ผู้ลี้ภัย กับ UNHCR


ผู้ลี้ภัยก็มีสิทธิขั้นพื้นฐานและควรได้รับสิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ

ผู้ลี้ภัย  คือ บุคคลที่มีความหวาดกลัวซึ่งมีมูลอันจะกล่าวอ้างได้ว่าถูกประหัตประหาร ด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพของกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ หรือความคิดเห็นทางการเมือง และบุคคลผู้นั้นจะต้องอยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติของตน อีกทั้งไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะได้รับความคุ้มครองจากรัฐนั้น เนื่องด้วยความหวาดกลัวดังกล่าว

         คนส่วนใหญ่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและความปลอดภัยทางร่างกายจากรัฐบาลของตน แต่กรณีของผู้ลี้ภัยประเทศต้นกำเนิดของเขาไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะคุ้มครองสิทธิเช่นว่านั้น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) จึงมีอาณัติหน้าที่ในการประกันว่าผู้ลี้ภัยได้รับความคุ้มครองจากประเทศที่ให้แหล่งพักพิง อีกทั้งให้ความช่วยเหลือรัฐบาลของประเทศที่ให้แหล่งพักพิงเท่าที่เป็นไปได้สำหรับภารกิจดังกล่าว

           UNHCR มิได้เป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือรัฐ (และ UNHCR เองก็มิได้ประสงค์จะเป็นเช่นนั้น) ดังนั้น จึงไม่สามารถทดแทนความคุ้มครองของรัฐได้ บทบาทหลักของ UNHCR คือการประกันว่ารัฐต่างๆตระหนักถึงและปฏิบัติตามพันธะกรณีของตนในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยและบุคคลที่แสวงหาแหล่งพักพิง  ดังนั้นรัฐจึงไม่อาจผลักดันหรือบังคับให้ผู้ลี้ภัยกลับไปยังดินแดนที่พวกเขาอาจประสบอันตรายได้ รัฐไม่อาจเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มต่างๆของผู้ลี้ภัย รัฐควรประกันว่าผู้ลี้ภัยได้ประโยชน์จากสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างน้อยเท่าเทียมกับคนต่างด้าวในกรณีอื่นๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐนั้น อีกทั้งรัฐยังมีพันธกรณีในการให้ความร่วมมือกับ UNHCR และด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม รัฐควรยอมรับคู่สมรส และบุตรที่อยู่ในการอุปการะของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยหรือพักพิงด้วย

           ผู้ลี้ภัยมีสิทธิที่จะแสวงหาแหล่งพักพิงที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ความคุ้มครองระหว่างประเทศมิได้จำกัดแต่เพียงเรื่องความปลอดภัยทางร่างกายเท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมถึงเรื่องอื่นๆด้วย ผู้ลี้ภัยควรได้รับสิทธิและความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานอย่างน้อยเท่าเทียมกับคนต่างด้าวอื่นๆ ที่พำนักโดยถูกต้องตามกฎหมาย อันรวมถึงสิทธิของปัจเจกบุคคลขั้นพื้นฐานด้วย ดังนั้นผู้ลี้ภัยจึงมีสิทธิทางพลเมืองขั้นพื้นฐาน รวมถึงเสรีภาพในการคิด และการเคลื่อนย้าย อีกทั้งเสรีภาพจากการถูกทรมาน และการปฏิบัติที่ต่ำช้า

                ในทางเดียวกัน ผู้ลี้ภัยควรได้รับสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม ดังเช่นที่ปัจเจกบุคคลพึงได้รับ ผู้ลี้ภัยทุกคนควรได้รับการดูแลทางการแพทย์ ผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนควรมีสิทธิที่จะทำงาน ส่วนผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กจะต้องไม่ถูกตัดขาดจากการศึกษา  

                ในบางสถานการณ์ เช่น การหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ประเทศที่ให้แหล่งพักพิงอาจจำเป็นต้องจำกัดสิทธิบางประการของผู้ลี้ภัย เช่น เสรีภาพในการเคลื่อนย้าย เสรีภาพในการทำงาน หรือเสรีภาพทางการศึกษาของเด็กๆ หากเป็นไปได้ ข้อจำกัดเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขด้วยความร่วมมือของประชาคมระหว่างประเทศ  แต่ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยทุกคนก็ย่อมต้องมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายในของประเทศที่ตนเข้าไปพักพิง รวมถึงกฎระเบียบของค่ายผู้ลี้ภัยที่ตนอาศัยอยู่ด้วย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประเทศที่ผู้ลี้ภัยเข้าไปอาศัยอยู่

หมายเลขบันทึก: 51000เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2006 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ควรที่จะเปิดดเผิย ไม่ควรปิดบังอะไร ต่อสังคม

สังคมต้องการรับรู้ เรื่องที่เป็นจริง

เรามันคนเหมือนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท