดยทั่วกัน ตอนเช้าวันที่ ๑ มกราคม ก็จะมีการทำบุญตักบาตร สุดแท้แต่การจัด บางปีมีการจัดร่วมกัน บางปีบางท้องที่ก็ไปทำบุญตักบาตรกันที่วัดหรือที่ใดๆ บางท่านบางครอบครัว ก็มีการทำบุญตักบาตรหรือการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน ที่สำนักงานของตน

การทำบุญในวันขึ้นปีใหม่ เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับไฟและธงชาติตามสถานที่สำคัญๆ ครั้นถึงวันที่ 31 ธันวาคม ก็จะมีการทำบุญเลี้ยงพระไปวัดเพื่อประกอบกิจกุศลต่าง ๆ เช่น ฟังพระธรรมเทศนา ถือศีลปฏิบัติธรรม แต่บางคนก็แค่ทำบุญตักบาตร ตอนกลางคืนบางแห่งอาจจัดเทศกาลกินเลี้ยงที่ครื้นเครงสนุกสนานเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เช้าวันที่ 1 มกราคม จะมีการทำบุญตักบาตร ไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ผู้ที่เคารพนับถือ มีการมอบของขวัญและบัตรอวยพรให้แก่กัน สำหรับในต่างจังหวัดจะมีการทำบุญเลี้ยงพระที่วัด อุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ญาติที่ล่วงลับ กลางคืนมีการละเล่นพื้นบ้านหรือจัดมหรสพมาฉลอง

คติข้อคิดในวันขึ้นปีใหม่

เมื่อเวลาผันเปลี่ยนเวียนไปครบ 1 ปี เราได้อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงวันขึ้นปีใหม่ ขอให้ลองมองย้อนหลังกลับไปคิดดูว่า วันเวลาที่ผ่านมานั้น เราได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าหรือเปล่า และได้กระทำคุณงามความดีอันใดไว้บ้างและควรหาโอกาสกระทำให้ดียิ่ง ๆขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันเราได้กระทำความผิดหรือสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องไว้หรือไม่ หากมีต้องรีบปรับปรุงแก้ไขตัวเอง

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ

1เก็บกวาดดูแลทำความสะอาด ประดับธงชาติตามอาหารบ้านเรือน

2ทำบุญตักบาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติและผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว

3ไปวัดเพื่อทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม หรือฟังพระธรรมเทศนาฯลฯ เพื่อให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน

4ตรวจสอบตัวเองเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ทำมาตลอดปี ว่ามีความเจริญก้าวหน้าสำเร็จลุล่วงไปได้แค่ไหน
หากมีคั่งค้างก็ต้องเร่งขวนขวายปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตน ถ้าอยู่ในเกณฑ์ดีก็ให้ตั้งใจทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

5หากมีเรื่องบาดหมางหรือขุ่นเคืองกับผู้ใด ในวันนี้ควรถือโอกาสให้อภัยซึ่งกันและกัน เริ่มสานความสัมพันธ์ให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยดี

วันปีใหม่ (อังกฤษ: new year) มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก 4 ปีต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไข อีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุง ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน จำหน่ายของขวัญปีใหม่ของที่ระลึกเมื่อเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในทุก ๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

และในวันที่ 21 มีนาคมตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกเป๋ง วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมง เท่ากัน เรียกว่า วันวสันตวิษุวัติ (Equinox in March)

แต่ในปี พุทธศักราช 2125 วันวสันตวิษุวัติ กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พุทธศักราช 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะในปี 2125 นี้) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรโกเรียน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

พรขึ้นปีใหม่

สวัสดีวันปีใหม่พา
ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม
ต่างสุขสมนิยมยินดี

ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า
ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี
ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย

ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์
ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่
ผองชาวไทยจงสวัสดี

ตลอดปีจงมีสุขใจ
ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์
สวัสดีวันปีใหม่เทอญ

เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ ๑๓ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เมื่อเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง พรปีใหม่และทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็จศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี ๒ วง คือ วงดนตรี นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๕


หมายเลขบันทึก: 512166เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2013 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท