ชุมชน “เปลี่ยน” ของนักละครคิดบวก


ชุมชน “เปลี่ยน” ของนักละครคิดบวก

ว่ากันตามความหมายในพจนานุกรม คำว่า “เปลี่ยน” คือ การแลก, การเอาสิ่งหนึ่งไปแทนอีกสิ่งหนึ่ง, ผลัด, แปลง แต่สำหรับชุมชนละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงคำว่า “เปลี่ยน” มีความหมายมากกว่านั้น เพราะคำว่า “เปลี่ยน” อันเป็นที่มาของ http://www.plian.in.th นั้น ยังหมายถึงที่รวมตัว ชุมนุม แลกเปลี่ยนในโลกออนไลน์ อันเป็นผลิตผลของบรรดานักละครไฟแรงในโลกจริง ที่ถูกขัดเกลาในมิติการแสดงจากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และบ่มเพาะแนวคิดการมองประโยชน์สังคมแบบองค์รวมจากแผนงานสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)


ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนและกลุ่มผู้ชมเกิดการตระหนักในคุณค่าทางปัญญาในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีสุขภาวะทุกคนใน http://www.plian.in.th จึงเชื่อว่า “ละคร” ที่ดี จะสามารถชวนคิดและทบทวนให้มนุษย์ได้หวนคิด หยุดมามองดูตัวเอง เพื่อการเรียนรู้และข้ามผ่านสถานการณ์ที่ยากๆไปได้ โดยใช้ปัญญานำพฤติกรรมเป็นสำคัญละครจึงเป็นเครื่องมือทางปัญญาที่สำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เปรียบเสมือนการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรกระบวนการละคร (Drama Process) “วีรพงษ์ เกรียงสินยศ“กรรมการบริหารแผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เคยบอกว่า เป้าหมายในการจัดตั้งโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง มิได้ยิ่งใหญ่ขนาดให้เยาวชนเป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลก หากเพียงเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเอง จนนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงสิ่งอื่นๆโดยใช้ละครเป็นสื่อ


 การ “เปลี่ยน” สังคมโดยเครื่องมือที่ชื่อ “ละคร” จึงมากไปด้วยความตั้งใจทุกย่างก้าว และแน่นอนว่าแม้จะเป็นก้าวเล็กๆ แต่ล้วนมีความหมาย เชื่อมโยงในหลายมิติ และเต็มไปด้วยแนวคิด ด้านบวกอย่างเห็นสังคมที่ดีกว่า “กระจายสุข”ขอรวบรวมมิติของการเปลี่ยนแปลง อันมีละครเป็นเครื่องชี้นำทางดังนี้

มิติการพัฒนาความรู้
 อย่าลืมว่าการพัฒนาย่อมเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ที่หลุดจากกรอบเดิมๆ การมีสมาธิ รู้จักการวางแผน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำงานเป็นทีม โดยที่การระดมความคิดเพื่อผลิตเป็นผลงานนั้น ต้องการใช้เหตุผลเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเปิดรับทัศนคติเพื่อน การทำงานที่มีจุดมุ่งหมายแน่ชัด การประนีประนอม การได้สะท้อนมุมมองของตนเอง ดังนั้นกว่าที่เยาวชนจะมีทักษะในจุดนี้ย่อมต้องผ่านการฝึกฝน ชำนาญ กลายเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ติดตัวไป

 มิติการพัฒนาทักษะ
ตัวอย่างจากการแสดงละครชุมชน, ละครเวทีที่แน่ว่าเยาวชนเกิดการทำงานแบบมีส่วนร่วม การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี มีทักษะด้านการแสดง ทักษะด้านการบริหารจัดการโครงการ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะทางศิลปะ ทักษะการทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม เหล่านี้คือการฝึกฝนด้วยความมานะอดทน ซ้ำยังต้องหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง เพราะระบบการศึกษาแบบที่เป็นอยู่อาจไม่เอื้อที่จะให้พวกเขามีเวลาฝึกฝนเท่าใดนัก


 มิติการพัฒนาทัศนคติ
เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ความสุขที่เกิดขึ้นย่อมไม่ได้มาจากความมากด้วยเงินทอง หรือความมีชื่อเสียง แต่คือการความสุขแบบองค์รวม มีจิตสาธารณะช่วยเหลือผู้อื่น การทุ่มเทการทำงาน ร่วมมือรับความลำบาก ความรับผิดชอบ การรู้จักใจเขา รู้จักใจเรา ใจกว้างมากขึ้น กระตือรือร้นที่จะ เรียนรู้ การเอาชนะความยากลำบาก ความเข้มแข็ง การทำเพื่อสังคม ความสามัคคี การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักตนเองมากขึ้น ความอดทน กำลังใจ การมีใจรักในสิ่งที่ทำ ความรู้สึกละเอียดอ่อน ความสัมพันธ์ การแบ่งปัน เข้าใจความเป็นธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น มีวินัย รู้จักเสียสละ นิ่งมากขึ้น มองโลกในแง่ดีและมองโลกในแง่ร้ายเท่าๆกัน มีทุกข์ก็ต้องมีสุข มีความต้องการของตนเองและรู้ความต้องการของคนอื่นเป็นสิ่งที่สำคัญ มีความสุขมากกว่านี้ “ความเปลี่ยนแปลง” ยังหมายถึงการพัฒนาองค์ความรู้ การผลักดันกลไกการทำงานเพื่อการพัฒนาเยาวชนในท้องถิ่น สร้างภาคีเครือข่ายระดับภูมิภาคและเชื่อมโยงเครือข่ายนักปฏิบัติการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดเป็น”ชุมชนนักปฏิบัติการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ที่มุ่งหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยละคร สร้างสรรค์พลังคิดบวกให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย


กระดานข่าวและที่แลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกันของนักกิจกรรมโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงยังช่วยผนึกกำลังของนักสร้างสรรค์ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็น กลุ่มมานีมานะ นักการละครเยาวชนภาคใต้ รักษ์เขาชะเมา กลุ่มเยาวชนผู้ปกปักรักษาท้องถิ่นภาคตะวันออก กลุ่มสื่อใสวัยทีนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มมะขามป้อม Art space พื้นที่ศิลปะทางเลือกใจกลางกรุง (ภาคกลาง) กลุ่มมะขามป้อม เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ภาคเหนือ สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ “ต่อยอดความคิด ผลิบานความสุข”ภาคเหนือหรือ กลุ่มสื่อสารมวลชนการละคร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่ม Art for Lifeจากภาคใต้ กลุ่มข้าวนึ่ง คือกลุ่มละครจากอาสาสมัครมะขามป้อม ประจำเชียงดาวภาค เหนือ ทั้งหมดรวมเป็นชุมชนเดียวกัน ชุมชนของนักปฏิบัติ สร้างสรรค์ และต้องการ “เปลี่ยน”ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

หมายเลขบันทึก: 510853เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2012 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2012 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท