พระครูอุดมธรรมานุกิจ
พระ พระครูอุดมธรรมานุกิจ อุตฺตโม บัวทะราช

มโนทัศน์เรื่อง จิตตะและ นิพพาน


ใบงานที่  ๓

๓.  มโนทัศน์เรื่อง  จิต  ในพุทธปรัชญา  (Concept  of  nice  Buddhism)

  ความหมายของ คำว่า "จิต"   จิต  คืออะไร
  จิต  คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่งซึ่ง รู้อารมณ์  จิตเป็นตัวรู้  สิ่งที่จิตรู้นั้นเป็นอารมณ์  จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นแหละคืออารมณ์  อีกนัยหนึ่งแสดงว่า  จิต  คือ  ธรรมชาติชนิดหนึ่งที่  รับ  จำ  คิด  รู้  ซึ่งอารมณ์ จิตต้องมีอารมณ์  และต้องรับ  อารมณ์ จึงจะรู้ และจำ แล้วก็คิดต่อไปสมตามนัยขยายความตามบาลีว่า 

จิตฺเตตีติ  จิตฺตํ   อารมฺมณํ  วิชานาตีติ  อตฺโถ ฯ  เป็นต้น
แปลเป็นใจความว่า  ธรรมชาติใดย่อมคิด  ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต  มีอรรถว่า  ธรรมชาติที่รู้อารมณ์คือ จิต  ในปฏิสัมภิทาพระบาลี  มหาวรรค   แสดงว่า  จิต  นี้มีชื่อที่เรียกใช้เรียกขานกันตั้ง ๑๐ ชื่อ แต่ละชื่อก็แสดงให้รู้ ความหมายว่า  จิตคืออะไร ดังต่อไปนี้
 ยํ  จิตฺตํ   มโน  หทยํ  มานสํ  ปณฺฑรํ  มนายตนํ   มนินฺทฺริยํ  วิญฺญาณํ  วิญฺญาณกฺขนฺโธ   ตชฺชา 
มโนวิญฺญาณธาตุ   อิทํ   จิตฺตํ ฯ
  เป็นต้น   ซึ่ง อัฏฐสาลินีอรรถกถา  อธิบายว่า
๑. ธรรมชาติใดย่อมคิด  ธรรมชาตินั้นชื่อว่า  จิต
๒. ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปหาอารมณ์  ธรรมชาตินั้นชื่อว่า  มโน
๓. จิตนั่นแหล่ะได้รวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน  ดังนั้นจึงชื่อว่า  หทัย
๔. ธรรมชาติคือ ฉันทะ ที่มีในใจนั่นเอง ชื่อว่า  มานัส
๕. จิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส จึงชื่อว่า  ปัณฑระ
๖.  มนะนั่นเองเป็นอายตนะ คือเป็นเครื่องต่อ จึงชื่อว่า มนายตนะ
๗. มนะอีกนั่นแหละที่เป็นอินทรีย์ คือครองความเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า  มนินทรีย์
๘. ธรรมชาติใดที่รู้แจ้งอารมณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิญญาณ

๙. วิญญาณนั่นแหละเป็นขันธ์  จึงชื่อว่า  วิญญาณขันธ์
๑๐. มนะนั่นเองเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ จึงชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ

สภาพหรือลักษณะของ  จิต
  จิตเป็นปรมัตถธรรม ดังนั้น จิตจึงมีสภาวะ หรือสภาพ หรือลักษณะทั้ง ๒ อย่างคือ ทั้งสามัญลักษณะ(ลักษณะทั่วไป  เช่น ความไม่ยั่งยืน)  และวิเสสลักษณะ(ลักษณะพิเศษเฉพาะตัวเช่น โกรธ)

สามัญญลัษณะ หรือไตรลักษณ์ของจิต มีครบบริบูรณ์ทั้ง ๓ ประการคือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ  จิตนี้เป็น อนิจจัง คือไม่เที่ยง ไม่มั่นคง หมายถึงว่า ไม่ยั่งยืน ไม่ตั้งอยู่ได้ตลอดกาล
จิตนี้เป็น ทุกขัง  คือทนอยู่ไม่ได้  เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน  ทนอยู่ไม่ได้ตลอดกาล  จึงมีอาการเกิดดับ

เกิดดับ  อยู่ร่ำไปจิตนี้เป็น อนัตตา  คือเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เป็นสิ่งที่บังคับบัญชาให้ยั่งยืน ให้ทนอยู่ไม่ให้เกิดดับ ก็ไม่ได้เลย  และเพราะเหตุว่าจิตนี้  เกิดดับ เกิดดับ สืบต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็วเหลือประมาณ จนปุถุชนคน ธรรมดาเข้าใจไปว่า  จิตนี้ไม่มีการเกิดดับ แต่ว่ายั่งยืนอยู่จนตลอดชีวิต  จิตดับไปก็เหมือนกับเข้าใจว่า กระแสไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ ซึ่งกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็ว  จนกระทั่งเราเห็นหลอดไฟสว่างอยู่ตลอดเวลา ก็เข้าใจว่ากระแสไฟฟ้าไม่ได้ไหลไปแล้วกลับฉะนั้น

  ส่วนวิเสสลักษณะหรือ ลักขณาทิจตุกะของจิต ก็มีครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการคือ
๑) วิชานน ลกฺขณํ  มีการรู้อารมณ์  เป็นลักษณะ  ๒ ) ปุพฺพงฺคม รสํ  เป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ
๓) สนฺธาน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการเกิดต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นอาการ  ๔)  ปรากฎนามรูป ปทฺฏฐานํ มีนามรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด  ในธรรมบท ภาค ๒ มีคาถากล่าวถึงเรื่องการระวังสังวรจิต และมีความกล่าวถึง ลักษณะหรือสภาพของจิตด้วย  

  สรุปเชื่อว่า  มนุษย์เรามีองค์ประกอบ  2  อย่างคือ จิต กับ ร่างกาย  และเชื่อว่า  จิตนั้นมีความสำคัญมากกว่าร่างกาย เพราะเป็นตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์  จิตหรือวิญญาณนั้นเป็นอมตะ  ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  แต่ร่างกายนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปมา  มีเกิดมีดับตามสภาพโลกภายนอก จึงทำให้ร่างกายเกิดสุขหรือทุกข์ต่าง ๆ จิตนิยมมองว่า  จิตนั้นทำหน้าที่ควบคุมร่างกาย ส่วนร่างกายเป็นเพียงสิ่งที่ทำตามความต้องการของจิตเท่านั้น

จิตประภัสสร

   ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงได้เร็ว เหมือนจิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าใดนั้น แม้จะอุปมาก็กระทำได้มิใช่ง่าย ฯ

  [๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา ฯ

  [๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง และจิตนั้นแล พ้นวิเศษแล้วจากอุปกิเลสที่จรมา ฯ

ใบงานที่  ๔

๔.มโนทัศน์ เรื่อง  นิพพาน  ในพุทธปรัชญา  (Concept  of  in  Nibbna )

   "ความหมายของนิพพานตามรูปศัพท์ 

  " คำว่า "นิพพาน" หากแยกตามศัพท์จะแยกได้เป็นสองส่วนคือ นิ+วาน "นิ" แปลว่าพัน ส่วน "วาน" แปลว่าธรรมที่เป็นเครื่องเกี่ยวโยงไว้  หมายถึง ตัณหา เมื่อรวมกันเข้าจึงแปลว่าพ้นจากตัณหานอกจากนี้ ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของพระเทพวาที ได้ให้ความหมายของนิพพานว่า คือการดับกิเลสและกองทุกข์เป็นโลกุตตรธรรม และเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาและยังได้ให้ความหมายของโมกข์ คือความหลุดพ้นจากกิเลสคือนิพพาน

"ประโยชน์ของการใช้ภาษาอธิบายนิพพาน"

  ในการศึกษาความหมายของนิพพาน เราจำต้องใช้ภาษาอันเป็นเครื่องสื่อความหมายและแสดงถึงการคิดไตร่ตรองของตัวเราเพราะไม่ว่าคำว่านิพพาน ความหลุดพ้นหรือโมกษะล้วนเป็นเพียงชื่อที่สมมติกันขึ้น ดังนั้นแม้เราจะไม่สามารถเห็นแจ้งพระนิพพานโดยอาศัยภาษา แต่การใช้ภาษาวิเคราะห์อธิบายก็สามารถช่วยให้เราพอมองเห็นแนวทาง เพื่อสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่เหมาะควรได้ไม่น้อย

"นิพพานในฐานะจุดมุ่งหมายสูงสุด"

  ในปาสราสิสูตร พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม ถึงการแสวงหาว่ามี ๒ อย่าง คือการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ กับการแสวงหาอันประเสริฐ  ซึ่งการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ ได้แก่การแสวงหาสิ่งที่ยังนำมาซึ่งความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความเศร้าหมอง  ส่วนการแสวงหาอันประเสริฐ คือการแสวงหาพระนิพพานที่ไม่มีความเกิดขึ้นในสังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด) อีก สำหรับตัวอย่างที่จะทำให้เราเห็นชัดว่านิพพานเป็นภาวะที่เข้าใจยากทำให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นสิ่งดูจะเหนือวิสัยที่จะหาคำอธิบายที่หลากหลาย ในความคิดของพุทธปรัชญาเถรวาท ดังในมิลินทรปัญหาที่พระนาคเสนให้ทูลแก่พระยามิลินทร ว่า  "การที่จะทูลชี้แจงพระนิพพาน ถวายให้ทรงเห็นชัดๆ ก็เกินกำลังความสามารถของอาตมภาพเช่นเดียวกันเพราะอาตมภาพกล่าวได้แต่วิธีที่จะกระทำพระนิพพานให้แจ้งแต่ไม่อาจแสดงเหตุที่อาศัยให้เกิดพระนิพพานได้การที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าพระนิพพานเป็นอสังขตธรรมไม่มีเหตุ

ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง รู้ไม่ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กายจะพึงรู้พึงเห็นได้ก็แต่พระอรหันต์ผู้มีจิตสงบและละเอียดเท่านั้น"

   ด้วยเหตุนี้ในทางพุทธปรัชญาเถรวาท เราจึงมักเห็นแต่การกล่าวถึงมรรค หรือวิถีทางปฏิบัติเสียมากกว่าการอธิบายสภาวะนิพพานที่เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดว่าเป็นอย่างไร

"ภาวะของผู้พ้นทุกข์"

  พุทธปรัชญาเป็นปรัชญาที่สามารถปฏิบัติให้เห็นประจักษ์จริงและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งการวิเคราะห์ความหมายของนิพพานโดยสะท้อนภาพ บุคลิกของผู้บรรลุนิพพานเป็นตัวอย่างให้ประจักษ์อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เรามีความเห็น (มโนทัศน์)เกี่ยวกับนิพพานชัดขึ้นได้ ในส่วนของภาวะผู้หลุดพ้น  พระธรรมปิฎก  (ประยุทธ์ ปยุตโต)  ได้แบ่งได้ ๓ ทาง  

ก. ภาวะทางปัญญา

๑. ผู้บรรลุนิพพานจะมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นจริงรู้อารมณ์ทางอายตนะ ด้วยจิตเป็นกลาง มีสติ 

  ประกอบ
๒.ผู้บรรลุนิพพานจะรู้เท่าทันสังขารว่าเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์
๓.ผู้บรรลุนิพพานจะไม่ติดในสมมติของภาษา

ข. ภาวะทางจิต มีความเป็นอิสระ
๑. ไม่ตกเป็นทาสอารมณ์
๒. ไม่ติดในอารมณ์
๓. ไม่หวังสิ่งใด
๔. มีความสงบ
๕. ไร้กังวล

ค. ภาวะทางความประพฤติ
๑.ศีลสมบูรณ์เพราะเป็นวิถีชีวิตของท่านอยู่แล้ว
๒.เป็นเพียงกิริยา ปราศจากกรรม

๑๐

๓.กระทำด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยอวิชชา (ความไม่รู้) ตัณหา (ความอยาก) อุปาทาน (ความยึดติด)

๔.เป็นแบบอย่างที่ดี  

  กล่าวโดยสรุป ผู้บรรลุนิพพานจะเป็นผู้ที่มีปัญญา มีความเป็นอิสระทางจิต และมีเมตตากรุณาเป็นเครื่องหมายแสดงสู่ภาวะจิตดังกล่าว ดังจะเห็นได้ในพระพุทธคุณ ๓ คือ พระปัญญา พระกรุณาและพระปริสุทธิคุณ  ที่ชาวพุทธระลึกถึงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้านั่นเอง

"การดำรงชีวิตของผู้ที่พ้นทุกข์"

ย่อโดยรวบรัดว่า ผู้ที่หลุดพ้นแล้วซึ่งในทางพุทธปรัชญาแบ่งเป็น  ๓  คือ

๑.  พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรลุด้วยตัวเองสั่งสอนธรรมช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์

๒.  พระปัจเจกพุทธเจ้า บรรลุด้วยตนเอง ไม่สั่งสอนผู้อื่น

๓.  พระอรหันต์ ผู้บรรลุโดยรู้ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผู้บรรลุธรรมยังสามารถทำอะไรได้ไม่แตกต่างกับปุถุชน  ต่างกันเพียงแต่ว่าผู้ที่หลุดพ้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนแม้จะมีการรับรู้อยู่ก็ตาม

ดังในวิสุทธิมรรคความว่า  "อันทุกข์มีอยู่แท้ แต่ใคร ๆ ผู้รับทุกข์ไม่มี  ผู้ทำไม่มี  แต่การกระทำมีอยู่แท้  ความดับมีอยู่  แต่คนผู้ดับไม่มี..”

  "สรุป"  ในทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท  การบรรลุธรรมได้รับการพิสูจน์ให้เห็นจริงจากการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา  คือ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยมีลักษณะการปฏิบัติไปตามลำดับขั้นตอน ได้แก่ การมีศีลเป็นเบื้องต้นแล้วสร้างความสงบและพลังงานทางจิตจากสมาธิ  จึงนำมาพิจารณาธรรมในขั้นวิปัสสนาจนเกิดปัญญาหลุดพ้นจากกองทุกข์ไปในที่สุด อย่างค่อยเป็นค่อยไป ...

"เหตุใดนิพพานควรเป็นเป้าหมายชีวิตของเรา"

  การบรรลุนิพพาน เป็นการมองเห็นโลกตามสภาพความเป็นจริง อันทำให้หลุดพ้นจากทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิดทั้งปวง สู่ความสุขที่เกิดจากการปล่อยวางไม่ติดข้องในสิ่งต่างๆ ด้วยการมีปัญญารู้เท่าทันความเป็นจริง

๑๑

   ดังนั้นเนื่องจากเพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์นิพพานในทัศนะของพุทธปรัชญาจึงเป็นสิ่งที่ควรมุ่งหมายแม้ว่าจริงอยู่ที่ผู้หลุดพ้นจะปราศจากทุกข์ใจแต่มีทุกข์กายไปตามสภาพร่างกายทว่าก็มิได้ทำให้ผู้หลุดพ้นทุกข์ใจแม้แต่น้อยดังข้อความในมิลินทปัญหาที่ว่า

   พระราชาตรัสถามว่า..."พระคุณเจ้าผู้ใดไม่ปฏิเสธ  เขาจะเสวยเวทนาที่เป็นทุกข์หรือไม่"

  พระนาคเสนทูลตอบว่า...”เสวยเวทนาที่มีกายเป็นสมุฏฐาน (เหตุให้เกิด)ไม่เสวยเวทนาที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน อย่างไรก็ตาม หากมองว่าผู้ที่หลุดพ้นเมื่อละสังขาร (ร่างกาย) นี้แล้วจะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก ก็จะไม่มีกายสังขารอีก ซึ่งก็เท่ากับว่า ไม่มีทุกข์ทางกายอีกตลอดไป 

   สรุปในทัศนะ นิพพาน  นับว่ามีคุณค่าแก่สังคมอย่างมหาศาล เนื่องจากถ้าสังคมใดประกอบไปด้วยผู้บรรลุหลุดพ้น ซึ่งเป็นผู้กระทำดีมีจิตใจบริสุทธิ์เป็นธรรม มีเมตตากรุณาไม่คิดเบียดเบียน อยู่โดยปกติธรรมชาติของท่านสังคมนั้นก็จะมีแต่ความสงบสุขร่มเย็นนอกจากนี้  ท่านผู้บรรลุหลุดพ้นแล้วอาจยังสามารถช่วยสั่งสอนอบรมคนทั้งหลายในสังคมให้อยู่ในศีลในธรรมได้อีกด้วย สังคมก็จะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่สับสนวุ่นวาย   ประการสำคัญความหลุดพ้นของพุทธปรัชญาเป็นสิ่งที่เกิดจากการใช้ปัญญา  มองเห็นสัจจะ  ความเป็นจริงของสรรพสิ่ง  รวมทั้งชีวิตมนุษย์เรานี้ ดังนั้นหากคุณค่าที่เรามองสังคมที่หวังให้เป็นคือปราศจากทุกข์และเป็นสังคมของผู้มีปัญญาแล้วไซร้ ความหลุดพ้นของพุทธปรัชญาจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายที่สุดในสังคมนั้น

oooooooooo

๑๒

บรรณานุกรรม

 

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒

อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

ในเอกนิบาตอังคุตตรนิกาย  อรรถกถา ภาค  ๑ หน้า ๔๕ ข้อ ๕๑http://www.84000.org/tipitaka/pitaka...09&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=42
คำสำคัญ (Tags): #จิตตะและนิพพาน
หมายเลขบันทึก: 511905เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท