เทคนิคการถอดบทเรียนหรือถอดความรู้ของชุมชนแบบบ้านๆ


ผมเขียนเรื่องนี้เพื่อเป็นแนวทางให้น้องๆ อาสาพัฒนาชุมชน และนักศึกษาที่ผมสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ได้นำไปประยุกต์ใช้ในการลงพื้นที่ศึกษาและทำงานกับคนในชุมชน เนื่องจากมีภารกิจหนึ่งที่เขาเหล่านั้นจักต้องดำเนินการ คือ การเขียนและบันทึกความรู้หรือบทเรียนของชุมชน เป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม ตามชุมชนที่เขาไปกิน นอนและร่วมปฎิบัติงานในพื้นที่ตำบลกว่า 1 อาทิตย์ น้องๆเหล่านี้หลายคนพอมีประสบการณ์ในการทำงานกับชาวบ้านมาบ้างแต่บางคนเป็นครั้งแรกที่ต้องลงไปใช้ชีวิตและเรียนรู้อยู่กับพี่ ป้า น้า อา ในหมู่บ้านชนบทที่ไม่คุ้นเคย ดังนั้นแนวทางที่ผมจะแลกเปลี่ยนด้วยในบทความนี้ อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับเขาในการใช้เป็นเทียนส่องทางพอให้เห้นเส้นทางการลงไปถอดบทเรียนหรือถอดความรู้ของชุมชนบ้างไม่มากก็น้อย

  การจะเริ่มการถอดบทเรียนหรือถอดความรู้ชาวบ้านนั้น ก่อนอื่นท่านต้องกำหนดนิยาม ความหมายของคำว่า บทเรียนหรือ องค์ความรู้หรือ ความรู้ ว่าหมายถึงอะไรให้ชัดเจนเสียก่อน เพราะที่ผ่านมาหลายคนเจอปัญหาใหญ่คือลงไปถอดบทเรียนแต่ไม่รู้ว่า บทเรียนแปลว่าอะไร? หรือ ความรู้ คืออะไร? ดังนั้นท่านต้องนิยามให้ชัด เข้าใจตรงกันก่อน จึงลงไปแสวงหา จัดเก้บได้อย่างชัดเจน ถูกต้องนะครับ และการดำเนินการถอดความรู้หรือบทเรียนชุมชน ต้องมีกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอน ผมขอนำเสนอเป็นลำดับดังนี้

1. เลือกองค์ความรู้หรือบทเรียนที่ต้องการหรือสนใจซึ่งจะนำมาซึ่งการกำหนดพื้นที่ในการดำเนินการถอดบทเรียนหรือความรู้ กล่าวคือ ท่านต้องตั้งโจทย์ไว้ในใจว่าจะถอดความรู้เรื่องอะไร บทเรียนด้านไหน ถอดไปเพื่ออะไร องค์ความรู้ชุมชนหรือบทเรียนชุมชนเรื่องนั้นๆอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร อยู่ในรูปแบบใด เป็นตัวบุคคล เป็นเอกสารหรืออื่นๆ (ต้องรู้ก่อนล่วงหน้าเพื่อเตรียมการในการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมลงไปถอดบทเรียน)

2. ประสานงานพื้นที่และศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของชุมชนและองค์ความรู้ที่ต้องการถอดบทเรียน รวมทั้งวางแผนร่วมกับชุมชนในการกำหนดช่วงเวลาการดำเนินการ

3. เตรียมทีมงานและเครื่องมือการถอดบทเรียน ในขั้นตอนนี้ เป็นการจัดแจงทีมงานของท่านในการเตรียมคน เตรียมประเด็นคำถาม เตรียมอุปกรณ์ เตรียมเครื่องมือ เตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่จะช่วยให้กระบวนการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เตรียมคน หมายถึง ในทีมต้องเข้าใจเป้าหมาย วัตถุประสงค์ กระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์ที่จะได้ตรงกัน แบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนแต่ละคนอาจรับบทบาทในส่วน ผู้อำนวยการเวที(ผู้เอื้ออำนวยกระบวนการ) วิทยากรกระบวนการ ในการสร้างบรรยากาศและตั้งประเด็นคำถาม รวมทั้งสรุปประเด็นในเวที ผู้จดบันทึก และผู้ประสานงานในเวทีการถอดบทเรียนรวมทั้งผู้ช่วยในการบันทึกภาพ เสียง เก็บประเด็นต่างๆในเวที อุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น กล้องถ่ายภาพ เครื่อง MP 3 สำหรับบันทึกเสียงเมื่อจับประเด็นไม่ทันจะช่วยได้มากทีเดียวครับ ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ เช่น กระดาษฟลิปชาร์ท ปากกาเคมี เทปกาว บอร์ดหรือกระดานสำหรับบันทึกที่มีขนาดใหญ่พอที่จะให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้เห็นข้อมูลได้ชัดเจน

4. นัดหมายแหล่งความรู้หรือเจ้าขององค์ความรู้ วัน เวลา สถานที่ ทั้งนี้ให้เอื้อช่วงเวลา และสถานที่  ที่แหล่งความรู้สะดวกเป็นสำคัญ

5. การดำเนินการถอดบทเรียน เมื่อทุกอย่างพร้อมการดำเนินงานควรเริ่มจากการสร้างบรรยากาศในเวทีให้เป็นกันเอง ด้วยเกม หรือการพูดคุยที่สร้างความเป็นมิตร ชี้ความสำคัญและสิ่งที่ชุมชนจะไดัรับ บอกวัตถุประสงค์ และกรอบกิจกรรมแก่เวที (ทั้งนี้จำนวนคนที่เข้าร่วมเวทีไม่ควรมีมากจนเกินไป หากเป็นถอดความรู้จากปัจเจกคนก็จะไม่มีปัญหาเรื่องจำนวนคน แต่หากถอดความรู้กลุ่มคนต้องพิจารณาจำนวนเพื่อความเหมาะสมด้วย)

6. การเริ่มคำถามตามโจทย์หรือความอยากรู้ของเราตามวัตถุประสงค์ในการมาถอดความรู้นั้นต้องกำหนดประเด็นคำถามที่ชัดเจน ครอบคลุม ครบถ้วน สามารถอธิบายความรู้ที่ต้องการได้  กรอบคำถามในการถอดความรู้ชุมชน มีแนวดังนี้(ทั้งนี้ปรับเปลี่ยนได้ตามวัตถุประสงค์ของนักถอดความรู้)

·  ความเป็นมา/สถานการณ์/วัตถุประสงค์/แรงจูงใจที่ดำเนินการ 

·  รายละเอียดการดำเนินงาน (กระบวนการทำงาน /ขั้นตอน/ เทคนิค/วิธีการทำงาน/กลเม็ดเคล็ดลับ/ข้อพึงระวัง/ปัจจัยแห่งความสำเร็จ)

·  ผลงานที่เกิดขึ้น (สำเร็จ/ไม่สำเร็จ) 

·  ปัจจัย/เงื่อนไข ที่ทำให้ผลงานเป็นไปตามเป้าหมายหรือสาเหตุที่ทำให้ไม่สำเร็จ

·  ถ้าจะทำโครงการกิจกรรมลักษณะเดียวกันนี้อีก จะต้องมีวิธีการอย่างไร ให้ดีกว่าเดิม

7.  เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน ควรคืนข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้ชุมชนหรือเจ้าของความรู้ตรวจทาน โดยการสรุปหรือนำเสนอด้วยแผนที่ความคิดให้เห็น เพื่อเติมเต็มหรือปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องที่สุด

8. สรุปผลการดำเนินงานและกล่าวลาอย่างเหมาะสม

9. เขียนรายงานการถอดบทเรียนหรือองค์ความรู้ของชุมชน

10. นำความรู้หรือบทเรียนที่ได้ กลั่นกรอง เพื่อการเผยแพร่และนำสู่เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งภายในชุมชนและนอกชุมชน รวมทั้งติดตามการนำความรู้และบทเรียนไปใช้ประโยชน์ต่อไป

  ที่กล่าวมาเป้นกระบวนการที่ผมเคยใช้ในการถอดบทเรียนและองค์ความรู้ชุมชน รวมทั้งเป้นแนวทางให้นักศึกษาที่ผมสอนนำไปประยุกต์ใช้ บางบริบทใช้ได้ผลบางกรณีต้องปรับเปลี่ยน ทั้งนี้ก็แล้วแต่พื้นที่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป้นกระบวนการเรียนรู้ทั้งสิ้น ยังมอีกหลายเทคนิคหลายขั้นตอนที่ในบทความนี้ขาดหายไป วันข้างหน้าจะทบทวนและนำเสนอเป็นเวอร์ชั่นต่อไปครับ ( อ.กู้เกียรติ ญาติเสมอ)

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 510206เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2012 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท