การจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศ: กรณีคนหลายสัญชาติ ในมุมมองกฎหมายไทย และ European Convention on Nationality


ประโยชน์แห่งการยอมรับบุคคลหลายสัญชาติ

       พัฒนาการของสัญชาติของเอกชน(บุคคลธรรมดา)ระหว่างประเทศ ที่เริ่มจากแนวคิดที่ว่า บุคคลนั้นควรจะต้องมีสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งเท่านั้น ไปสู่การตระหนักถึงการมีหลายสัญชาติของบุคคลธรรมดา ซึ่งแต่ละประเทศก็มีแนวคิดต่อบุคคลหลายสัญชาติแตกต่างกันไป โดย ณ ที่นี้ จะพิจารณาตามพระราชบัญญัติสัญชาติ กับ European Convention on Nationality: ECN

       คนหลายสัญชาติในมุมมองของ ECN Council of Europe ได้ตระหนักถึงพัฒนาการของสัญชาติของบุคคลธรรมดา โดยการทำ ECN เพื่อให้รัฐสมาชิกยอมรับการมีหลายสัญชาติของบุคคลธรรมดา และให้รัฐสมาชิกปฏิบัติต่อคนหลายสัญชาติไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงอำนาจอธิปไตยของรัฐสมาชิกนั้นๆ ซึ่งบทบัญญัติๆ ที่สำคัญและน่าพิจารณาของ ECN มีดังต่อไปนี้

       หลักการ (Principle) มาตรา 4 แห่ง ECN นี้ เป็นหลักการที่รัฐสมาชิกต้องยอมรับว่าบุคคลจะต้องไม่ไร้สัญชาติ หรือไร้รัฐ และรัฐสมาชิกจะต้องไม่ถอนสัญชาติโดยไร้เหตุผล การแต่งงานหรือการสิ้นสุดการแต่งงาน หรือการเปลี่ยนแปลงสัญชาติของคู่สามีภรรยาฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่กระทบถึงสัญชาติของอีกฝ่ายหนึ่งโดยอัตโนมัติ

       บุคคลหลายสัญชาติ (Multiple Nationality) มาตรา 2 แห่ง ECN ได้กำหนดนิยามของบุคคลหลายสัญชาติไว้ว่า หมายถึง การถือสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไปโดยบุคคลเดียวกัน ซึ่ง ECN ได้กำหนดให้รัฐภาคีต้องปฏิบัติต่อคนหลายสัญชาติ ซึ่งมีบทบัญญัติที่สำคัญๆ ดังนี้

       มาตรา 14 บัญญัติให้รัฐสมาชิกยินยอมให้เด็กที่ได้รับสัญชาติหลายสัญชาติโดยการเกิดที่จะยังคงรักษาสัญชาตินั้นเอาไว้ได้ และยินยอมให้บุคคลสามารถได้รับสัญชาติโดยการสมรส

       มาตรา 16 บัญญัติให้รัฐสมาชิกจะต้องไม่กำหนดเงื่อนไขว่า หากจะได้รับสัญชาติหนึ่งจะต้องสละหรือเสียสัญชาติเดิมโดยไม่สมเหตุสมผล

       มาตรา 17 ได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลที่มีหลายสัญชาติ ว่า คนชาติของรัฐสมาชิกซึ่งมีอีกสัญชาติหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งรัฐสมาชิกนั้น มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคนชาติอื่นๆในรัฐสมาชิกนั้น และบทบัญญัติเกี่ยวกับคนหลายสัญชาตินั้น (Chapter V of ECN) ไม่ใช่บังคับกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วย การให้ความคุ้มกันทางการทูต และไม่ใช้กับการปรับใช้กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในกรณีคนหลายสัญชาติ

       จะเห็นได้ว่า ECN ได้ตระหนักและยอมรับบุคคลที่มีหลายสัญชาติ และกำหนดให้รัฐสมาชิกปฏิบัติต่อบุคคลหลายสัญชาติในแนวทางเดียวกัน คนหลายสัญชาติในมุมมองของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งตามพรบ.สัญชาติ ได้บัญญัติเกณฑ์ว่าด้วยสัญชาติ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

     1. การได้สัญชาติไทย

        1.1 โดยการเกิด i. หลักสืบสายโลหิต ii. หลักดินแดน

        1.2 ภายหลังการเกิด i. การสมรส ii. แปลงสัญชาติ

     2. การเสียสัญชาติไทย

     3. การกลับคืนสัญชาติไทย

     จะเห็นได้ว่า พรบ.สัญชาติมิได้กล่าวถึงเรื่องบุคคลหลายสัญชาติไว้โดยชัดแจ้งแต่หากพิจารณาพรบ.สัญชาติแล้ว อาจมีกรณีที่บุคคลมีหลายสัญชาติดังต่อไปนี้

      มาตรา 9 กรณีหญิงซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้สมรสกับผู้มีสัญชาติไทย หญิงนั้นอาจได้รับสัญชาติไทยได้ ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติให้หญิงนั้นสละสัญชาติเดิม

     มาตรา 13 หญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สมรสกับคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของสามีได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของสามี ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทย ให้แสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็มิได้บังคับให้หญิงสละสัญชาติไทย

      มาตรา 14 ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าวและได้สัญชาติของบิดาด้วยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาหรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยตามมาตรา 12 วรรคสอง ถ้ายังประสงค์จะถือสัญชาติอื่นอยู่ต่อไป ให้แสดงความจำนงสละสัญชาติไทยตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ยังไม่ได้แสดงความจำนงสละสัญชาติไทย บุคคลนั้นก็ยังคงมีสองสัญชาติอยู่

      จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าอาจมีกรณีการเกิดบุคคลหลายสัญชาติได้ตามพรบ.สัญชาติ แต่กฎหมายสัญชาติไทยก็มิได้ยอมรับ และกำหนดสิทธิ หน้าที่ ของบุคคลหลายสัญชาติไว้แต่อย่างใด จากการเปรียบเทียบระหว่าง ECN กับ พระราชบัญญัติสัญชาติ จะเห็นว่า ECN ส่งเสริมให้รัฐสมาชิกยอมรับให้บุคคลมีหลายสัญชาติได้ และได้กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับบุคคลหลายสัญชาตินั้นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐสมาชิกของ ECN ยอมรับว่า บุคคลหลายสัญชาติมีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมยุโรป จึงจำเป็นต้องยอมรับ และกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลหลายสัญชาตินั้น  แต่ในขณะที่ประเทศไทยมองว่า บุคคลหลายสัญชาตินั้นเป็นปัญหา โดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาดังกล่าว มองว่า ปัญหาเกิดจากบุคคลสองสัญชาติ ไทย-มาเลเซีย ที่กระทำผิดแล้วหนีไปในมาเลเซีย ทำให้เกิดการมองบุคคลสองสัญชาติในแง่ลบ ซึ่งหากไทยมีมาตรการและวิธีปฏิบัติต่อบุคคลสอง(หลาย)สัญชาติที่เหมาะสมแล้ว ก็ย่อมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ อีกทั้งบุคคลเหล่านี้ย่อมมีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย เช่นเดียวกับที่ ECN ได้กล่าวไว้

หมายเลขบันทึก: 51015เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2006 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท