กฎกระทรวง ออกตามความใน ม.80 แห่งพรบ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535


ชื่อเต็ม :

กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบการเก็บสถิติและข้อมูลการจัดทำบันทึกรายละเอียดและรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2555 

ออกตาม :

ม.80 พรบ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535

บังคับใช้ :

   วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

   (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนที่ 39 ก วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 )


ผู้เกี่ยวข้องตามกฎกระทรวงนี้ :

1. เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ(ตาม ม. 69 ) ที่มีระบบบำบัดน้ำเสียเป็นของตนเอง(ตาม ม.70) หรือผู้ควบคุมหรือผู้รับจ้างบำบัดน้ำเสีย (ตามม. 73*)

2. เจ้าพนักงานท้องถิ่น (นายก อบต.,นายกเทศมนตรี, ผู้ว่าราชการ กทม., ปลัดเมืองพัทยา)

3. เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ (อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ , ผอ.ทสจ.**)

         * ม.73  ยังไม่ได้ถูกประกาศบังคับ

         **  หมายถึง เฉพาะการรับรายงานตามกฎกระทรวงนี้ เท่านั้น


สาระสำคัญ

1. เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือผู้ควบคุมหรือผู้รับจ้างบำบัดน้ำเสียที่มีระบบบำบัดน้ำเสียเป็นของตอนเอง จะต้องจดบันทึกรายละเอียด สถิติ ข้อมูลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย ลงในแบบ ทส.1 เป็นประจำทุกวัน เก็บไว้ ณ สถานที่ตั้งของแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น เป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่มีการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว

 2. เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือผู้ควบคุมหรือผู้รับจ้างบำบัดน้ำเสีย ต้องจัดทำรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียในแต่ละเดือนลงในแบบ ทส.2 และเสนอรายงานดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป  โดยมี 3 ช่องทาง

2.1 ยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่แหล่งกำเนิดมลพิษนั้นตั้งอยู่ด้วยตนเอง

2.2 ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ

2.3 รายงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษประกาศกำหนด***

 *** ปัจจุบัน ยังไม่มีประกาศกำหนด จึงยังใช้วิธีนี้ไม่ได้

 3. เจ้าพนักงานท้องถิ่นรับรายงานตามแบบ ทส.2 จากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือผู้ควบคุมหรือผู้รับจ้างบำบัดน้ำเสีย และออกใบรับเพื่อเป็นหลักฐานให้แก่ผู้เสนอรายงานภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงาน

  4. เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือผู้ควบคุมหรือผู้รับจ้างบำบัดน้ำเสีย ต้องเก็บใบรับจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือเอกสารไปรษณีย์ตอบรับ (ใบสีเหลือง) ไว้เป็นหลักฐาน

 5. ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือผู้ควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรา ๘๐ มีหน้าที่ต้องเก็บสถิติและข้อมูล จัดทำบันทึกรายละเอียด หรือจัดทำรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียอยู่แล้วตามกฎหมายอื่น และการเก็บสถิติและข้อมูล การจัดทำบันทึกรายละเอียดหรือการจัดทำรายงานดังกล่าวมีข้อมูลไม่น้อยกว่าการเก็บสถิติและข้อมูล การจัดทำบันทึกรายละเอียดหรือการจัดทำรายงานตามกฎกระทรวงนี้   ให้ถือว่าการเก็บสถิติและข้อมูล การจัดทำบันทึกรายละเอียดหรือการจัดทำรายงานตามกฎหมายดังกล่าวเป็นการเก็บสถิติและข้อมูลฯ ตามกฎกระทรวงฉบับนี้โดยอนุโลม**** และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือผู้ควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียเสนอรายงานดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกเดือน ภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไป โดยให้ยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่แหล่งกำเนิดมลพิษนั้นตั้งอยู่หรือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับหรือรายงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษประกาศกำหนด

  **** ปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บสถิติใดใช้แทน ทส.2 ได้

6. เจ้าพนักงานท้องถิ่นรวบรวมรายงาน ทส.2 ที่ได้รับส่งไปให้เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ในเขตท้องถิ่นนั้นเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง และจะทำความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษเสนอไปพร้อมกับรายงานที่รวบรวมส่งไปนั้นด้วยก็ได้

บทลงโทษ

1. มาตรา 104เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 80 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. มาตรา 106 เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ผู้ควบคุมหรือผู้รับจ้างให้บริการบำบัด  น้ำเสียหรือกำจัดของเสียผู้ใดไม่จัดเก็บสถิติ ข้อมูล หรือไม่ทำบันทึกหรือรายงานตามมาตรา 80 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.  มาตรา 107 ***** ผู้ควบคุมหรือผู้รับจ้างให้บริการผู้ใดทำบันทึกหรือรายงานใดที่ตนมีหน้าที่ต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

***** ยังใช้บังคับไม่ได้

แหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงนี้

แหล่งกำเนิดมลพิษที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงนี้ คือ แหล่งกำเนิดมลพิษที่ถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อมนอกเขตที่ตั้ง ตามมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีทั้งสิ้น 10 ประเภท ดังนี้

  ๑. โรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่

    ๑.๑ โรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ ๒ คือ โรงงานที่มีแรงม้าของเครื่องจักรมากกว่า ๒๐ แรงม้า แต่ไม่เกิน ๕๐ แรงม้า และ/หรือมีจำนวนคนงานมากกว่า ๒๐ คน แต่ไม่เกิน ๕๐ คน

    ๑.๒ โรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ ๓ คือ โรงงานที่มีมลภาวะและโรงงานที่มีแรงม้าของเครื่องจักรมากกว่า ๕๐ แรงม้า และ/หรือมีจำนวนคนงานมากกว่า ๕๐ คน

    ๑.๓ นิคมอุตสาหกรรมหรือโครงการที่จัดไว้สำหรับการประกอบการอุตสาหกรรมที่มีการจัดการระบายน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อมร่วมกัน

  ๒. อาคารบางประเภทและบางขนาด ได้แก่

    ๒.๑ อาคารประเภท ก ได้แก่

    (๑) อาคารชุดที่มีจำนวนห้องสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๕๐๐ ห้องนอนขึ้นไป

    (๒) โรงแรมที่มีจำนวนห้องสำหรับใช้เป็นห้องพักรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๒๐๐ ห้องนอนขึ้นไป

   (๓) โรงพยาบาลของทางราชการ รัฐวิสาหกิจหรือสถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่มีเตียงสำหรับรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๓๐ เตียงขึ้นไป

  (๔) อาคารโรงเรียนเอกชน โรงเรียนของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาของเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาของทางราชการที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๒๕,๐๐๐ ตร.ม. ขึ้นไป

   (๕) อาคารที่ทำการของทางราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การระหว่างประเทศหรือของเอกชนที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๕๕,๐๐๐ ตร.ม. ขึ้นไป

    (๖) อาคารของศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๒๕,๐๐๐ ตร.ม. ขึ้นไป

   (๗) ตลาดที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๒,๕๐๐ ตร.ม. ขึ้นไป

   (๘) ภัตตาคารหรือร้านอาหารที่มีพื้นที่ใช้บริการรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๒,๕๐๐ ตร.ม. ขึ้นไป

  ๒.๒ อาคารประเภท ข ได้แก่ 

           (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ )

   (๑) อาคารชุดที่มีจำนวนห้องสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๑๐๐ ห้องนอน แต่ ไม่ถึง ๕๐๐ ห้องนอน

    (๒) โรงแรมที่มีจำนวนห้องสำหรับใช้เป็นห้องพักอาศัยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๖๐ ห้อง แต่ไม่ถึง ๒๐๐ ห้อง 

   (๓) หอพักที่มีจำนวนห้องสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๒๕๐ ห้องขึ้นไป

    (๔) สถานบริการที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ตร.ม. ขึ้นไป

    (๕) โรงพยาบาลของทางราชการหรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนรวม กันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๑๐ เตียง แต่ไม่ถึง ๓๐ เตียง

    (๖) อาคารโรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาของทางราชการ ที่มีพื้นที่ ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ตร.ม. แต่ไม่ถึง ๒๕,๐๐๐ ตร.ม. ๒.๒ อาคารประเภท ข (ต่อ)

    (๗) อาคารที่ทำการของทางราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การระหว่างประเทศหรือของเอกชนที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ ตร.ม. แต่ไม่ถึง ๕๕,๐๐๐ ตร.ม.

    (๘) อาคารของศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าที่มีพื้นที่สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ตร.ม. แต่ไม่ถึง ๒๕,๐๐๐ ตร.ม.

   (๙) ตลาดที่มีพื้นที่ที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๑,๕๐๐ ตร.ม. แต่ไม่ถึง ๒,๕๐๐ ตร.ม.

    (๑๐) ภัตตาคารหรือร้านอาหารที่มีพื้นที่ให้บริการรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๕๐๐ ตร.ม. แต่ไม่ถึง ๒,๕๐๐ ตร.ม.

๓. ที่ดินจัดสรร ได้แก่

  ๓.๑ ที่ดินจัดสรรประเภท ก คือ ที่ดินจัดสรรที่รังวัด แบ่งเป็นแปลงย่อยเพื่อจำหน่ายเกินกว่า ๑๐๐ แปลง แต่ไม่เกิน ๕๐๐ แปลง

  ๓.๒ ที่ดินจัดสรรประเภท ข คือ ที่ดินจัดสรรที่รังวัด แบ่งแปลงย่อยเพื่อจำหน่ายเกินกว่า ๕๐๐ แปลงขึ้นไป

  ๔. การเลี้ยงสุกร ได้แก่

    ๔.๑ การเลี้ยงสุกรประเภท ก คือ การเลี้ยงสุกรที่มีน้ำหนักหน่วยปศุสัตว์ เกินกว่า ๖๐๐ หน่วย

  ๔.๒ การเลี้ยงสุกรประเภท ข คือ การเลี้ยงสุกรที่มีน้ำหนักหน่วยปศุสัตว์ตั้งแต่ ๖๐ แต่ไม่เกิน ๖๐๐ หน่วย

  ๔.๓ การเลี้ยงสุกรประเภท ค คือ การเลี้ยงสุกรที่มีน้ำหนักหน่วยปศุสัตว์ตั้งแต่ ๖ หน่วย แต่ไม่ถึง ๖๐ หน่วย (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ เป็นต้นไป)

  ๕. ท่าเทียบเรือประมง สะพานปลา และกิจการแพปลา 

ได้แก่ ท่าเทียบเรือประมง สะพานปลา และกิจการแพปลาทุกขนาด

  ๖. สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่

  ๖.๑ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท ก คือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ในที่ดินที่ติดเขตทางหลวงหรือถนนสาธารณะหรือทางที่มีสภาพเป็นสาธารณะที่มีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า ๑๒ เมตร หรือถนนส่วนบุคคลที่มีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร ที่เชื่อมต่อกับทางหลวงหรือถนนสาธารณะหรือทางที่มีสภาพเป็นสาธารณะที่มีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า ๑๒ เมตร

  ๖.๒ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท ข คือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ในที่ดินที่ติดเขตถนนสาธารณะหรือทางที่มีสภาพเป็นสาธารณะที่มีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า ๘ เมตร แต่น้อยกว่า๑๒ เมตรหรือถนนส่วนบุคคลที่มีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า ๘ เมตร แต่น้อยกว่า ๑๐ เมตร ที่เชื่อมต่อกับทางหลวงหรือถนนสาธารณะหรือทางที่มีสภาพเป็นสาธารณะที่มีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า ๘ เมตร

  ๗. บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง 

ได้แก่ บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีขนาดพื้นที่บ่อมากกว่าหรือเท่ากับ ๑๐ ไร่

  ๘. บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย 

ได้แก่บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยทุกขนาด

  ๙. บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่

 ๙.๑ บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดประเภท ก คือบ่อที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว้น้ำที่กินพืชเป็นอาหารทุกชนิด ซึ่งใช้น้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติโดยไม่มีการเติมสารที่ก่อให้เกิดความเค็ม เช่น น้ำทะเล น้ำใต้ดินที่มีค่าความเค็ม เกลือหรือสารอื่นใดลงในบ่อเพาะเลี้ยงดังกล่าว ที่มีขนาดพื้นที่บ่อตั้งแต่ ๑๐ ไร่ขึ้นไป

  ๙.๒ บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดประเภท ข คือ บ่อที่ใช่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่กินเนื้อเป็นอาหารทุกชนิด หรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่กินทั้งเนื้อและพืชเป็นอาหาร ซึ่งใช้น้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ โดยไม่มีการเติมสารที่ก่อให้เกิดความเค็ม เช่น น้ำทะเล น้ำใต้ดินที่มีค่าความเค็ม เกลือหรือสารอื่นใด ลงในบ่อเพาะเลี้ยงดังกล่าว ที่มีขนาดพื้นที่บ่อตั้งแ่ต่ ๑๐ ไร่ขึ้นไป

  ๙.๓ บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดประเภท ค คือ บ่อที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด  ซึ่งมีการใช้สารที่ก่อให้เกิดความเค็ม เช่น น้ำทะเล น้ำใต้ดินที่มีค่าความเค็ม เกลือหรือสารอื่นใดเติมลงในบ่อเพาะเลี้ยงเพื่อปรับระดับค่าความเค็มของน้ำที่ใช้เพาะเลี้ยงให้เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนั้นๆ ทุกขนาด

  ๑๐. ระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชน 

ได้แก่ ระบบบำบัดน้ำเสียที่กระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาหรือผู้รับจ้างบริการจัดให้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์หลักในการให้บริการบำบัดน้ำเสียที่รวบรวมจากชุมชน

----------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 511621เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ถามว่า   

หากเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษ เพิ่งรู้ว่ามีกฏกระทรวงนี้ในภายหลัง (หลังวันที่ 2 สิงหาคม 55) จะรายงานอย่างไร  ต้องรายงานย้อนหลังหรือไม่


ตอบ

ให้เริ่มรายงานตั้งแต่วันที่ทราบ  

หากรายงานย้อนหลังอาจจะมีความผิดการณีรายงานข้อมูลเท็จได้

การส่งรายงาน ทส.2 ของเจ้าของ/ผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ และ อปท. ใช้วิธีการส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ จะสะดวกกว่าวิธีอื่น

 หากที่โรงงานไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียเป็นของตนเอง เพราะไม่มีน้ำเสียจากกระบวนการผลิต (น้ำเสียที่มี มีเฉพาะที่เกิดจากห้องน้ำเท่านั้น และมีบ่อเกรอะรองรับอย่างพอเพียง) จะต้องทำอย่างไรบ้างคะ ต้องส่งรายงาน ทส.2 หรือไม่ (โรงงานเข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ 3 ค่ะ คือเครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า และพนักงานเกิน 50 คน)


ขอบพระคุณค่ะ

ตอบคุณหมวย

1. โรงงานจำพวก 3เข้าข่าย ต้องรายงาน

2.น้ำเสียจากห้องน้ำถือว่าเป็นน้ำเสียโรงงาน บ่อเกรอะ ถือเป็น ระบบบำบัดประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องรายงาน

3.ขั้นตอนการรายงาน

-ขอรับแบบทส.1/ทส.2 จาก สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(ทสจ.) หรือ ดาวโลด จากเว็บไซด์ กรมควบคุมมลพิษ

-บันทึก การทำงานของระบบ (ข้อมูลใดไม่มีให้ ขีด) ตามแบบ ทส.1 ทุกวัน เก็บไว้เองณ แหล่งที่ตั้ง

-สรุป การทำงานในแบบ ทส 2ทุกสิ้นเดือน และส่งให้ อปท.ในพื้นที่ตั้งแหล่งกำเนิดมลพิษ ไม่เกินวันที่15 ของเดือนถัดไป แล้วเกฌบหลักฐานการรับไว้

สอบถามรายละเอียดได้ที่ ทสจ. หรือ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคในพื้นที่ครับ

ศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดกรุงเทพมหานครมี 68 แห่ง  ไม่มีเตียงในการรับผู้ป่วย แต่เปิดบริการรักษาพยาบาล  ถือเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษตามกฎกระทรวงนี้ด้วยหรือไม่


ตอคุณ เส

ตามประกาศฯ  ให้ถือ

1. โรงพยาบาลของทางราชการหรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนรวม กันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคารตั้งแต่ ๑๐ เตียง ขึ้นไป


2.  หากศูนย์บริการสาธารณสุข มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคารหรือกลุ่มของอาคาร ตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ ตร.ม. ขึ้นไป  จะเข้าข่าย แหล่งกำเนิดมลพิษประเภท อาคารที่ทำการของทางราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การระหว่างประเทศหรือของเอกชนที่มีพื้น (อาคารประเภท ก /ข)


เพราะฉนั้น ศูนย์บริการสาธารณสุข  ไม่เข้าข่าย ข้อ 1.  แต่อาจเข้าข่ายข้อ 2. ให้พิจารณาพื้นที่ดูครับ




หากเป็นหมู่บ้านจัดสรร ที่มีบ้านจำนวน 160 หลังจะต้องรายงานหรือไม่

ตอบคุณ ruru

หมู่บ้านจัดสรร คือ ที่ดินจัดสรร

หากหมู่บ้านจัดสรรจำนวน 160 หลัง ถ้ารังวัดแบ่งแปงย่อยเกินกว่า 100แปลงขึ้นไป จะเข้าข่ายเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษตามกฏหมาย และต้องรายงาน

อาคารประเภท ค ซึ่งเป็นอาคารที่ทำการของทางราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การระหว่างประเทศหรือของเอกชนที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทุกชั้นของอาคาร ไม่ถึง 10,000 ตร.ม.ต้องจัดทำ ทส.1 , ทส.2 หรือเปล่าครับ

ตอบคุณ [email protected]

อาคารประเภท ค. ไม่ต้องจัดทำ ทส.1 และ ทส.2 ครับ

เนื่องจาก กฏหมายกำหนดบังคับเฉพาะ อาคารประเภท ก. และ ข. เท่านั้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท