ว่าน


ว่าน

นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

ว่านคำที่ใช้เรียกนำหน้าชื่อต้นไม้โดยเฉพาะต้นไม้ที่ใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรและไม้ประดับบางชนิด ว่านหลายชนิดถูกเรียกว่า ว่าน จนติดปากและเป็นที่รู้จักกันมาแต่โบราณ จากการสืบค้นพบว่ามีการกล่าวถึงว่านในหนังสือตำรายาไทยชื่อ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ รวบรวมโดย พระยาพิศประสาทเวช ในปี พ.ศ. 2452 และ หนังสือชื่อ แพทย์ตำบล เล่ม1 รวบรวมจัดพิมพ์โดย พระยาแพทย์พงศา วิสุธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ต้นตระกูลสุนทรเวช ในปี พ.ศ.2464 หนังสือทั้งสองเล่มกล่าวถึงว่าน 5 ชนิดเท่านั้นคือ ว่านกีบแรดว่านนางคำว่านหางช้างว่านน้ำว่านเปราะ หลังจากปี พ.ศ. 2464 เป็นต้นมา ว่านจึงเริ่มเป็นที่แพร่หลาย มีตำราที่กล่าวถึงลักษณะว่าน ตำราที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับว่าน ใน ปี พ.ศ. 2476 หลวงประพัฒน์สรรพากร รวบรวมหนังสือชื่อ ตำรากระบิลว่าน จนเป็นที่ยอมรับในหมู่นักเล่นว่านและนับว่าเป็นตำราที่ให้ความรู้เรื่องว่านอย่างสมบูรณ์ที่สุด แม้ราชบัณฑิตสถานยังยอมรับและใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการชำระพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน โดยนิยามไว้ว่า ว่าน คือพืชที่มีหัวบ้าง ที่ไม่มีหัวบ้าง ใช้เป็นยาบ้าง ใช้อยู่ยงคงกระพันบ้าง เห็นได้ว่าความหมายตามพจนานุกรม ว่านคือพืชที่มีหัวหรือไม่มีหัวก็ได้ บางชนิดปลูกเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพร เป็นเครื่องรางของขลัง ป้องกันอันตราย พิษสัตว์กัดต่อย ยาเบื่อเมา ยาสั่ง ยาเสพติด สามารถดับพิษร้ายให้หายได้ ว่านแต่ละชนิดมีคุณานุภาพบันดาลให้เกิดผล เกิดโชคลาภ ทำมาค้าขึ้น เงินทองไหลมาเทมา มีคนเคารพนับถือ มีความเชื่อกันว่าการปลูกเลี้ยงว่าน ถ้าทำให้ถูกต้องตามพิธีการ ให้ความสำคัญว่าว่านเป็นของศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์ ก็ต้องมีพิธีมากกว่าการปลูกเลี้ยงธรรมดา เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปลูกเลี้ยงและเป็นการเพิ่มฤทธิ์ธานุภาพให้แก่ว่าน เช่น เวลารดน้ำต้องเสกคาถากำกับเป็นบทเป็นตอนต่างกันไป สามจบ เจ็ดจบหรือตามอายุของผู้ปลูกเลี้ยงแล้วแต่ชนิดของว่าน การขุดก็ต้องทำในวัน เดือน ต่างๆ กัน ทั้งข้างขึ้น ข้างแรม เช่น การขุดเก็บว่านมักเลือกวันอังคาร วันใดวันหนึ่งในเดือนสิบสองหรือไม่เกินวันพุธข้างขึ้นของเดือนอ้าย เวลาขุดใช้มือตบดินใกล้กอว่านหรือต้นว่าน แล้วเสกคาถาเรียกว่านไปตบดินไปจนจบคาถา จึงคอยขุดนำหัวว่านขึ้นมา นับจาก พ.ศ. 2484 ความนิยมว่านก็ค่อยๆ ห่างหายไป จนกระทั่ง พ.ศ. 2500 ความนิยมว่านให้ความสำคัญกับว่านกลับมาอีกครั้งหนึ่ง มีการรวบรวมจัดพิมพ์หนังสือว่านขึ้นมาอีกหลายฉบับ โดยเฉพาะหนังสือ ว่านกับคุณลักษณะ รวบรวมโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ จัดพิมพ์จัดจำหน่ายในนามของสมาคมพฤกษศาสตร์แห่งประเทศไทยเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมจากนักเล่นว่านมาก
ปัจจุบันผู้ที่ให้ความสนใจว่านไม่เพียงชื่นชอบเหมือนผู้เลี้ยงว่านในสมัยก่อนเท่านั้น แต่ยังให้ความสนใจในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในด้านอื่นๆ หลายรูปแบบ รวมทั้งการสนใจว่านในเชิงพฤกษาศาสตร์ ซึ่งมีการจัดแบ่งว่านได้ถึง 34 วงศ์ (Family) 512 สกุล (Genus) และ กว่า 1700 พันธุ์ (Species) มีทั้งว่านที่ให้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรรักษาโรค ว่านที่มีชื่อเป็นมงคลนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ซึ่งมีความเชื่อว่าว่านเหล่านี้เมื่อปลูกเลี้ยงแล้วจะส่งผลให้ทำมาค้าขึ้น นำโชคลาภวาสนา มาสู่ผู้ปลูกเลี้ยง

  


ว่านดอกทอง ว่านมหาเสน่ห์ รากราคะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma spp.วงศ์ ZINGIBERACEAE
ชื่อสามัญชื่ออื่นๆว่านดอกทอง ลักษณะทั่วไป ลักษณะเป็นว่านมีหัว รากเป็นเส้นใหญ่ไม่แตกรากฝอย ลำต้นและใบเหมือนขมิ้น ลำต้นประกอบด้วยกาบของก้านใบหลายกาบซ้อนกัน ใบรูปใบพาย ปลายใบแหลมโคนใบมนสอบติดก้านใบ พื้นใบสีเขียว เส้นกลางใบสีแดงเข้มหรือแดงเลือดหมู ส่วนที่เห็นเป็นลำต้นเหนือดินสีแดงเข้มเช่นกัน ลำต้นส่วนที่ฝังอยู่ในดินและหัวเป็นสีขาวหรือขาวอมเขียว รากเป็นสีน้ำตาล ช่อดอกเป็นกาบเรียวซ้อนสับขวางกันหลายๆกาบกาบใบแต่ละกาบมีดอกสีเหลืองทองขนาดเล็กกลิ่นหอมเย็นการปลูก ควรปลูกว่านด้วยดินปนทรายรดน้ำมากๆแต่ระวังอย่าให้ดินแฉะควรจัดวางให้ได้รับแสงแดดรำไรบ้างพอสมควร การขยายพันธุ์ โดยการแยกหน่อความเป็นมงคล สรรพคุณใช้ทางเสน่ห์มหานิยมแก่ผู้ปลูก แต่ไม่นิยมให้มีดอกติดต้นถึงบาน มักจะเก็บดอกเสียก่อนก่อนที่ดอกจะบาน เพราะเชื่อกันว่าหากผู้ใดได้กลิ่นดอกว่านต้นนี้แล้วกามราคะในจิตจะกำเริบรุนแรงโดยเฉพาะสตรีเพศ จึงมีชื่อเรียกว่านต้นนี้อีกอย่างหนึ่งว่า ว่านดอกทอง ดอกของว่านคนหนุ่มสมัยโบราณจึงเสาะแสวงหาเก็บสะสมไว้หุงกับน้ำมันจันทน์ หรือบดรวมกับสีผึ้งสีปาก ใช้น้ำมันทาตัว หรือใช้สีผึ้งสีปาก เมื่อถึงคราวจะต้องไปพบหญิงสาว สตรีใดต่อคารมด้วย พอได้กลิ่นว่านในน้ำมันหรือสีผึ้งมักใจอ่อนคล้อยตามได้ง่ายนับเป็นว่านที่เป็นเสน่ห์มหานิยมที่รุนแรงมาก มีคนถามว่าว่านดอกทอง12สายพันธุ์มีอะไรบางและลักษณะเป็นยังไงครับเลยมาตอบแต่พิมพ์ไม่ค่อยเก่งต้องทำความเข้าใจกันมากแต่หากมีพื้นฐานก็เข้าใจกันง่ายก่อนอื่นจะบอกว่าว่านดอกทองส่วนมากเป็นว่านวงศ์ขิง ต้นใบคล้ายขมิ้นแต่ต้นเล็กกว่าครับประมาณไม่เกิน1ฟุตมักออกดอกที่ดินเริ่มเลย

1.ตัวผู้ รากไหลเลื้อยต้นแดง เนื้อในหัวเหลือง กลิ่นคาวผิวใบเรียบๆใบมีเส้นกลางสีแดง (บางคนเลี้ยงเป็นตัวเมีย)
2. ตัวเมีย รากไหลเลื้อยต้นเขียวในหัวขาวกลิ่นคาว ผิวใบเรียบๆใบมีเส้นกลางสีแดง(บางคนเลี้ยงเป็นตัวผู้)
3.มหาเสน่ห์ดอกทองคล้ายตัวผู้แต่เล็กกว่าไปทุกส่วนแทงต้นครั้งแรกแดงต่อไปเขียว
4.ดอกทองสุวรรณหงษ์เหมือนข้อ3แต่เปลือกของหัวผิวมันกลิ่นคาวแรงหายาก
5.พญาเทครัวคล้ายตัวผู้ตัวเมียแต่หลังใบมีขนนุ่ม
6.มหาอุดมต้นเขียวโคนแดงคล้ายดอกทองตัวผู้ใบมันๆไหลใหญ่
7,มหาอุดมป่าต้นแดงคล้ายดอกทองตัวผู้ใบมันๆไหลใหญ่
8 ดินสอฤษี รากไหลเลื้อยยาวๆ ปานดินสอ ออกดอกที่ดิน(ดินสอบางชนิดออกดอกข้างบน อันนั้นไม่ใช่พวกนี้)
9 ดอกทองกระเจา หัวเป็นเม็ดๆ มีตุ้มน้ำเลี้ยงคล้ายจู๋เด็ก (อีสานเรียกตัวนี้ว่าดอกทองตัวผู้ คู่กับโยนีที่เป็นตัวเมีย)
10.ดอกทองนพมาศ(ไม่ใช่ว่านนพมาศ)เหมือนตัวเมียแต่ต้นใหญ่สุดในตระกูลดอกทอง
11.มหาเสน่ห์หรือดอกทองเขมรหาง่ายออกดอกทั้งปี
12 โยนี หรือว่านเขียด บ้างเรียกดอกทองตัวเมีย หัวคล้ายอวัยวะเพศหญิง ตัวนี้ เป็นพวกกล้วยไม้ดิน
12ชนิดนี้ ถึงจะเป็นดอกทองแท้ๆ บางคนเอาดินสอตัวที่ออกดอกข้างบนไปเข้าชุด ก็ ผิดธรรมเนียม แถบอีสานบางจังหวัด เรียกทองกระเจาว่าตัวผู้ ส่วนโยนีเรียกว่าตัวเมีย เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจความแตกต่างในแต่ละถิ่น

ว่านมหาเสน่ห์ ว่านดอกทอง จัดเป็นประเภทของว่านมหาเสน่ห์พันธุ์หนึ่งที่ใกล้สูญพันธุ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma spp. อยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE ตระกูลเดียวกับขิง

ลักษณะว่าน เป็นพืชล้มลุก มีลักษณะลำต้นใต้ดินเป็นเหง้ากลม แตกแง่งเป็นไหลเล็ก ยาว 5-10 นิ้ว รากเป็นเส้นใหญ่ ไม่แตกรากฝอย ลำต้นและใบเหมือนขมิ้น ลำต้นประกอบด้วยกาบของก้านใบหลายกาบซ้อนกัน ใบรูปใบพาย ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบติดก้านใบ พื้นใบสีเขียว เส้นกลางใบสีแดงเข้มหรือแดงเลือดหมู ส่วนที่เห็นเป็นลำต้นเหนือดินสีแดงเข้มเช่นกัน ลำต้นส่วนที่ฝังอยู่ในดินและหัวเป็นสีขาวหรือขาวอมเขียว รากเป็นสีน้ำตาล ช่อดอกเป็นกาบเรียงซ้อนสับขวางกันหลายๆ กาบ ความสูงของต้นประมาณ 1 ฟุต
ถ้าเป็นตัวเมียจะเรียกอีกอย่างว่า ดินสอฤษี ลักษณะต้นและใบจะไม่มีสีแดงเจือปน เมื่อหักหัวออกจะมีกลิ่นคาวจัดคล้ายอสุจิของคน กลิ่นจะรุนแรงมาก เนื้อในหัวมีสีขาว ดอกมีสีขาว เกสรสีเหลือง นอกจากนี้ ยังมีดอกทองกระเจา ที่มีดอกเป็นรูปกรวย และมีกลิ่นคาวเช่นกัน แต่ไม่เท่าดินสอฤษีดอกจะออกในช่วงฤดูร้อนต่อเนื่องจนถึงฤดูฝน คล้ายดอกกระเจียว แต่ไม่มีก้านดอก อยู่ติดกับพื้นดิน โดยแทงดอกขึ้นจากเหง้าหลักที่อยู่ใต้ดินก่อนการงอกของใบ พบมากทางภาคตะวันตกและภาคเหนือ แถบจังหวัดกาญจนบุรี ตาก ลำปาง

วิธีปลูก ในดินร่วนปนทราย ไม่ชอบน้ำท่วมขัง ควรวางให้ได้รับแสงแดดรำไรบ้างพอสมควร ขยายพันธุ์ โดยการแยกหน่อ

 ตามตำราโบราณ ระบุว่าว่านดอกทองมีอำนาจทางเพศรุนแรง โดยเฉพาะสตรีจะเกิดรุนแรงมาก ถ้าเอาหัว หรือใบ หรือต้นใส่โอ่งน้ำหรือบ่อน้ำ หากใครกินเข้าไปจะมีความรู้สึกทางเพศรุนแรง โดยเฉพาะดอกถ้าส่งกลิ่น คนที่ได้กลิ่นจะพากันมัวเมาในโลกีย์รส จึงมีความเชื่อว่าต้องเด็ดดอกทิ้ง

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าหากปลูกไว้ที่หน้าบ้าน ร้านค้าหรือสถานบริการ จะมีสรรพคุณทางเมตตามหานิยม ทำให้มีลูกค้าอุดหนุนเนืองแน่น อย่างไรก็ตาม บางตำราระบุว่าห้ามนำไปปลูกภายในบ้าน เพราะมีความเชื่อว่าอาจจะเป็นเหตุให้มีการผิดลูกเมียของสมาชิกในครอบครัวได้ (เนื่องจากคนไทยสมัยโบราณมักจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่) คนหนุ่มสมัยโบราณ ยังมักเสาะแสวงหาดอกของว่านดอกทองเก็บสะสมไว้หุงกับน้ำมันจันทน์ หรือบดรวมกับสีผึ้งทาปาก ใช้น้ำมันทาตัว หรือใช้สีผึ้งสีปากเมื่อถึงคราวจะต้องไปพบหญิงสาว ด้วยมีความเชื่อว่าหากสตรีใดต่อคารมด้วย พอได้กลิ่นว่านในน้ำมันหรือสีผึ้งมักใจอ่อนคล้อยตามได้ง่าย

คำสำคัญ (Tags): #gotoknow#ว่าน#หมอแดง
หมายเลขบันทึก: 512016เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท