ตามหาสุขแท้ ปีที่4


ตามหาสุขแท้ ปีที่4        
การยึดสติ และมุ่งใช้ “ปัญญา”คือหัวใจสำคัญ ของงาน “สุขแท้ด้วยปัญญา” ที่เครือข่ายพุทธิกา และบรรดาสมาชิกชาวสุขแท้ร่วมผลักดันกันมาตลอดในปีนี้ (ระยะที่4 เม.ย.55-เม.ย.56) เช่นกัน หลักคิดเช่นเดิมยังเป็นแนวทางที่แต่ละโครงการยึดถืออยู่ หากจะเพิ่มขึ้นก็คงจะเป็นการสร้างสรรค์กิจกรรมของแต่ละพื้นที่ ต่างชมรม ซึ่งล้วนออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของตัวเอง ธวัชชัย โตสิตระกูล กรรมการบริหารเครือข่ายพุทธิกา ผู้จัดการโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ยกตัวอย่างว่า การสร้างสรรค์งานที่ว่า คือทักษะและกระบวนการชุมชนที่สามารถสนองความต้องการของตัวเอง สามารถลดช่องว่างที่มีในชุมชนได้ “อาทิ ในภาคอีสานซึ่งมีอัตราประชาชนวัยทำงานย้ายถิ่นสูง โครงการจึงเน้นการสร้างชุมชนเพื่อรองรับสถานการณ์ เช่น เกิดกิจกรรมแม่อาสาที่มีผู้สูงอายุในชุมชนอาสาดูแลเด็กและร่วมอบรมผ่านประวัติศาสตร์ชุมชน ขณะเดียวกันก็เกิดเครือข่ายเยาวชนร่วมดูแลผู้สูงอายุอีกทางหนึ่ง หรือในพื้นที่เขตเมืองที่เกิดปัญหาเยาวชนติดเกมคอมพิวเตอร์ ชุมชนจึงร่วมสร้างกิจกรรมเพื่อดึงเยาวชนเหล่านั้นมาทำสิ่งที่สร้างสรรค์กว่า เกิดประโยชน์กับส่วนร่วมมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงส่งท้ายและก้าวเข้าสู่ปีใหม่ที่เป็นโอกาสดีในการสร้างเครือข่ายและเปิดรับสมาชิกใหม่ๆให้มาเข้าร่วมเพิ่มเติม” เขาว่า


ส่วนโครงการต่อเนื่อง 5 โครงการที่ได้รับการคัดเลือกคือโครงการที่ได้เข้าร่วมกับสุขแท้ด้วยปัญญามาเป็นเวลา 2-3 ปี ประกอบทั้ง 1.กลับสู่ต้นน้ำ 2.เยาวชนค้นธรรม นำทางสู่ความสุขด้วยปัญญา 3.วิถีชีวิตไตรสิกขา เด็กปัญญาทำได้ 4.สุขแท้ด้วยปัญญา (สุขแท้แม้ฟอกไต ปี 3) และ 5. ปฏิบัติการของเล่น การละเล่นของเด็กรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาการจัดการศึกษาเพื่อสุขแท้ทางปัญญาของผู้เรียน ยังคงทำอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินงาน 2 ส่วนคือ การทำงานเชิงลึกด้านความรู้ด้วยการถอดบทเรียนสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ผู้ที่สนใจหรือหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ได้ในอนาคต ตัวอย่างจากโครงการเยาวชนค้นธรรมที่ช่วยสลายความขัดแย้งในชุมชน ต.ช้าวปุ้น อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี หรือ อีกส่วนคือการทำงานแนวระนาบคือการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้มีสมาชิกเข้าร่วมมากขึ้นเกิดสิ่งดีในสังคมมากขึ้น


“กระจายสุข” สำรวจกิจกรรมใหม่ๆที่ร่วมในระยะที่4 นี้ พบว่ามีหลายเนื้องานที่น่าสนใจ โดยที่เกือบทั้งหมดยังคงตอบโจทย์การสร้างความสุข โดยที่ไม่พึ่งพิงวัตถุ ไม่หวังลาภลอย กระทั่งคิดถึงส่วนร่วมอย่างมีประโยชน์เกื้อกูล ไม่ว่าจะเป็น “กิจกรรม พลังปัญญา สร้างสุขแท้ในใจตน” ที่เน้นหลังชุมชนของกลุ่มกลุ่มชมรมคนฮักสุขภาพชุมชนวัดบ้านกลาง จ.แพร่ “กิจกรรมสร้างสุขร่วมกัน สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม” ของ ศูนย์เรียนรู้บ้านไร่ป่าคา ต.ท่าตุ้ม อ.ป่าซาง จ.ลำพูน “กิจกรรม แต้มศิลป์ เติมฝัน แบ่งปันสุข ปลูกสำนึกรักบ้านเกิด” ที่ใช้งานศิลปะเป็นสื่อกลางการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน สภาเด็กและเยาวชนตำบลศรีสำราญ สำนักงานสภาเด็กและเยาวชนตำบลศรีสำราญ จ.ชัยภูมิ เป็นต้น ทั้งหมดคือกิจกรรมที่เน้นการสร้างกระบวนการชุมชน เน้นไปที่การสร้างความสุขอย่างง่ายๆ ตามแบบฉบับของการสร้างความสุข โดยใช้ปัญญาเป็นเข้มทิศนำทางไป เพราะพวกเรารู้ดีว่าการถวิลหาความสุขแบบที่กระแสสังคมแห่งการบริโภคพยายามชักจูงไปแบบที่เป็นอยู่ มันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงเลย

หมายเลขบันทึก: 512154เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท